ยันไทยไม่มี ‘เดลตาครอน’ นักวิชาการชี้ไม่มีรายงานในถังข้อมูลโควิดโลก

REUTERS/Chalinee Thirasupa

ยันไทยไม่มี ‘เดลตาครอน’ นักวิชาการชี้ไม่มีรายงานในถังข้อมูลโควิดโลก

จากกรณีที่สื่อต่างประเทศระบุถึง รายงานทีมนักวิจัยในสาธารณรัฐไซปรัส พบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ เป็นการผสมผสานพันธุกรรมระหว่างสายพันธุ์เดลต้ากับสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งชื่อว่า เดลตาครอน (Deltacron) พบผู้ติดเชื้อแล้ว 25 รายนั้น

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

โควิดลูกผสม! ไซปรัสพบผู้ติดเชื้อ ‘เดลตาครอน’ อย่างน้อย 25 ราย
ร.ร.แพทย์ร่วมตรวจสายพันธุ์โควิด หวั่นลูกผสม ชี้โอไมครอนเหมือนฟุตบอล ต้องรอครึ่งหลัง

เมื่อวันที่ 9 มกราคม ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ติดตามในฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือจีเสส (GISAID) ยังไม่พบรายงานดังกล่าว เพียงแต่เห็นข้อมูลส่งต่อในสื่อโซเชียลต่างๆ ทั้งนี้ การส่งข้อมูลเข้า GISAID จะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการยืนยัน โดยจะมีหน้างานที่ควบคุมคุณภาพรหัสพันธุกรรมก่อนส่งเข้าไปในฐานข้อมูลกลาง

Advertisement

“เชื่อว่าเร็วๆ นี้ คงจะทราบแน่ชัดว่ามีการเกิดขึ้นของลูกผสม หรือไฮบริดระหว่างเดลต้ากับโอมิครอน หรือที่ระบุชื่อกันว่า เดลตาครอน หรือไม่ หากมีจริง จะถือเป็นตัวแรกของโลกที่เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน” ศ.เกียรติคุณ วสันต์กล่าว และว่า  ที่ผ่านมา มีข้อมูลส่งเข้าจีเสส กว่า 6 ล้านตัวอย่าง ก็ยังไม่เคยระบุว่ามีลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน

ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ วสันต์กล่าวว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ขณะนี้มีทั้งระบุว่าเป็นลูกผสมหรือบางส่วนระบุว่าเป็นเพียงการมี 2 สายพันธุ์ ในคนเดียวกัน แต่ไม่ใช่ลูกผสม ซึ่งประเทศไทยก็เคยเกิดกรณีแคมป์คนที่พบคนหนึ่งมีทั้งสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้าในเวลาเดียวกัน เป็นไปได้ แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุพบเดลตาครอนถึง 25 ตัวอย่าง ก็ยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นจริง คงเกิดได้ไม่มาก อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

“เทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมีการถอดทั้งแบบสายสั้น ซึ่งสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาวสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ถึง 2,000-3,000 ตำแหน่ง การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ บางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้ แต่หากเป็นการถอดสายยาว เช่น ที่ศูนย์จีโนมฯ ก็ใช้วิธีนี้ จะสามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดที่ชัดเจน รวมถึงเป็นลูกผสมหรือไม่ หรือเกิดจากการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการวิจัยหรือไม่” ศ.เกียรติคุณ วสันต์กล่าว

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูล ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่าเป็นข่าวจริง หรือรายงานอย่างเป็นทางการหรือไม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา

“ขอให้ทุกคนใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า กรณีมีนักวิชาการระบุว่า การรายงานสายพันธุ์โอมิครอนของไทยต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น เรื่องนี้ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า สัดส่วนการรายงานเชื้อโอมิครอน มีทั้งสูงและต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเราตรวจหาเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน ก็จะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ได้ตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน จะใช้วิธีการสุ่มตรวจ

“ดังนั้น เราจะวางระบบการสุ่มตรวจ เพื่อที่จะดูสัดส่วนของการระบาดของสายพันธุ์ให้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด แนวทางการป้องกันตัวเองก็เหมือนเดิมคือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง” นพ.ศุภกิจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image