ยอดติดเชื้อวันนี้ยังพุ่งสองหมื่น ดับ 65 ราย เผย 5 เขต กทม.ติดเชื้อสูงสุด หลักสี่อันดับ 1

ยอดติดเชื้อวันนี้ยังพุ่งสองหมื่น ดับ 65 ราย กทม.พบคลัสเตอร์ก่อสร้างคลองสามวา 5 เขตติดเชื้อสูงสุด หลักสี่-บางซื่อ-หนองแขม-วัฒนา-ดินแดง เน้นมาตรการ VUCA คุมเข้มป้องโควิดช่วงสงกรานต์ ศบค.ชุดใหญ่ เตรียมถก 18 มี.ค.

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 7 มีนาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 21,162 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากการตรวจเอทีเค 24,236 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 202 ราย จากเรือนจำ 74 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 102 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 824,422 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 23,159 ราย รวมรักษาหายป่วยสะสม 2,794,098 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 230,459 ราย พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก 1,148 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 375 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 65 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,602 ราย โดย 10 จังหวัดที่ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด อันดับ 1 ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2,803 ราย อันดับ 2 นครศรีธรรมราช 1,042 ราย อันดับ 3 สมุทรปราการ 872 ราย อันดับ 4 ชลบุรี 784 ราย อันดับ 5 นนทบุรี 723 ราย อันดับ 6 สมุทรสาคร 659 ราย อันดับ 7 นครราชสีมา 614 ราย อันดับ 8 ภูเก็ต 592 ราย อันดับ 9 นครปฐม 589 ราย และอันดับ 10 พระนครศรีอยุธยา 567 ราย สำหรับ กทม.มีรายงานว่า มีคลัสเตอร์ใหม่ คือ คลัสเตอร์ก่อสร้างที่พบในเขตคลองสามวา และ 5 เขตที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ 1.หลักสี่ 470 ราย 2.บางซื่อ 187 ราย 3.หนองแขม 67 ราย 4.วัฒนา 44 ราย และ 5.ดินแดง 38 ราย ขณะที่สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 6 มีนาคม เข็มที่ 1 สะสม 53,948,754 โดส เข็ม 2 สะสม 49,864,844 โดส และเข็ม 3 สะสม 21,102,486 โดส

พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า สำหรับรายงานผู้เสียชีวิต 65 ราย เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็น กทม. 7 ราย สมุทรปราการและสมุทรสาคร จังหวัดละ 3 ราย นครปฐมและปทุมธานี จังหวัดละ 1 ราย อุบลราชธานี 3 ราย ศรีสะเกษ 2 ราย เลย ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร และสุรินทร์ จังหวัดละ 1 ราย เชียงราย และพิษณุโลก จังหวัดละ 2 ราย แม่ฮ่องสอนและอุตรดิตถ์ จังหวัดละ 1 ราย ตรัง 3 ราย กระบี่ ชุมพร พัทลุง ยะลา สตูล และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย ปัตตานีและภูเก็ต จังหวัดละ 1 ราย กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี และสระแก้ว จังหวัดละ 2 ราย ตราด สระบุรี และอ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย โดยในจำนวนผู้เสียชีวิต 65 ราย มี 65% ที่ยังไม่มีประวัติได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มหนึ่ง 6% ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 18% ได้รับวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือน 3% ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไม่เกิน 3 เดือน และ 8% ส่วนที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม แต่ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์

“ส่วนร่างมาตรการความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในช่วงที่มีคนหยุดยาว จะต้องประเมินว่ามีความเสี่ยงที่จะติดโควิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในกิจกรรมใดบ้างนั้น จะมีตั้งแต่การเดินทางกลับภูมิลำเนา การรวมตัวของญาติพี่น้อง มีการพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกัน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำบุญใส่บาตร สรงน้ำพระ กิจกรรมรวมตัวประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน การสาดน้ำ ประแป้ง และกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ ซึ่งสถานที่ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงสงกรานต์นี้จะมีตั้งแต่ขนส่งสาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน จุดแวะพักต่างๆ นอกจากนี้ สถานที่เสี่ยงที่สำคัญคือที่บ้าน ร้านอาหาร และสถานบันเทิงที่เป็นร้านอาหาร ศาสนสถาน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวโรงแรมและห้างสรรพสินค้า” พญ.สุมนีกล่าว

Advertisement

พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมมีการพูดคุยกันว่าถึงอย่างไรในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ไม่ได้มีการงดการจัดหรือห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการความปลอดภัย ซึ่งได้แก่มาตรการหลักๆ คือ VUCA ได้แก่ V คือ Vaccine ควรจะต้องได้รับวัคซีนครบ โดยเฉพาะวัคซีนเข็ม 3 หากฉีดวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือนไปแล้ว U คือ Universal Prevention ควรจะต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล ป้องกันตัวเองทั้งระหว่างเดินทาง ร่วมกิจกรรมและเดินทางกลับ C คือ COVID Free Setting คือสถานที่จัดงานต่างๆ ควรจะต้องมีการประเมินตนเองในระบบ Thai Stop Covid To Plus เพื่อความปลอดภัยเมื่อมีผู้เข้าไปใช้บริการในการทำกิจกรรมต่างๆ และนอกจากนี้ ยังควรที่จะต้องมีการให้ผู้ให้บริการรับวัคซีนครบด้วย และ A คือ Antigen Test Kit ควรจะต้องมีการสุ่มตรวจด้วยเอทีเคทั้งก่อนเดินทางไปต่างจังหวัดและเดินทางกลับเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ หลังจากมีการเสนอมาตรการต่างๆ กับกรมอนามัย ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยเพิ่มเติม เนื่องจากในการที่จะพิจารณามาตรการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นวันหยุดยาว มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องมีการพูดคุยเพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ ที่จะต้องพิจารณามาตรการพร้อมๆ กับสถานการณ์ในช่วงนี้นำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งการประชุมครั้งถัดไปจะเป็นวันที่ 18 มีนาคมนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการช่วงสงกรานต์ โดยจะต้องหารือกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นหลักในการดำเนินงานทั่วประเทศ

///

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image