ศบค.เคาะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน ‘บิ๊กตู่’ ย้ำไว้คุมโควิด ไม่ได้มุ่งจำกัดเสรีภาพใคร

ศบค. ไฟเขียวต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน ‘ประยุทธ์’ ย้ำไว้คุมโควิด ปัดมุ่งจำกัดเสรีภาพใคร แจงตัวเลขติดโควิด เจอ จ่าย จบ ยังสูงเฉลี่ย 2.9 หมื่นต่อวัน จับตา 23 จว.แนวโน้มติดเชื้อพุ่ง อนุมัติวัคซีนเด็ก 6 เดือนถึง 5 ปี เร่งฉีดกลุ่มเสี่ยง ย้ำ ประชาชน ยังต้อสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันโรค

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศบค. เปิดเผยภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศบค.เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ของโลก ซึ่งตอนนี้พบว่าการติดเชื้อและการเสียชีวิตลดลง แม้ขณะนี้จะมีสายพันธุ์ BA.4 BA.5 เข้ามา โดยสถานการณ์ติดเชื้อของประเทศไทย น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบผู้ป่วยใหม่ ที่เข้านอนโรงพยาบาล 2,144 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยสะสม 2,317,520 ราย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 หายป่วยกลับบ้าน 1,946 ราย หายป่วยสะสม 2,316,581 ราย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ผู้ป่วยกำลังรักษา 25,082 ราย เสียชีวิต 20 ราย เสียชีวิตสะสม 9,100 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 763 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 327 ราย ที่ประชุมเน้นย้ำเรื่องอัตราการติดเชื้อ ที่ตอนนี้มีกระแสข่าวว่า ที่อาจจะขัดแย้ง คลาดเคลื่อน ซึ่งนายกฯเน้นย้ำ ให้ฟังข้อมูลจากทาง ศบค. เป็นหลัก

“จากข้อมูลภาพรวมจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่มีผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล เพิ่มขึ้น โดยกรมควบคุมโรคได้รายงานยอดผู้ป่วย กรณี ผู้ป่วยเจอ แจก จบ รับยาเสร็จแล้วกลับบ้าน ในสัปดาห์ที่ 26 พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 207,643 ราย เฉลี่ยวันละประมาณ 29,000 ราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นตัวเลขที่ป่วยจริง แต่อาการไม่ได้หนัก ทั้งนี้ที่ต้องมาดู คือผู้ป่วยปอดอักเสบสัปดาห์นี้แนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข( สธ.) ยืนยันว่ายังมีเตียงรองรับเพียงพอ และตอนนี้โรงพยาบาลยังมีการคืนเตียงไปยังผู้ป่วยอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้ได้รับการรักษาเช่นเดียวกัน ส่วนการเสียชีวิตสะสมรายสัปดาห์แม้จะลดน้อยลง แต่นายกฯ ก็ยังไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงช่วยรณรงค์กลุ่ม 608 เข้ารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้รับหลังผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมแล้ว ผู้ที่นำเชื้อไปติดผู้สูงอายุมากที่สุดคือ ลูกหลาน ซึ่งออกไปยังกิจกรรมชุมนุมต่าง ๆ ดังนั้นจึงยังคงขอความร่วมมือให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการการป้องกันการเสียชีวิตที่ดีที่สุด”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

  • จับตา 23 จังหวัดยอดขาขึ้น ย้ำสวมหน้ากาก ป้องโรค

นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังรายงานจำนวนเตียงผู้ป่วย ระดับ1 ผู้ป่วยน้อย และระดับ 2ป่วยหนัก ยังติดลบ 78,000 เตียง ใช้ไปเพียง 8,500 ราย คิดเป็น 11 % เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวล โดยมีเตียงทั้ง 3 ระดับ ทั้งหมด 130,000 เตียง แม้จะลดลงก็ยังเหลือเพียงพอ สำหรับจังหวัดที่แนวโน้มลดลง 54 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่มีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น 23 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต เชียงใหม่ ระยอง ตาก สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา กระบี่ สงขลา พังงา นราธิวาส ตรัง ปัตตานี และยะลา โดยจะเห็นว่าจังหวัดที่มีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการโควิด-19 หลังการระบาดใหญ่ ซึ่งยังไม่เข้าสู่โรคประจำถิ่น และให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนดกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค ตามมาตรา 14(1) พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2518 โดยได้มีการวางยุทธศาสตร์ หรือ Moving to Covid-19 Endemic มีทั้งมาตรการทางเศรษฐกิจ สังคม และมาตรการทางการแพทย์ 4 ด้าน คือ สาธารณสุข การแพทย์ กฎหมาย สังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ส่วนการคาดการณ์การจำนวนผู้ป่วยและการเสียชีวิต ที่จะเกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ จะมีอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตเกิดขึ้นบ้าง ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน การสวมหน้ากากและการร่วมกลุ่มทำกิจการกิจกรรม ลักษณะของเชื้อคือ BA.4 BA.5 ดังนั้นยังต้องเน้นย้ำ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยกันดูแลประชาชน เพื่อจะได้ไม่ต้องมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่สัปดาห์นี้อาจมีผู้ป่วยรายใหม่และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน และคาดว่าจะลดลงในช่วงเดือนพฤศจิกายน

Advertisement

ขณะเดียวกันสธ. ยังเสนอ 4 กิจกรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน 1.ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง 2.การเตรียมพร้อมบริหารโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออัตราย 3.การดำเนินการเมื่อโควิด-19เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง หลายเรื่อง ทั้งการแนะนำประชาชนด้านการแพทย์ ฯลฯ และ4 การประเมินผล ที่ประชุมรับทราบระดับความรุนแรง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการจัดซื้อยา การฉีดวัคซีน การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบประมาณไปอย่างเต็มที่เพื่อดูแลประชาชนให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากจะต้องเปลี่ยนผ่านในเรื่องการเบิกจ่าย โรงพยาบาลเอกชน ก็พร้อมที่จะช่วย ส่วนสำคัญคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะต้องดูแล ต้องมีการปรับตัวใช้สิทธิฉุกเฉินหรือ UCEP เพื่อให้ระยะเปลี่ยนผ่านมีความลื่นไหล การเดินทางระหว่างประเทศ ก็มีการผ่อนคลายไปแล้ว กฎหมายต่างๆ ที่ต้องผ่อนคลาย อย่างกฎ กระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดว่าเป็นโรคต้องห้ามก็ต้องไปศึกษา หาแนวทางในการยกเลิกโรคต่าง ๆ เหล่านี้

  • อนุมัติวัคซีนเด็ก 6 เดือนถึง 5 ปี เร่งฉีดกลุ่มเสี่ยง-เข็มบูสเตอร์

โฆษกศบค. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมรายงานแผนการฉีดวัคซีน พบว่า ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีน เข็ม 3 เพียง 47.1% เด็กอายุ 12-17 ปี ฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 20.5% ส่งผลให้มีการติดเชื้อในโรงเรียน ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนสอนออนไลน์ไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกฯอยากให้สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้คำแนะนำที่ถูกต้องที่สำคัญเร่งฉีดวัคซีนของ 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่มีรายงานสาเหตุที่ผู้สูงอายุ ไม่ฉีดเข็มกระตุ้น จากการสำรวจความคิดเห็น ของกรมควบคุมโรค 34.8% ไม่อยากฉีดเพราะคิดว่าพอแล้ว 20.5% รอฉีด 15.2% กลัวอัตราย 16.7% เพิ่งหายป่วยจากโควิด-19 8.8% อื่น ๆ เช่นตั้งครรภ์ไม่อยากฉีด เมื่อถามว่าจะฉีดหรือไม่ ระบุว่าจะฉีด 31% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ไม่แน่ใจและไม่อยากฉีด ประมาณ 60% โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2565 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 60% คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ แต่ยังมี 10 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นน้อย ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล บึงกาฬ สกลนคร หนองบัวลำภู แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช และพัทลุง ขอให้เพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีนเพื่อสุขภาพ และลดอัตราการเสียชีวิตลง

“แผนการจัดสรรวัคซีน ขณะนี้มีการจัดหาวัคซีนทั้งหมด 169 ล้านโดส ซึ่งได้รับมอบแล้ว และจะกระจายไปทั่วประเทศ ทั้งวัคซีนเชื้อตายและวัคซีนรุ่นใหม่ ๆ ทางรัฐบาลพยายามจัดหาวัคซีนให้ได้อย่างเพียงพอ และจากข้อมูล การฉีดวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 76% ป้องกันการป่วยหนัก การใส่เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 96% นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบ การเปลี่ยนวัคซีน จากแอสตราเซเนกา มาเป็นวัคซีน LAAB จำนวน 257,500 โดส ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแล้ว และยังเห็นชอบปรับเปลี่ยน วัคซีนไฟเซอร์ ที่เหลือจากการรับมอบอีก 36 ล้านโดส มาเป็นไฟเซอร์ มารูนแคป ซึ่งเป็นวัคซีนเฉพาะของเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี จำนวน 3 ล้านโดส ตรงนี้ถือเป็นข่าวดี ให้เด็กได้รับวัคซีน และข้อดีของวัคซีน LAAB ยังมีประโยคสำหรับกลุ่มโรคไตระยะสุดท้าย และกลุ่มที่จะเปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้”โฆษกศบค. กล่าว

Advertisement
  • ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งที่ 19 อีก 2 เดือน – ยอดนักท่องเที่ยว 

นพ.ทวีศิลป์ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน เป็นครั้งที่ 19 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2565 นายกฯย้ำว่า การขยายนี้เพื่อการควบคุมป้องกันโรคและการรักษาชีวิตประชาชน ส่วนกรณีอื่นๆไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์สำหรับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้เลย ไม่ได้มีส่วนจะไปจำกัดเสรีภาพหรืออะไร

นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังเสนอตัวเลข นักท่องเที่ยว ตัวเลขวันที่ 6 กรกฎาคม มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่ม จำนวน 30,947 ราย สูงสุดคือมาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนามและออสเตรเลีย ตั้งต้นปีคือ 1 มกราคม ถึง 6 กรกฎาคม มีนักท่องเที่ยวสะสมแล้ว 2,214,132 ราย รายได้ 1.25 แสนล้านบาท อินเดียเป็น ชาติที่มามากทีสุด รองลงมาคือมาเลเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

“ตรงนี้เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจ ที่นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจ โดยจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ กรุงเทพ ชลบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ส่วนรายได้จากไทยเที่ยวไทย 3.05 แสนล้านบาท รวมแล้วรายได้ท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ มากถึง 4.3 แสนล้านบาท มท.เสนอว่ามีการเปิดจุดผ่านแดนแล้ว 39 จัด มีคนเข้ามาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 972,299 ราย ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนการเปิดจุดการค้า พรมแดนอื่น ๆ ซึ่งยังมีอีกหลายจุด ขอให้หารือกับประเทศเพื่อบ้าน และต้องมีมาตรการที่เข้มงวด” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image