มันนี่ทิป : PVD หรือ RMF : กระปุกหมู

หลายบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อให้ลูกจ้างสะสมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ สามารถส่งเงินสะสมเข้าได้ 2-15% ของเงินเดือน และนายจ้างเองก็มีการจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้าง 2-15% ของเงินเดือน ซึ่งสามารถย้ายเงินใน PVD ไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ ในกรณีลาออกจากงาน หรือเปลี่ยนงาน แต่นายจ้างใหม่ไม่มี PVD หรือไม่สามารถคงเงินใน PVD ได้ หรือกรณีนายจ้างเลิกกิจการหรือยกเลิกการจัดให้มี PVD แต่ก่อนตัดสินใจควรพิจารณาอะไรบ้างนั้น มันนี่ทิปมีข้อมูลจากธนาคารกสิกรไทย มาฝากกันค่ะ

หลายคนอยากนำเงินลงทุนจาก PVD ไปลงทุนใน RMF เพื่อสามารถมีทางเลือกในการจัดการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น แต่ต้องพิจารณา เพราะเมื่อย้ายไป RMF แล้วจะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก และหากต้องการย้ายออกจาก RMF จะย้ายหรือสับเปลี่ยนไปได้เฉพาะกองทุน RMF ด้วยกันเท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ RMF สามารถเลือกสัดส่วนการลงทุนได้ง่ายกว่า PVD เพราะ RMF มีนโยบายการลงทุนหลากหลายและสามารถกำหนดสัดส่วนการลงทุนได้ด้วยตนเอง แต่กองทุน PVD ก็อาจจะมีนโยบายให้สมาชิกเลือกได้ขึ้นอยู่กับนายจ้าง ควรตรวจสอบก่อนว่านายจ้างมีทางเลือกที่มีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองหรือไม่

นอกจากนี้ ต้องพิจารณาระยะเวลาในการถือครองในกองทุน RMF ที่ควรจะถือครองจนถึงอายุ 55 ปี เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษี ดังนั้น กรณีมีอายุประมาณ 45 ปี หากย้าย PVD ไป RMF จะต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 10 ปี จนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงขายออกได้ และจะได้รับยกเว้นภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นในกองทุน

Advertisement

สำหรับการย้าย PVD ไป RMF กรณีไม่เคยลงทุน RMF ทั่วไปมาก่อน เมื่อย้าย PVD ไป RMF แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องจนกระทั่งอายุ 55 ปี เพราะถือเป็นคนละส่วนกับกองทุน RMF ทั่วไป ส่วนกรณีเคยลงทุน RMF ทั่วไปมาก่อน ไม่ว่าจะย้าย PVD ไป RMF หรือไม่ จะต้องซื้อ RMF ต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี ตามเงื่อนไขที่ว่าต้องไม่ระงับการลงทุนเกินกว่า 1 ปี

ขณะที่หากอายุเกิน 55 ปี อยากย้าย PVD ไป RMF ควรตรวจสอบเงื่อนไขว่าเงินจาก PVD จำเป็นต้องใช้หลังเกษียณเมื่อใด ถ้ายังไม่จำเป็นต้องใช้ในระยะเวลา 1-2 ปี ก็สามารถย้าย PVD ไป RMF ได้ ทั้งนี้ ควรเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมการจัดการก่อนตัดสินใจย้ายไป RMF ด้วย

ที่สุดแล้วการย้ายจาก PVD ไป RMF ได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อมีวัตถุประสงค์หลักคือ ไม่มีทางเลือกและต้องนำเงินออกจากกองทุน PVD แต่หากอยากได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ขอให้เปรียบเทียบความคุ้มค่าเรื่องภาษี และสภาพคล่องที่จะนำเงินออกมาจากกองทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขทางภาษี ก่อนที่จะตัดสินใจนะคะ

Advertisement

กระปุกหมู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image