ทดลองขับ“Mitsubishi XPANDER” รูปร่างโหด ไม่ได้แรงสะใจ แต่ขับสบาย ถูกใจสายชิล

หลังจากปล่อยให้แฟนมิตซูบิชิรอกันมานาน เปิดตัวขายดิบขายดีที่อินโดนีเซีย  ล่าสุดมิตซูบิชิ ประเทศไทย เตรียมนำเข้า เจ้า Mitsubishi XPANDER Mini mpv ขนาด 7 ที่นั่ง จากประเทศอินโดนีเซีย ที่ตั้งโรงงานผลิต ที่มิตซูบิชิยืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า มันคือครอสโอเวอร์ ที่คุณลักษณะคล้าย mpv แต่ก็ผสมลักษณะรถอเนกประสงค์แบบ SUV คือยกสูง

แว๊บแรกที่เห็นต้องบอกเลยว่ารูปร่างหน้าตาไม่ธรรมดา เป็นเอกลักษณ์การออกแบบ Advanced ‘Dynamic shield’ ความแตกต่างที่ปรากฏชัดเจนเช่นบริเวณด้านหน้าโดยเฉพาะตำแหน่งของไฟหน้า-ไฟหรี่แบบ Crystal LED ถูกติดตั้งอยู่บนขอบฝากระโปรง และเอียงมาทางด้านหน้าซุ้มล้อ เส้นสายลายทางอะไรเต็มไปหมด

มีสองรุ่น GT เป็นตัวท็อป และ GLS-LTD [ภาพ Matichononline]
ไฟหรี่ยกขึ้นด้านบน [ภาพ Matichononline]
ไฟหน้าวางตำแหน่งในกันชนหน้า [ภาพ Matichononline]
ไฟท้ายดีไซน์ใหม่ [ภาพ Matichononline]
ซึ่งไฟหน้าที่ติดตั้งในกันชนหน้า มิตซูบิชิระบุว่าเพื่อเลี่ยงไม่ให้แสงจากไฟหน้ารบกวนสายตาผู้ใช้ทางเท้ารวมถึงผู้ขับขี่ยานพาหนะที่สวนมา และมีไฟตัดหมอกด้านล่าง ถามว่าอันที่จริงช่วยได้ไหมก็ช่วยได้บ้าง แต่ส่วนตัวผมมองว่าไม่เกี่ยวมากนัก จากการคุยกับผู้รู้แวดวงรถหลายคน มองว่ามันเป็นปัญหาต่อเนื่องในการออกแบบไฟหน้ามากกว่า ด้วยด้านหน้าของ Mitsubishi XPANDER ดีไซน์มันออกมาแบบ X-SHAPE ก็จำเป็นต้องวางไฟหน้าไว้ตรงนั้น ขณะที่ไฟหรี่ ก็ถูกวางไว้จุดด้านบน ซึ่งปกติจะเป็นไฟดวงใหญ่หรือไฟหน้า

นี่คือความแปลกใหม่ มองอีกมุมก็สวยเหมือนกัน เรียกว่าดีไซน์ด้านหน้าลํ้าสมัย ล้ำอนาคตกันเลยทีเดียว

Advertisement

แต่สำหรับ Mitsubishi XPANDER ที่จะมาทำตลาดในไทยนั้น มีแค่เพียง 2 รุ่นคือ รุ่น GLS-LTD ซึ่งเป็นรุ่นรองท็อป และรุ่น GT ซึ่งเป็นรุ่นท็อป โดยทั้ง 2 รุ่นก็ไม่มีไฟ Daytime Running Light  ทั้งคู่

ที่อินโดนีเซีย รถรุ่นนี้จะมีรุ่นเกียร์ธรรมดาด้วย แต่ที่เมืองไทยทั้ง 2 รุ่นที่นำเข้ามาจะเป็นเกียร์ออโต้ทั้งหมดไม่มีรุ่นเกียร์ธรรมดาขาย

เครื่องยนต์ขนาด 1,500 cc เท่ากับ เวอร์ชั่นอินโดนีเซีย เกียร์แบบ 4 Speed ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่าเพราะที่อินโดนีเซียเน้นใช้งานในเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติดพอสมควร ก็ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่โตอะไร แถมเป็นรถ 7 ที่นั่งก็จะยิ่งขายดี ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆเพราะ Mitsubishi Xpander หลังเปิดตัวขายที่อินโดนีเซียเป็นรถที่ทำยอดขายสูงสุดแบบถล่มทลาย ในเมืองไทยอาจจะไม่เป็นแบบอินโดก็ได้ บางครั้งเราก็ขับเป็นเมืองบางครั้งก็ออกต่างจังหวัดระยะไกล มิตซูบิชิตั้งเป้าการขายประมาณ 1 หมื่นคันต่อปีเท่านั้น

Advertisement

น่าสนใจเพราะมิตซูบิชิยังไม่ประกาศราคาอย่างเป็นทาง แต่คาดว่าด้วยสเปกขนาดนี้ คู่แข่งของมัน น่าจะอยู่ที่ Toyota SIENTA Honda BRV Suzuki Ertiga รวมถึงอาจจะไปท้าชนกับระดับSUV 1.5 ลิตรอย่าง MG ZS ด้วย

กว้าง-ยาว-สูง ที่สุด

มิตซูบิชิประเทศไทย ได้จัดให้มีการทดสอบการขับขี่ Mitsubishi XPANDER ขึ้นเป็นครั้งแรก เริ่มจากจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ พิษณุโลก และสุโขทัย เป็นระยะทาง 543 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 วัน ซึ่งนับเป็นการทดสอบทางไกลเป็นครั้งแรกของรถรุ่นนี้ในไทย

ทางผู้จัด ได้คัดเลือกเส้นทางซึ่งสะท้อน การใช้งานจริงของ คนไทย กล่าวคือ มีการทดสอบบนถนนใหญ่ระยะยาวทางตรงใช้ความเร็วสูงได้ บางจุดก็พาเลี้ยวเข้าไปในถนนขรุขระ ถนนลูกรังให้ได้ทดสอบระบบกันสะเทือน

[ภาพ Matichononline]
[ภาพ Matichononline]
มาดูที่ภายนอกของรถกันก่อนเลย เริ่มจากความยาวตลอดคัน ซึ่งยาว 4,475 mm หรือยาวเกือบ 4.5 เมตร ยาวมากกว่าคู่แข่งทุกรุ่น เรียกได้ว่าเกือบจะเท่ารถกระบะแล้ว ขณะที่ความกว้างตลอดคัน อยู่ที่ 1,750 mm  ด้านความสูงนั้นอยู่ที่ 1,700 mm ก็ถือว่าสูงกว่าคู่แข่งทั้งหมดทั้งมวลอีก ส่วนระยะฐานล้ออยู่ที่ 2,775 mm มีความกว้างช่วงล้อหน้ามากกว่าช่วงล้อหลังเล็กหน่อยคือ 1,520 mm กับ 1,510 mm ที่น่าสนใจคือระยะต่ำสุดถึงพื้นอยู่ที่ 205 mm ตรงนี้ก็สูงกว่าคู่แข่งทั้งหมดเช่นกัน ถัง Honda br-v ที่สูง 201 mm Ford Ecosport ที่สูง 200 mm  สามารถทำรัศมีวงเลี้ยวแคบสุดได้ที่ 5.2 เมตร น้ำหนัก 1,290 กิโลกรัม

ความยาวตลอดคัน 4,475 mm หรือยาวเกือบ 4.5 เมตร [ภาพ Matichononline]
ด้านขนาดของล้อและยางนั้น ถ้าเป็นรุ่น GLS-Ltd หรือรุ่นรองท็อปจะได้ขนาดล้อ 15 ล้ออัลลอยแบบสีโมโนโทน ขนาดยาง 185 / 65 แต่ถ้าเป็นรุ่น GT หรือตัวท็อปจะได้ล้อขนาด 16 ขนาดยาง 205/55 หากมองด้วยสายตาแล้ว ด้วยรูปร่างที่ใหญ่มากของมัน ทำให้ล้อขนาด 16 นิ้วดูเล็กไปเลย จะใส่ขนาด 17 ก็ยังได้

ความแตกต่างภายนอกระหว่างรุ่น GLS LTD กับรุ่น GT นอกจากขนาดล้อ ก็คือรุ่นรองท็อปจะไม่มีไฟตัดหมอกคู่หน้า แต่ตัวท็อปมี รวมถึงมือจับประตูด้านนอก ตัวท็อปจะเป็นโครเมียม แต่ตัวรองท็อปจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ เช่นเดียวกับคิ้วขอบกระจกประตูที่ตัวท็อปจะเป็นสีโครเมียม ส่วนแผงกันกระแทกด้านหน้า-หลังและคิ้วด้านข้าง ซึ่งตัวรองท็อปจะเป็นสีดำ แต่ตัวท็อปจะเป็นสีเงิน

ล้อขนาด 16 ขนาดยาง 205/55 [ภาพ Matichononline]
ไปดูภายในห้องโดยสาร Mitsubishi XPANDER ดีไซน์ภายในจะตกแต่งด้วยวัสดุสีเงินและแบบ Piano Black มาตรวัดการขับขี่ แบบ High Contrast มองเห็นชัดเจนดี มาพร้อมกับไฟแสดงระดับและคะแนนการขับขี่แบบประหยัด

ระบบปรับอากาศเป็นแบบมือหมุน ไม่ใช่แอร์ออโต้หากใครจะคาดหวัง ด้านหลังจะมีแผงควบคุมระบบปรับอากาศแบบแยกอิสระให้สามารถปรับความแรงลมได้ มีช่องแอร์เยอะดี ทำความเย็นใช้ได้

มาตรวัดการขับขี่ แบบ High Contrast มองเห็นชัดเจนดี [ภาพ Matichononline]
ระบบปรับอากาศเป็นแบบมือหมุน ไม่ใช่แอร์ออโต้ [ภาพ Matichononline]
แผงกันกระแทกด้านหน้า-หลังและคิ้วด้านข้าง ซึ่งตัวรองท็อปจะเป็นสีดำ แต่ตัวท็อปจะเป็นสีเงิน [ภาพ Matichononline]
มือจับประตูด้านนอก ตัวท็อปจะเป็นโครเมียม แต่ตัวรองท็อปจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ [ภาพ Matichononline]
แถบข้างประตูด้านนอก ตัวท็อปจะเป็นโครเมียม แต่ตัวรองท็อปจะเป็นดำ [ภาพ Matichononline]

นั่งสบายไม่เมื่อย

การเปิดประตูเข้าออก จัดว่าดีทั้งคนขับและผู้โดยสารแถว 2 ส่วนผู้โดยสารแถว 3 ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก

เบาะนั่งเวอร์ชั่นไทยจะเป็นเบาะหนังและวัสดุหนังสังเคราะห์ แต่ตัวรองท็อปจะเป็นเบาะผ้า โดยเบาะหน้าด้านที่นั่งคนขับจะสามารถปรับระดับสูงต่ำได้ ส่วนเบาะแถวที่ 2 เป็นเบาะนั่งแยกพับแบบ 40: 60 ได้ รวมถึงยังสามารถปรับเลื่อนหน้าหลังได้และยังมีที่พักแขนมาให้โดยจะมีหูเชือกให้ดึงแต่ต้องออกแรงหน่อย จากการทดลองนั่งเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร สอบถามสื่อหลายท่าน พบว่า นั่งสบายใช้ได้ ไม่เมื่อยมาก แถมห้องโดยสารกว้างดี คนตัวสูงไปนั่งเข่าก็ไม่ติด แถมมันสามารถปรับเลื่อนหน้าหลังได้ ตรงนี้ช่วยได้เยอะมาก

ขณะที่เบาะแถวที่ 3 สามารถแยกพับแบบ 50: 50 ผู้ใหญ่ตัวใหญ่ไปนั่งอาจจะลำบากหน่อยแต่ถ้าเป็นเด็กๆนั่งสบาย โดยผู้โดยสารแถว 3 นี้ ยังมีที่วางแก้วน้ำ และ Power Outlet ให้อีกด้วย เรียกว่าเอาใจใส่กันดีทีเดียว

ด้านความสูงของรถ พื้นที่เหนือศีรษะของ ผมซึ่งเป็นคนสูง 185 เซ็นติเมตร ก็ยังเหลือพื้นที่เหนือศีรษะอีกเยอะ ไม่ว่าจะขับหรือจะนั่งคนตัวสูงก็อุ่นใจได้ ตรงนี้รวมถึงการนั่งแถว 3 ด้วย

ในห้องโดยสาร ว่าด้วยเรื่องพื้นที่เก็บของและที่วางแก้วน้ำนั้น ต้องบอกว่าให้มาเยอะมาก เบาะที่นั่งทุกแถวมีที่วางแก้วน้ำหมด ที่นั่งด้านหน้าบริเวณคอนโซล ก็เต็มไปด้วยพื้นที่เก็บของ ช่องเล็กน้อยเต็มไปหมด ใต้เบาะนั่งด้านหน้ายังมีถาดเก็บของอเนกประสงค์ไว้เก็บรองเท้าหรืออื่นๆได้อีกด้วย ส่วนบริเวณห้องเก็บสัมภาระก็มีกล่องเก็บของด้านใต้พร้อมฝาปิด เรียกว่าใช้งานกันเต็มพื้นที่เก็บทุกเม็ดเล็กๆน้อยๆคุ้มค่าสไตล์ญี่ปุ่นจริงๆ

เบาะหนังและวัสดุหนังสังเคราะห์ แต่ตัวรองท็อปจะเป็นเบาะผ้า โดยเบาะหน้าด้านที่นั่งคนขับจะสามารถปรับระดับสูงต่ำได้ [ภาพ Matichononline]
7 ที่นั่ง เบาะแถว 2 -3 พับราบได้ [ภาพ Matichononline]
Power Outlet จัดมาให้กับแถว 3 [ภาพ Matichononline]
ที่วางแก้วน้ำเยอะ แถว 3 ก็มีมาให้ [ภาพ Matichononline]
ส่วนการเก็บเสียงของรถ Mitsubishi บอกกับผู้ทดสอบในช่วงแนะนำตอนแรกก่อนการเดินทาง ว่าพยายามใส่วัสดุดูดซับเสียงเพิ่มเติมมาในโครงสร้างของรถ จากการทดลองนั่งเป็นผู้โดยสารและขับ ในย่านความเร็วต่างๆ ทั้งถนนลาดยางระยะยาว หรือจะเป็นถนนลูกรัง ต้องขอบอกว่าเงียบใช้ได้เลยทีเดียว มีเสียงเครื่องหลุดรอดมานิดเดียว อยู่ในระดับรับได้ ส่วนในระดับความเร็วสูง ก็มีเสียงดังมาจากพื้นล่างบ้าง เวลาตกหลุมซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ

ทัศนวิสัยจัดว่าดี

มาดูกันที่พวงมาลัย สามารถปรับระดับสูงต่ำและปรับเข้าออกได้ ตรงนี้ต้องบอกด้วยว่าพวงมาลัย หัวเกียร์และเบรคมือก็หุ้มหนังด้วย โดยพวงมาลัยจะมีสวิตช์ควบคุมระบบเครื่องเสียง สวิตซ์ควบคุมการสั่งงานด้วยเสียงและปุ่มรับวาง ส่วนด้านขวาของพวงมาลัยจะมีระบบล็อคความเร็ว หรือ Cruise control (แบบเก่านะจ๊ะไม่ใช่ Active Cruise control)

จากการทดสอบขับด้วยความเร็วสูงพบว่าพวงมาลัยนิ่งดี แม้เป็นพวงมาลัยไฟฟ้าแต่ปรับน้ำหนักความหน่วงมือใช้ได้ ที่ความเร็วสูงระดับ 160-170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พวงมาลัยก็ยังนิ่งอยู่ ให้ความรู้สึกควบคุมรถได้ ช่วงถนนวังซ้ายเขตรอยต่อจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่ ข้ามอุทยานแห่งชาติแม่ยมได้ทดสอบการเข้าโค้งหลายครั้ง ให้ความรู้สึกเอาอยู่   

ชุดเครื่องเสียง ของ Mitsubishi XPANDER ตัว GT จะให้จอสัมผัสขนาด 6.2 นิ้ว มีระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สายและช่องต่อ USB โดยให้ลำโพงมา 6 ตัว บริเวณเสาหน้าก็มี แต่รุ่น GLS -ltd จะได้ลำโพงมาแค่ 4 ตัว ไม่มีจอสัมผัส

ด้านทัศนวิสัยการขับขี่ ด้วยความที่กระจกมองข้างมีขนาดใหญ่ ใหญ่ขนาดที่เวลาขับตามมองเห็นเด่นชัดมาก ขณะที่ด้านหน้าก็มองเห็นเด่นชัด โดยเฉพาะอานิสงส์จากการที่รถมีความสูงอย่างกับรถกระบะ เสาด้านหน้าทั้งสองข้างก็ไม่เป็นอุปสรรคมากนัก แต่กระจกมองหลังหันมองได้เล็กหน่อย ตามปกติของรถ 7 ที่นั่ง  ส่วนทัศนะวิสัยของคนนั่งเบาะแถว 2 บอกเลยว่าดี โดยรวมจึงถือว่าทัศนวิสัยการขับขี่ดี สูงอย่างนี้พอจะไว้ลุยน้ำท่วมได้ดีเลยทีเดียว

[ภาพ Matichononline]
[ภาพ Matichononline]
 

4 สปีด นิ่ม ทน แต่ อืด-ซด หน่อย

มาดูกันที่เครื่องยนต์กันบ้าง เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ MIVEC DOHC 16 วาล์ว ปริมาณกระบอกสูบ 1,499 cc กำลังสูงสุด 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 141 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที รองรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91, 95 และแก๊สโซฮอล์ E20 ถังน้ำมันจุได้ 45 ลิตร

ส่วนระบบส่งกำลังเป็น เกียร์ อัตโนมัติ แบบ 4 Speed จากการทดลองขับขี่ ต้องทำใจตั้งแต่แรก ด้วยความที่รถมีขนาดใหญ่ มันจึงไม่เหมาะกับพ่อบ้านเท้าหนัก เพราะมันถูกออกแบบให้เป็นรถใช้แบบครอบครัว การขับขี่ในย่านความเร็วสูงแบบชิลๆ เน้นปลอดภัย มันก็สามารถไต่ไปได้ถึง 160 บางคนได้ถึง 170 กิโลเมตรต่อชม.

แต่ด้วยขนาดของเครื่อง และขนาดน้ำหนัก ทำให้ช่วงออกตัวก็ค่อนข้างอืด จากการทดสอบในทริป จาก0 ถึง100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 15 วินาที แต่บางคนเลยไปถึง 16 และ 17 วินาทีก็มี นี่มันความเร็วอีโคคาร์ชัดๆ   

การเร่งแซงช่วงความเร็วประมาณ 80 ถึง 120 กม./ชม. ก็อาจต้องกะระยะให้ดีในขับขี่ครั้งแรกๆ โดยรวมกำลังเครื่องก็พอใช้ได้ ถ้าขับในเมือง เครื่องของเจ้าตัวนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา หรือแม้จะออกต่างจังหวัด หากไม่ได้เท้าหนักเร่งรีบ ต้องการความหวือหวาอะไรมาก มันก็ตอบโจทย์ท่านได้

อย่างการทดสอบในทริป มีจังหวะได้ขับขึ้น-ลงเขาบ้าง บนถนนหมายเลข 11 ช่วงรอยต่อ จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ มันก็ผ่านไปได้ ไม่ได้ยากเย็นอะไร

ขณะที่อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ด้วยความที่เป็นเกียร์ 4 Speed อารมณ์มันค่อนข้างย้อนยุคพอสมควร คนอื่นเขา 5-6 Speed กันแล้ว เพราะที่ความเร็วปลายมันช่วยให้ได้รอบเครื่องที่ต่ำลง น้ำมันก็จะกินลดลงนิดนึง หรือหากไม่ใช่แบบนี้ คนอื่นก็จะเป็นเกียร์ CVT  เพราะนุ่มสะบาย ประหยัดสุด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ ความเร็วที่ประมาณ 100 กม.ต่อชม. พี่ XPANDER เขาก็ปาเข้าไป 2,500 รอบต่อนาทีแล้ว ขณะที่ชาวบ้านเขาอยู่ที่ 2,000 ซึ่งก็โอเคเข้าใจได้เพราะมันเป็นปกติของเกียร์ 4 speed แต่ข้อดีของเกียร์แบบนี้ก็คือความทน และซ่อมง่าย  เรียกได้ว่า รถใครเสีย เอาคันนี้ไปลากได้ แบบนี้ เกียร์ CVT คงไม่กล้าทำนะ

เครื่องยนต์ 4 สูบ MIVEC DOHC 16 วาล์ว ปริมาณกระบอกสูบ 1,499 cc [ภาพ Matichononline]
กำลังสูงสุด 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที [ภาพ Matichononline]
เกียร์ อัตโนมัติ แบบ 4 Speed [ภาพ Matichononline]
จากการทดสอบขับขี่ ที่ช่วงความเร็วประมาณ 90 ถึง 100 กม.ต่อชม. หากเท้านิ่งนิ่งๆน่าจะได้ประมาณ 15 กิโลเมตรต่อลิตร ไม่ได้แย่อะไร แต่ถ้ากดคันเร่งไปอยู่ในช่วง 100 – 120 กม.ต่อชม. อาจจะได้เห็นอัตราการกินน้ำมัน 13 ถึง 14 กม.ต่อลิตร แต่ถ้าเร็วขึ้นไปอีก ซัก 130 ถึง140 กม.ต่อชม. น่าจะได้เห็นตัวเลข 12 ถึง 13 กม.ต่อลิตร แต่ถ้าเหยียบ ช่วง 130 ถึง 150 กม.ต่อชม. หรือถ้าคิกดาวน์ไปบ่อยๆ หรือถ้าขับในเมือง ได้เห็นตัวเลขระหว่าง  9-11 กม.ต่อลิตรแน่นอน อันนี้คือตัวเลขที่สรุปยอดจากการทดสอบด้วยตัวเอง และถ้าสอบถามพี่ๆ เพื่อนๆ สื่อมวลชนในทริปเดียวกันก็ได้ประมาณนี้ พอจะสรุปได้ว่าน่าจะเรียกได้ว่าไม่ค่อยประหยัดสักเท่าที่ควร  หวังว่าในอนาคตมิตซูบิชิจะพัฒนาให้ดีกว่านี้

[ภาพ Matichononline]
อย่างไรก็ตาม แม้ความเร็วอาจจะไม่ถูกใจใคร โดยเฉพาะหากเทียบคู่แข่ง มันแทบจะอยู่ท้ายๆ แต่สิ่งที่ได้มาคือความนุ่มนวล ในจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ อาการกระชากออกน้อยมาก ผิดจากที่คาดไว้ว่าน่าจะเป็นปัญหาของเกียร์ 4 สปีด  เรียกได้ว่าก็ใช้งานง่ายควบคุมง่าย คันเร่งก็ตอบสนองเป็นธรรมชาติดี

 

ความเร็วสูงก็มั่นใจว่าเอาอยู่

มาดูที่ช่วงล่างของรถกันบ้าง ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเป็นแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลงและเหล็กค้ำหัวโช๊ค สวนด้านหลังเป็นแบบทอร์ชั่นบีม มาพร้อมกับระบบเบรกด้านหน้าแบบดิสก์เบรก ส่วนด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก แม้รถจะมีขนาดใหญ่กว้าง และสูงที่สุดในกลุ่ม แต่การขับขี่ในช่วงความเร็วสูง สามารถคุมรถอยู่ รถมีความนิ่ง ในช่วงผ่านทางขรุขระขณะเลี้ยวเข้าถนนลูกรัง ก็ให้ความรู้สึกว่า แม้มีอาการอยู่บ้างแต่  รถสามารถซึมซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีพอสมควร ทั้งผู้โดยสารเบาะหน้าและผู้โดยสารแถว 2 ส่วนความเร็วสูงในขณะเข้าโค้ง ค่อนข้างมั่นใจดี ตรงนี้จากการสอบถาม สื่อมวลชนในทริปส่วนใหญ่เห็นตรงกัน

ในส่วนความปลอดภัย มีระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวหรือ ASC ระบบป้องกันการลื่นไถล หรือ TCL ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน หรือ HSA ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกหรือ ABS ระบบกระจายแรงเบรกหรือ EBD ระบบเสริมแรงเบรกหรือ BA ระบบไฟกระพริบฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกระทันหันหรือ ESS ระบบป้องกันการโจรกรรมและระบบสัญญาณกันขโมย ระบบล็อคป้องกันการเปิดประตูหลังจากภายใน ระบบเตือนคาดเข็มขัดนิรภัยคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับและระบบผ่อนแรงอัตโนมัติ และยังใส่ใจรายละเอียดให้จุดยึดเบาะเด็กมาด้วย 2 ตำแหน่ง และยังมีกล้องมองหลัง ขณะถอยจอดสำหรับรุ่น GT อีกด้วย ส่วนถุงลมนิรภัยนั้น Mitsubishi XPANDER ให้มาแค่ 2 ใบคือสำหรับคนขับและผู้โดยสารตอนหน้า

[ภาพ Matichononline]
[ภาพ Matichononline]
[ภาพ Matichononline]

เปรียบเทียบคู่แข่ง

ทั้งนี้หากจะให้สรุป ว่ารถคันนี้เหมาะกับใคร ก็ต้องบอกว่ามันเป็นรถสำหรับครอบครัว ไม่เหมาะสำหรับการซิ่ง ด้วยเครื่องขนาด 1,500 cc กับขนาดของตัวรถที่ใหญ่กว้างและสูง นับว่าเป็นรถที่เหมาะกับการใช้งานในเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ด้วยความสูงจากพื้นถึงจุดต่ำสุดของรถที่สูงถึง 205 mm น่าจะใช้ลุยน้ำได้ดีระดับหนึ่ง แถมยังส่งผลให้ทัศนวิสัยดี การขับขี่ให้ความรู้สึกดี พวงมาลัยควบคุมง่าย แม้ในความเร็วสูงน้ำหนักหน่วงมือก็อยู่ในเกณฑ์ดีไม่เบาและหนักเกินไป ช่วงล่างใช้ได้ สามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงได้อย่างมั่นใจ ผู้โดยสารก็นั่งสบายนิ่มนวล

Mitsubishi XPANDER เป็นรถครอสโอเวอร์ใหม่ล่าสุด จุดเด่นสำคัญในคราวนี้ น่าจะเป็นเรื่องหน้าตาที่สดใหม่ที่สุดในกลุ่ม ส่วนอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในก็ไม่ได้โดดเด่นกว่าคู่แข่งมากนัก คงจะต้องรอลุ้นในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ว่าทาง Mitsubishi จะใส่สิ่งที่ขาดหายไปกลับมาให้หรือไม่

ถ้าจะเทียบกับคู่แข่งคร่าวๆ ในสิ่งที่Xpander อาจจะด้อยกว่า เริ่มจาก TOYOTA SIENTA จะได้เครื่องยนต์ที่อัตราเร่งดีกว่าXpander ที่จะได้ไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ ประตูข้างแบบสไลด์ด้านขวาเปิดปิดด้วยระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ

ขณะที่ HONDA BR-V เครื่องยนต์อัตราเร่งดีกว่า Xpander ได้เกียร์ CVT จะได้ไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ระบบควบคุมประตูแบบอัจฉริยะ ระบบล็อคอัตโนมัติ

ส่วน Suzuki Ertiga จุดเด่นคือราคาอยู่ในย่าน เจ็ดแสนต้นๆ และประหยัดน้ำมันกว่าอย่างแน่นอน ส่วนรูปลักษณ์อาจจะเก่าหน่อย แต่ตัวใหม่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆนี้

สวน New MG ZS อัตราเร่งแทบไม่ต่างกันมาก ความแตกต่างก็คือด้านเทคโนโลยี ก็จะได้ไฟแบบโปรเจคเตอร์ ไฟส่องนำทางหลังดับเครื่องยนต์ ราวหลังคา ระบบอัจฉริยะหรือ i-Smart มีระบบสั่งการผ่านเสียงภาษาไทย ระบบสั่งการผ่านจอทัชสกรีน สั่งการซันรูฟได้ ระบบนำทางพร้อมรายงานการจราจร แบบ Real Time ระบบสั่งการบนสมาร์ทโฟน สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์และเปิดระบบปรับอากาศได้ ระบบล็อคและปลดล็อคประตู และมีระบบขอบเขตอิเล็กทรอนิกส์และระบบค้นหารถ หรือ Find My Car ทั้งยังมีระบบตรวจสอบสถานะรถยนต์และเตือนความผิดปกติของรถอีกด้วย

จับตาลุ้นราคา

ดูจากกระแสสังคม ที่จับจ้อง Mitsubishi XPANDER ต้องบอกว่าไม่น้อยเลยทีเดียว มีการตั้งกลุ่มศึกษารถคันนี้ใน Facebook หลายกลุ่ม ก่อนที่เจ้ารถคันนี้จะปรากฏตัวในเมืองไทยเสียอีก ส่วนบรรยากาศการขายที่อินโดนีเซียนั้น ต้องบอกว่าคึกคักมาก ทำให้มิตซูบิชิกลับมาผงาดอีกครั้ง แต่ไม่รู้ว่าในเมืองไทยจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ถ้ามองในเรื่องหน้าตา ต้องบอกว่ามันผ่าน น่าจะตอบโจทย์ความชอบของคนไทย ส่วนเรื่องกำลังเครื่องยนต์และอัตราเร่ง ก็เป็นรถที่พอใช้สำหรับครอบครัว ที่ไม่ต้องการความหวือหวาอะไร ส่วนราคานั้น มิตซูบิชิยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ การคาดการณ์ตั้งแต่ 7 แสนปลาย ถึง 8 แสนกลางๆ โดยตามโชว์รูมต่างๆ ป้ายแล้วว่าอยู่ที่หลัก 7XX,XXX ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นราคาของตัวรองท็อป ได้แต่ภาวนาว่าให้อยู่ที่ 7 แสนต้นๆเถิด

สุดท้ายที่อยากจะบอก คือ รีวิวชิ้นนี้เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน จากการทดสอบที่ทางมิตซูบิชิจัดให้ แต่ในการจะใช้งานจริง ต้องบอกว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ ฉะนั้นอยากให้ผู้ที่สนใจ ต้อง ไปทดลองขับขี่ด้วยตนเอง โดยมิตซูบิชิจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ พร้อมบอกสิ่งที่สำคัญที่สุดคือราคา ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดเลยว่ารถคันนี้จะประสบความสำเร็จ ทำให้ Mitsubishi กลับมาคึกคักในเรื่องยอดขายอีกหรือไม่ ต้องจับตา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image