ทดลองขับ “นิสสัน เทอร์ร่า” ไม่ถึงกับว้าว แต่ลงตัว เครื่องใหม่ ช่วงล่างดี เทคโนโลยีเด่น

ตั้งชื่อบทความเชยๆแบบนี้แหละครับ ฮ่าๆๆ เพราะส่วนตัวรู้สึกว่ามันเป็นแบบนี้จริงๆ (ไม่ใช่ตัวรถเชยนะ คือจะชมว่าเครื่อง ช่วงล่าง เทคโนโลยีช่วยขับขี่ อยู่ในระดับที่ดี)

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารแวดวงรถยนต์มาบ้าง คงจะได้เห็นข่าวที่นิสสันนำสื่อมวลชนไปทดสอบเปิดตัว นิสสัน เทอร์ร่า ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเป็นเครื่องบล็อกเดิมขนาด 2500 ซีซี 190 แรงม้า

ต่อมา นิสสันได้ทำการเปิดตัว นิสสัน เทอร์ร่า ในประเทศไทย โดยสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการพยายามทำสเปกให้ตรงกับคุณลักษณะของคนไทย นิสสันเคลมว่า สเปกของประเทศไทยดีที่สุด เริ่มจากเครื่องยนต์ใหม่ ลดขนาดลงเป็น 2.3 ลิตร แบบ Twin Turbo ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่ได้สเปกนี้มา เพราะที่ฟิลิปปินส์หรือในจีนก็ไม่ใช่สเปกนี้ นี่คือเครื่องยนต์ใหม่ที่นิสสันใส่ให้กับผู้บริโภคประเทศไทยโดยเฉพาะ และแม้ลดขนาดลงแต่ก็ได้แรงม้าเท่าเดิมคือ 190 แรงม้า

ต้องบอกว่า นี่คือรถอเนกประสงค์ หรือรถพีพีวีที่มีฐานการพัฒนาจากรถกระบะตัวแรกของ Nissan ในยุคปัจจุบัน หลังปล่อยให้แบรนด์อื่น ต่อสู้แย่งชิงในตลาดนี้อย่างหนัก จนกระทั่งพบว่านิสัยของคนไทยกับรถพีพีวี เป็นอะไรที่คู่กันพอสมควร มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารของNissan เขายืนยันว่าเขาเข้าใจตลาด เขาจึงทำตัวนี้ออกมา เพราะอัตราการเติบโตของตลาดพีพีวี ในบ้านเรายังสูงอยู่ การผลิตรถพีพีวี ก็มีการแชร์อะไหล่ชิ้นส่วนบางอย่างจากรถกระบะอยู่แล้ว นิสสันเขามองว่ายังมีอนาคต

Advertisement

งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าผลิตภัณฑ์ล่าสุดของเขาจะสามารถเข้าไปอยู่ในใจคนไทยได้หรือไม่

ครั้งแรกที่เห็นรถคันนี้ มองเผินๆ ก็เหมือนกับกระบะนาวาร่าไม่น้อย และถ้าเจาะเข้าไปในสเปกบางอย่าง ก็มีการใช้อะไรร่วมกันกับรถรุ่นอื่นของ Nissan เช่นกัน โดย Nissan มองว่านี่คือการลดต้นทุนและนำไปเพิ่มเทคโนโลยีให้กับตัวรถ

Advertisement

เอาเป็นว่าเรื่องหน้าตา อาจจะไม่ได้ว้าวมาก จัดอยู่ในระดับกลางๆ การดีไซน์ไม่ได้หวือหวาแหวกแนว ค่อนไปทางมีรูปแบบอนุรักษ์นิยมพอสมควรตามสไตล์รถค่ายนี้ คือจะบอกว่าแย่ก็ไม่ใช่ จะบอกว่าดีเลิศก็ไม่เชิงมันอยู่ในระดับรับได้ เหมือนจะบึกบึน มีลักษณะมัดกล้าม แต่ก็ดูอ่อนหวานในบางจุด เอาเป็นว่า เรื่องหน้าตานี่แล้วแต่คนมองแล้วกันนะ

งั้นเรามาดูด้านสมรรถนะกันดีกว่า Nissan จัดทริปทดสอบเจ้าเทอร์ร่าครั้งแรก โดยนำทัพสื่อมวลชนไปทดสอบกันถึงจังหวัดเชียงราย ใช้เวลาเกือบ 1 วันเต็มในการอยู่กับรถคันนี้ ต้องขอชมว่านิสสันใจกล้ามาก ที่ให้เราขับรถคันนี้บนเส้นทางค่อนข้างจะขับยากพอสมควร

ช่วง 2 ชั่วโมงแรกเป็นสนามออฟโรดและกึ่งออฟโรด เป็นการทดสอบ การใช้รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ลัดเลาะเข้าไปในสนามกึ่งออฟโรด มีร่องน้ำจากฝนที่มากัดเซาะ จุดนี้ความประทับใจอยู่ที่การดูดซับแรงกระแทกจากด้านล่างของตัวรถขึ้นมาอย่างห้องโดยสารมีน้อยมาก และแม้เป็นรถขับ 2 ล้อหลัง ก็สามารถขับผ่านจุดที่ชื้นแฉะหลุมบ่อมีน้ำขังนิดหน่อย ไปได้ รวมถึงเราได้เห็นกำลังของเครื่องยนต์ ในการขึ้นเนิน ก็ใช้รอบเครื่องไม่มากแค่ 1,500 รอบก็สามารถไต่ขึ้นเนินได้ นี่คือข้อดีของเครื่องยนต์ตัวนี้ที่ให้กำลังสูงในรอบที่ต่ำ

จากนั้นเราเปลี่ยนเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ ไปในด่านออฟโรด ทั้งการไต่ทางชันที่ทำให้ตัวรถเอียงกะเท่เร่ มันก็สามารถผ่านไปได้โดยง่าย หรือการขับผ่านพื้นจำลองคล้ายหินก้อนใหญ่ ก็สามารถผ่านไปได้แบบฉิวเฉียด (ได้ยินเสียงดังนิดหน่อย) แต่ก็ได้เห็นความดีงามของช่วงล่างแบบ 5-Link ต่อมาด้วยการลุยน้ำลุยโคลน ก็ไม่ได้ยากอะไร

ที่ยากสุดคือการไต่ขึ้นเนินชัน โดยเนินนั้นเป็นดินลูกรังซึ่งฝนก็เพิ่งตกหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา แถมผมยังได้ทดลองเป็นคันท้ายๆ จากเพื่อนในกลุ่มที่มีนับสิบคัน หลายคนตะกรุยเล่นจนพื้นลื่นไปหมด ตรงนี้ต้องใช้ความสามารถในการขับออฟโรดพอสมควร คือเราต้องไม่ตะบี้ตะบันเหยียบคันเร่ง แต่ต้องมองช่องทางให้ดี ปรับระบบขับเคลื่อน 4LO เปิดระบบดิฟล็อค แล้วเหยียบคันเร่งให้รอบเครื่องอยู่ที่ราว 1,500 รอบถึง 1800 รอบ รถก็จะค่อยๆไต่ แบบไม่ฟรีจนเสียกำลัง แล้วทะยานผ่านขึ้นเนินชันดังกล่าวไปได้ในครั้งเดียว

จากนั้นเราก็ทดลองขับบนถนนดำปกติ แต่ไปในเส้นทางที่ไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ คือคนเขาไม่ค่อยนิยมไปกัน เพราะนิสสันพาเราไปขึ้นดอย ตั้งแต่ดอยตุง ดอยช้างมูบ ดอยผาฮี้ และดอยผาหมี ซึ่งเส้นทางนี้ต้องบอกว่ามีลักษณะการขึ้นลงที่สูงชัน และคดเคี้ยวตลอดเวลา หนักกว่านั้นคือ หลังจากผ่านดอยตุง เราเจอกับสภาวะเมฆหมอกปกคลุมภูเขา แล้วเจอฝนตก

ในเชิงพละกำลังต้องบอกว่ามันสอบผ่าน ถ้าขับด้วยเกียร์ D ปกติ มันก็สามารถไปได้ แต่ถ้าจะให้สนุกและปลอดภัยไม่ต้องเบรกเยอะ แนะนำให้เปลี่ยนเป็นโหมด Manual จะขับสนุกและปลอดภัยมากขึ้น และไม่รู้สึกเหนื่อยล้า หรือเครียดมาก

เราไปทำความรู้จักรถคันนี้แบบเบื้องต้นกันดีกว่าโดยเริ่มจาก ภายนอกของรถ นิสสัน เทอร์ร่า มีความยาวตัวถัง 4,885 มิลลิเมตร กว้าง 1,865 มิลลิเมตร สูง 1,835 มิลลิเมตร ความยาวระยะฐานล้อ 2,850 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้นถึงจุดที่ต่ำสุดของใต้ท้องรถ 215 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวถัง รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ หนัก 2,043 กิโลกรัม รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อหนัก 2,118 กิโลกรัม

ถ้าเทียบกับรถในรุ่นระดับตลาดเดียวกัน นิสสัน เทอร์ร่า จะยาวน้อยกว่า Ford Everest ซึ่งยาวมากที่สุดในตลาด แค่ 10 มิลลิเมตร กว้าง 1,865 มิลลิเมตร เป็นอันดับ 2 รองจากเชฟโรเลต เทลเบเซอร์ ที่กว้าง 1,902 มิลลิเมตร และสูงเท่ากับ Toyota Fortuner คือสูง 1,835 มิลลิเมตร ส่วนฐานล้อกว้างเท่ากับ Ford Everest ซึ่งกว้างที่สุดในตลาด 2,850 มิลลิเมตร ในเชิงรูปร่าง สรุปว่าถ้าไม่นับฐานล้อที่กว้างที่สุดเท่า Everest มันไม่ได้ด้อยสุด และมันก็ไม่ได้เด่นสุด มันอยู่ในระดับกลางๆค่อนไปทางด้านบนเลยทีเดียว

ส่วนความสูงจากพื้นสู่ตัวรถ สเปกของไทย 215 mm เตี้ยกว่าสเปกฟิลิปปินส์ที่ 225 mm ในเรื่องของการ ทดสอบลุยน้ำ นิสสันการันตีว่า สามารถลุยน้ำได้โดยที่น้ำไม่เข้ารถเลยคือ 450 mm มาพร้อม ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว ยาง 255/60R18 พร้อมยางอะไหล่ ส่วนตัวมองว่าลวดลาย ค่อนข้างสวยและลงตัว

ด้านหน้ารถ กระจังหน้าโครเมียม กันชนด้านหน้าและหลังสีเดียวกับตัวรถ คิ้วขอบหน้าต่างสีดำ ไฟหน้าแบบแอลอีดีโปรเจคเตอร์ ไฟหรี่แบบแอลอีดี เปิดปิดอัตโนมัติ ในทุกรุ่น ไฟท้ายพร้อมแอลอีดี Light Guide มีไฟตัดหมอก ไฟส่องสว่างเวลากลางวันมาให้ด้วย

กระจกมองข้างค่อนข้างใหญ่ ทัศนวิสัยชัดเจนดี สีเดียวกับตัวรถ พร้อมไฟเลี้ยวแอลอีดี มือจับประตูด้านนอกแบบโครเมียม มีบันไดข้างในทุกรุ่น แข็งแรงพอใช้ได้แต่ค่อนข้างลื่นหากโดนน้ำ หรือเพิ่งไปลุยโคลนมา

มาดูภายในห้องโดยสารกันบ้าง

ภายในห้องโดยสาร ในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ทั้ง 2.3 V และ 2.3 VL จะออกโทนสีดำ ขณะที่ตัว 2.3 VL ขับเคลื่อน 4 ล้อ จะออกโทนสีน้ำตาล

เบาะหน้าของ Terra ทุกรุ่น ด้านคนขับจะปรับด้วยไฟฟ้าได้ 8 ทิศทางพร้อมปรับดันหลังได้ ส่วนฝั่งคนนั่ง จะเป็นแบบปรับด้วยมือ 4 ทิศทาง ส่วนสีของเบาะนั้นสำหรับตัวท็อป รุ่น 4×4 จะได้สีน้ำตาล ส่วนรุ่นอื่นๆจะเป็นสีดำ

ในเรื่องตัวเบาะ Nissan เคลมว่าเน้นการกระจายน้ำหนักของบุคคลผู้ขับและผู้นั่งกับตัวเบาะ ซึ่งส่วนตัวมองว่าอยู่ในระดับที่ดีทีเดียวนั่งสบาย ที่วางแขนอยู่ในระดับดี บริเวณพนักพิงศีรษะก็ไม่ได้ดันหัวจนเมื่อย เบาะค่อนข้างนุ่มกระชับดี ขับทางไกลไม่ค่อยเมื่อยเท่าไหร่ อันนี้คือความรู้สึกของบริเวณคู่หน้า แต่ที่นั่งด้านหลัง ขึ้นนั่งแค่แป๊บเดียว นุ่มดี แต่ยังไม่ได้ทดสอบนั่งนานๆเพราะยังไม่มีโอกาสพอที่จะทำให้รู้สึกได้ เบาะแถวสองยังสามารถเลื่อนได้ถึง 80 mm นั่นแปลว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องพื้นที่ในการวางขา ว่ามันจะกว้างขวางแค่ไหน สวนแถวสามนั้นก็ตามคาด ผู้ใหญ่ไม่ต้องเข้าไปถ้าไม่จำเป็น ให้เด็กนั่งไปเถอะ

ในเรื่องเบาะนั่งแถว 3 ผู้อ่านคงเคยเจอบ้างแหละ ว่าเวลามีผู้โดยสารจะขึ้นรถแล้วเขาพับเบาะไม่เป็น บางทีก็เป็นเด็กหรือคนสูงอายุ ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป Nissan terra โชว์ว่าเป็นเจ้าแรก ที่มีระบบพับเบาะอัตโนมัติ (1-Touch Remote Fold and Tumble Seats) ที่สามารถสั่งการได้จากตำแหน่งผู้ขับ แค่เพียงการกดที่ปุ่ม ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือเบาะซ้ายและขวา อยู่บริเวณด้านหน้าตรงคอนโซลกลาง ตรงนี้ช่วยให้ง่ายสำหรับผู้โดยสารแถว 3 ที่จะขึ้น

ส่วนระบบปรับอากาศ จัดว่าดี แม้ดีไซน์จะดูเฉยๆ เป็นแบบอัตโนมัติแยกซ้ายขวา แอร์ของแถว 2 มีที่หมุนปรับระดับของลม อยู่ตรงกลางเพดานห้องโดยสาร ช่วยให้ผู้โดยสารที่นั่งทั้งเบาะแถว 2 และแถว 3 ทุกคน สามารถปรับความแรงของลมแอร์ได้ ดีไซน์ค่อนข้างเอาใจผู้โดยสารทุกตำแหน่ง ใช้ช่องแอร์แบบปรับได้ 360 องศา และยังเอาใจด้วยไฟห้องโดยสารแบบแยกของเบาะแถว 2 และแถว 3 ก็มีมาให้ด้วย ส่วนที่วางแก้วน้ำก็มีมาให้ทั้ง เบาะนั่งแถวที่ 1 แถวที่ 2 และแถวที่ 3

  

พวงมาลัยทรง V-Shape แบบที่คุ้นเคย หุ้มหนัง ระบบบังคับเลี้ยวแบบแร็คแอนด์พิเนียน พร้อมระบบเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยระบบไฮดรอลิก มีระบบ ควบคุมความเร็วอัตโนมัติหรือ ครูสคอนโทรล มาให้ด้วย

น้ำหนักของพวงมาลัยถูกเซ็ตมาให้เบากว่า Navara ไม่ต้องหมุนพวงมาลัยเยอะเหมือนนาวาร่าแน่นอน แต่ถึงกระนั้น ในย่านความเร็วต่ำ ส่วนตัวมองว่า มันก็ยังเหมือนจะหนักมืออยู่นิดนึง สำหรับคุณผู้หญิงก็พอขับได้ แต่อาจจะไม่ชอบมาก หรือสำหรับผู้ชาย อาจจะชอบก็ได้ นานาจิตตัง แต่ที่เห็นได้ชัดคือยังต้องสาวพวงมาลัยเยอะมากกว่าพีพีวียี่ห้ออื่น ขณะที่ในย่านความเร็วเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันกลับมีช่วงฟรีๆอยู่นิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอยืนยันว่ามันสามารถใช้งานได้ ส่วนใครที่สนใจเรื่องความสวยงาม ก็ตัดไปได้เลย รูปทรงของมันคือของเดิม ที่อยู่ในรถหลายรุ่นของ Nissan เพราะต้องการลด cost นั่นเอง

มาตรวัดแสดงข้อมูลการขับขี่อัจฉริยะแบบ 3 มิติ Multifunction Intelligent Display (MID) ที่แสดงผลข้อมูลการขับขี่ ระยะเวลาที่เข้ารับการตรวจสอบสภาพรถ ระดับอุณหภูมิภายนอกรถ นาฬิกาดิจิตอล เสียงเตือนในกรณีที่ไม่ได้ปิดไฟหน้า และสัญญาณเตือนกันการลืมกุญแจภายในรถ ส่วนตัวมองว่าดีไซน์ไม่ได้โดดเด่น สวยงามมากนักแบบเจ้าอื่น แต่กลับใช้งานง่าย การมองตัวเลขอะไรต่างๆก็ดูดี ใช้ได้

หน้าจอมีระบบวัดองศาความเอียงของรถมาให้ด้วย สามารถแสดงแบบ Real Time ตรงนี้ขาลุยสายออฟโรดทั้งหลาย น่าจะชอบ

ส่วนในด้านการเก็บเสียงในรถค่อนข้างเงียบ นี่คือจุดเด่นอีกเรื่องของตัวรถ ไม่ว่าจะในย่านความเร็วต่ำ หรือเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป Nissan เล่าว่า เขาใช้กระจกด้านหน้าเป็นแบบ Acoustic Glass คือเป็นเทคนิคการเพิ่มฉนวนกันเสียงเข้าไป ช่วยลดเสียงจากบริเวณด้านหน้าโดยเฉพาะเสียงลมที่มาปะทะ นอกจากนี้นิสสันยังเคลมว่าได้บุฉนวนในตัวรถไปเยอะ เช่นบริเวณด้านหน้า ที่มีการใส่ฉนวนเข้าไปถึงสามชั้น รวมถึงตัวพื้นห้องโดยสารต่างๆ ซุ้มล้อด้านหลังด้วย ส่งผลให้เสียงจากพื้นถนนหรือบริเวณซุ้มล้อและจากเครื่องยนต์เข้ามาในห้องโดยสารค่อนข้างน้อย ตรงนี้ขอยืนยันอีกเสียง ว่าเขาเก็บเสียงใช้ได้เลย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีเสียงจากกระจกมองข้างมาบ้างนิดหน่อยในช่วงความเร็วสูงแต่ก็เล็กน้อย

ขณะที่ ชุดเครื่องเสียง คุ้นเคยกันดี กับ Kenwood จอขนาด 7 นิ้ว ลำโพง 6 จุด เล่นแผ่นได้ เล่นเพลงจาก USB ได้ และต่อ Bluetooth ได้ คุณภาพเสียงก็ธรรมดา ไม่ได้จัดว่าโดดเด่น มีระบบนำทางมาให้ การใช้งาน ความเร็วอยู่ในระดับที่พอรับได้ อ่อ … มีช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าขนาด 12 V ให้ถึง 4 จุดกันเลยทีเดียว

มาดูกันที่เครื่องยนต์และระบบเกียร์ ขุมพลังของ Nissan terra คือ เครื่องยนต์ดีเซล รหัส YS23DDTT ทวินเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ DOHC 16 วาล์ว ขนาด 2,298 ซีซี มาพร้อมหัวฉีดเชื้อเพลิงระบบไดเร็คอินเจคชัน ให้พละกำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 3,750 รอบ และมีแรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ในรอบเครื่องยนต์แค่ 1,500 รอบ ถือว่า ให้อัตราเร่งที่ดีทีเดียว ความจุถังน้ำมัน 78 ลิตร มาตรฐานไอเสียแบบ Euro 4 ตรงนี้คือตัวใหม่ นิสสันเพิ่งใส่เครื่องนี้มาใน terra เป็นครั้งแรก และสเปกนี้ บอกอีกครั้งว่ามีที่ประเทศไทยที่เดียว

เรื่องของความเร็วนั้น ต้องบอกว่าแม้ช่วงเวลาเวลาการทดสอบค่อนข้างน้อย แต่ก็พอจะมีช่องว่างให้ลองบ้าง ที่ความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงยังไม่ได้ทดสอบอย่างเป็นทางการ จากการทดลองคร่าวๆ นั่ง 2 คนวิ่ง เปิดแอร์ปกติ ในช่วงที่พอทำความเร็วได้ อยู่ที่ราวๆ 12-13 วินาที ต้องจัดว่าไม่เลวนะครับ กับสภาพสิ่งแวดล้อม ถนนที่ไม่ได้เอื้อเท่าไหร่ ใช้ได้เลย ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะดีกว่านี้อีก

ส่วนระบบเกียร์เป็นแบบ 7 จังหวะเหมือนกันกับนาวาร่า มาพร้อมโหมดขับขี่แบบแมนนวล (M mode)

ในเรื่องการใช้จริง ช่วงการทดสอบกำลังของเครื่องยนต์จากการขึ้นดอย หากใช้เกียร์ D รถก็สามารถพาเราไปสู่จุดหมายได้ แต่อาจจะไม่ได้อารมณ์ความรู้สึกสนุกเท่าไหร่ เหมือนรถถูกเซ็ตมาให้เน้นความประหยัด มันจะเลื่อนไปใช้เกียร์ 3 ถึงเกียร์ 4 เร็วมาก

ผู้เขียนทดลอง ใช้เกียร์ในโหมดแมนนวล พบว่ารถยนต์ให้กําลังค่อนข้างดีทีเดียว ลองขึ้นเนินชันเกียร์ 2 ก็เอาอยู่ บางจังหวะก็ลองฝืนส่งต่อเกียร์ 3 รถก็ไปต่อได้ การตอบสนองของเกียร์ค่อนข้างไว ทำให้ควบคุมรถได้ง่าย วันที่ผู้เขียนทดลอง โดนให้ใช้รถขับเคลื่อน 2 ล้อ ในการขึ้นลงดอยที่หนักหนาสาหัส แถมยังมีฝนตกถนนลื่น มันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร ระบบช่วยเหลือการขับขี่ ลดการฟรีของล้อ ช่วยการทรงตัว พาเราขึ้นไปยังเป้าหมายได้ไม่ยาก

ส่วนระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4×4 ตัวท็อป จะมีฟังก์ชั่น shift-on-the-fly หรือที่บิดหมุนเปลี่ยนโหมด ผู้ขับสามารถปรับได้ 3 โหมด จากการขับขี่แบบสองล้อหรือ two-wheel drive (2H) เป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อหรือ four-wheel driver (4H) เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อเจอกับสภาพถนนที่เปียกลื่น นอกจากนี้ยังมีโหมดการขับขี่แบบความเร็วต่ำ low range four-wheel drive (4LO) สำหรับการขับขี่บนพื้นทราย โคลน ลุยน้ำ ปีนขึ้นที่สูง หรือลงในเส้นทางลาดชัน จุดเด่นในโหมดนี้ คือมันมาพร้อมระบบล็อกไฟฟ้าหรือระบบดิฟล็อคล้อด้านหลัง ตัวนี้ถือเป็นอาวุธของขาลุยโดยเฉพาะสายออฟโรด

เรื่องอัตราการกินน้ำมัน ต้องบอกว่ายังไม่มีโอกาสได้ทดลองอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่ตลอดทริปที่ทดสอบ ตั้งแต่เที่ยงจนถึง 2 ทุ่ม ขับในจังหวัดเชียงราย ทั้งแบบออฟโรดประมาณ 2 ชั่วโมง มีทั้งทางฝุ่น สถานีทดสอบที่ต้องขึ้นเนินชัน ลุยน้ำ จากนั้นไปต่อบนถนนดำ ขึ้นไปบนดอย และลงจากดอย 4ลูก ทางคดเคี้ยว กลับเข้าสู่ที่พักระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร อัตราการบริโภคน้ำมันเมื่อถึงโรงแรมอยู่ที่ประมาณ 9 กิโลเมตรต่อลิตร หากวิ่งบนถนนปกติทั่วไปไม่ได้ขึ้นดอยหรือออฟโรด มันน่าจะดีกว่านี้อีกเยอะ

ส่วนความเร็วสูงสุดนั้นยังไม่ได้ทดลอง เพราะยังไม่มีโอกาส แต่จากการทดสอบในขบวน มีบางจังหวะที่สามารถทำได้ ลองเร่งได้ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถก็ยังนิ่ง

มาดูกันที่ช่วงล่างของรถ ด้านหน้าเป็นแบบอิสระปีกนกคู่พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังแบบ 5-Link คอยล์สปริงพร้อมเหล็กกันโคลง แชสซีแบบชิ้นเดียวเหมือนใน Navara มีจุดที่แตกต่างคือนิสสันใส่ยางซับแรงมาในเทอร์ร่า 10 จุด ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่ขึ้นมาจากด้านล่าง ทำให้นุ่มนวลมากขึ้นในการขับขี่ ช่วงล่างด้านหลังเป็นแบบ 5-link คือมีจุดยึดทั้งหมด 5 จุด ทำให้พื้นสัมผัสของยางกับถนนดีขึ้น พูดให้เห็นภาพคือ กรณีพื้นถนนที่เอียงมากๆเช่นล้อข้างหนึ่งต้องเหยียบก้อนหินใหญ่ๆ เราจะเห็นรถที่มีจุดยึดแบบ 3-4 จุด ล้อจะลอยจากพื้นบ้าง แต่แบบ 5-link ก็จะช่วยในการเก็บพื้นถนนต่างๆได้ดีกว่านิดนึง

การวิ่งบนถนนลูกรังหรือถนนกึ่งออฟโรด ในความเร็วที่ไม่ได้สูงมาก ก็ไม่มีปัญหาเท่าไหร่ ผ่านไปได้ ส่วนการทรงตัวในช่วงความเร็วสูงค่อนข้างดี เวลาเข้าโค้ง บนภูเขาก็ให้ความรู้สึกควบคุมได้ หรือการเข้าโค้งบนถนนปกติในความเร็วสูง ก็รู้สึกว่าเอาอยู่

ด้านความปลอดภัยนั้น นับเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของรถครอบครัวคันนี้ Nissan terra ให้ระบบเบรก ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลังเป็นดรัมเบรก มาพร้อมระบบ ABS ป้องกันล้อล็อค (Anti-Lock Braking System) ระบบกระจายแรงเบรก EBD (Electronics Brake Force Distribution) ระบบเพิ่มแรงเบรกในภาวะฉุกเฉิน BA (Brake Assist)

หลายคนสงสัยว่าเบรกหลัง คนอื่นเขาเป็นดิสก์เบรกกันหมดแล้ว ทำไม นิสสันยังจะใช้ดรัมเบรกอยู่ นิสสันแจงว่าเหตุที่ยังใช้ดรัมเบรกด้านหลังอยู่ เพราะรถคันนี้ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ การใช้ของธรรมดาแบบนี้ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้ การดูแลรักษามีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ ที่สำคัญ นิสสันยืนยันว่าประสิทธิภาพในการเบรกก็ไม่ได้หนีจากดิสก์เบรกเท่าไหร่ ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการทดลองส่วนตัว เห็นว่า มันก็ไม่ได้แย่ มันอาจจะไม่เท่ แต่ในความเป็นจริงการเบรกของรถใหญ่ ความสำคัญมันก็อยู่ที่เบรกหน้านั่นแหละเพราะน้ำหนักมันถ่ายไปตรงนั้น จริงๆดรัมเบรกมันก็เอาอยู่ ส่วนอารมณ์แป้นเบรกจะมีช่วงระยะฟรีนิดหน่อย แต่ก็เอาอยู่ ไม่ได้มากมายอะไร

ทีนี้มาดูเทคโนโลยีที่นิสสันใส่เข้ามาในการช่วยเหลือการขับขี่บ้าง เขาใส่ เทคโนโลยีเบรกที่เรียกว่า Brake Limited Slip Differential (B-LSD) คุณสมบัติคือ ช่วยเพิ่มแรงเบรกเมื่อล้อลื่นไถล มีระบบป้องกันล้อหมุนฟรี หรือ Traction Control System (TCS) เมื่อเกิดเหตุล้อหมุนฟรี ระบบจะทำการลดการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มแรงเบรกอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ผู้ขับสามารถควบคุมรถ และเดินทางต่อได้อย่างปลอดภัย และยังใส่ ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว หรือ Vehicle Dynamic Control (VDC) ช่วยรักษาการทรงตัวเมื่อเข้าโค้ง มีระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน หรือ Hill Start Assist (HSA) ช่วยป้องกันการไถลลงเมื่อขับขึ้นทางลาดชัน พวกนี้ใส่มาให้ในทุกรุ่น

ส่วน ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน หรือ Hill Descent Control (HDC) ช่วยควบคุมความเร็วเมื่อขับลงทางลาดชัน ตัวนี้จะได้มาเฉพาะกับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ

นอกจากนี้ยังมี ระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง หรือ Tire Pressure Monitoring System (TPMS) คือเทคโนโลยีที่คอยตรวจวัดแรงดันลมยางของล้อทั้งสี่ล้อและแจ้งเตือนเมื่อแรงดันลมยางเกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วยยืดอายุการใช้งานของตัวยาง และยังช่วยป้องกันความปลอดภัยได้อีกระดับ

ในเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ ยัง มีมาตรวัดแสดงโหมดออฟโรด (Off-road Meter) แสดงข้อมูลการขับขี่ในโหมดขับเคลื่อนต่างๆรวมถึงบอกองศาความลาดเอียงของตัวรถด้วย มีปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ (Push Start Button) กุญแจรีโมทอัจฉริยะ (Intelligent Key) เพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวรถยิ่งขึ้นด้วยระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer ส่วน ถุงลมนิรภัย มีให้มา 6 จุด ที่ ตำแหน่งด้านหน้า ด้านข้างของเบาะแถวหน้า และม่านถุงลม ในทุกรุ่นมีเข็มขัดนิรภัยที่เบาะคู่หน้า เบาะนั่งแถวที่สอง และเบาะแถวที่สามเป็นเข็มขัดสามจุด ELR ปรับระดับได้ มีจุดยึดเบาะนั่งเด็กแบบ ISOFIX

ที่กล่าวมาคือความปลอดภัยแบบทั่วไป ทีนี้มาดูความปลอดภัยภายใต้ แนวคิด นิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี (Nissan Intelligent Mobility: NIM) ที่เรามักได้ยินนิสสันโฆษณาบ่อยๆ ซึ่งส่วนตัวผมบอกตามตรงว่างง ไม่รู้มันคืออะไร เอาเป็นว่าอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย

Nissan terra จะมีกระจกมองหลังอัจฉริยะ หรือ Intelligent Rear View Mirror (IRVM) ตัวนี้เป็นเจ้าแรกในเมืองไทย คือมีหน้าจอ LCD ที่กระจกมองหลัง ใช้ในการแสดงภาพที่มาจากกล้องด้านหลังตัวรถ โดยภาพบนจอจะช่วยให้ผู้ขับขี่เห็นทัศนวิสัยด้านหลังได้ในมุมกว้าง โดยสามารถเลือกปรับเปลี่ยน ระหว่างจอแสดงภาพจากกล้อง หรือจากกระจกปกติได้ง่ายๆแค่กดตัวเลื่อนด้านหลังกระจก

ตอนรับฟังบรรยายผู้เขียน ก็พยายามนึกภาพตาม แต่ก็ยังแอบตั้งคำถามในใจว่ามันจะใช้ได้จริงหรอ แต่จากการทดสอบ ขับขึ้นและลงดอยในช่วงใกล้ค่ำ และขับในเมืองนิดหน่อย แถมยังมีฝนตก ขอบอกเลยว่าในตอนกลางวัน ภาพมันก็งั้นๆพอใช้ได้ แต่ผมลองใช้ฟังก์ชันนี้ในเวลากลางคืน มีฝนตกด้วย ต้องบอกว่า มันใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้คุ้นชินแต่ประการใด ก็สามารถใช้ได้ มันช่วยให้เห็นรถคันหลัง ได้ดีระดับหนึ่ง แสงก็ไม่ได้เข้าตามาก ผู้อ่านจะเห็นประโยชน์ของมันกรณีมีคนนั่งหลังเต็ม ต้องบรรทุกของเช่นต้นไม้ที่บังกระจกหลัง หรือที่ห้องโดยสารจะมีจอพับลงมาจากเพดาน หากคนในเบาะแถว 3 แถว 2 ดูทีวีกันอยู่ จอมันก็จะบังกระจก ฟังก์ชันนี้จะช่วยให้คุณเห็นรถคันหลังได้ โดยที่ผู้โดยสารก็สามารถดูทีวีได้นั่นเอง แต่ที่อยากให้ปรับปรุงก็คือความคมชัดของภาพน่าจะดีกว่านี้ได้หรือไม่ เพราะตอนกลางวันหันมองไป มันออกการ์ตูน ออกแนวภาพสีน้ำไปหน่อย หุหุ

ต่อมาที่นิสสันนำเสนอ คือ ระบบกล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง หรือ Intelligent Around View Monitor (IAVM) ไอ้เจ้าระบบ IAVM นี้ ช่วยให้ผู้ขับสามารถมองเห็นสภาพรอบตัวยานพาหนะได้ทั่วทุกทิศทาง ด้วยการสร้างภาพมุมสูงแบบ bird’s-eye view รอบตัวรถ ทำให้สามารถควบคุมตัวรถระหว่างถอดจอดรวมถึงเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้น มีประโยชน์ในที่แคบ ตรงนี้ขอบอกว่ายังไม่ชิน เพราะมันเล็กมาก และเวลาที่อยู่กับรถก็ไม่นานเท่าไหร่ ขออนุญาตเอ่ยถึงพี่แพน พันธุ์สวัสดิ์ ไพฑูรย์พงษ์ แห่ง headlightmag ที่ก็ได้แนะนำไว้อย่างดีว่า ให้ระบบกล้องกับจอทั้งหลายนั้น ควรจะต่อสายให้กล้องถอยหลังมาโผล่ในจอบริเวณแดชบอร์ดแบบรถทั่วไปด้วย มันจะได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น (ถ้าทำได้ก็ขออภัย แต่ที่ทดสอบมันไม่มี)

นิสสันยังนำเสนอ ระบบ ตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนวัตถุ และบุคคลที่เคลื่อนไหวจากกล้องรอบคัน หรือ Moving Object Detection (MOD) ระบบอันนี้ จะตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนทุกครั้งเมื่อมีวัตถุหรือบุคคลที่เคลื่อนไหวอยู่ใกล้ตัวรถ โดยจับการเคลื่อนไหวจากภาพของกล้องที่อยู่รอบๆ ในยามที่ต้องการจอดรถ หรือ การเคลื่อนตัวช้า ๆ เมื่อมีสิ่งเคลื่อนไหว ระบบจะส่งทั้งภาพและเสียงเตือนผู้ขับ ทั้งนี้กล้องทั้งสี่ตัวรอบคันรถ สามารถแจ้งเตือนผู้ขับได้ใน 3 สถานการณ์ คือ เมื่อรถจอดหรือหยุดนิ่ง เมื่อรถเคลื่อนตัวไปข้างหน้า หรือเมื่อเคลื่อนถอยหลัง อันนี้ดีเลย ป้องกันเด็กเล็ก สุนัข ที่มาวิ่งอยู่ใกล้รถขณะที่เรากำลังถอย

ต่อมาคือ ระบบเตือนจุดบอดหรือจุดอับสายตา หรือ Intelligent Blind Spot Intervention (IBSW)อันนี้เราพอจะคุ้นชินกันบ้าง มัน จะทำงานเมื่อพบว่ามียานพาหนะอื่นเข้าใกล้ตัวรถในบริเวณจุดอับสายตา และทำการแจ้งเตือน คนขับจะได้รับทั้งเสียงเตือนและสัญญาณไฟกะพริบที่กระจกมองข้าง นิสสันยังโชว์เหนือกว่าคนอื่น เพราะที่อื่นเขาใช้กล้อง แต่ Nissan terra นอกจากใช้กล้องช่วยแล้วยังใช้เซ็นเซอร์ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความแม่นยำ

สุดท้าย คือระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทางอัจฉริยะ หรือ Intelligent Lane Intervention (ILDW) เทคโนโลยีนี้จะแจ้งเตือนด้วย สัญญาณภาพและเสียงเมื่อรถเคลื่อนที่ออกนอกช่องทาง โดยระบบจะทำงานเมื่อมีการขับเคลื่อนด้วยความเร็วมากกว่า 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้ทั้งนั้น ระบบกล้องอัจฉริยะมองรอบทิศทาง ระบบตรวจจับส่งสัญญาณเตือนวัตถุ ระบบเตือนจุดอับสายตา และระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง จะมีเฉพาะตัวท็อป คือ 2.3 VL ขับเคลื่อน 4 ล้อ และรองท็อป คือ 2.3 VL เท่านั้น

ลืมบอกไปว่าทุกรุ่นมีกล้องมองหลัง มีสัญญาณเตือนจอดด้านหลัง 4 จุดทุกรุ่น มีคานกันกระแทกด้านข้าง พวงมาลัยแบบยุบตัวได้เมื่อเกิดการชนด้านหน้า และมีระบบตัดวาล์วน้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติในกรณีรถพลิกคว่ำ

ในเรื่องบริการหลังการขายนั้น นิสสันบอกว่าพร้อมแล้วในเรื่องบริการหลังการขาย เพราะได้อบรมช่างของนิสสันทั่วประเทศแล้ว นอกจากนี้ยังให้ฟรีเช็คระยะ ตั้งแต่ 10,000 กม. แรกจนถึง 100,000 กม. โดยเครื่องยนต์ตัวนี้ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 20,000 กิโลเมตร

นิสสัน เทอร์ร่า ใหม่ มีให้เลือก 5 สี ได้แก่ สีน้ำตาล เอิร์ธ บราวน์ (Earth Brown), สีดำ แบล็คสตาร์ (Black Star), สีขาว ไวท์เพิร์ล (White Pearl), สีเงิน บริลเลียนท์ ซิลเสอร์ (Brilliant Silver) และ สีเทา ทไวไลท์ เกรย์ (Twilight Gray)

ราคาเริ่มต้นที่ 1,316,000 บาท สำหรับรุ่น 2.3 V 2WD 7AT ราคา 1,349,000 บาท สำหรับรุ่น 2.3 VL 2WD 7AT และ THB 1,427,000 สำหรับรุ่น 2.3 VL 4WD 7AT

 

โดยรวม พีพีวี คันแรกของนิสสันในยุคสมัยนี้ ผู้เขียนค่อนข้างประทับใจ แม้จะดูเหมือนมาช้าไปหน่อย ถามว่ารถคันนี้เหมาะกับใคร ตอบง่ายๆก็คือมันเป็นรถที่เหมาะสำหรับครอบครัว ผู้หญิงก็ขับได้ ผู้ชายเท้าหนักก็ขับได้ จุดเด่นคือเครื่องใหม่ ให้กําลังใช้ได้ ระบบความปลอดภัยพอรับได้ในระดับราคารถเท่านี้ ช่วงล่างใช้ได้ การเก็บเสียงอยู่ในระดับดี ห้องโดยสารกว้างขวางกว่าชาวบ้านเขาในรถระดับเดียวกัน แถมยังมีฟังก์ชันการปรับพับเบาะได้แบนราบ ข้อดีอีกเรื่องคือเรื่องราคา ที่ไม่ได้แรงมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้รับ การซ่อมบำรุง ก็พอจะวางใจได้ ชิ้นส่วนหลายอันก็แชร์มาจากรถรุ่นอื่นของ Nissan

ส่วนข้อเสียคือเสี่ยงต่อการถูกวิจารณ์ ว่าเรื่องความสวยงาม การไม่ได้ดีไซน์อะไรออกมาใหม่มากมาย โดยเฉพาะวัสดุอุปกรณ์ภายในที่หรูขึ้นมาจากข้างนาวาร่านิดนึง ระบบความบันเทิงที่ชาวบ้านเขาไปถึงการสั่งงานด้วยเสียงเชื่อมต่อโลกภายนอก ใช้มือถือควบคุมเทคโนโลยีต่างๆ

โดยรวมมันคือรถที่มีภาพลักษณ์ระดับกลางๆ ถ้าไม่ได้แคร์ว่า รถจะต้องสวยแปลกแหวกแนว ภายในต้องหวือหวา Design ทันสมัย หรือมีเทคโนโลยีความปลอดภัยพี่มากกว่า อย่าง Everest ที่ตัวล่าสุดมีทั้งระบบช่วยจอด ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ ซึ่งทำให้ราคามันพุ่งไปถึง 1.79 ล้าน ผู้เขียนคิดว่ารถคันนี้มันก็ลงตัวดีนะ ในระดับราคานี้ เหมาะกับคนทางสายกลางแล้วครับ

ของแบบนี้ ผู้ที่สนใจ อย่าเพิ่งเชื่อ แนะนำให้ไปลองกันเองแล้วกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image