ทดลองขับ “Ford Everest” 2.0 ลิตร bi-turbo ออฟโรดได้ ทางฝุ่นขำๆ ทางดำไม่ธรรมดา

เปิดตัวไปแล้วตั้งแต่กลางปีช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับ Ford Everest รถ SUV คันใหญ่ หรือจะเรียกภาษาเมืองไทยก็คือ PPV ที่ฟอร์ด เพิ่งจัดให้มีการทดสอบสมรรถนะของตัวรถ หลังจากโหมทุ่มเม็ดเงินโฆษณา

ไม่พูดพล่ามทำเพลง ถ้าถามว่า รถ PPV อันเป็นรถที่มีพื้นฐานมาจากกระบะดัดแปลงในบ้านเราตอนนี้รุ่นไหนให้ออฟชั่นมากที่สุด คงต้องตอบว่าฟอร์ด เอเวอร์เรส แล้วหล่ะ

เพราะตอนนี้ มันเป็นรถที่ใส่เทคโนโลยีหลายอย่างมาให้มากที่สุด ทำให้ ราคารุ่นท็อปของมัน พุ่งไปที่ 1,799,000 บาทแล้ว หรือพูดให้เห็นภาพคือ เฉพาะราคาของมันคันเดียว คุณสามารถนำเงินก้อนนี้ไปซื้อรถซิตี้คาร์ ราคา 6 แสน ได้ถึงสามคัน อันนี้เปรียบเทียบให้เห็นภาพเฉยๆนะครับอย่าคิดมาก แน่นอนในรถระดับเดียวกันมันราคาแพงที่สุด

หน้าตาไม่เปลี่ยนมาก…แต่

Advertisement

ในเชิงรูปลักษณ์ภายนอก ถ้าไม่สังเกตดีๆก็จะไม่รู้ว่าเปลี่ยนอะไรไปบ้าง เพราะมันเปลี่ยนแค่นิดเดียว คือบริเวณ ด้านหน้านิดหน่อย รวมถึงลายของล้อแบบใหม่

แต่ในความเป็นจริงแล้วบริเวณด้านในและเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเยอะพอสมควร เพราะ ford everest ตัวเก่า ที่ใช้เครื่อง 3.2 ลิตร ที่ฟอร์ดตัดสินใจยุติการผลิตเครื่องดังกล่าวแล้ว และเปลี่ยนใหม่เป็นเครื่องตัวใหม่คือเครื่อง 2.0 ลิตร แบบเทอร์โบเดี่ยวและเทอร์โบคู่ หรือที่เรียกกันติดหู ว่าเครื่อง 2.0 ไบเทอร์โบ

แม้ลดขนาดลง แต่ใส่เทอร์โบเข้าไป ทำให้เครื่องตัวนี้ ให้แรงม้าเพิ่มขึ้นถึง 213 แรงม้า มากกว่าตัว 3.2 ที่ให้แรงม้า 200 แรงม้า ฟอร์ดมีความมั่นใจในเครื่องตัวนี้มาก ใช้เครื่องนี้กับรถอีกรุ่นที่ทำการไมเนอร์เชนและ เปิดตัวในไทย คือฟอร์ด เรนเจอร์ และกระบะระดับพรีเมี่ยมคันแรกที่ฟอร์ดทำขายในเมืองไทย คือฟอร์ด เรนเจอร์แร็พเตอร์

มาพร้อมกับเกียร์ 10 สปีดแบบใหม่ของฟอร์ด ซึ่งเป็นเกียร์ตัวที่ใช้กับ Ford Mustang Ford Raptor และ Ford Ranger Wildtrak ส่วนระบบความบันเทิงและระบบการสื่อสาร ในตัวรถพัฒนามาเป็นระบบ Sync 3 สั่งงานด้วยเสียง มีความแม่นยำมากขึ้นโดยเฉพาะการนำทาง

ต้องบอกว่าตลาดรถบ้านเราเน้นความคุ้มค่าและอรรถประโยชน์พอสมควร รถพีพีวี หรือกระบะดัดแปลง ตามภาษาเรียกแบบบ้านเรา ก็จึงเป็นรถที่ได้รับความนิยมและขายดีมาก ค่ายรถต่างเห็นโอกาสในการพัฒนา (แม้แต่นิสสันซึ่งเหมือนจะไม่เอารถแบบนี้มาขายก็เพิ่งเปิดตัว terra) ฟอร์ดจึงไม่รอช้า นำเครื่องและเกียร์ตัวใหม่ จับมาให้คนไทยได้ใช้

กระจังหน้าใหม่เปลี่ยนเส้นคาด จาก 2 เส้นมาเป็น 3 เส้น
ไฟหน้าแบบ HID ปรับระดับสูง-ต่ำอัตโนมัติ
เป็นรถที่ฐานล้อยาว และมีมิติความยาวของรถมากที่สุดในกลุ่ม

ครั้งแรกกับระบบวัดลมยาง

ฟอร์ดประเทศไทย จัดทริปให้สื่อมวลชนได้ทดสอบ Ford Everest โดยใช้เส้นทางตั้งแต่กรุงเทพเริ่มที่เมืองทองธานี ไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ตรงนี้ได้ทดสอบความเร็วและสมรรถนะบนถนนปกติ ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางออฟโรด โดยเข้าไปที่ทุ่งแสลงหลวง เขตรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก ระยะทางยาวนับ 10 กิโลเมตร  การทดสอบ 2 วันนี้ทำให้เราเห็นสมรรถนะของ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ พอสมควร ทั้งในเส้นทางปกติ ที่ได้ทดสอบกำลังของเครื่องยนต์ ระบบช่วงล่างที่ทำงานในย่านความเร็วสูง ได้เห็นการทำงานของเกียร์ตัว 10 สปีดซึ่งอยู่ในรถคันนี้ ที่สำคัญคือ ได้เห็นเทคโนโลยีต่างๆซึ่ง Ford ใส่เข้ามา

รถคันที่ผู้เขียนได้ทดสอบ คือ รุ่นไทเทเนี่ยม พลัส เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบ ขับเคลื่อน 2 ล้อ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ว่าเราได้เห็นระบบช่วยเหลือที่สำคัญอันหนึ่ง ระหว่างที่ขับไปบนถนนพหลโยธิน ช่วงกิโลเมตรที่ 82 ล้อรถหลังด้านขวา ดันไปเหยียบอะไรเข้าไม่รู้ ได้ยินเสียง กระทบบริเวณซุ้มล้อด้านหลังชัดเจน ตอนนั้นเพื่อนสื่อมวลชนในรถอีก 2 คน ก็คุยกันว่าน่าจะเป็นท่อนไม้หรือก้อนหิน ก็คงไม่มีอะไร

ที่ไหนได้ ประมาณ 1 ถึง 2 นาทีต่อจากนั้น ระบบเตือนก็แจ้งที่บริเวณจอมาตรวัดด้านหน้า ว่ามีระดับลมยางผิดปกติ  ทุกล้อจะอยู่ที่ประมาณ 39 ถึง 40 แต่ลมยางด้านหลังขวา เหลือ 30 เรารีบวิทยุแจ้งทีมงานของฟอร์ดทันที ว่าน่าจะมีปัญหาแล้วแหละ ก่อนจะรีบเปิดไฟเลี้ยวชิดซ้าย แล้วตรงเข้าปั๊มน้ำมันซึ่งอยู่ด้านหน้าพอดี ระหว่างที่ขับค่อยๆเข้าไปในปั๊ม ลมยางหายไปเร็วมาก จาก 28 ก็เหลือ 25 พอจอดปุ๊บเรารีบวิ่งลงไปดูทันที ได้ยินเสียงดังชัดเจน ก่อนทีมงานฟอร์ดจะมาช่วยเปลี่ยนยางให้  ระบบวัดลมยางที่ช่วยแจ้งเตือนได้จริง นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกเหมือนกัน ในการทดสอบรถ

แต่ขอเล่าให้ฟังเพิ่มเติม การเปลี่ยนล้อยางซึ่งมีระบบวัดความดันลมยาง เจ้าของรถประเภทนี้ต้องตรวจสอบวิธีการเปลี่ยนให้ดี เพื่อให้ระบบเตือนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ มันไม่ใช่การเอาล้อเข้าแล้วออกแบบเดิม เพราะต้องจัดตั้งค่าระบบเตือนให้กลับมาใช้งานได้ปกติด้วย อีกเรื่องคือ มีเพื่อนสื่อมวลชนรถคันอื่นในทริป ที่วิ่งๆไปแล้วระบบลมยางแจ้งเตือน จอดตรวจดูแล้วไม่มีอะไร อันนี้เป็นอาการหลอนๆที่เล่าให้ฟัง ผู้เขียนเองก็ไม่รู้ว่าเกิดจากการตั้งค่าอะไรหรือไม่

การปลดล็อกล้อสำรอง ต้องทำจากด้านในตัวรถ และล้อมันจะค่อยๆหย่อนลงแบบนี้ ป้องกันขโมย
ออกมาไม่นาน ยางรั่วซะงั้น ที่รู้เพราะมีระบบแจ้งเตือนระดับลมยาง

ความดีงามที่เห็นชัด ของการขับขี่ในย่านความเร็วสูง คือระบบช่วงล่าง แม้รุ่นไทเทเนี่ยม พลัส เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร จะเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบเดี่ยว แต่ก็เอาอยู่ ทั้งในเชิงอัตราเร่ง ผสานการทำงานกับเกียร์ 10 สปีด ที่อัตราทดเกียร์ ค่อนข้างเรียบเนียน มีช่วงกระตุกเล็กน้อย เวลาเรากดคันเร่งลงไป อารมณ์เหมือนกับว่าระบบเกียร์มันกำลังคำนวณ ว่าจะใช้เกียร์อะไรให้ตรงตามใจผู้ขับ แต่ก็ไม่ได้ตึงตังมาก ข้อดีของเกียร์ใหม่ ตรงนี้ช่วยเพิ่มความประหยัดน้ำมันขึ้นนิดนึง (แม้จะดูไม่มากเท่าไหร่)

ส่วนการขับขี่ในย่านความเร็วสูงของเครื่องเทอร์โบคู่ ที่มอบพละกำลังให้สูงสุดถึง 213 แรงม้า ความรู้สึกส่วนตัวมองว่า อาการตึงตังกระตุกให้รู้สึกนิดหน่อย แบบที่เจอในเครื่องเทอร์โบเดี่ยวหายไป เกียร์เดินเรียบเนียนใช้ได้ทีเดียว ไม่บอกไม่รู้ นึกว่าเกียร์ CVT ตอบสนองได้ตามอารมณ์ผู้ขับขี่เลยทีเดียว ในช่วงจังหวะที่ปลอดภัย มีโอกาสได้ใช้ความเร็วดูบ้าง ก็ได้เห็นตัวเลข 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไม่ยาก

ภายนอกเปลี่ยนน้อย

Ford Everest รถเอสยูวีที่มีพื้นฐานจากกระบะ ตัวถังวางบนโครงสร้างแชสซีส์ มิติ ยาว/กว้าง/สูง 4893/1,862/1,837 มม. ช่วงล้อ หน้า/หลัง 1,560/1,565 มม. และฐานล้อ 2,850 มม.

พูดให้เห็นภาพก็คือมันเป็นรถที่มีมิติความยาวมากที่สุดในตลาด เช่นเคย ส่วนความกว้างอยู่อันดับ 3 รองจาก Nissan terra และ Chevrolet Trailblazer ส่วนความสูงก็เป็นที่ 3 รองจาก ISUZU MU-X และ Chevrolet Trailblazer ส่วนฐานล้อ Ford Everest มีขนาดเท่ากับ nissan terra ซึ่งจัดว่า มากที่สุดในกลุ่ม จึงนับว่าเป็นรถที่ฐานล้อยาว และมีมิติความยาวของรถมากที่สุดในกลุ่ม ส่วนความสูงจากพื้นสู่ใต้ท้องรถอยู่ที่ 227 มม.

ความเปลี่ยนแปลงด้านหน้า จะได้กระจังหน้าใหม่เปลี่ยนเส้นคาด จาก 2 เส้นมาเป็น 3 เส้น เปลี่ยนแผ่นกันกระแทกในกันชนหน้าใหม่  ไฟหน้าแบบ HID ปรับระดับสูง-ต่ำอัตโนมัติ เวลาขับไปทางมืดๆมันก็จะปรับสูงให้ พอมีรถสวนมามันก็จะเปลี่ยนเป็นไฟต่ำ มีไฟแอลอีดี ไฟส่องสว่างข้างตัวรถ ส่วน ไฟท้าย เป็นแบบ LED แถม Ford Everest ยังให้ ประตูท้ายเปิด-ปิด ด้วยไฟฟ้าแบบแฮนฟรี แค่เอาเท้าไปแกว่งๆ ประตูก็เปิดให้อัตโนมัติ เวลาถือของหนักไปข้างหลังก็ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป แต่ตรงนี้ระวังแป๊กนะครับ ผมลองดูตั้งหลายครั้ง มันไม่เปิด ต้องแบบเตะไปตรงๆ แล้วถอนเท้ากลับ มีสเต็ปนิดนึง มันถึงจะเปิด และก็มีระบบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติมาให้ด้วย

ยังไม่พอ จัดความหรูหรามาให้อีก ด้วยหลังคาซันรูฟแบบพาโนรามิค ใช้งานง่ายแค่กดปุ่มตรงหลังคารถด้านหน้า ไว้คนนั่งเบาะแถว 2 นั่งมองดวงจันทร์ หรือเปิดรับลมเย็นในเขาใหญ่ ส่วนล้อรถนั้น เป็นล้อแมกขนาดใหญ่ 20 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/50 R20 อันนี้คือรุ่น Titanium Plus และรุ่นท็อป ขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่ถ้ารุ่นรองจากนั้น จะได้ล้อ ขนาด 18 ส่วนรุ่น Trend ที่ราคาต่ำที่สุด จะได้ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว

สำหรับตัวที่ทดสอบขับนะ จะเป็นรุ่น Titanium Plus หรือรองท็อป ขับเคลื่อน 2 ล้อ และรุ่นท็อปขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งเป็นล้อขนาด 20 นิ้ว ลายใหม่ ตรงนี้หลายคนเห็นบางคนก็บอกว่าสวยกว่าตัวเดิม บางคนก็บอกว่าตัวเดิมสวยกว่า นานาจิตตัง แต่สำหรับล้อและยางตัวนี้ที่ทดสอบ วิ่งทางเรียบธรรมดาจัดว่าดี เสียงค่อนข้างเงียบ หน้ายางจะใหญ่มาก แต่วันที่ 2 ไปลุยในเส้นทางออฟโรด ก็ต้องทำใจเพราะว่า ไม่ค่อยนุ่มนวลเท่าไหร่ แถมต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะความสูงของดอกยางไม่มาก ทำให้ออฟโรดไม่ค่อยบุกตะลุยเท่าไหร่  ซึ่งในความเป็นจริง คงไม่มีใครเอาล้อรถสายหรูแบบนี้มาลุยในเส้นออฟโรดกันหรอก จริงไหม ส่วนใหญ่เขาคงขับในเมืองหรือขับเส้นทางปกติ ทางไกล

ถามว่าเส้นทางออฟโรดผ่านได้ไหม มันก็ผ่านไปได้ ด้วยกำลังของรถและระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มีโหมดการขับขี่หลายโหมดมาให้เลือกอีกด้วย แต่เอาแค่ขำๆพอนะครับ ถ้าจะให้สมบุกสมบันหน่อยแนะให้เปลี่ยน จะดีขึ้น

ไฟหน้าแบบ HID ปรับระดับสูง-ต่ำอัตโนมัติ
หลังคาซันรูฟแบบพาโนรามิค ใช้งานง่ายแค่กดปุ่มตรงหลังคารถด้านหน้า
ล้อแมกขนาดใหญ่ 20 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/50 R20
สัญลักษณ Bi-Turbo ด้านข้าง

 

ภายในหรูหรา

เอาล่ะ มาดูภายในกันบ้าง โทนด้านในห้องโดยสารเป็นแบบโทนสีดำ เบาะนั่งค่อนข้างสบายเลยทีเดียว เบาะคนขับด้านหน้า ก็สบาย พนักพิงศีรษะไม่ดันหัวมาก เบาะที่นั่งแถว 2 มีความนุ่มดันหลังกำลังดี นั่งทางไกลไม่รู้สึกเมื่อยเท่าไหร่ แถมสามารถปรับเลื่อนได้นิดหน่อย แต่ยังน้อยกว่าคู่แข่งอย่าง Nissan terra ลองปรับที่นั่งแถว 2 ให้ถอยสุด แม้เข่าไม่ติด แต่ด้วยความสูง 185 ซม. ของผู้เขียน ทำให้วางขาไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ อยากได้เพิ่มอีกนิด เพราะไม่อยากต้องไปทะเลาะคนนั่งหน้าให้เลื่อนเก้าอี้  ส่วนความสูงบนเพดานต้องจัดว่าเหลือเฟือ ขณะที่เบาะนั่งแถว 3 ผู้เขียนทดลองไปนั่งดู ก็สามารถนั่งได้แต่หัวติด เข่าติด ต้องให้ เบาะแถว 2 เลื่อนออกไปถึงจะพอนั่งได้ แต่ก็นั่งได้ไม่นาน เอาเป็นว่ากรณีไปเที่ยวหรือเดินทางไกล ผู้ใหญ่อย่าเข้าไปนั่งดีกว่าปล่อยให้เป็นที่นั่งของเด็กไป ตรงนี้เบาะแถว 2 จะมีที่พักแขน ดึงออกมาได้ ให้ความนุ่มนวลดีทีเดียว อีกอย่าง ตรงที่พักแขนก็สามารถกดให้ที่วางแก้วน้ำออกเลื่อนออกมาได้เท่ๆ

ส่วนเบาะแถว 3 สามารถกดพับได้ด้วยระบบไฟฟ้าจากด้านหลัง สะดวกสบายเลยทีเดียว เพิ่มพื้นที่ในการเก็บสัมภาระ ส่วน Power Outlet มีให้มามากมาย เบาะแถว 2 สามารถใช้ไฟบ้านได้ด้วย

พับเบาะแถว 3 ได้ด้วยระบบไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่เก็บของ

Ford Everest ให้กุญแจรีโมทอัจฉริยะและปุ่มสตาร์ทรถอัตโนมัติ ช่วยสตาร์ทรถได้เร็ว ขึ้นลงสะดวกสบายกว่าเดิม

พวงมาลัยไฟฟ้า แบบมัลติฟังก์ชั่น เต็มไปด้วยปุ่มมากมาย การเปลี่ยนเป็นพวงมาลัยไฟฟ้าช่วยให้ใช้แรงไม่มากนักในการขับขี่และหมุนพวงมาลัย ในย่านความเร็วสูงก็หนืดขึ้นอีกนิด แต่สำหรับขาซิ่ง อาจจะอยากได้พวงมาลัยที่มีน้ำหนักหน่วงมากกว่านี้

บริเวณหน้าจอข้อมูลบนหน้าปัดจะเป็นแบบสี ขนาด 4.2 นิ้ว 2 จอ แสดงข้อมูล Trip A, Trip B มาตรวัดรอบเครื่องยนต์ อัตราสิ้นเปลือง ระดับความร้อนน้ำหล่อเย็น, ระดับน้ำมัน และความเร็ว โดยในส่วนมากวัดรอบเครื่องยนต์มีเสียงบ่นว่าขนาดเล็กไปหน่อย

ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกอิสระซ้าย-ขวา เย็นสบายวางใจได้หายห่วง ช่องแอร์มีไปถึงแถว 3 โดยแอร์แถวสามนี้ผู้นั่งด้านหน้าสามารถปรับลมแอร์และความแรงได้ ส่วนเบาะแถวสองสบาย มีปุ่มปรับแอร์ เป็นของตัวเองอย่างใจเย็นแค่ไหน หรือจะปรับเป็นลมร้อนก็ทำได้

ระบบความบันเทิงเหมือนกับฟอร์ดเรนเจอร์ และแร็พเตอร์ จอตรงกลางขนาด 8 นิ้ว ระบบสัมผัส ใช้งานง่ายเหมือนมือถือ มาพร้อมกับ ระบบ Sync 3 มีระบบนำทาง ซึ่งแสดงภาพแบบสามมิติมาให้ เป็นภาษาไทยใช้งานง่าย ระบบเครื่องเสียงก็ดังเพราะใช้ได้เลย เสียงเบสมาจากด้านหลัง ทุ้มกำลังดี เอาเป็นว่าจบและเพียงพอ ในราคาเฉียด 1.8 ล้าน

ซึ่งขอพาไปทำความรู้จักระบบนี้หน่อย คือมันเป็นระบบสั่งงานด้วยเสียงของฟอร์ด มีเมนูภาษาไทย สามารถสั่งเป็นเสียงภาษาไทยได้ ช่วยให้ใช้งานง่ายมากขึ้น เชื่อมต่อได้ทางโทรศัพท์แบบ Android และ iOS เวลาโทรออกก็ง่ายนิดเดียว แค่พูดว่า “โทรหา” จากนั้นก็พูดชื่อที่อยู่ในเบอร์โทรศัพท์เรา มันก็จะโทรหาให้ทันที หรือเวลาจะเปลี่ยนคลื่นวิทยุก็พูดเป็นตัวเลขขึ้นมาเลย โดยตัวเลขนั้นต้องเป็นตัวเลขคลื่นวิทยุด้วย ถ้าเราพูดตัวเลขในลอยๆ เช่น 25 อันนี้มันจะเปลี่ยนเป็นอุณหภูมิแอร์ให้ โดยมันจะถามเราก่อนถ้าเราตอบว่าใช่มันก็จะเปลี่ยนให้ เช่นเดียวกับการเล่นเพลง ก็ให้พูดว่า “เล่น” ตามด้วยชื่อเพลงในโทรศัพท์ มันก็จะเล่นเพลงให้เราทันที

ทั้งนี้หากเราจะสั่งงานด้วยเสียงก็แค่กดปุ่มที่อยู่บนพวงมาลัย นอกจากนี้ยังมีระบบช่วยโทรฉุกเฉินที่จะสามารถพูดคุยกับหน่วยกู้ภัยได้ หากเกิดการชน ที่ถุงลมนิรภัยทำงาน หรือหัวจ่ายน้ำมันตัดการทำงาน ระบบ Sync 3 ก็จะโทรหา 1669 หรือศูนย์นเรนทร โดยระบบนี้จะทำงานเมื่อมีการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ของผู้ขับ เรายังสามารถเลือกตั้งค่าว่าจะให้มันทำงาน โดยการโทรไปที่เบอร์ฉุกเฉินหรือไม่ได้ด้วย หลังการชน ระบบจะถามเราก่อนให้เรายกเลิกได้ภายใน 10 วินาทีในกรณีไม่ต้องการโทรออก

ถามว่าระบบ Sync 3 จะแจ้งอะไรให้กับเจ้าหน้าที่กู้ภัย ระบบจะบอกกับเจ้าหน้าที่ว่ารถยนต์ฟอร์ดคันนี้เกิดอุบัติเหตุ และให้เจ้าหน้าที่เตรียมรับ พิกัด GPS จากนั้นระบบก็จะต่อสายให้เจ้าหน้าที่คุยกับผู้ขับ โดยฟอร์ดการันตีว่าได้มีการอบรมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์นเรนทรเรียบร้อยแล้วในการรับเรื่องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีที่ระบบ Sync 3 โทรหา ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเกิดอุบัติเหตุรถชนแล้วโทรศัพท์พัง ระบบจะไม่ทำงาน รวมถึงระบบนี้จะทำงานในที่ที่มีสัญญาณมือถือเท่านั้น

คันที่ใช้ขับออกไปจากกรุงเทพจนถึงเพชรบูรณ์ ขอบ่นนิดนึงว่ามันขึ้นเตือนบ่อย โดยเฉพาะการเตือนความเร็วเกินกำหนดซึ่งแปลผันไปตามเส้นทาง มันพยายามจะให้เราขับไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชม. แค่เราขับ 91 มันก็ดังแล้ว ไม่รู้ว่ามันจะต้องไปตั้งค่าอะไร ให้มันไม่ต้องเตือนมากมายขนาดนี้ หรือช่วยลดเสียงเตือนลงนิดก็ได้ เตือนมาทีก็ตกใจก เพราะช่วงจังหวะที่มันเตือนมันจะตัดเสียงเพลงทั้งหมด หุหุ ยิ่งผวากับระบบวัดลมยางซึ่งเตือนเพราะยางรั่วในช่วงแรกอยู่

หรืออาจจะเป็นเพราะความไม่รู้ของผู้ขับเองก็ต้องขออภัย แต่การแก้ไขการตั้งค่าค่อนข้างงง อาจเพราะเรายังรู้จักรถไม่มากพอ  ยังไม่นับระบบเตือนอีก ทั้งเตือนการชน ซึ่งเตือนบ่อยมาก โดยเฉพาะจังหวะจะเร่งแซง ซึ่งเราก็มั่นใจว่าเราเอาอยู่ แต่ด้วยระบบที่มันจะคำนวณจากระยะทางตามความจริง มันก็จะสั่งให้เตือนเอาไว้ก่อน ทำให้กว่าจะไปถึงเพชรบูรณ์แล้วได้ยินเสียงเตือนนับครั้งไม่ถ้วน อันนี้ต้องบอกไว้ก่อนว่า ในความเป็นจริงคงไม่มากขนาดนี้ เพราะทริปนี้เป็นทริปทดสอบ ในแง่ดีก็คือได้เห็นระบบเตือนการทำงานเรื่องความปลอดภัยมันใช้ได้จริง ดีนะที่เราปิดระบบเตือนการเปลี่ยนเลนไปได้ ไม่งั้นคงเตือนหนักกว่านี้อีก ส่วนขากลับ เราได้รถทดสอบอีกคัน เป็นรุ่นท็อปขับเคลื่อน 4 ล้อ ตรงนี้ต้องบอกว่าแจ่มมาก ไม่เตือนบ่อย คนในรถก็งง ไม่เหมือนคันแรก  น่าจะเกิดจากการตั้งค่ามาดี

พวงมาลัยไฟฟ้า แบบมัลติฟังก์ชั่น
ระบบ Sync 3 มีระบบนำทาง ซึ่งแสดงภาพแบบสามมิติมาให้ เป็นภาษาไทยใช้งานง่าย แถมมีระบบเตือนความเร็วด้วย
คำว่า EVEREST ขนาดใหญ่ด้านหน้า

กำลังของรถเหลือเฟือ

มาดูกันในเรื่องเครื่องยนต์ ขุมกำลังในการขับเคลื่อนรถคันนี้ แบ่งออกเป็นสองรุ่น เครื่องยนต์เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบ 180 แรงม้า / 3,500 รอบต่อนาที 420 นิวตันเมตร / 1,750-2,500 รอบต่อนาที

และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อที่ใช้ เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร ไบเทอร์โบ 213 แรงม้า / 3,750 รอบต่อนาที 500 นิวตันเมตร / 1,750-2,000 รอบต่อนาที เราเคยเห็นศักยภาพของเครื่องยนต์ชุดนี้แล้วเพราะปลอดใส่ไว้ในฟอร์ดเรนเจอร์ ไวแทร็ค และฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์ ไม่ได้มีการปรับจูนแต่ประการใด แรงม้าเท่ากันหมด

ขอขยายความนิดนึงสำหรับคนที่ยังไม่รู้จักเครื่องยนต์ตัวนี้ของฟอร์ด สำหรับการทำงานของเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ ประกอบกันด้วยเทอร์โบลูกเล็ก หรือ High-Pressure (HP Turbo) เป็นเทอร์โบแรงดันสูง และ เทอร์โบลูกใหญ่ Low-Pressure (LP Turbo) เป็นเทอร์โบแรงดันต่ำ โดยเทอร์โบลูกเล็กจะทำงานแบบแปรผัน ทำงานในความเร็วรอบต่ำ ส่วนความเร็วในรอบปานกลางเทอร์โบทั้ง 2 ตัวจะช่วยกันอัดอากาศเข้าไปในห้องเผาไหม้ พอถึงช่วงรอบสูงก็จะเป็นหน้าที่ของ เทอร์โบลูกใหญ่ แถมยังเปลี่ยนใช้ระบบสายพานไทม์มิ่งแทนระบบโซ่ ซึ่ง ฟอร์ดระบุว่ามันจะทนกว่าเพราะเอาสายพานไปจุ่มน้ำมันเครื่อง

มากกว่านั้น ฟอร์ด ระบุว่า ยังทดลองเรื่องของความทรหดอดทนของมัน วิธีการที่ฟอร์ดทำคือการทำให้เทอร์โบทั้ง 2 ลูกร้อนจัด จนกลายเป็นสีแดงนาน 200 ชั่วโมงติดต่อกัน ลูกปืนเทอร์โบที่ผลิตจากอัลลอยคุณภาพสูง ทนความร้อนได้สูงถึง 860 องศาเซลเซียส เทอร์โบแรงดันต่ำที่ระบายความร้อนด้วยน้ำ ทำให้เครื่องยนต์สามารถทนต่ออุณหภูมิระดับสูงได้

เครื่อง 2.0 ลิตร bi-turbo 213 แรงม้า

ส่วนระบบส่งกำลัง เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด เหมือนในเรนเจอร์ Wildtrak แรพเตอร์ ตัวล่าสุด หรือจะเป็น Mustang ที่เพิ่งเปิดตัวในไทยก็ใช้เกียร์ตัวนี้ ซึ่งข้อดีของเกียร์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่และมีถึง 10 Speed คือช่วยให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้นกว่าเดิม มีความนุ่มนวลในการขับขี่มากขึ้น

กำลังเครื่องของตัวนี้ ต้องบอกว่าเพียงพอ เราได้ลองทั้งเครื่องเทอร์โบเดี่ยวในขาไป แต่ใช้ความเร็วสูงสุด ชุดทดสอบได้ประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ต้องถอนคันเร่งเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมันจะไปได้มากกว่านี้ อารมณ์ดึงมีให้สนุกเล็กน้อย แต่ไม่มากด้วยน้ำหนักรถขนาดใหญ่ตามสไตล์รถครอบครัว ช่วงต้องการใช้กำลังขึ้นเขา ได้เห็นการทำงานของเกียร์ ตอนกดคันเร่งไป เหมือนเกียร์มันใช้เวลาในการคำนวณนิดหน่อยว่าจะต้องใช้ระดับไหน ตรงนี้บอกเลยว่าเพิ่งไปขับ Nissan terra ให้ความรู้สึกไวกว่านิด แต่สำหรับ Ford Everest พอเกียร์มันจับกันได้ รถก็พุ่งไปแบบตามที่เราต้องการ สามารถขึ้นเนินหรือเขาที่ชันได้แบบไม่ต้องกังวล ขากลับเราได้ลองเครื่องเทอร์โบคู่ ทางขึ้นเขาลงเขา แล้ววิ่งทางไกล ได้อารมณ์ที่แนบเนียนกว่าในช่วงจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ ผมได้ขับเองไม่มาก จึงไม่มีโอกาสได้ทดลองความเร็วกับรถคันนี้ แต่สอบถามเพื่อนสื่อมวลชน บอกว่าทำความเร็วได้ถึง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ความเร็วตามจีพีเอส 175 กม./ชม.) ซึ่งอาจจะมากกว่านั้นนิดหน่อย เครื่องเทอร์โบคู่นี้

เรื่องการเปลี่ยนเกียร์ หากผู้อ่านชอบแบบเปลี่ยนเกียร์เอง Ford Everest จะเป็นปุ่มบวกลบ ตรงหัวเกียร์ เหมือนกับ เรนเจอร์ ไม่ใช่แบบแป้นเปลี่ยนเกียร์ ตรงพวงมาลัย หรือ Paddle Shift แบบ แร็พเตอร์ ไอ้ปุ่มบวกลบ จะว่าใช้ง่ายมันก็ง่าย แต่บางคน โดยเฉพาะขาซิ่งหน่อยๆ ก็อาจจะชอบแบบดิบๆแบบตบเกียร์มากกว่า

เรื่องอัตราการกินน้ำมัน รถใช้งานแบบนี้ คงไม่มีใครซื้อมาหวังประหยัดสุดยอด แต่แน่นอนก็ควรจะรับรู้ไว้เป็นข้อมูล ตามอัตราการกินน้ำมันอ้างอิง ของ Eco Sticker เครื่อง 2.0 ไบเทอร์โบ กินน้ำมันอยู่ที่ 7.6 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือประมาณ 13.2 กิโลเมตรต่อลิตร อันนี้คือการขับในภาวะปกติ ส่วนในการทดสอบ ทางขึ้นเขาลงเขา และทางยาวซึ่งใช้ความเร็วพอสมควร หันดูหน้าปัดมันอยู่ที่ 9.2 กม. ต่อลิตร ก็ค่อนข้างพอใจนะ กับตัวรถที่มีน้ำหนักถึง 2,460 กิโลกรัม ส่วนในตัวเครื่อง 2.0 Turbo เดี่ยว ซึ่งมีอยู่ในตัวขับเคลื่อน 2 ล้อลงมา น้ำหนักตัวลดเหลือ  2,318 กิโลกรัม อัตราการกินน้ำมันอ้างอิง อยู่ที่ 7 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือประมาณ 14.3 กิโลเมตรต่อลิตร ได้แค่มาตรฐาน มอก. ไม่ได้มาตรฐานยูโร 5 หรือยูโร 4 ซึ่งเป็นปกติของรถแบบนี้

Ford Everest ปุ่มบวกลบ ตรงหัวเกียร์ ในโหมดเปลี่ยนร์เกียร์เอง

เอาอยู่บนทางดำ แต่ออฟโรดเฉยๆ

มาดูกันที่ระบบกันสะเทือนของรถกะ Ford Everest เป็น ช่วงล่างแบบคอยล์สปริงพร้อมวัตต์ลิงค์ ช่วยเรื่องการทรงตัว เกาะถนน อันนี้เป็นอีกเรื่องที่ขอชม ช่วงล่างตัวนี้ ลองขับด้วยความเร็วสูง แม้จะเป็นรถประเภทกระบะดัดแปลง แต่มันไม่ให้ความรู้สึกกระบะสมัยก่อน อารมณ์เหมือนขับรถเก๋งมากกว่า การทรงตัวในย่านความเร็วสูงระดับ 150-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องบอกว่าเอาอยู่ รถนิ่งใช้ได้ ส่วนการขับบนทางขึ้นภูเขาสูงที่ลื่นและลาดชัน มันก็เอาอยู่ ทำงานประสานกับระบบช่วยเหลือการขับขี่ และการทรงตัวของรถ ทำให้การลงจากภูเขา ที่ค่อนข้างลาดชัน ได้เสียงล้อจากระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวของรถทำงานบ้าง โดยรวม ไม่เครียดมาก ผู้เขียนเพิ่งไปขับ Nissan terra มา ต้องบอกว่าช่วงล่าง มีเสน่ห์คนละแบบ  นิ่งทั้งคู่ในย่านความเร็วสูง แต่ในทางออฟโรด Terra ดูเหมือนซับแรงสะเทือนจากด้านล่างได้ดีกว่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอเตือนไว้ก่อน ว่าไม่ต้องไปทดลองนะครับ ต่อให้ดีแค่ไหน รถมันก็ยังสูงคันใหญ่อยู่ ไม่ต้องไปสาดโค้งกันนะ

ส่วนความนิ่มนวลนั้น Ford Everest รุ่นนี้ เหมือนพยายามเซ็ตช่วงล่างมาให้เอาใจคนไทย มันเป็น การพยายามสร้างสมดุลระหว่าง ช่วงล่างที่แข็งเน้นเกาะถนนที่ความเร็วสูง กับความนุ่มนวล ถามว่านุ่มนวลพอใช้ได้ไหมก็ต้องบอกว่าใช้ได้ รถไม่ได้มีอาการโคลง ร่อน หรือโยก กรณีสาดโค้งหรือใช้ความเร็วสูง

แต่ในช่วงออฟโรด  (ไม่ขอพูดในฐานะคนขับ เพราะไม่มีโอกาสได้ขับ)  ช่วงล่างที่ค่อนข้างหนักแน่น พอไปเจอหลุมบ่อ การซับแรงกระแทกอยู่ในระดับกลางๆ ไม่เด่น ตรงนี้อาจเป็นไปได้ว่าเรื่องของล้อก็มีส่วน เพราะล้อแม็กซ์ขนาดใหญ่ และความสูงของยางค่อนข้างน้อย พูดในฐานะคนนั่งก็ค่อนข้างเหนื่อยนิดหน่อย

Ford Everest รุ่นท็อป ขับเคลื่อน 4 ล้อ มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัจฉริยะ พร้อมระบบ Terrain Management และยัง มีเฟืองท้ายแบบ Electronic Locking Rear Differential  สายออฟโรดคงชอบ  แต่สำหรับคนจะเอาไปลุย ควรใช้ยางให้เหมาะสมกับสภาพถนนมากขึ้นนั่นเองก็จะได้ความนุ่มนวลมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกไปกลับการทรงตัวในย่านความเร็วสูง ซึ่งอาจจะไม่ดีเท่ายางตัวนี้ อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละคนจะเลือกเอาว่าเหมาะกับการใช้งานแบบไหน

ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน ใช้งานง่ายแค่กดปุ่ม พร้อมโหมดการขับขี่ต่างๆให้เลือกหลายโหมด มีเฟืองท้ายแบบ Electronic Locking Rear Differential อีกด้วย มีเฉพาะรุ่นท็อป ขับเคลื่อน 4 ล้อ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ล้อแมกขนาดใหญ่ 20 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/50 R20

จัดเต็มความปลอดภัย

ด้านความปลอดภัย-ระบบเบรก ระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆนั้น

Ford Everest ใส่เทคโนโลยีที่ช่วยเหลือด้านความปลอดภัย บอกได้เลยว่ามากที่สุด ในตลาด ppv ขณะนี้แล้ว เช่น

ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน ที่มันจะผสานระบบเบรกแบบ Inter-Urban Autonomous Emergency Braking (AEB) เข้ากับระบบตรวจจับคนเดินถนน (Pedestrian Detection) และระบบตรวจจับยานพาหนะ (Vehicle Detection) บริเวณรอบตัวรถ เพื่อหยุดรถ และช่วยลดอัตราการชนท้ายและการชนคนเดินถนนลง โดยระบบนี้จะทำงานเมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 3.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ระบบนี้เราเคยเห็นมาแล้วใน Ford Ranger Wildtrak รุ่น Top

ยังมี ระบบตรวจจับลมยาง (Tire Pressure Monitoring System) ที่พี่ทำหน้าที่คอยตรวจวัดความดันลมในยาล้อทั้ง 4 ล้อ และเตือนผู้ใช้งานเมื่อความดันลมเปลี่ยนแปลง ข้อดีคือมันช่วยให้ประหยัดน้ำมันช่วยยืดอายุยาง เหมือนกัน ลมยางไหนอ่อนเราก็รู้ ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยกรณีแบบที่ผู้เขียนโดนมา เวลารถไปเหยียบอะไรรั่วมันก็ขึ้นเตือนทันที ระบบความปลอดภัยอื่นที่ฟอร์ดจัดมาให้อีก เรียงกันมาให้ดูเลย เช่น

· ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control)
· ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System)
· ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System)
· ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ (Driver Alert System)
· ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High Beam Control)
· ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist)
· ระบบตรวจจับรถในจุดบอด (BLIS – Blind Spot Information System) ที่มาพร้อมระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด (Cross Traffic Alert)
· กล้องมองหลังขณะถอยจอดและสัญญาณเตือนระยะจอดด้านหน้า (Rear View Camera and Sensors)

กล้องมองหลังขณะถอยจอดและสัญญาณเตือน

ยังมีระบบถุงลมนิรภัย 7 จุด ระบบที่กล่าวมาเราไม่ได้ทดลองกันทั้งหมดนะครับ ส่วนตัวผู้ขับเอง ก็ค่อนข้างได้ทดลองขับไม่มาก ช่วงออฟโรดนี่ได้นั่งอย่างเดียว แม้กระนั้น การใช้งานจริงก็ได้เห็นประสิทธิภาพของมัน เช่น ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ ที่ทำให้การจอดเป็นเรื่องง่าย รถในระดับเดียวกันไม่มีใครมี ระบบตรวจจับรถในจุดบอดใช้ได้จริง กล้องมองหลังขณะถอยจอดและสัญญาณเตือนระยะจอดด้านหน้า อันนี้ก็ใช้ได้จริง

ระบบเทคโนโลยีที่เหนือกว่าคนอื่นหน่อย (คู่แข่งกำลังตามมาติดๆ) ก็ทำให้ราคารุ่นท็อปของมันพุ่งไปถึงเฉียด 1.8 ล้าน เลยทีเดียว ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ สำหรับคนที่ชอบและต้องการราคาที่ถูกลง ก็ต้องดูครับว่า ตัวเองเหมาะสมกับรุ่นไหน เพราะในการใช้งานจริง เราไม่จำเป็นต้องใช้ออฟชั่นของมันทั้งหมด ก็ลองดู และล่าสุด ฟอร์ดนำเสนอรุ่น เทรนด์ ที่ราคาต่ำสุดคือ 1.29 ล้าน ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดที่พูดมา แทบจะหายไปหมดสิ้น

ถามว่ารถคันนี้เหมาะกับใคร แน่นอนมันคือรถครอบครัว สมรรถนะสูงพอสมควร เครื่องยนต์ใหม่ เกียร์ใหม่ เรื่องความเร็วหมดห่วง แต่คงไม่มีใครซื้อรถประเภทนี้เพื่อหวังมาซิ่ง

ในด้านความสะดวกสบาย โดดเด่นกว่าคู่แข่ง รวมถึงเทคโนโลยีช่วยการขับขี่ ที่ให้มามากกว่า ทำให้ราคาสูง  น่าจะมีรุ่นที่เป็นเครื่องเทอร์โบเดี่ยว พร้อมขับเคลื่อน 4 ล้อมาให้อีกท่าจะดี

โดยรวมเป็นรถที่ดี ทั้งเรื่องความสวยงาม อยู่ในระดับโดดเด่น บึกบึน สมรรถนะดี เรื่องประหยัดก็ดีกว่าเดิมจริง แต่ก็ไม่ได้มาก เพราะมันอัดเทอร์โบเข้าไปสองตัว

คนซื้อรถคันนี้ ต้องทำใจ เพราะด้วยความที่ระบบมันเยอะ ก็ต้องดูแลให้ดีกว่าชาวบ้านเขาหน่อย และ ถ้าฟอร์ด พัฒนาระบบบริการหลังการขายให้ดี แก้ปัญหาเล็กน้อยให้จบ เชื่อว่ามันมีอนาคตดีกว่านี้แน่ เพราะยอดขายตอนนี้ของมันก็เริ่มดีแล้ว

ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ วางจำหน่ายทั้งหมด 4 รุ่น รวมถึงรุ่นเทรนด์ ซึ่งเป็นรุ่นเริ่มต้น ตามราคาดังต่อไปนี้

รุ่นเทรนด์ เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบ ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ราคา 1,299,000 บาท

· ระบบกันสะเทือนหน้า: อิสระปีกนก 2 ชั้นพร้อมคอยล์สปริงและเหล็กกันโคลง
· ระบบกันสะเทือนหลัง: คอยล์สปริงพร้อมวัตต์ลิงค์และเหล็กกัน
· ระบบพวงมาลัยพาวเวอร์แบบผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า
· ไฟหน้าแบบโปรเจกเตอร์
· ราวหลังคาและบันไดข้าง
· ล้ออัลลอย 17” พร้อมยางขนาด 265/65 R17
· กุญแจอัจฉริยะและปุ่มสตาร์ท
· ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกอิสระซ้าย-ขวา
· เบาะหนังสีดำ
· ระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNCTM 3 ภาษาไทย หน้าจอ Multi-Touch ขนาด 8 นิ้ว พร้อม Bluetooth และ Wi-Fi
· ลำโพง 9 ตัว พร้อมซับวูฟเฟอร์และแอมพลิฟลายเออร์
· ระบบช่วยโทรฉุกเฉิน
· ถุงลมนิรภัย 7 จุด คู่หน้า / ด้านข้าง / หัวเข่าฝั่งคนขับ / และม่านถุงลมนิรภัย
· กล้องมองหลังขณะถอยจอด

รุ่นไทเทเนี่ยม เครื่องยนต์ที่ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบ ขับเคลื่อน 2 ครับล้อ เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ราคา 1,439,000 บาท สิ่งที่จะได้เพิ่มมาคือ

-ไฟหน้าแบบ HID ปรับระดับสูง-ต่ำอัตโนมัติ
-ไฟวิ่งกลางวันแบบ LED
-ระบบเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ
– ระบบปัดน้ำฝนแบบอัตโนมัติ
-ไฟท้าย LED
-ประตูท้ายเปิด-ปิด ด้วยไฟฟ้าแบบแฮนฟรี
-อัลลอย 18″ พร้อมยางขนาด 265/60 R18
-เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง
-ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ

ส่วนรุ่นไทเทเนี่ยม พลัส เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบ ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ราคา 1,599,000 บาท

อุปกรณ์มาตรฐาน (เพิ่มเติมจากรุ่นไทเทเนี่ยม) ได้แก่
– ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมตรวจจับคนเดินถนน
– เทคโนโลยีช่วยในการขับขี่อัจฉริยะ
-ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ
– ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง
-ระบบเตือนการชนด้านหน้า
– ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ
– ระบบแจ้งเตือนการขับขี่
– หลังคา Panoramic Moonroof
-อัลลอย 20″ พร้อมยางขนาด 265/50 R20
– เบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง
– เบาะแถวที่ 3 พับไฟฟ้า
– ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ
-ระบบแผนที่นำทาง

เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย ได้แก่
-ระบบตรวจจับลมยาง
-ระบบตรวจจับรถในจุดบอด
-ระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด

รุ่นไทเทเนี่ยม พลัส เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร ไบเทอร์โบ ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด ราคา 1,799,000 บาท

อุปกรณ์มาตรฐาน (เพิ่มเติมจากรุ่นไทเทเนี่ยม พลัส เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบ)
– เครื่องยนต์ดีเซล 2.0L Bi-Turbo (เทอร์โบคู่)
-ระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัจฉริยะ พร้อมระบบ Terrain Management
– เฟืองท้ายแบบ Electronic Locking Rear Differential
-ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางชัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image