เอ็มจี แซดเอส อีวี ทีเด็ด‘รถไฟฟ้า’ : โดย นายพล

ต้องบอกว่าผิดความคาดหมาย เมื่อได้ทดลองขับรถยนต์อเนกประสงค์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของค่ายเอ็มจี คือ เอ็มจี แซดเอส อีวี (MG ZS EV)
ตอนแรกคิดว่ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของเอ็มจี ที่มี บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย

และเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเซี่ยงไฮ้ ออโต
ยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน กับซีพี ยักษ์ใหญ่ของไทย ร่วมกันตั้งโรงงานประกอบรถยนต์เอ็มจี เป็นศูนย์กลางรถพวงมาลัยขวาของเอ็มจีในเอเชีย

เดิมคิดว่ารถไฟฟ้าเอ็มจีรุ่นแรกจะออกมาแนวรถกระป๋องกระแป๋ง เหมือนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนหลายยี่ห้อ กำลังหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอยู่ตอนนี้

กลายเป็นว่า แซดเอส อีวี ประกอบรถยนต์ออกมาได้ดีอย่างเหลือเชื่อ คุณภาพทั้งภายนอกภายใน โดยเฉพาะสมรรถนะการขับขี่ ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเทียบกับราคาจำหน่าย

Advertisement

อาจเป็นเพราะว่าขณะนี้ประเทศจีนได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไปไกล มีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่ทั่วประเทศจีน ทำให้ถ่ายทอดประสบการณ์มายัง
เอ็มจีในเมืองไทยได้ไม่ยากนัก

รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของเอ็มจี เป็นรถเอสยูวีพลังงานไฟฟ้า 100% เน้นให้เป็นสไตล์ยุโรป สีตัวถังแบบพิเศษ สีฟ้า โคเปนเฮเกน บลู (Copenhagen Blue) กระจังหน้าใหม่ ล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ขนาด 17 นิ้ว

ภายในห้องโดยสารตกแต่งโทนสีดำ ตกแต่งคอนโซลหน้าด้วยวัสดุนุ่มแบบซอฟต์ ทัช (Soft touch) คอนโซลกลางมาพร้อมที่วางแขนแบบดับเบิล เลเยอร์ (Double layer) เพิ่มพื้นที่วางของให้มากขึ้น

Advertisement

พวงมาลัยทรงสปอร์ตหุ้มหนังแบบมัลติฟังก์ชั่น ควบคุมฟังก์ชั่นการใช้งานในรถเชื่อมกับหน้าจอสีระบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว ระบบปรับอากาศแบบดิจิทัล มาพร้อมระบบกรองอากาศ สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ได้ แถมยังมีหลังคาซันรูฟแบบพาโนรามา (Panoramic Sunroof) มีขนาดถึง 90% ของพื้นที่ทั้งหมด

ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบเพอร์มาเนนต์ แมกเนท ซินโครนัส มอเตอร์ (Permanent Magnet Synchronous Motor) พัฒนาให้ส่งกำลังได้ดี และช่วยระบายความร้อนได้ดีขึ้น ทำงานคู่กับแบตเตอรี่แบบลิเธียม ไออน (Lithium-ion) ความจุ 44.5 kWh ผ่านการรับรองและทดสอบตามมาตรฐานสากล

มีระบบการปกป้องแบตเตอรี่แบบ 360 องศา และระบบการจัดการอุณหภูมิอัจฉริยะ มีพละกำลังสูงสุด 110 กิโลวัตต์ หรือ 150 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร สามารถเร่งจาก 0-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้ในเวลา 3.1 วินาที หรือ 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 8.2 วินาที ถือว่าใช้ได้ทีเดียว เมื่อเทียบกับรถยนต์อเนกประสงค์อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ทางเอ็มจีแจ้งว่าสามารถวิ่งได้ไกลสูงสุดถึง 337 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้งนั้น อาจจะเป็นการวิ่งใช้งานปกติ ไม่ได้ใช้ความเร็วมากนัก

แต่จากการทดลองขับเส้นทางจากถนนศรีนครินทร์ ขึ้นทางด่วนบางนาไปลงงามวงศ์วาน วิ่งไปถึงถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี และวิ่งกลับมาศรีนครินทร์ รวมระยะทางวิ่งประมาณกว่า 100 กม. สภาพการจราจรมีทั้งรถติดและใช้ความเร็วสูง ปรากฏว่าแบตเตอรี่เหลือแค่ 20% จากเริ่มต้น 95%

คงเป็นเพราะการทดลองกดคันเร่งคิกดาวน์แบบกระทืบบ่อยครั้ง เพื่อลองใช้ความเร็วสูง และเร่งแซงรถในการวิ่งระยะทางไกล เพื่อจะดูอาการว่าจะกระฉับกระเฉงเหมือนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้งานกันอยู่ทั่วไปหรือไม่

ปรากฏว่า แซดเอส อีวี ทำได้ดีกว่ารถยนต์ประเภทเดียวกันที่เป็นเครื่องยนต์ธรรมดา คันเร่งตอบสนองดีกว่า เพราะมีแรงบิดสูงจากพลังไฟฟ้า

แต่เมื่อถอนคันเร่งขึ้นแบบกะทันหัน จะมีแรงดึงมากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์ปกติทั่วไป เป็นการช่วยชะลอรถ เพื่อให้การเบรกทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ระบบความปลอดภัยเป็นแบบแอดวานซ์ ซิงโครไนซ์ โพรเทคชั่น ซิสเทม มาแบบครบครัน

ส่วนการชาร์จไฟได้ทั้งแบบนอร์มอล ชาร์จ (Normal Charge) หรือแบบปกติ ผ่านเอ็มจี โฮมชาร์จ (MG Home Charger) ใช้เวลา 6.5 ชั่วโมง และแบบควิก ชาร์จ (Quick Charge) หรือแบบด่วน ผ่านสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ โดยใช้เวลาชาร์จจาก 0-80% ในเวลาเพียง 30 นาที

ติดตั้งระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ ไอ-สมาร์ท (i-
SMART) รองรับการสั่งการด้วยเสียงภาษาไทย และสามารถเช็กระดับพลังงานคงเหลือของแบตเตอรี่ การเช็กสถานะและแสดงระยะเวลาของการชาร์จแบตเตอรี่แบบเรียลไทม์ การค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าใกล้เคียง หรือสถานีชาร์จที่โชว์รูมทั่วประเทศ รวมทั้งการสั่งการ เอ็มจี โฮม ชาร์จ (MG Home Charger) สำหรับการชาร์จไฟที่บ้านได้ผ่านสมาร์ทโฟน

และในฐานะที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า แน่นอนว่าการบำรุงรักษาทำได้ง่ายกว่ารถยนต์ปกติ เพราะใช้ระบบขับเคลื่อนจากแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก ทำให้ชิ้นส่วนอะไหล่น้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุง โดยทางเอ็มจีให้ข้อมูลมาว่า มีค่าบำรุงรักษาอยู่ที่ 8,545 บาทต่อ 100,000 กิโลเมตร

ที่สำคัญเอ็มจีตั้งราคาจำหน่ายได้บาดใจคู่แข่งมากคือคันละ 1,190,000 บาท

ถือว่าเป็นการนำร่อง หรือรุ่นบุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยของเอ็มจีได้ดีทีเดียว

เหลืออย่างเดียว ถ้ามีสถานีชาร์จไฟฟ้ามากกว่านี้ และระยะเวลาชาร์จได้เร็วกว่านี้ จะค่อยอุ่นใจหน่อย

เพราะเวลาขับไปแล้วไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เหลือน้อย มีเสียงเตือนมาตั้งแต่แบตเตอรี่เหลือ 30% มาเป็นระยะ คนขับใจคอไม่ค่อยดี กลัวรถไปตายกลางทาง เพราะหาที่ชาร์จไม่ได้

แต่คาดว่าคงเร็วๆ นี้ สถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวีคงมีมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้เสียชื่อซีพี

งานนี้ค่ายญี่ปุ่นหนาวแน่นอน

นายพล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image