‘โตโยต้า’เปิดโรงงานญี่ปุ่นโชว์ นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (มีรูป)

จัดเป็นเอ็กซ์คลูซีฟทริปนานทีปีหน เมื่อเร็วๆ นี้ โตโยต้าเปิดโรงงานแม่ ณ ประเทศญี่ปุ่น ให้คณะสื่อมวลชนสายรถยนต์ทั่วโลกได้เยี่ยมชม ทดสอบ นวัตกรรมรถยนต์อนาคต อีกทั้งพูดคุยกับผู้บริหารถึงทิศทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ

 

นวัตกรรมความปลอดภัย

จุดแรกไปที่ศูนย์ค้นคว้าและวิจัยโตโยต้า ในจังหวัดชิซุโอะกะ ตั้งไม่ไกลจากภูเขาไฟฟูจิ ศูนย์แห่งนี้ทำหน้าที่ศึกษาพฤติกรรมการขับขี่รถยนต์ เพื่อมาออกแบบระบบความปลอดภัยรถยนต์ มีทั้งสนามทดลองขับรถหลายรูปแบบ โรงทดสอบการชน (Crash Test) หลายลักษณะ โอกาสนี้โตโยต้าได้โชว์การชน หรือแครช เทสต์ (Crash Test) รถพรีอุส เจเนอเรชั่นที่ 4 เพิ่งวางขายที่ญี่ปุ่นช่วงปลายปีที่แล้ว ด้วยการชนด้านหน้ารถในแนวเฉียง 15 องศา ความเร็ว 90 กม./ชม. เมื่อกล้องสโลโมชั่นและสปอตไลต์รอบทิศทางพร้อม เสียงปะทะก็ดังสนั่นโรงทดสอบ

Advertisement

ภายหลังทีมช่างเทคนิคเข้าตรวจสอบและเช็กระบบความปลอดภัย ก็เปิดโอกาสให้คณะสื่อเข้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ผลทดสอบพบว่าห้องโดยสารและหุ่นดัมมี่ไม่ได้รับความเสียหายจากการปะทะแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไฮบริดรั่วไหลสู่ตัวถังรถอีกด้วย

ช่างเทคนิคเล่าว่า เป็นเพราะรถถูกออกแบบให้กระจายแรงกระแทก จึงจะเห็นว่าห้องเครื่องด้านหน้ายุบมาก แต่ไม่ยุบถึงห้องโดยสาร เพราะมีโครงสร้างนิรภัยจีโอเอ (GOA) ภายหลังการชนประตูของรถก็ยังเปิดได้ตามปกติ แสดงถึงความแข็งแกร่งของห้องโดยสาร และความสะดวกในการช่วยเหลือ ส่วนแบตเตอรี่ไฮบริดก็จะถูกตัดกระแสไฟฟ้าทันทีเมื่อเกิดการปะทะ

โรงทดสอบแห่งนี้ต้องทดสอบแครช เทสต์ รถยนต์โตโยต้าโฉมใหม่รวมประมาณ 1,600 ครั้ง/ปี ตกโมเดลละ 40 ครั้ง ทดสอบตั้งแต่การชนด้านหน้า ด้านข้าง ชนกำแพงคอนกรีต ตกหน้าผา ทุกครั้งของการทดสอบยังวิเคราะห์ลงลึกถึงความบอบช้ำของร่างกายมนุษย์ เกิดจากการปะทะรูปแบบต่างๆ ด้วยหุ่นจำลองมนุษย์ต้นแบบคอมพิวเตอร์เสมือนจริง (Total Human Model for Safety: THUMS) มีหลักการทำงานคือ ติดตั้งเครื่องวัดแรงกระแทกในหุ่นดัมมี่ที่ทดสอบ จากนั้นนำผลมาประมวลในซอฟต์แวร์ เพื่อวิเคราะห์ความบาดเจ็บจะเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นเอ็น ได้อย่างแม่นยำ โตโยต้าลงทุนพัฒนาโครงการนี้ไป 100 ล้านเยน

ศูนย์ค้นคว้าและวิจัยโตโยต้า
ศูนย์ค้นคว้าและวิจัยโตโยต้า
35
โชว์การชน หรือแครช เทสต์ (Crash Test) รถพรีอุส เจเนอเรชั่นที่ 4

safety_016

safety_020

safety_024

safety_025

safety_002
ไดรวิ่ง ซีมูเลเตอร์ (Driving Simulator)

safety_003

safety_007

safety_011

 

ความน่าสนใจของศูนย์แห่งนี้ยังไม่หมดเท่านั้น เพราะที่นี่มีไดรวิ่ง ซีมูเลเตอร์ (Driving Simulator) เครื่องเดียวในโลก เป็นโดมแสดงภาพการขับขี่จริงแบบ 360 องศา สมจริงด้วยรถยนต์ติดตั้งจริงๆ จำลองสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และเสียงสมจริง อีกทั้งโดมสามารถเคลื่อนที่รอบทิศทางและเอียงได้ ผู้ขับจะได้สัมผัสถึงแรงจี แรงกระแทก

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพฤติกรรมขับขี่ทั้งหมดนี้ โตโยต้าจะนำมาพัฒนาระบบความปลอดภัยบนรถยนต์ อย่างเทคโนโลยีล่าสุดตอนนี้ เช่น ระบบเบรกอัตโนมัติ (Pre-Collision System: PCS) หากพบว่ามีโอกาสจะเกิดการชนขึ้น ระบบแจ้งเตือนการขับคร่อมเลน (Lane Departure Alert: LDA) ระบบเปิดไฟสูงต่ำอัตโนมัติ (Automatic High Beam: AHB) เพื่อช่วยในการขับรถยามค่ำคืน ระบบเรดาร์ ครูสคอนโทรล จะช่วยขับขี่ความเร็วคงที่ สามารถลดความเร็วเมื่อมีรถมาแทรกข้างหน้า และปรับความเร็วเพื่อรักษาระยะห่างรถคันหน้าได้

วิทยากรยังบอกถึงสิ่งที่โตโยต้ากำลังคิดค้นคือ ระบบตรวจจับรถยนต์เพื่อการขับขี่อัตโนมัติ คือทำอย่างไรให้รถยนต์บนท้องถนนสามารถสื่อสารกันได้ รู้ว่าอยู่ตรงไหน จะทำให้เกิดการขับขี่รถยนต์ปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

นวัตกรรมพลังงานขับเคลื่อน

จากนั้นไปต่อที่สนามฟูจิ สปีดเวย์ ตั้งไม่ไกลจากศูนย์ค้นคว้าและวิจัย โตโยต้าจัดแสดงนวัตกรรมพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์ ตั้งแต่รถยนต์ไฮบริด (HVs) ในรถพรีอุส เจเนอเรชั่นที่ 4 ปลั๊กอินไฮบริด (PHVs) รถพรีอุส เจเนอเรชั่นที่ 3 ตัวแก้ไขเพิ่มเติม รถไฟฟ้า (EVs) ในรถไอ-โรดส์ (I-ROADs) และรถยนต์ใช้เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ในรถไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน (FCVs) รุ่นโตโยต้ามิไร (MIRAI)

 

พรีอุส เจนฯ 4
พรีอุส เจนฯ 4

environment_02_004

แบตเตอรี่ใต้เบาะแถวสอง รถพรีอุส เจนฯ4
แบตเตอรี่ใต้เบาะแถวสอง รถพรีอุส เจนฯ4
มิไร
มิไร

environment_02_006

IMG_1264

ถังบรรจุไฮโดรเจน ในรถมิไร

IMG_1225
รถไอโรด

IMG_1227

IMG_1239

IMG_1247

 

ภายในยังมีนิทรรศการรถพรีอุส เจเนอเรชั่นที่ 4 นวัตกรรมรถยนต์ไฮบริดล่าสุดของโตโยต้า ย้ายแบตเตอรี่ไฮบริดจากช่องเก็บสัมภาระด้านหลังมาอยู่ใต้เบาะที่นั่งแถวสอง ทำให้จุดศูนย์ถ่วงต่ำ รถทรงตัวดี และพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังได้มากกว่ารุ่นที่แล้ว

หากทำน้ำหกในเบาะที่นั่งแถวสอง ก็มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลต่อแบตเตอรี่ข้างใต้เบาะ เพราะได้ทดสอบเทน้ำลงไปแล้ว ไม่มีไฟฟ้ารั่วไหลแต่อย่างใด

แบตเตอรี่ไฮบริดดังกล่าวยังถูกพัฒนาจนสามารถทำให้รถพรีอุส เจเนอเรชั่นที่ 4 มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ 48 กม./ลิตร ขณะที่ความคงทนก็ทำได้ดีเลยทีเดียว ทดสอบด้วยการนำแบตเตอรี่ไฮบริดไปอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำ -40 องศา สลับสูง +85 องศา ทุก 30 นาทีแล้วพัก 6 ชั่วโมง ทดสอบความชื้น การสั่นสะเทือน การร่วงหล่น แต่ยังสามารถใช้งานได้อยู่ ทำให้ผ่านมาตรฐานการทดสอบ UN-ECE 100 และ UN Transport: T2

ถัดมารถไอ-โรดส์ รถไฟฟ้า 3 ล้อกึ่งมอเตอร์ไซค์กึ่งรถยนต์ต้นแบบของโตโยต้า ในสเปกระบุว่าทำความเร็วสูงสุดที่ 60 กม./ชม.วิ่งได้ 50 กม.ต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง ภายในรถบังคับด้วยพวงมาลัย มีเบาะนั่ง คันเร่ง เบรกที่เท้าเหมือนรถยนต์ ตื่นตาตื่นใจพอสมควรเมื่อได้ทดสอบ แต่ด้วยจุดหมุนล้อหลัง การเลี้ยวแต่ละครั้งอาจไม่ชินและทำความเร็วได้ไม่มาก

 

ทดสอบขับรถไฮบริด-พลังงานไฮโดรเจน

และก็มาถึงรถยนต์แห่งอนาคตของค่ายโตโยต้า นั่นคือ รถมิไร (MIRAI) โตโยต้ามองว่ารถไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน จะมาทดแทนรถใช้น้ำมันและเป็นที่ต้องการในอนาคต มากกว่ารถไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และรถไฟฟ้า มีข้อจำกัดต้องชาร์จไฟ และวิ่งระยะทางได้น้อย ขณะที่มนุษย์สามารถผลิตไฮโดรเจนได้ เช่น จากการบำบัดน้ำเสีย

ภายในรถถูกติดตั้งถังไฮโดรเจนแบบคาร์บอนไฟเบอร์เคลือบแก้วและพลาสติกหนา 30 มม. สามารถป้องกันการรั่วไหลและมีเซ็นเซอร์ปิดวาล์วทันทีเมื่อเกิดการปะทะ จำนวน 2 ถังไว้ที่ใต้เบาะแถวสอง ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำเช่นเดียวกับพรีอุสตัวล่าสุด

มีหลักการทำงานคือ เมื่อไฮโดรเจนถูกลำเลียงจากถังไปยังฟิวล์เซลล์สแตค (fuel cell stack) จะผสมกับออกซิเจนและทำปฏิกิริยาจนเกิดเป็นไฟฟ้า และส่งพลังงานไปยังมอเตอร์ด้านหน้ารถ

ช่างเทคนิคบอกว่า รถมิไรให้สมรรถนะได้ใกล้เคียงกับรถใช้น้ำมันบางเรื่อง แต่การออกตัวเร็วกว่ารถใช้น้ำมัน รถไม่จำเป็นต้องชาร์จไฟ เพียงเข้าสถานีรองรับการเติมเพียง 3 นาที ก็วิ่งได้ 650 กม.คำนวณอัตราค่าพลังงานต่อกิโลเมตรแล้วประมาณ 2 บาท/กม.

รถมิไรเริ่มวางจำหน่ายแล้วทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปรวม 1,050 คัน จำหน่ายคันละประมาณ 7.23 ล้านเยน หรือประมาณ 2.46 ล้านบาท แต่ด้วยเป็นรถในโครงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ รัฐบาลกลางจึงสนับสนุน 2 ล้านเยน หรือประมาณ 6.8 แสนบาท อีกทั้งหน่วยงานท้องถิ่นยังสนับสนุนอีก เป็นมาตรการจูงใจให้คนใช้รถเก่าหันมาใช้รถพลังงานใหม่ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

โตโยต้ายังจัดให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับรถมิไรในสนามแข่งย่อยของฟูจิ สปีดเวย์ ภายในรถตกแต่งล้ำสมัยสวยงาม เบาะนั่งแถวสองให้ความสะดวกสบาย แม้ข้างใต้จะมีถังไฮโดรเจนขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่ อรรถรสการขับขี่ไม่ต่างจากรถใช้เครื่องยนต์ทั่วไป แต่พอได้กดคันเร่งดูทรงพลังและทำได้ดีกว่ารถใช้น้ำมันจริงๆ

ฝ่ายเทคนิคบอกว่า ใน 4-5 ปีโตโยต้าจะขยายรุ่นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนให้มีมากกว่านี้ ขณะเดียวกันจะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคธุรกิจด้านพลังงาน จะทำสถานีเติม และสนับสนุนการซื้อรถดังกล่าว แต่เชื่อว่าตลาดรถฟิวล์เซลล์เกิดแน่ในอนาคต เพราะหลายค่ายรถยนต์ก็เริ่มให้ความสนใจและผลิตรถยนต์แบบนี้แล้ว จะทำให้ราคาลดลง ในคุณภาพเท่าเดิม

 

IMG_1273

IMG_1282

IMG_1293

โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าซึซึมิ
โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าซึซึมิ

environment_04_032

environment_04_039

 

ปิดท้ายทริปที่โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าซึซึมิ (Tsutsumi Plant) ในจังหวัดไอจิ โรงงานแห่งนี้ประกอบหลักๆ คือ รถยนต์พรีอุส เจน 4 และคัมรี ซึ่งสามารถประกอบรถเสร็จทุกๆ 90 วินาที ประกอบรถได้ 601 คัน/วัน โตโยต้าพาเดินชมรอบโรงประกอบภายในแห่งหนึ่ง พนักงานกำลังเร่งประกอบรถพรีอุสอย่างขยันขันแข็ง แข่งกับเวลาและสายพานที่กำลังหมุนไป ที่นี่ยังเต็มไปด้วยนวัตกรรมด้านอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ เช่น ปืนยิงนอต ที่คำนวณไว้แล้วว่านอตในสายผลิตนั้นมีกี่ตัว ยิงครบไหมต่อคัน คำนวณลมและแรงที่ต้องยิงให้พอดีกับนอต อย่างหากพนักงานพลาดลืมยิงนอต เครื่องจะร้องและแสดงในจอมอนิเตอร์หลักของสายการประกอบนั้น เพื่อเตือนให้กลับไปยิงให้ครบ อีกทั้งเมื่อประกอบเสร็จจะมีพนักงานที่คอยตรวจสอบหาข้อบกพร่องของรถ เพื่อแก้ไขก่อนออกโรงงานทุกคัน

 

ทิศทางโตโยต้ากับนโยบายรัฐบาลสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับกรณีรัฐบาลไทยประกาศสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า สั่งให้ศึกษาเพื่อวางกรอบการผลิต การมีมาตรการทางภาษีมาหนุน

นายฮิโรยูกิ ฟุคุอิ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค มองว่า รถยนต์ไฟฟ้าล้วนอย่าง EV มีข้อจำกัดเรื่องแบตเตอรี่ไม่มีที่ชาร์จ จะเสียบเต้าตามบ้านก็ยังทำไม่ได้ในปัจจุบัน แต่หากอนาคตทำได้ก็คงจะง่ายขึ้น แต่ก่อนจะเปลี่ยนเทคโนโลยีไปเป็น EV และฟิวล์เซลล์ เทคโนโลยีไฮบริดก็เป็นสิ่งน่าสนใจ เพราะประหยัดน้ำมันถึงครึ่งหนึ่งของรถยนต์ใช้น้ำมัน และยังรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างที่ญี่ปุ่นรถยนต์ไฮบริดราคาจะไม่แตกต่างจากรถยนต์ใช้น้ำมัน เพราะรัฐมีมาตรการทางภาษีมาช่วยอยู่

นายฮิโรยูกิกล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีมาตรการมาช่วยรถยนต์ไฮบริด แต่คนไทยก็ให้ความสนใจจนประเทศไทยเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฮบริดของอาเซียน โดยเฉพาะรถคัมรีไฮบริดที่ขายไปได้แล้ว 55,000 คัน ฉะนั้น โตโยต้ายังเน้นเทคโนโลยีไฮบริดเป็นหลักก่อน มั่นใจว่ารถไฮบริดมีข้อได้เปรียบต่างๆ เพราะเรามีประสบการณ์มากว่า 20 ปี ส่วนโตโยต้าจะเสนอแผนลงทุนรถยนต์ EV หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าอะไรเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยดูภาพรวมว่าการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในประเทศไทยมีการประหยัดมากที่สุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดจะทำอย่างไร ยิ่งโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายพลังงานของประเทศเป็นอย่างไรก็ต้องดูประกอบ

 

ฮิโรยูกิ ฟุคุอิ
ฮิโรยูกิ ฟุคุอิ
สื่อมวลชนจากทั่วโลก
สื่อมวลชนจากทั่วโลก
environment_04_057
สื่อมวลชนจากประเทศไทย

environment_02_002

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image