รู้ไว้ใช่ว่า! 7 ข้อ เทคนิคขับรถขึ้นลงเขา

ฤดูแห่งการขับรถท่องเที่ยวของใครหลายคนคงใกล้มาถึงแล้ว ยานยนต์ “มติชน” ขอแนะนำเทคนิค

การขับรถขึ้นลงเขาอย่างปลอดภัยแบบง่ายๆ ดังนี้

1.ขาขึ้นควรใช้เกียร์ต่ำ

ทางขึ้นเขาจะมีความชันมาก รถจึงต้องการแรงมากกว่าการขับรถบนถนนปกติทั่วไป และเกียร์ที่สามารถใช้ในการขับรถขึ้นทางชันได้ ก็มีเพียงแค่เกียร์ 1 และ 2 เท่านั้น เพราะมีแรงมากกว่าเกียร์อื่น และหากรู้สึกว่ารถเริ่มไม่มีแรง ก็ให้ลดเกียร์ต่ำลงมาอีก เช่น ขับมาเกียร์ 2 แล้วรถเริ่มอืดๆ ให้ลดเกียร์มาเป็นเกียร์ 1 แทน จะทำให้รถมีแรงมากขึ้น ส่วนรถเกียร์ออโต้ ให้เปลี่ยนเกียร์ไปตำแหน่ง L

Advertisement

2.ขาลงให้ใช้เกียร์ต่ำเช่นกัน

สำหรับการขับรถขาลงเขา ก็ควรใช้เกียร์ต่ำเหมือนกับขาขึ้นเขา แต่ขาลงรถไม่ต้องการแรงมากเท่าไหร่ แค่ต้องการแรงฉุดเพื่อให้รถวิ่งช้าลง การใช้เกียร์ต่ำวิ่งลงทางชันนั้น จะทำให้เครื่องยนต์มีแรงฉุดมาก เคลื่อนที่ได้ไม่เร็ว ทำให้สามารถเบรกและเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งทางลงเขาควรอยู่ที่เกียร์ 1 หรือ 2 เท่านั้น และห้ามดับรถหรือใช้เกียร์ว่างลงเขาเด็ดขาด

3.ระวังทางโค้ง

ปกติแล้วทางขึ้นเขาจะตัดถนนเป็นทางโค้งคดเคี้ยวไปมา ยิ่งภูเขาสูงมากเท่าไหร่ ถนนก็ยิ่งคดเคี้ยว เพราะทางโค้งใช้สำหรับลดความลาดชันของพื้นที่ให้รถสามารถขับขึ้นไปได้ ทางโค้งบนเขานั้น มักจะมีต้นไม้บังถนนอีกฝั่ง เวลาเข้าโค้งจึงควรขับชิดซ้ายเอาไว้ เผื่อมีรถอีกฝั่งแซงมาในทางโค้งจะได้หลบหลีกได้ทัน

4.ห้ามแซง

เนื่องจากถนนบนเขานั้นมีความแคบและคดเคี้ยวมาก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ชัดเจน เพราะถูกทางโค้งหรือต้นไม้บดบัง จึงไม่ควรขับแซงในเขตห้ามแซง หรือไม่ควรขับแซงในที่ที่ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ เนื่องจากอุบัติเหตุบนเขาส่วนใหญ่ก็มาจากการแซงทางโค้ง หรือแซงโดยที่มองรถอีกฝั่งไม่เห็น

5.คำนวณระยะเบรกในทางลง

สำหรับทางลงเขาจะมีความชันมาก รถจะต้องการระยะเบรกเพิ่มขึ้นยาวกว่าปกติ เนื่องจากความลาดชันของพื้นที่และน้ำหนักของตัวรถจะมีผลให้รถเบรกได้ช้าลง ดังนั้น เวลาคุณเบรกขณะอยู่บนทางลงเขา ควรคำนวณระยะเบรกให้เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้สามารถเบรกได้อย่างเหมาะสม และไม่ไปชนรถคันข้างหน้า

6.เร่งเครื่องอย่างสม่ำเสมอ

การเร่งเครื่องขึ้นเขาเราต้องเร่งเครื่องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งกำลังให้รถมีกำลังขึ้นเขาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในทางชันยาวๆ ควรเร่งต่อเนื่องกันไป เพราะหากเร่งๆ หยุดๆ จะทำให้รถเสียกำลังและไหลลงมาได้ อันตรายมาก

7.แตะเบรกเป็นระยะ

ในทางลงเขา แรงฉุดจากเครื่องยนต์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องแตะเบรกช่วยด้วย เพื่อชะลอความเร็วของรถ แต่อย่าแตะเบรกแช่ยาว เพราะจะทำให้เบรกไหม้และเบรกไม่อยู่ อันตรายมาก ทางที่ดีควรแตะเบรกในจังหวะจำเป็นเท่านั้น และควรตรวจสอบเบรกรถยนต์ก่อนออกเดินทาง ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและพร้อมใช้งาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image