5จี žปฏิวัติโลก เทคโนโลยีที่จำเป็นต้องเกิด

หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนา ทำอย่างไรให้ 5จี เทคโนโลยีพลิกโลก เกิดขึ้นจริงในไทยŽ โดยเชิญ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวปาฐกถา ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

การจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยี 5จี เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยล้าหลัง เพราะที่ผ่านมา 3จี ไทยล้าหลัง 7 ปี 4จี ล้าหลังไป 4 ปี ดังนั้นเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก กสทช.จะทำให้เกิดเร็วที่สุด เพราะคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีนี้จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 นับจากวันนี้เหลือ 790 วัน อยากให้ทุกคนสนับสนุน กสทช.

สิ่งแรกที่สำคัญคือคลื่นความถี่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวน 420 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อมี 5จี จะต้องมีคลื่นความถี่มากขึ้นแน่นอน 2.คือโครงสร้างพื้นฐาน มีความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการส่งข้อมูล เช่น 4จี จะมี 1 กิกะบิตเพอร์เซค 5จี มี 15 กิกะบิตเพอร์เซค ใช้เวลาโหลดภาพยนตร์ไม่กี่วินาที ขณะที่ 4จี ต้องใช้เวลา 3 นาที ความสะดวกสบายของคนไทยครั้งนี้จึงหวังว่าผู้ดำเนินการทั้ง 3 ค่าย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วยคลื่นความถี่ด้วย เพื่อสร้างถนนที่มีช่องทางจราจรเพิ่มขึ้น ไม่ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด และ 3.การเชื่อมต่อต่างๆ ถึงกัน เมื่อมี 5จี จะมีการติดต่อระหว่างกันทั้งคนกับสิ่งของ คนกับคน และสิ่งของกับสิ่งของ จากเดิมใช้แค่โทรศัพท์
ขอย้ำว่าสิ่งที่พูดจำเป็น มีความสำคัญ ถ้าไม่มี 3 เรื่องดังกล่าว 5จี ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น โดยเป็นเรื่องที่ กสทช. ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐต่างๆ ร่วมกันรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ในปี 2563 ถ้าไทยไม่สามารถดำเนินการ 5จี ได้สำเร็จ ผลที่เกิดขึ้น คือ 1.กระทบภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ภาพรวมประเทศจะสูญเสียมูลค่าเศรษฐกิจสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท ในปี 2573 คิดเป็น 20% ของจีดีพีประเทศ หรือ 77% ของงบประมาณประเทศ เฉพาะภาคอุตสาหกรรมจะเสียหาย 7 แสนล้านบาท-1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-30% จะกระทบจีดีพีภาคอุตสาหกรรม

Advertisement

2.กระทบกับสมาร์ท ซิตี้ หรือเมืองอัฉริยะ เพราะ 5จี จะเข้ามาช่วยให้การใช้ชีวิตของประชาชนสะดวกขึ้น ทั้งการเรียน ทำงาน ท่องเที่ยว และกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
3.กระทบเรื่องสมาร์ท ฮอสพิทอล หรือโรงพยาบาลอัจฉริยะ เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในอีก 25 ปีไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 20 ล้านคน ซึ่ง 5จี จะเข้ามาช่วยในการรักษาพยาบาลมีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก จะมีการผ่าตัดที่บ้าน ช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐคิดเป็น 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในต่างประเทศในขณะนี้มีการทดสอบในเรื่องของความเร็ว และความเสถียรต่างๆ ในครั้งสุดท้ายที่ทำการทดสอบได้ทำที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีความเสถียรในการใช้งานแล้ว ทุกฝ่ายก็คิดตรงกันว่าควรเปิดใช้งานในปี 2563 เพราะฉะนั้นจึงอยากบอกว่า กสทช. เองก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมเช่นเดียวกัน

หากมองระยะเวลา 2 ปี อาจจะคิดว่ายังอีกนาน แต่ถ้ามองเป็นวัน จะเห็นว่าเหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว คำนวณได้กว่า 700 วัน หากยังไม่เริ่มลงมือทำ อาจจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะในโลกของธุรกิจ สิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นเรื่องของเทคโนโลยี การล่าช้าก็อาจเกิดผลกระทบได้ และในยุคของไทยแลนด์ 4.0 ถ้ายังไม่สามารถเกิดเทคโนโลยี 5จี ได้ ประเทศไทยต้องช้ากว่าคนอื่นแน่นอน

Advertisement

ในส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1,800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 สิงหาคม ในอนาคตข้างหน้าคงต้องมีการทบทวนกันใหม่อีกครั้งในหลายเรื่อง ซึ่งคลื่นในย่านที่สูงก็มีการลงทุนมาก จึงอยากให้ย่านนี้มีการนำมาทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด อยากให้มีการประมูล หรือจะให้มีการทำอย่างไรต่อไป ต้องคิดทบทวนเพื่อที่จะให้โอเปอเรเตอร์เข้ามาร่วมลงทุนมากๆ เพราะการลงทุนในย่านที่มีความถี่สูง จะต้องติดตั้งเสาติดกัน และอาจจะมีต้นทุนสูง จึงอยากให้ประชาชนได้นำไปใช้งานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้มาก

ในปี 2562 จะมีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะในขณะนี้ได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่ให้ทีวีดิจิทัลย้ายไปใช้คลื่นความถี่ในย่านอื่น ทาง กสทช. จะมีการชดเชยเยียวยาให้กับทีวีดิจิทัลกันอย่างไร โดยเฉพาะอุปกรณ์รับ-ส่งของประชาชน ซึ่งอยู่ในช่วงประเมินราคาว่า จะต้องใช้งบประมาณเท่าไร และจะมีการเยียวยาในส่วนของอุปกรณ์รับ-ส่ง ของประชาชนด้วย เนื่องจากคลื่นเปลี่ยน ส่วนการเยียวยาทีวีดิจิทัลจะชดเชยในส่วนของตัวจูนสัญญาณใหม่ เนื่องจากได้ปรับเปลี่ยนคลื่น 700 กิกะเฮิรตซ์ไปใช้ในส่วนของโทรคมนาคม

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช.

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร

ประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงเทคโนโลยี 5จี ไม่พ้น ถึงแม้ปัจจุบันเทคโนโลยี 5จี ยังไม่นิ่ง แม้กระทั่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ก็ตระหนักถึงความสำคัญของ 5จี หน้าที่ของ กสทช.คือ ต้องระดมความคิดเห็นกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 5จี โดยสำรวจว่าคลื่นใดมีความเหมาะสม หรือคลื่นใดแพงเกินไปหรือไม่ ขณะนี้ได้มีการระดมความคิดเห็นไปแล้ว

ถือว่าเป็นโอกาสอันดี ที่มีการจัดสัมมนาในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีการใช้งาน 5จี ได้อย่างเหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศไทย โดยสิ่งที่จะตามมาในอนาคตจะกระทบต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ และอาจจะนำไปสู่การปฏิวัติสังคม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากอย่างแน่นอน

 

 

 

ฐากูร บุนปาน  กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

ฐากูร บุนปาน

โลกปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทำให้การสื่อสารเร็วขึ้นมากกว่าที่เราคิด โดยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้พฤติกรรมของคนในสังคม ในฐานะผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในช่วงที่ผ่านมาเทคโนโลยี 3จี และ 4จี เข้ามาปฏิวัติผู้บริโภค และนับจากนี้เทคโนโลยี 5จี จะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ นำไปสู่การปฏิวัติสังคม

โจทย์วันนี้ไม่ได้อยู่ยินดีรับหรือไม่รับเทคโนโลยี แต่อยู่ที่การตั้งรับหรือการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาหรือปรับปรุงตัวเราให้เป็นประโยชน์มากที่สุดได้อย่างไร ในฐานะสื่อมวลชน นอกจากนำเสนอผ่านเครื่องมือสื่อสารทั้งทางหนังสือพิมพ์และทางออนไลน์แล้ว ช่องทางหนึ่งในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารคือการเชิญผู้รู้หรือวิทยากรมาสื่อสารกับผู้สนใจโดยตรง โดยปีที่แล้วกองบรรณาธิการมติชน จัดสัมมนาความเปลี่ยนแปลงของเทคโลยต่างๆ ในสังคม ตั้งแต่เรื่องสตาร์ตอัพ เทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) 5จี ซึ่งการจัดสัมมนา 5จี ซ้ำหนนี้ไม่ได้เพื่อจะมาบอกว่า 5จี สำคัญอย่างไร โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เป็นการหาคำตอบร่วมกันว่าจะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับสังคมไทยให้ดีที่สุดได้อย่างไร และกราบขอบคุณหัวเว่ย อีริคสัน ดีแทค เอไอเอส ทรู รวมถึงวิทยากรทุกท่านที่ถ่ายทอดและทำให้งานนี้เกิดขึ้นมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image