สำรวจความคืบหน้า 10 เขตศก.พิเศษ

ในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เน้นมาตรการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

มีการจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเร่งรัดให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการลงทุน การค้าและบริการ รวมถึงการท่องเที่ยว ตามความเหมาะสมในพื้นที่เป้าหมาย 10 เขตเศรษฐกิจ พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการย่อยดูแลในแต่ละภารกิจ

แต่หลายเดือนที่ผ่าน คนมักได้รับรู้ถึงความคืบหน้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นส่วนใหญ่

มีคำถามตามมาว่า เขตเศรษฐกิจตามมติ กนพ. มีความคืบหน้าอย่างไร

Advertisement

กระทั่งล่าสุดผู้ประกอบการใน จ.สงขลา หนึ่งในจังหวัดเป้าหมายพัฒนาเขตเศรษฐกิจ เข้าร้องผู้ว่าราชการจังหวัดขอความชัดเจน และเสนอว่าถ้ารัฐไม่ทำอะไรจะขอเช่าพื้นที่ต่อเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่อไป !!!

ก่อนหน้านี้ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้กล่าวหลังประชุมคณะอนุกรรมการว่า คณะอนุกรรมการได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ภาครัฐดำเนินการร่วมกับหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เอกชนทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีบทบาทในการจัดทำแผนงาน และเชื่อมโยงใกล้ชิดกับศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษของกระทรวงมหาดไทย เป็นคณะทำงานดูแลในพื้นที่นั้นๆ

Advertisement

ในการประชุมครั้งนั้น สั่งการให้ภาคเอกชนเร่งทำรายชื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายจะดำเนินการใน 10 เขตเศรษฐกิจชายแดน และให้ประสานผู้ต้องการลงทุนตลอดจนพันธมิตรในการลงทุนและจัดทำรายชื่อมาเสนอคณะอนุกรรมการอีกครั้ง เพื่อให้จัดทำมาตรการสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้กับผู้ลงทุน เป็นแผนปฏิบัติการพ่วงกับแผนชักจูงการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

เพื่อนำข้อเสนอและแผนงานภาคเอกชนเสนอเข้าสู่ กนพ.พิจารณาอีกครั้ง กำหนดว่าจะเรียกประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในการประชุมครั้งนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้แสดงข้อมูลการลงทุนและการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ มีผู้ขอรับการลงทุน 51 โครงการ วงเงินรวม 8,955 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติแล้ว 45 โครงการ เงินลงทุนรวม 8,338 ล้านบาท ประกอบด้วย

จ.ตาก 28 โครงการ เงินลงทุนรวม 3,817.30 ล้านบาท เงินลงทุนรวม 3,659 ล้านบาท อาทิ ธุรกิจชุดชั้นใน-ยกทรง-เสื้อโค้ต เสื้อผ้าสำเร็จรูปกางเกงยีนส์ จ.สระแก้ว 4 โครงการ เงินลงทุน 1,351ล้านบาท ผ่านการอนุมัติแล้ว อาทิ บรรจุภัณฑ์พลาสติก จ.สงขลา 6 โครงการ เงินลงทุน 1,749 ล้านบาท อาทิ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ถุงมือยางธรรมชาติ จ.ตราด จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุนรวม 182 ล้านบาท ธุรกิจ Ridley Shrimp Feed Premix With Novacq TM

จ.มุกดาหาร 4 โครงการ เงินลงทุนรวม 831 ล้านบาท อาทิ เครื่องมือและอุปกรณ์ก่อสร้าง ถุงพลาสติกและแผ่นพลาสติกสำเร็จรูป จ.หนองคาย 1 โครงการ เงินลงทุนรวม 301 ล้านบาท อาทิ ธุรกิจคอนเทนเนอร์

จ.กาญจนบุรี 2 โครงการ เงินลงทุนรวม 639 ล้านบาท อาทิ อาหารสัตว์บก

และ จ.เชียงราย จำนวน 5 โครงการ เงินลงทุนรวม 117.50 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติแล้ว 4 โครงการ เงินลงทุนรวม 107.50 ล้านบาท อาทิ กิจการอบพืชและไซโล และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์แม่สาย ส่วนจังหวัดที่ยังไม่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ จ.นครพนมและนราธิวาส

ล่าสุด “สมจิณณ์ พิลึก” รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ออกมาให้ข้อมูลความคืบหน้าว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด ยังคงเดินหน้าต่อไป ประกอบด้วย สระแก้ว ตาก สงขลา มุกดาหาร ตราด หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ว่าแต่ละเขตจะมีการกำหนดกิจการและอุตสาหกรรมเป้าหมายตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

“ขณะนี้ยังมีการดำเนินการอยู่โดยการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษของแต่ละจังหวัด และจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่งตั้งอยู่ตามแนวชายแดน เน้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจรองรับกำลังซื้อในบริเวณโดยรอบและกำลังซื้อขายแดน เช่น อุตสาหกรรมเกษตร หรือสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ อาจได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น จะทำให้ความต้องการลงทุนหรือขยายธุรกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมีทิศทางดีขึ้นในอนาคต ปัจจุบันเริ่มเห็นการลงทุนเกิดขึ้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และเป็นธุรกิจสมัยใหม่ จึงจะมีการโฟกัสไปที่พื้นที่โครงการเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มากกว่า ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่แล้ว”

รองผู้ว่าการ กนอ.ยังกล่าวอีกว่า กนอ.ได้รับนโยบายให้เข้าไปพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามมติ คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) โดยการเช่าพื้นที่ดินจากกรมธนารักษ์ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สระแก้ว อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.สงขลา

สระแก้ว มีความคืบหน้ามากที่สุด พื้นที่นิคมราว 660 ไร่ อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 นี้ และจะเปิดเป็นทางการในช่วงต้นปี 2562 บริเวณด้านหน้านิคมราว 3 ไร่ พัฒนาเป็นตลาดประชารัฐสำหรับจำหน่ายสินค้าโอท็อปและสินค้าชุมชน ปัจจุบันมีผู้ทำสัญญาเช่าแล้ว 17 ราย

ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้ามาทำสัญญาเช่าในพื้นที่นิคมแล้ว 2 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาด พื้นที่ 2 ไร่เศษ และผู้ประกอบกิจการเครื่องนุ่งห่ม และผู้นำเข้า ส่งออกเสื้อผ้าจากต่างประเทศ พื้นที่เกือบ 7 ไร่ ทั้งสองรายได้เริ่มการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในช่วงต้นปีหน้า

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ขณะนี้การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563

ส่วนแม่สอด จ.ตาก อยู่ระหว่างการจัดทำอีไอเอและการออกแบบก่อสร้าง คาดว่าจะผ่านและเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564

ทั้งสองโครงการอาจจะมีการของบกลางปีสำหรับการก่อสร้าง เพราะไม่ทันกับงบประมาณ ปี 2562 หรืออาจจะใช้งบประมาณของ กนอ.เองในการลงทุนก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีแผนจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ประมาณ 1,730 ไร่ อยู่ระหว่างการจัดซื้อที่ดิน

พร้อมระบุทิ้งท้ายไว้อีกว่า ทั้ง 3 จังหวัดมีนักลงทุนสนใจเข้ามาต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือซีแอลเอ็มวี จีนและญี่ปุ่น คาดหวังจะมีลูกค้าเข้ามาจากการรัฐบาลได้ไปโรดโชว์อยู่ในขณะนี้

แต่ปัจจุบันนิคมยังไม่แล้วเสร็จ จะเร่งก่อสร้างตามกำหนดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะยังไม่ตัดสินใจ เพราะบางรายต้องการเห็นพื้นที่จริงก่อน

กนอ.จะมีการทำการตลาดเพื่อชูจุดเด่นและศักยภาพของนิคมเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจและดึงดูดผู้ประกอบการ รวมถึงนักลงทุนให้เข้ามาเช่าพื้นที่ และลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

เชื่อว่าหากมีการเรียกประชุม กนพ.อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนท้องถิ่นได้

ถือเป็นความคืบหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกขั้น!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image