สำรวจเสาคํ้าเศรษฐกิจไทย กูรูฟันธง..ครึ่งหลังยังแกร่ง!!

เศรษฐกิจไทยปี 2561 ผ่านไปแล้วครึ่งปี ชัดเจนได้แล้วว่า เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา และขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2560 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ผลจากเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภค การค้า และการลงทุน ทั่วโลกปรับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ไทยจึงได้รับอานิสงส์โดยตรง กับการส่งออกไทยขยายตัวได้สูงจนกลับมาทำสถิติสูงสุดอีกปี หันไปด้านการท่องเที่ยวก็ขยายตัวดี เริ่มมีสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศ ขยายตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นสูงทุกภาคของประเทศ

เป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า “เสาค้ำเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น” สะท้อนผ่านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. หรือสภาพัฒน์) ระบุว่า จีดีพี ไตรมาส 1/2561 ขยายตัวสูงถึง 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาสที่ผ่านมา หรือขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี

เกิดขึ้นบนปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ การบริโภคภาคครัวเรือนที่เร่งตัวและอุปสงค์จากต่างประเทศ ประกอบกับการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ฟื้นตัว พบว่า การบริโภคเอกชนขยายตัว 3.6% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 1.9% การส่งออกขยายตัว 6.0% เป็นสินค้าขยายตัว 4.7% การส่งออกบริการหรือการท่องเที่ยวขยายตัว 9.4% การลงทุนรวมขยายตัว 3.4% โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.0% การลงทุนเอกชนขยายตัว 3.1% การนำเข้าขยายตัว 9.0%

ตัวเลขที่ออกมาดีเกินคาด ทำให้สำนักวิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทยอยปรับประมาณการจีดีพีใหม่ให้ดีขึ้น จากที่ปลายปีก่อนหน้าได้คาดการณ์แล้วว่าจีดีพีปีนี้จะดีกว่าปีก่อน การคาดการณ์ใหม่จึงขยับการขยายตัวของจีดีพีจาก 3.3% สูงขึ้นถึง 4.3-4.5% จากปี 2560 ที่ขยายตัว 3.9% และปี 2559 ที่ขยายตัว 3.3%

Advertisement

ส่วนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2561 อย่างเป็นทางการ จะออกมาดีเกินคาดการณ์อีกไตรมาส รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจีดีพีโตได้อีกแค่ไหน ปัจจัยหนุนปัจจัยเสี่ยงใน 6 เดือนหลังปีนี้ จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามการรายงานตัวเลขของสภาพัฒน์ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้

˜ทิศทางเศรษฐกิจโตดีต่อเนื่อง

แต่หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2561 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานออกมา เสาค้ำเศรษฐกิจไทย ยังคงมีรากฐานที่มั่นคงจากการขยายตัว ทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในหลายหมวดสินค้าตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีต่อเนื่องและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกับการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในทุกหมวด ส่วนการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีแต่อัตราการขยายตัวชะลอลงบ้าง จากการเหลื่อมเดือนของวันหยุดอีสเตอร์เทศกาลรอมฎอนที่ปีนี้มาเร็วกว่าปีก่อน และการชะลอการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียก่อนเทศกาลฟุตบอลโลก เป็นต้น

โดยในวันที่ 31 กรกฎาคม ธปท. จะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน และเศรษฐกิจไตรมาส 2 ซึ่งจะทำให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น

ด้านกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาส 2/2561 พบว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมิถุนายน และไตรมาส 2/2561 ยังคงขยายตัว นำโดยภาคตะวันออก และกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ด้านภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรและภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อน ทั้งนี้ ภาคตะวันตกและภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว มีขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเช่นกัน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

˜สงครามค้าสั่นคลอนส่งออก

ฟากส่งออก ถือเป็นเสาค้ำเศรษฐกิจหลักของไทย เพราะคิดเป็นสัดส่วนมากสุดต่อการขยายตัวจีดีพี ยังแรงดีไม่มีตก จากการรายงานล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าการส่งออกเดือนมิถุนายน ขยายตัว 8.2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 มูลค่ากว่า 2.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ครึ่งปีแรก หรือ ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน การส่งออกขยายตัว 11.0% และมีมูลค่ารวม 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กระทรวงพาณิชย์เล็งปรับเป้าหมายการส่งออกทั้งปีนี้ เพิ่มเป็น 9.0% เพียงส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนในครึ่งปีหลังประคองให้ได้ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมตั้งเป้าไว้ 8.0%

ขณะที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายตัวเลขการทำงานต้องเห็นตัวเลข 10% โดยประเมินบนแผนงานของกระทรวงพาณิชย์เอง ตั้งแต่ขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกา รัสเซีย อเมริกาใต้ คงตัวเลขตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เพิ่มส่งเสริมการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และผลักดันภาคบริการสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น ร้านอาหารไทย มวยไทย การแพทย์ สปา ดูแลคนสูงวัย เป็นต้น แต่ก็มองปัจจัยเสี่ยงเรื่องฐานการส่งออกครึ่งหลังปีก่อนค่อนข้างสูง รวมถึงผลกระทบ 3-6 เดือนหลังสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากจีน และสงครามการค้าโลกลุกลามแค่ไหน ที่มีการประเมินว่าอาจส่งผลกระทบที่ยืดเยื้อ และกดดันการขยายตัวส่งออกครึ่งปีหลังให้เกิดการชะลอตัว

˜7ส.ค.ประชุมร่วมพณ.-เอกชน

ส่วนตัวเลขส่งออกใหม่ของกระทรวงพาณิชย์จะเป็นแค่ 9% หรือโอกาสขึ้นเป็น 10% ติดตามได้หลังการประชุมร่วมกับภาคเอกชนและฐานตัวเลขข้อมูลทูตพาณิชย์ทั่วโลก ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

ซึ่งเป็นประเด็นที่ ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด โดย “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท.มองว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐเริ่มขยายตัวมากขึ้น จากที่จำกัดเฉพาะสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ เหล็กและอะลูมิเนียม แผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น ผลกระทบต่อไทยไม่มากนักเพราะมีสัดส่วนการส่งออกน้อย ช่วงหลังสหรัฐได้เจาะลงประเทศ เช่น กลุ่มยุโรป และจีน รวมทั้งขยายหมวดสินค้า อย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือยานยนต์ ที่อาจส่งผลกระทบทั่วโลกต่อห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) กรณีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แม้จีนจะเป็นผู้ส่งออกไปสหรัฐ แต่สัดส่วนกว่า 50% ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น ต้องนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในเอเชียและอาเซียนเพื่อนำประกอบก่อนส่งออก ผลกระทบจึงจะส่งต่อมายังประเทศเหล่านี้ด้วย ในส่วนของไทยก็ต้องติดตามว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด

จับตาผลกระทบรายบริษัท

“แม้ว่าผลกระทบในภาพรวมอาจจะไม่มากนัก แต่อาจจะมีผลกระทบมากกับเฉพาะบางบริษัทที่เป็นซัพพลายเชนได้ จึงจะมีการติดตามและประเมินผลกระทบเป็นรายๆ ในอนาคตหากมีการขยายหมวดสินค้ามากขึ้นไทยอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อม ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นมา คือ การเบี่ยงเบนทางการค้า หรือที่มีศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า Trade Diversion โดยเมื่อผู้ส่งออกของจีนที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงจากการส่งออกไปสหรัฐ สินค้าแพงขึ้น ขายได้ยากขึ้น ปริมาณการส่งออกอาจจะลดลง แต่เมื่อผลิตแล้วส่งออกไม่ได้ก็ต้องหาตลาดใหม่ อาจจะเปลี่ยนนำมาขายในตลาดอาเซียน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการดัมพ์ราคาได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสินค้าจีนบางส่วนส่งออกไม่ได้ ก็จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสที่จะส่งออกไปสหรัฐได้มากขึ้นเช่นกัน”

นอกจากประเด็นที่ผู้ว่าการ ธปท. ระบุแล้ว อีกประเด็นที่ต้องพิจารณา กลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้ประโยชน์และอาจจะเสียประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า หรือที่มีความกังวลว่าจะกลายเป็นสงครามทางการค้า คือ กลุ่มที่จะได้ประโยชน์เป็นกลุ่มสินค้าเกษตร ขณะที่กลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มที่เป็นซัพพลายเชน ซึ่งผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่มนี้เป็นคนละกลุ่มกัน ผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจึงจะไม่สามารถชดเชยกันได้ รวมทั้งต้องติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนจริงโดยรวมของทั่วโลกหรือไม่ เพราะสงครามการค้าเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งการตัดสินใจลงทุนหากมีความไม่แน่นอนเอกชนก็ไม่มั่นใจ จากเดิมที่คาดหวังลงทุนเพื่อส่งออกก็อาจจะทำไม่ได้

เรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจีน

อีกเสาค้ำเศรษฐกิจ คือ รายได้ด้านการท่องเที่ยว พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยังนิยมเดินทางแบบกระจายตัวมากขึ้น ไปหลายประเทศมากขึ้น อาทิ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐ ออสเตรเลีย เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น อินเดีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ เป็นต้น รวมถึงไทย โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญต่อตลาดท่องเที่ยวไทย คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย

“พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ครึ่งปีแรก 2561 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามากว่า 19.48 ล้านคน ขยายตัว 12.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสร้างรายได้กว่า 1.015 ล้านล้านบาท ขยายตัว 15.88% ผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และยุโรป ที่ดีขึ้นและแนวโน้มการขยายตัวของการเดินทางและท่องเที่ยวโลก เป้าหมายทั้งปี คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 37-38 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 2.0 ล้านล้านบาท

ระบุต่อถึงแนวโน้มครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะช่วงปลายปี จะเป็นฤดูกาลการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) แต่ด้วยเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตจำนวนมาก ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีคนจีนเสียชีวิตมากที่สุด เป็นลำดับที่สอง รองจากเหตุการณ์เที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สูญหาย เหตุการณ์นี้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเกิดความไม่เชื่อมั่นและสร้างแรงกดดันต่อการท่องเที่ยวไทย เห็นได้มีการยกเลิกการจองห้องพักและการนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก ข้อมูลจากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) รายงานว่า แม้ว่าครึ่งปีแรกจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมขยายตัว 5-10% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตลาดจีนโตเป็นพิเศษถึง 20.39%

ส่งเสริมเที่ยวเมืองรอง

แต่สถานการณ์การท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลัง ยังน่าเป็นห่วงจากกรณีเหตุการณ์เรือล่ม พบว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมจำนวนนักท่องเที่ยวจีนติดลบ 18.57% มีการยกเลิกการจองหรือบางส่วนเปลี่ยนเป้าหมายการท่องเที่ยวไปในภูมิภาคอื่น อาจเป็นวิกฤตที่มาพร้อมโอกาสในจังหวะที่ไทยกำลังส่งเสริมนโยบายท่องเที่ยวเมืองรองอยู่ แต่ประเมินว่าผลกระทบจะยังต่อเนื่องในเดือนสิงหาคม-กันยายน เพราะขณะนี้ยอดการจองโรงแรมน้อย และสายการบินมีการยกเลิกเที่ยวบินบางเที่ยวบินด้วย

ทั้งนี้ ระยะยาวยังต้องติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงจากปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐ จึงเป็นโจทย์ที่ภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไขทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัยท่องเที่ยวในการเดินทางซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนให้กลับมา

เร่งรัฐเบิกจ่ายหนุนเอกชนตาม

อีกเสาค้ำเศรษฐกิจที่เอกชนคาดหวังมากขึ้น คือ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ จึงทำให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” นั่งเป็นประธานการประชุมติดตามการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 2 เดือนสุดท้ายปีงบประมาณ 2561 พร้อมสั่งการให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เร่งทำงานและแก้ไขเบิกจ่ายที่ยังล่าช้า โดย “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า จีดีพีไตรมาส 1/2561 ขยายตัว 4.8% แต่ศักยภาพสามารถขยายตัวได้ 5% หากงบเบิกจ่ายลงได้ตามแผน จะช่วยหนุนเพิ่มเติมจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ และได้กำชับกรมบัญชีกลาง เร่งกระตุ้นเบิกจ่ายงบลงทุนมากขึ้น จากข้อมูลของสภาพัฒน์ การลงทุนของภาครัฐปี 2560 ติดลบ 1.2% ขณะนี้ไตรมาส 1/2561 กลับเป็นบวก 4.0% แล้ว คาดจะขยายตัวต่อเนื่องและทั้งปีขยายตัว 8.6%

เอกชนเชื่อมั่นขยับลงทุน

มาดูฟากการลงทุนเอกชน พบว่า เอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความมั่นใจที่จะลงทุนมากขึ้นจากตัวเลขจีดีพีที่ออกมา รวมทั้งรัฐบาลมีเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ มีการผลักดันกฎหมายต่างๆ ให้ออกมา ทั้งกฎหมายส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) และที่สำคัญ คือ กฎหมายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนี้ การเดินสายโรดโชว์ของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น สร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของไทย โดยตัวเลขการลงทุนเอกชนจากที่เคยติดลบในช่วงไตรมาส 1/2560 ติดลบ 1.1% เริ่มขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 4 ที่ 3.0%, 2.5%, และ 2.4% ตามลำดับ และพบว่า ไตรมาส 1/2561 ขยายตัวถึง 3.6%

หากพิจารณาด้านสินเชื่อ พบว่า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีสินเชื่อคงค้าง 11.31 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.95% สูงสุดในรอบครึ่งแรกปีนี้หรือเพิ่มขึ้น 5.02% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หากเทียบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัว2.23% ส่วนใหญ่รับอานิสงส์จากภาคการส่งออก ทำให้ความต้องการสินเชื่อในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวดี แต่ยังมีแรงกดดันต่อสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) บางกลุ่มโดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ด้านสินเชื่อรายย่อยปรับตัวดีขึ้น

บริโภคฟื้นตัวแต่ยังเปราะบาง

อีกเสาที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจ คือ การบริโภคเอกชน ขณะนี้ภาพรวมขยายตัวต่อเนื่อง กำลังซื้อมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยรายได้รวมลูกจ้างประจำหรือมนุษย์เงินเดือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ยังติดลบ แต่พบว่าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลับมาขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากด้านผลผลิตที่ออกมาดีและราคาเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว แต่ยางพารา ยังไม่ดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรและผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับผู้มีรายได้น้อย และมาตรการพักหนี้เกษตรกร เป็นต้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะต่อไปได้ ซึ่งปีนี้การบริโภคเอกชนน่าจะมีการขยายตัวได้ในระดับสูงที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เชื่อปชช.รู้สึกเศรษฐกิจดีขึ้น

จากมุมมองการกระจายตัวเศรษฐกิจที่มีหลายคนมองว่ายังไม่กระจายตัว เนื่องจากเป็นปัญหาด้านโครงสร้าง แต่เริ่มเห็นการกระจายตัวที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับ “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า “ประชาชนจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ได้ปรับอัตราการขยายตัวจีดีพีปีนี้เพิ่มเป็น 4.7% โดยไตรมาสแรกขยายตัว 4.8% ขยายตัวเพิ่ม 2.0% เทียบกับไตรมาส 4/2560 ประเมินว่าหากไตรมาส 2 ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาสแรกได้ครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 1.0% ประเมินว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวราว 4.7-4.8% และโมเมนตัมการขยายตัวจะยังส่งต่อไปยังช่วงที่เหลือของปี

“ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เราน่าดีใจหรือไม่นั้น หากมองย้อนไปในอดีตยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีก่อน ที่จีดีพีขยายตัวได้ 5.3% แต่ไม่ควรจะไปเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัวมากเกินไป ควรให้มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มตามศักยภาพ ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาต้องมีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและต้องลงทุนพัฒนาศักยภาพประเทศในระยะยาวด้วย”

ด้านกระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการจีดีพีเพิ่มเป็น 4.5% หรือกรอบคาดการณ์ที่ 4.2-4.8% จากเดิม 4.2% “กุลยา ตันติเตมิท” ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวสูงถึง 4.8% คาดว่าไตรมาส 2 ยังขยายตัวได้สูง และทำให้ครึ่งปีแรกจีดีพีไม่ต่ำกว่า 4.5% ทั้งปีเศรษฐกิจไทยโตเต็มเพดาน 4.8%ได้จากปัจจัยหนุนนักท่องเที่ยวต้องถึง 40 ล้านคน ค่าเงินบาทต้องอ่อน การเบิกจ่ายรัฐและการลงทุนต้องทำเต็มที่ ซึ่งมีโอกาสจะเติบโตถึง 5% แต่ยอมรับว่าอาจมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เข้ามากระทบ

จากทั้งข้อมูลและความเห็นต่างๆ ต่อเสาเศรษฐกิจ พบว่า มีความมั่นคงแข็งแรง มั่นใจได้ว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่าปีที่ผ่านมา 4.0% แน่นอน ส่วนแรงหนุนส่งให้ 5% ในครึ่งปีหลังตามคำสั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจหรือไม่ ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด !!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image