‘ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล’ ปาฐกถา จากศาสตร์พระราชาสู่ SDGs พัฒนาไทยยั่งยืน

หมายเหตุ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง จากศาสตร์พระราชาสู่ SDGs พัฒนาไทยยั่งยืน ในงานสัมมนา “SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้านถึงกระดานหุ้นโลก” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบของการพัฒนาประเทศไทย แต่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ทั้งโลกตกลงร่วมกันว่าจะทำให้สำเร็จได้ภายในปี 2573 เรื่องนี้สังคมรู้จักมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่พวกเรายังไม่ได้รู้จักเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีการสำรวจทั่วโลก พบว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีคนรู้จัก SDGs เพียง 27% เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ต้องเริ่มมองย้อนว่าทำไมต้องมี SDGs ที่เริ่มจากประเทศสมาชิกของสหประชาชาติทั้งหมดตั้ง SDGs ขึ้นมา ต่อจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) เพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปในปี 2558 รวมถึงขจัดโรคเอชไอวีให้หมดไปด้วย ซึ่งทำได้ในระดับหนึ่งไม่สามารถขจัดได้ทั้งหมด

จาก MDGs จึงมาสู่ SDGs ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเจริญที่กระจุกตัว การกดขี่กีดกัน มือใครยาวสาวได้สาวเอายังคงเป็นปัญหาหลักทั่วทุกมุมโลก ขอยกตัวอย่างใกล้ตัวเพื่อให้เห็นภาพ ปัจจุบันคนไทยในวัยแรงงานมีประมาณ 50 ล้านคน จบปริญญาตรีเพียง 10% ของคนทั้งประเทศ หรือประมาณ 4.8 ล้านคน เงินฝากบัญชีธนาคารรวมกันประมาณ 80 ล้านบัญชี มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท คิดเป็น 3% และมีบัญชีเงินฝากที่ไม่ถึง 5 หมื่นบาท คิดเป็น 88% จากข้อมูลแพทยสภาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำนวนแพทย์ในกรุงเทพฯรวม 25,142 คน และจังหวัดที่เหลือ มีแพทย์รวม 25,152 คน หรือมากกว่าแพทย์ในกรุงเทพฯแค่ 10 คน

ความเหลื่อมล้ำทำให้คนในระดับฐานรากที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยากที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ ทำให้นโยบายประชานิยมที่ไม่ได้รับผิดชอบต่อสังคมได้รับความนิยม ทั้งๆ ที่ใช้งบประมาณสูงมาก ไม่ยั่งยืนในระยะยาวและสร้างภาระให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป ประชานิยมเลิกสักทีได้หรือไม่

Advertisement

โลกทั้งโลกจึงตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกคนในทุกมิติอย่างยั่งยืน ถ้าทำสำเร็จจะแก้ไขปัญหาของโลกได้ดีขึ้นอย่างมาก หากถามว่าประเทศไทยอยู่ส่วนไหน ประเทศไทยมีแนวทางที่จะตอบโจทย์ SDGs อยู่แล้ว เราไม่ต้องไปเรียนรู้จากใคร เพราะ SDGs ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เราอยู่กับมันตลอดแต่อาจจะไม่รู้สึกตัว ในงานสัมมนาวันนี้จึงมากระตุกต่อมคิดให้คิดตาม เราทำกันมานานแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทำมาตลอด 70 ปี ตั้งแต่ทรงครองราชย์ โครงการพระราชดำริตลอดรัชสมัยครอบคลุมทุกมิติของ SDGs เป็นต้นว่า สุขภาพ ความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษา น้ำ พลังงานทดแทน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความสงบสุข ความมั่นคง ความเท่าเทียม ความรับผิดชอบต่อสังคมไปจนถึงเรื่องประมงและการจัดการพื้นที่ชายทะเล รัชกาลที่ 10 ก็เช่นเดียวกัน ทรงงานมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รวมกว่า 100 โครงการ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงงานในด้านการแพทย์ การศึกษา เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่เข้าถึงรากฐานของชีวิต

หลัก SDGs ไม่แตกต่างจากแนวปฏิบัติศาสตร์พระราชา อันประกอบด้วย การช่วยให้เขาพึ่งพิงตัวเองได้ ต้องสอดคล้องกับภูมิสังคมและระเบิดจากข้างในคือ ทุกฝ่ายพร้อมร่วมกันพัฒนา เหมือนกันมากๆ แต่ผมเชื่อว่าศาสตร์พระราชาลึกกว่า SDGs ประกอบกับโครงการพระราชดำริต่างๆ เกิดขึ้นก่อนและอาจเป็นตัวจุดกระแสให้เกิด SDGs ด้วยซ้ำ แนวทางสำคัญของศาสตร์พระราชาคือเศรษฐกิจพอเพียง พอพูดเรื่องนี้อาจจะมีคนรู้สึกเฝือๆ เพราะใช้พร่ำเพรื่อโดยที่ไม่เข้าใจมันอย่างจริงๆ หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาชีวิตเกษตรกรชนบท แก้ไขแค่คนยากคนจนเท่านั้น ผมมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มี แคร์แอนด์แชร์ เป็นพื้นฐานสำคัญ หรือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

ศาสตร์แห่งพระราชาและศาสตร์แห่งการแก้ไขปัญหา การพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน การนำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติจริง จึงนำไปสู่เป้าหมายการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทั้งโลกกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ในครั้งนี้ประเทศไทยน่าจะได้เป็นผู้นำ SDGs และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ทำและเรียนรู้ กลับมาปรับปรุงให้เป็น Be coming โดยเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image