จับตาฤดูกาลโยกย้ายใหม่ นำร่อง คลังข้ามห้วยไปพลังงาน หวังตอบโจทย์บริหารก่อนการเลือกตั้ง

เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากกับหนึ่งในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม

ที่มีมติโยก นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ไปนั่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถือเป็นปลัดคนที่ 8 นับจากการก่อตั้งกระทรวงพลังงานมา ต่อจาก นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน

เรียกว่าเป็นการแต่งตั้งแบบฟ้าแลบ เพราะข่าวระบุว่าว่าที่ปลัดกระทรวงพลังงานทราบว่าตัวเองต้องไปนั่งเป็นปลัดแบบแน่นอนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมนี่เอง

ขณะเดียวกัน ครม.ยังมีมติแต่งตั้ง นายสุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

Advertisement

เขย่าซี10กระทรวงคลัง

ย้อนกลับมาที่กระทรวงการคลัง เมื่อโยกนายกุลิศ จากอธิบดีกรมศุลกากรมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานแล้ว ครม.ยังโยกย้ายข้าราชการระดับซี 10 ของกระทรวงการคลังอีก 5 ราย ได้แก่ 1.นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นอธิบดีกรมศุลกากร 2.นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต 3.นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ 4.นายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง 5.นางแพตริเซีย มงคลวนิช ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง

คมนาคมมีชื่อคนนอก

Advertisement

นอกจากกระทรวงการคลังและพลังงาน ทราบว่าตอนนี้หลายกระทรวงที่ปลัดเตรียมเกษียณเริ่มขยับแล้วเช่นกัน อาทิ กระทรวงคมนาคม ล่าสุดมีการเปิดโผตัวเต็งชิงปลัดคมนาคมคนใหม่ ขึ้นมาแทน นายชาติชาย

ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบันที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2561 นี้แล้ว โดยในจำนวนรายชื่อที่มีการกล่าวถึง มีทั้งผู้บริหารที่อยู่ภายใต้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารของหน่วยงานภายนอกกระทรวงคมนาคม

โดยผู้บริหารในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีการกล่าวถึงว่าจะขึ้นมาแทนนายชาติชาย มีถึง 4 คน ทั้งหมดล้วนเป็นระดับอาวุโสสูงที่สุด คือ 1.นาย

พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม 2.นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) 3.นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ 4.นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นอกจากนี้ในส่วนของผู้บริหารภายนอกกระทรวงคมนาคมที่มีกระแสข่าวมานั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงเช่นเดียวกัน คือ ผู้บริหารจากกรมโยธาธิการและผังเมือง สังกัดกระทรวงมหาดไทย

โปรไฟล์ปลัดพลังงานคนใหม่

โปรไฟล์ของว่าที่ปลัดกระทรวงพลังงานลูกหม้อกระทรวงการคลังวัย 55 ปีคนนี้น่าสนใจ เพราะหลังเปลี่ยนรัฐบาล ปี 2548 นายกุลิศลาออกจากราชการไปทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในตำแหน่งรองเลขาธิการด้านนโยบายและแผน ต่อมาในปี 2550 กลับเข้ารับราชการที่กระทรวงการคลัง ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์

ต่อมาเมื่อตำแหน่งที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่าง นายกุลิศถูกแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการ สคร. และขยับเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นระดับซี 10 ในปี 2554 จนกระทั่งมาถึงยุครัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 นายกุลิศได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ สคร. และปี 2558 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร

ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่นายกุลิศนั่งในตำแหน่ง กรมศุลกากร กรมที่ขึ้นชื่อเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ นานา นายกุลิศก็เดินหน้ารับมือกับทุกเรื่อง ผลงานสำคัญ อาทิ การยุติปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัทเชฟรอน การยึดอายัดรถเมล์ NGV ของบริษัทซุปเปอร์ซาร่า กรณีสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าไม่ตรงตามข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ยังมีผลงานด้านการผลักดัน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 จนมีผลบังคับใช้ การแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะพิษร่วมกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้และได้รับมอบหมายให้ไปเป็นประธานบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รัฐวิสาหกิจที่มีภาระหนี้และผลขาดทุนเป็นมากมาย

ขณะที่ผลงานด้านพลังงานนั้น ปัจจุบันนั่งเป็นกรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

“สมคิด”ระบุพลังงานขอเอง

ประเด็นหลังการโยกย้ายครั้งนี้ จับอาการหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่างมีอาการต่างกันไป!

ไล่เรียงตั้งแต่วันประชุม ครม. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแต่งตั้งให้นายกุลิศเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน เนื่องจากกระทรวงพลังงานเสนอขอมา เพราะไม่มีบุคลากรที่เหมาะสม

ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับสื่อเพียงสั้นๆ ว่า “กระทรวงพลังงานขอมา ตนเห็นด้วยและส่งเสริม” และยังระบุถึงการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงการคลังในตำแหน่งอื่นว่า เมื่อตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรว่างลง ถึงคิวต้องจัดการภายในโยกย้ายกันใหม่ต้องดูว่าใครเหมาะสมที่จะไปกรมศุลกากร มองว่านายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิตเหมาะสมเพราะกรมสรรพสามิตเป็นหน่วยจัดเก็บเหมือนกัน

“เมื่อขยับนายกฤษฎาไป เลือกนายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลังอาวุโสสูงสุดมานั่งอธิบดี นายอำนวยโตมาจากกรมธนารักษ์ และเหลืออายุราชการเพียง 1 ปี ถ้าไปสรรพสามิตเรียนรู้งานใหม่ก็จะลำบาก

จึงย้ายนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีธนารักษ์ไปอยู่กรมสรรพสามิต และให้นายอำนวยไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์แทน”

นายอภิศักดิ์กล่าวด้วยว่า ส่วนตำแหน่งรองปลัดให้ นายยุทธยา

หยิมการุณ หัวหน้าผู้ตรวจมานั่งรองปลัด เพราะอาวุโสสูงสุด และแต่งตั้ง นางแพตริเซีย มงคลวนิช ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากรมาเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง เนื่องจากนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังอยากให้มาช่วยงาน

2ชื่อพลังงานไม่เข้าตา

ฟากกระทรวงพลังงาน แม้วันดังกล่าวจะไม่ได้สัมภาษณ์ใดๆ แต่ก็มีกระแสข่าวออกมาว่า เดิมนายธรรมยศ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เสนอ 2 ชื่อข้าราชการในกระทรวงให้นายศิริพิจารณาแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่เข้าตา

แถมยังมีกระแสข่าวย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน สมัยนั้นใกล้เกษียณอายุราชการ ได้มีความพยายามขอบิ๊กรัฐบาลบางรายผลักดันให้นาย

กุลิศข้ามห้วยมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานอยู่แล้ว แต่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในเวลานั้นปฏิเสธ เพราะต้องการให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานขึ้นมากกว่า

แต่อีกกระแสหนึ่งก็ระบุว่า นายกุลิศปฏิเสธเองเพราะเห็นว่านายธรรมยศมีความอาวุโสมีอายุราชการเหลือเพียง 1 ปี จึงเหมาะสมกว่า

“ศิริ”ต้องการให้ทำงานข้ามสาย

ย้อนกลับมาที่ครั้งนี้ การตัดสินใจแบบฟ้าแลบของนายศิริเรียกความสนใจจากสื่ออย่างมาก วันที่ 8 สิงหาคม นายศิริมีภารกิจออกงานคู่กับข้าราชการกระทรวงพลังงานแบบพร้อมหน้า จับอาการได้ทันทีว่า

บรรยากาศค่อนข้างอึมครึม โดยนายศิริให้สัมภาษณ์แบบม้วนเดียวจบว่า “การตั้งนายกุลิศมานั่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นการพิจารณาร่วมกันในรัฐบาลที่เห็นว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมและมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานอยู่แล้วที่จะสามารถบริหารจัดการในทุกๆ หน่วยงานได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและคลัง”

โดยภารกิจหลักที่จะนายศิริอยากให้ปลัดกระทรวงคนใหม่เข้ามา

ดำเนินการ คือ การผลักดันร่วมกันกระจายการผลิตไฟฟ้าไปสู่ภาคประชาชนโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือ โซลาร์รูฟท็อปที่สามารถผลิตไฟใช้เองและเหลือจำหน่ายได้ ที่กระทรวงพลังงานจะได้ข้อสรุปในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ยังต้องการให้เข้ามาช่วยบริหารจัดการในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ต้องเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพราะนโยบายการเงินและการคลังจะมีส่วนอยู่มากในส่วนของพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานและคลังจะเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่จะมีการทำงานแบบข้ามสายงาน (Cross Functional) ที่รัฐตั้งใจจะทำเป็นรูปแบบตัวอย่างให้เห็นว่าจะไม่มีไซโลกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง การทำงานของรัฐบาลจากนี้ไปทุกๆ กระทรวงก็จะสามารถทำงานที่จะข้ามสายหรือ Cross กันได้และบูรณาการการร่วมกันได้หมด

นายศิริยังทิ้งท้ายว่า การทำงานของกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาต้องขอบคุณผู้บริหาร ปลัดกระทรวงพลังงานที่ท่านเห็นความสำคัญในการทำแบบบูรณาการและข้ามสายงานร่วมกัน ถือเป็นผู้บุกเบิกมาก่อนโดยงานแรกๆ ที่เห็นชัดที่ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังคือโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ บี 20 ที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังได้พิจารณาปรับอัตราภาษี เมื่อรวมกับการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้ราคาบี 20 ถูกกว่าดีเซล (บี7) 3 บาทต่อลิตร

จับตากระทรวงอื่นข้ามสายด้วย

เป็นการอธิบายความที่กระจ่าง ช็อตต่อไปที่น่าจับตาคือ การ Cross กันระหว่างกระทรวงจะเกิดในกระทรวงใดอีกในช่วงหลังจากนี้ หรือเป็นข้อแก้ตัวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อสร้างความขวัญกำลังใจข้าราชการกระทรวงเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การเข้ามาบริหารกระทรวงพลังงานของรัฐมนตรีศิริมีเสียงลือหนาหูว่าไม่ค่อยเข้าขากับข้าราชการประจำมากนัก จากนโยบายต่างๆ ที่ออกมา ที่มีความหลากหลายและเด็ดขาด จนเคยเกิดกระแสความขัดแย้งกับรัฐวิสาหกิจในสังกัด

เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน มีประเด็นหนักอกเกิดขึ้นก่อนการตั้งปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ไม่นานนัก คือ การปรับโครงสร้างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะจบอย่างไร หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวกดดันจากรัฐบาลให้ กกพ.ลาออกจากตำแหน่งจำนวน 3 คน ตามกฎหมาย กกพ. โดยให้ กกพ.ทั้ง 6 คน

(เดิมมี 7 คนแต่มี 1 คนเกษียณไปเมื่อปี 2560) ไปตกลงว่าจะดำเนินการอย่างไร และต่อมามี กกพ.ขอลาออกไป 2 คน จึงต้องตั้งใหม่ แต่ดูเหมือนปัญหาจะวุ่นไม่จบ เพราะ กกพ.ที่ลาออกไม่ใช่เป้าหมายที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองบางคนต้องการเฉือนทิ้งเพราะไม่สนองนโยบายบางเรื่องที่กำลังดำเนินการ จึงเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้นายศิริหนักใจไม่น้อย

ว่าที่ปลัดพร้อมทำงาน

ขณะที่นายกุลิศ ว่าที่ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการแต่งตั้งครั้งนี้ว่า ในฐานะข้าราชการเมื่อมีการแต่งตั้งให้ไปอยู่ในตำแหน่งไหนก็ต้องพร้อมที่จะไปทำหน้าที่ แม้การไปรับตำแหน่งกระทรวงพลังงาน เปลี่ยนจากสายงานกระทรวงการคลัง แต่ที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการเป็นกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 ปี และขณะนี้นั่งเป็น

คณะกรรมการ ปตท.สผ.

นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สคร. ดังนั้นพอจะคุ้นเคยกับเรื่องของพลังงานอยู่บ้าง ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลือก่อนไปรับตำแหน่งอีกเดือนครึ่ง ก็จะต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องพลังงานทดแทน ในเรื่องการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ

“ยังเหลือเวลาในอายุราชการอีก 5 ปี ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยระหว่างนี้พยายามหาความรู้ในเรื่องพลังงาน เพื่อให้พร้อมในการไปทำหน้าที่ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ ในเดือนตุลาคมนี้” นายกุลิศกล่าว

พลังงานนำเข้าปลัดคนที่4

จะว่าไปแล้ว หากย้อนกลับไปถึงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงพลังงานคนก่อนๆ ประเด็นนายโยกนายกุลิศมานั่งกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการโยกนายอารีพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ มานั่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ก่อนจะถูกโยกไปนั่งปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเปิดทางให้ นายคุรุจิต นาครทรรพ

รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่เหลืออายุราชการเพียง 5 เดือนนั่งตำแหน่งปลัด ก่อนจะกลับมานั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงานอีกครั้งจนเกษียณ

เพราะก่อนหน้านั้น กระทรวงพลังงานก็เคยนำเข้าปลัดกระทรวง คนที่ 2 คือ นายพรชัย รุจิประภา และปลัดกระทรวง คนที่ 3 คือ

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ มานั่งเป็นรองปลัดกระทรวง ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของระบบข้าราชการ

โดยนายพรชัยเคยเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากนั้นข้ามห้วยมานั่งเป็นรองปลัดกระทรวง และอยู่ในตำแหน่งปลัดตั้งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2549-30 กันยายน พ.ศ.2553 ขณะที่นายณอคุณเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากนั้นข้ามห้วยมานั่งเป็นรองปลัดกระทรวง และอยู่ในตำแหน่งปลัดตั้งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2553-30 กันยายน พ.ศ.2556 พร้อมกับกระแสข่าวการช่วงชิงตำแหน่งปลัดของทั้งคู่เพราะต่างมีฝ่ายการเมืองสนับสนุน

กระทรวงใหม่ตัวเลือกน้อย

สาเหตุหลักที่กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องนำเข้าปลัดกระทรวงแทบทุกครั้งไป มาจากความเป็นกระทรวงน้องใหม่ ที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ตามนโยบายปรับโครงสร้างกระทรวงครั้งใหญ่ของรัฐ ข้าราชการถูกโยกมาจากหลายส่วน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย จึงเกิดปัญหาด้านช่องว่างของอายุ บวกกับกำลังคนที่มีความสามารถเพื่อเป็นตัวเลือก โดยปลัดกระทรวงพลังงานคนแรก คือ นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ก็มาจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายเชิดพงษ์คือ

มือร่างโครงสร้างกระทรวงพลังงานในยุคเริ่มต้น

เมื่อถึงฤดูแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน จึงไม่มีตัวเลือกที่เฉิดฉายมากนัก บางคนแม้จะเหมาะสมแต่อายุก็น้อยเกินไป อาจโดนการเมืองดีดจากตำแหน่งได้ง่ายๆ

ขณะเดียวกัน นโยบายด้านพลังงาน ก็ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารประเทศของรัฐบาล ทั้งด้านยุทธศาสตร์ที่สร้างความมั่นคงของประเทศ การเดินหน้านโยบายต่างๆ ตามที่นายศิริให้เหตุผลไว้ ไปจนถึงการนโยบายสร้างความนิยมทางการเมืองที่สอดรับกับการดูแลค่าครองชีพประชาชน

พิสูจน์ได้จากผลงานของนายอารีพงศ์ ที่แม้ช่วงแรกของการทำงานจะดูขัดตาไม่เข้าขากับข้าราชการกระทรวงพลังงานนัก แต่เมื่อปลัดกระทรวงพลังงานรายนี้กำหนดแผนงานและเดินหน้าอย่างจริงจัง ก็มีผลงานที่เด่นชัดอย่างการวางรากฐานการดูแลพลังงานแบบบูรณาการ มีการเชื่อมโยงแผนพลังงานสำคัญต่างๆ อาทิ แผนน้ำมัน แผนก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการเดินหน้าเปิดประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณ ที่ส่งไม้ต่อให้นายธรรมยศดำเนินการ

ขณะเดียวกันยังมีผลงานจัดการโครงสร้างภาษีน้ำมันร่วมกับ

นายณรงค์ชัย อัครเศรษณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสมัยนั้น

โดยใช้วิธีสลับกับการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ในช่วงที่ราคาน้ำมันขาลงพอดิบพอดี ถือเป็นนโยบายที่ถูกจังหวะ สร้างรายได้เข้ารัฐเป็นกอบเป็นกำ

ดังนั้น การมานั่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงานของนายกุลิศ ถ้าเป็นไปตามความคาดหวังของรัฐบาล จึงน่าจะเห็นนโยบายแปลกใหม่และเห็นผล

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าราชการกระทรวงที่อยู่ใต้บังคับบัญชา

เอกชนไม่ขัดขอทำงานต่อเนื่อง

ส่วนฟากเอกชนที่ทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ระบบการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะการย้ายข้ามห้วย ข้ามกระทรวง เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ต่างกับการโยกย้ายผู้บริหารในภาคเอกชน ที่ความเหมาะสม ผลงาน คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด

“เชื่อว่าการโยกย้ายครั้งนี้ รัฐบาลได้ตัดสินใจจากความสามารถของนาย

กุลิศแล้ว ซึ่งในมุมของเอกชน ไม่ว่าใครจะทำงานก็ยอมรับ สนับสนุนได้ เพราะกระทรวงการคลังเองก็มีข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถอยู่ค่อนข้างมากเพื่อเทียบกับกระทรวงอื่น กระทรวงการคลังจึงโดดเด่นที่สุด เพียงแต่ต้องทำงานด้วยความต่อเนื่อง ไม่ใช่เข้ามาแล้วทำให้นโยบายที่เคยบอกกับเอกชนไว้เกิดความสะดุด ติดขัด ถ้าแบบนี้ก็คงทำงานร่วมกับภาคเอกชนลำบาก” ผู้บริหารเอกชนรายหนึ่งแสดงความเห็นไว้

นับจากนี้จึงต้องติดตามบรรยากาศการโยกย้ายข้ามห้วยว่าจะเกิดในกระทรวงอื่นๆ อีกหรือไม่ และที่สำคัญไปกว่าการโยกย้ายคือ ผลงานของข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งในตำแหน่งต่างๆ จะเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งความหวังเพื่อผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

หรือสุดท้ายจะเป็นแค่หมากเพื่อปูทางก่อนการเลือกตั้งในปี 2562!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image