จับตา ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ กับ ‘ข้อครหาเอื้อประโยชน์’

ถูกตั้งคำถามว่ามีการดำเนินการที่รวบรัดเกินไป อาจเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม และใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

ข้อสงสัยจนเกิดการร้องเรียนให้ตรวจสอบ รวมถึงรัฐบาลเองก็ให้ความสนใจและสั่งการด่วนให้สอบข้อเท็จจริง

เกิดจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) เปิดรับข้อเสนอโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ประจำปีงบประมาณ 2561 (เพิ่มเติม) วงเงิน 5,200 ล้านบาท ภายใต้กลุ่มโครงการไทยนิยม ยั่งยืน สำหรับดำเนินงานโครงการพลังงานทดแทน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้วยระบบสื่อสารทางไกลของโรงเรียนในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนในชนบท และพลังงานทดแทนในระบบสูบน้ำเพื่อลดต้นทุนด้านเกษตรในระดับชุมชน หรือระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร โดยปิดรับข้อเสนอโครงการเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ยังมีการเปิดรับคำของบประมาณจากกองทุนประจำปี 2562 ในวงเงิน 9,148 ล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีดีพี) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เอดีดีพี) ปิดรับข้อเสนอโครงการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาได้ขยายการเปิดรับคำของบประมาณจากกองทุนประจำปี 2562 เป็นปิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม แทน

Advertisement

ระยะเวลาที่ประกาศเปิดรับโครงการนั้นเกิดข้อสงสัยว่าสั้นเกินไปหรือไม่ อาจถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้บางคนที่มีความพร้อมในการยื่นโครงการ เป็นกลุ่มเดิมๆ และยังถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการแทรกแซงการทำงานของ ส.กทอ. ด้วยการดึงบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ ล่าสุดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เริ่มเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุนดังกล่าวแล้ว

มาทำความเข้าใจถึงกองทุน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานก่อตั้งขึ้นมาภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 ก่อตั้งมาก่อนกระทรวงพลังงาน ที่เพิ่งมาตั้งในปี 2545 เสียอีก

วัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดมาตรการกำกับดูแลและส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

เงินกองทุนจะเป็นลักษณะทุนหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานทั้งด้านการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ตลอดจนเป็นเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนโครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน การค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงาน

นอกจากนี้ กองทุนยังเข้ามาช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานและเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน โครงการสาธิต หรือโครงการริเริ่มที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน หรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน การศึกษา การฝึกอบรม และการประชุมเกี่ยวกับพลังงาน การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน

ก่อนหน้านี้ ผู้ดูแลกองทุน คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จนมาถึงปี 2560 สมัยที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีการปรับปรุงกฎหมายเปลี่ยนจาก สนพ.ดูแล มาเป็น ส.กทอ. โดยตั้ง ส.กทอ.เป็นสำนักงานถาวร มีสถานะเป็นนิติบุคคลภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารสูงสุด คือ ผู้จัดการ ส.กทอ. ว่าจ้างโดยปลัดกระทรวงพลังงาน

จากการจัดตั้ง ส.กทอ.ทำให้ สนพ.ถูกลดสถานะ จากเดิมกฎหมายเก่า กำหนดให้เป็นทั้งผู้ดูแลกองทุนและเป็นผู้ขอโครงการ แต่กฎหมายใหม่ให้ สนพ.เป็นผู้ขอโครงการอย่างเดียวเช่นเดียวกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

เมื่อดูถึงฐานะกองทุน ณ เดือนกรกฎาคม 2561 พบว่ามีฐานะสุทธิ 41,874.24 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อย โดยมีรายได้จากเงินที่โอนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามกฎหมายว่าด้วยการแก้ไข และป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงตามจำนวนที่นายกรัฐมนตรีกำหนด เงินนำส่งจากน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละชนิด

ล่าสุดเรียกเก็บจากน้ำมันเฉลี่ยประมาณ 0.07-0.10 บาทต่อลิตร แล้วแต่ชนิดของน้ำมัน นอกจากนี้ กองทุนยังสามารถรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และเงินจากดอกผลและผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากกองทุนนี้ ล่าสุดมีเงินไหลเข้ากองทุนประมาณเดือนละกว่า 600 ล้านบาท

เงินกองทุนที่สูงระดับหลายหมื่นล้านบาท มีการบริหารจัดการภายใต้ 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการแก้ปัญหากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานทำหน้าที่ เช่น กลั่นกรองการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พิจารณาการขอขยายระยะเวลาเบิกจ่ายเงินกองทุน 3.คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีรัฐมนตรีว่าการะทรวงพลังงานเป็นประธาน

มีหน้าที่ เช่น พิจารณาและเสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการใช้เงินกองทุน กำหนดแผนงานใช้เงิน กำกับ ดูแล การใช้จ่ายเงินกองทุน รายงานผลการดำเนินงานตามงาน ให้ความเห็นชอบผลการคัดสรรและผลการประเมินการปฏิบัติงานของผู้จัดการ และบุคลากรหลักของสำนักงาน ในตั้งโครงการเพื่อขอใช้นั้น ต้องอยู่ภายใต้ 3 กรอบหลัก ประกอบด้วย 1.แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี 2.แผนการพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก และ 3.กรอบวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน ตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สนพ. กระทรวงพลังงาน และในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ชี้แจงถึงกรณีที่กำลังเป็นข้อสงสัยว่า สนพ.ได้เข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระ ส.กทอ.คือ ดำเนินการเปิดรับข้อเสนอโครงการงบประมาณปี 2562 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในส่วนของงบประมาณ พ.ศ.2561 (เพิ่มเติม) ภายใต้กลุ่มโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ส.กทอ.เป็นผู้ดำเนินการ

โดยยืนยันว่า การเปิดรับข้อเสนอโครงการในปีงบประมาณ 2562 ในส่วนที่ สนพ.ดำเนินการนั้น บริษัทเอกชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาใดๆ ซึ่งภารกิจปกติ สนพ.ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาเพื่อช่วยงานธุรการในภารกิจเพื่อให้ภารกิจการรับข้อเสนอแล้วเสร็จตามแผนงาน สามารถกลั่นกรองและอนุมัติแผนงานได้ตามเป้าหมายและขั้นตอนของระเบียบคณะกรรมการกองทุน ปี 2560 กระบวนการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้Ž

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องติดตามตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image