ประมูล “บงกช-เอราวัณ” เดือด รัฐอุ้มค่าไฟช่วยประชาชน ตั้งเกณฑ์ผู้ชนะเสนอราคาก๊าซต่ำสุด!!

ลุ้นกันมานานหลายปีในที่สุด ประเทศไทยก็เข้าสู่กระบวนการประมูลแหล่งปิโตรเลียมในทะเล จำนวน 2 แหล่ง คือ เอราวัณที่จะหมดสัญญาสัมปทานปี 2565 และบงกชที่จะหมดสัญญาสัมปทานปี 2566 ด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) 

4บ.จับมือเข้าประมูลปิโตรเลียม

เพราะเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นเข้าขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย 2 แหล่ง คือ บงกชและเอราวัณ รูปแบบแบ่งปันผลผลิต เข้ายื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประมูล และตลอดทั้งวันที่ 3 บริษัทที่เดินทางเข้ายื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ควงคู่มากับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด

กระทั่งหลังปิดรับการยื่นซอง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประกาศรายชื่อผู้ประกอบการมายื่นคำขอประมูลในฐานะผู้ดำเนินงาน หรือโอเปเรเตอร์ อย่างเป็นทาง แบ่งเป็น แปลงเอราวัณ มีผู้สนใจ 2 ราย คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เครือ ปตท.สผ. ร่วมกับ บริษัท เอ็มพีจี2 (ประเทศไทย) จำกัด เครือมูบาดาลา สัดส่วนลงทุน 60:40 และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท มิตซุยออยล์เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด สัดส่วน 76:24

Advertisement

ขณะที่แปลงบงกช มีผู้ยื่นเป็นโอเปเรเตอร์ จำนวน 2 ราย คือ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เครือ ปตท.สผ. สัดส่วน 100% และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท มิตซุยออยล์เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด สัดส่วน 76:24

ยื่นข้อเสนอ4ซองลุ้นรัฐตัดสิน

ทั้งนี้ในรายละเอียดการยื่นข้อเสนอจะมีทั้งหมด 4 ซองคือ 1.ซองข้อเสนอทางด้านเทคนิคที่จะมีรายละเอียดของแผนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด 2.ซองข้อเสนอให้รัฐเข้ามีส่วนร่วมในสัดส่วนไม่เกิน 25% 3.ซองคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลว่าถูกต้องครบถ้วนที่เงื่อนไขที่รัฐกำหนดหรือไม่ และ 4.ซองข้อเสนอด้านราคาและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ โดยจะพิจารณา 3 ซองแรกก่อนว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายนจะเปิดซองที่ 4จะเห็นว่ากระบวนการใกล้สิ้นสุดลงทุกที ขณะที่ผู้เข้าประมูลก็ลุ้นจนอาจนอนไม่หลับ เพราะเดิมพันด้วยศักดิ์ศรี โดยเฉพาะ ปตท.สผ. และเชฟรอนผู้ครอบครอง 2 แหล่งที่รู้ทุกซอกทุกมุมของพื้นที่ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดปลายเดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยจะได้ผู้ชนะของ 2 แหล่งก๊าซ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเดือนธันวาคม จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะถึงคิวลงนามสัญญาการผลิต จบขั้นตอนการประมูลอย่างสมบูรณ์

Advertisement

ประเมินว่าการลงทุนของ 2 แหล่งนี้จะสร้างเม็ดเงินรวมไม่ต่ำกว่า 1.1-1.2 ล้านล้านบาท

กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล…

เปิดทางปตท.ถือหุ้น25%

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของข้อเสนอทั้ง 4 ซองนั้น มี 2 ประเด็นหลักที่รัฐให้ความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ ประเด็นสัดส่วนการเปิดให้รัฐเข้าถือหุ้น 25% ซึ่งเป็นข้อสำคัญของระบบพีเอสซี และประเด็นข้อเสนอด้านราคาและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า การเปิดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่วมทุนนั้น รัฐจะถือหุ้น 25% ของการลงทุนทั้งหมด โดยหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาร่วมถือหุ้นควรมีสภาพคล่องสูง ไม่อยู่ในสภาวะขาดทุน เนื่องจากจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ส่วนจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานหรือไม่อยู่ที่รัฐจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งกรณีที่ บริษัท ปตท.สผ.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ยื่นประมูลระบุว่าตัวเองเป็นหน่วยงานรัฐและเสนอตัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ตามหลักการถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจริง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือไม่

“การเปิดประมูลครั้งนี้ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เนื่องจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เองก็มีความพร้อมทุกด้านเช่นกัน ทุกรายที่เข้ามาแข่งขันภายใต้เงื่อนไขนี้ต่างรับทราบข้อมูลมาแล้วทั้งสิ้น” นายศิริยืนยัน

ทั้งนี้ตามเกณฑ์ให้รัฐเข้าถือหุ้น 25% นั้นหากพิจารณาเงินลงทุน รัฐที่เข้าถือหุ้นต้องมีเงินร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ลงทุนก็ต้องมีความรู้ความชำนาญด้านพลังงานอยู่บ้าง กวาดสายตาไปมา จึงมีไม่กี่กลุ่ม โดดมาแต่ไกลหนีไม่พ้นกลุ่ม ปตท.นั่นเอง

คะแนนราคาก๊าซสูงถึง65%

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้คะแนนในข้อเสนอต่างๆ นั้น ได้กำหนดน้ำหนักในการพิจารณาข้อเสนอของผู้ประมูลที่สำคัญ คือ ข้อเสนอในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ให้กับรัฐในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด น้ำหนัก 65%, เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐไม่ต่ำกว่า 50% ของปริมาณการผลิตกำหนด น้ำหนัก 25%, เสนอผลตอบแทนพิเศษให้รัฐ อาทิ โบนัสการผลิต น้ำหนัก 5% และข้อเสนอในการจ้างคนไทยเข้าทำงานปีแรกไม่ต่ำกว่า 80% ของพนักงานทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ภายใน 5 ปี น้ำหนัก 5%

จากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าข้อเสนอในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ให้กับรัฐในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด น้ำหนัก 65% เท่ากับว่าผู้ประมูลรายใดที่เสนอขายก๊าซต่ำสุด มีโอกาสชนะแน่นอน!!!

รัฐหวังกดค่าไฟยาว20ปี

สาเหตุที่รัฐวางเงื่อนไขราคาก๊าซต่ำสุดตลอด 20 ปีของสัญญาประมูลระบบพีเอสซี ก็เพราะต้องการดูแลค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งประเทศตลอด 20 ปีจากนี้ เพราะเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของไทยมาจากก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 60% และในปริมาณก๊าซธรรมชาติดังกล่าวส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ และบางส่วนนำเข้าจากประเทศเมียนมา

โดยเอราวัณและบงกชเป็นแหล่งผลิตหลักถึง 75% หรือคิดเป็นปริมาณการผลิต 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ของกำลังผลิตในอ่าวไทย ซึ่งหลังจากทั้ง 2 แหล่งหมดอายุสัมปทานตามลำดับ และเข้าสู่การผลิตของผู้ชนะประมูล ผู้ผลิตจะต้องรักษาระดับการผลิตของ 2 แหล่งรวมไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีแรกของการผลิต

ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติตลอดจน “ราคาที่ต้องถูก” จะสอดคล้องไปกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพีฉบับใหม่) ที่เตรียมคลอดในเร็วๆ นี้ ซึ่งนายศิริประกาศยืนยันว่า ตลอดแผนพีดีพี 20 ปี (2561-2580) ค่าไฟฟ้าจะไม่เกิน 3.60 บาทต่อหน่วย

ประเทศได้ผลตอบแทน8แสนล.

ผลจากการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชนัดนี้ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังประเมินว่า การพัฒนา 2 แหล่งจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไร ประมาณ 800,000 ล้านบาท ช่วง 10 ปีแรก ตลอดจนเกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 80% ในปีแรก และอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไข นอกจากนั้นยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท และยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

ไทม์ไลน์ขั้นตอนประมูล

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมของขั้นตอนการประมูลจะราบรื่นไปด้วยดีใกล้สำเร็จลุล่วง แต่เบื้องลึกเบื้องหลังก็พบว่ามีเอกชนถอนตัวระหว่างทางหลายราย

เพราะหากย้อนเหตุการณ์กลับไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติรับทราบแผนบริหารจัดการการประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) และให้ออกประกาศเชิญชวน ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2561 พบว่าวันที่ 26 เมษายน 2561 มีบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูล มารับเอกสารการประมูลที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กโปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

นอกเหนือจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ ได้ดาวน์โหลดเอกสารการประมูลผ่านเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อาทิ บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียน วีเซลสคาฟท บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101, Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group

ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตามร่างขอบเขตการประมูล (ทีโออาร์) การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เข้ายื่นแสดงความจำนงเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม วันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลเข้ายื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น และวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น เข้าชิงสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย โดยมีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นและมีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ)

ออสเตรีย-จีนเก็บกระเป๋า กลับบ้าน

วันที่ 30 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดให้บริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น เข้ายื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูล แต่สุดท้าย บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท จากออสเตรียและกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101, Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group จากจีน ได้ถอนตัวจากการประมูล เนื่องจากแหล่งเอราวัณ-บงกชมีความซับซ้อน และดำเนินการยาก ต้องอาศัยความคุ้นเคยและความชำนาญในพื้นที่จึงจะสามารถดำเนินการได้ ดังนั้น จึงมีเพียงบริษัทที่มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยอยู่แล้วร่วมประมูลต่อไป

ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดสัมมนาผู้เข้าร่วมประมูลให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น และได้ยื่นเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูล เพื่อให้ได้รับทราบรายละเอียดที่เกี่ยวกับการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) ได้อย่างเท่าเทียมกันทุกบริษัท อาทิ ภาพรวมทางเทคนิคทั่วไปของแปลงสำรวจที่ประมูล และรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ข้อกำหนด รวมถึงเงื่อนไขการประมูล กระบวนการจัดทำและยื่นข้อเสนอการประมูล ชุดข้อมูลของแปลงสำรวจ และการเข้าใช้ห้องศึกษาข้อมูล เป็นต้น

จากนั้นระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน-21 กันยายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดห้องดาต้า รูมให้ผู้เข้าร่วมประมูลได้ศึกษาข้อมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

“โททาล”พันธมิตรปตท. สผ.ล่องหน

กระทั่งวันที่ 25 กันยายน 2561 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ เข้ายื่นซองประมูล แต่สุดท้าย บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด จากฝรั่งเศส ที่เป็นผู้ร่วมลงทุนกับ ปตท.สผ.ในแหล่งบงกชปัจจุบัน และผ่านคุณสมบัติทุกขั้นตอนแล้วก็ขอถอนตัวในท้ายที่สุด

เรื่องนี้ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยอมรับว่า แม้จะมีผู้ที่สนใจยื่นซองประมูลเข้ามาหลายราย แต่น้อยกว่าที่คาดการณ์ เพราะเดิมมีผู้สนใจทั้งไทย ยุโรป สหรัฐ จีน ตะวันออกกลางตามที่กรมเดินทางไปเชิญชวน แต่เนื่องจากเงื่อนไขมีความเข้มข้น ศักยภาพปริมาณและความยากง่ายในการผลิตของไทยไม่จูงใจให้เอกชนเข้ายื่นซองประมูล ทำให้ บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด จากฝรั่งเศส ที่เป็นผู้ร่วมลงทุนกับ ปตท.สผ.ในแหล่งบงกชปัจจุบันและผ่านคุณสมบัติให้ยื่นประมูลถอนตัวในช่วงท้าย

ปตท.สผ.-เชฟรอนมั่นใจชนะ

หลังการยื่นซองประมูล นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การยื่นประมูลครั้งนี้มั่นใจว่าจะได้รับการคัดเลือก มั่นใจ 100% เพราะยื่นข้อเสนอผลประโยชน์สูงสุดทั้งทางเทคนิค ความต่อเนื่องด้านการผลิต และผลตอบแทนทางการเงินที่มากพอ โดยการยื่นประมูลครั้งนี้ ปตท.สผ.จับกับเอ็มพีจี2 หรือมูบาดาลา ในแหล่งเอราวัณ เพราะมูบาดาลามีประสบการณ์ลงทุนใกล้แหล่งเอราวัณอยู่แล้ว ทั้งนี้เดิม ปตท.สผ.มีการเจรจากับเชฟรอนเพื่อลงทุนแหล่งเอราวัณแต่สุดท้ายการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ

“ส่วนแหล่งบงกชยอมรับว่าเดิมจะเป็นการลงทุนร่วมกับโททาลแต่สุดท้ายทางโททาลถอนตัวด้วยเหตุผลของทางบริษัทเอง ปตท.สผ.จึงตัดสินใจลงทุนทั้ง 100% อนาคตหากชนะและเริ่มลงทุนแล้ว 1 ปี ตามเงื่อนไขก็สามารถแก้ไขผู้ร่วมทุนได้ ส่วนประเด็นการลงทุนภาครัฐ 25% กลุ่ม ปตท.พร้อมลงทุนแต่ขึ้นอยู่เงื่อนไขการพิจารณาอีกครั้ง” นายสมพรทิ้งท้าย

ขณะที่ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ระบุว่า ได้ยื่นซองประมูลทั้งบงกชและเอราวัณ เป็นลักษณะของการร่วมทุนทั้ง 2 แหล่ง ซึ่งการที่ตัดสินใจยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่งเพราะมั่นใจในศักยภาพและความรู้ความเข้าใจด้านสภาพธรณีวิทยา เทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาได้ทั้ง 2 แหล่ง จึงมั่นใจว่าจะได้รับเลือกเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนี้

“บิ๊กตู่”ลุยเมินกลุ่มต้าน

และแม้ขั้นตอนดำเนินการของรัฐบาลจะผ่านไปด้วยดี แต่ ณ วันที่ 25 กันยายน ข้าราชการกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะผู้บริหารกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยอมรับว่าค่อนข้างลุ้นกับท่าทีรัฐบาล เพราะมีกลุ่มต้านการประมูลครั้งนี้พร้อมเรียกร้อง 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ชะลอการจัดสรรปิโตรเลียมแหล่งบงกชเอราวัณไปก่อน 2.ให้ตั้งกรรมการร่วม 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคประชาชนและคนกลาง เพื่อแก้ไขขอบเขตการประมูล (ทีโออาร์) ให้เป็นระบบจ้างบริการ (เอสซี) ที่รัฐต้องได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชน และ 3.ปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรม โดยทั้งหมดต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเวลา 3 เดือน

แต่สุดท้ายข้อเสนอก็ถูกเมิน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาสัมภาษณ์ถึงเหตุผลความจำเป็นและความชัดเจนในการผลักดันเดินหน้าประมูลสิทธิสำรวจแหล่งปิโตรเลียมว่า ที่ผ่านมาเราพยายามสร้างความเข้าใจมาโดยตลอดก็ขอให้ทุกคนเปิดใจและดูให้รอบด้าน อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่ผมเป็นกังวลก็คือ ถ้ามันทำไม่ได้แล้วทำไม่ทัน ปริมาณก๊าซ ปริมาณน้ำมันที่เราขุดในประเทศก็จะลดลงทันที ทำให้พลังงานเราลดลงและจะมีผลในเรื่องของอุตสาหกรรมเราไปด้วย ดังนั้น ประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลจำเป็นต้องทำ

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีเป็นสัญญาณชัดเจนว่า ไทยกำลังจะได้ผู้ชนะการประมูล 2 แหล่งก๊าซภายในสิ้นปี ส่วนจะเป็นเจ้าเดิมๆ หรือไม่ โปรดติดตาม แต่สิ่งสำคัญประเทศชาติต้องได้ประโยชน์สูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image