เปิดโฉม 58 ต้นไม้ ใช้ขอ ‘กู้-สินเชื่อ’ žได้

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวให้ใช้ “ไม้มีค่า” เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้เช่นเดียวกับการใช้หลักประกันทั่วไป เช่น บัญชีเงินฝากธนาคาร สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นกระทรวงต้นเรื่อง เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. …. ให้เหตุผลว่าอยากผลักดันกฎหมายที่้เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ข้อมูลว่า หลักประกันทางธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 มีอยู่ 6 ประเภท ได้แก่ 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า บัญชีเงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า 3.สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบ 4.อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร หมู่บ้านจัดสรร 5.ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ เป็นต้น และ 6.ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“หลักประกันไม้ยืนต้นที่มีมูลค่า เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งนอกจากต้องการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ อีกทั้งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ระหว่างการปลูก โดยนำไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงินได้ ปัจจุบันมีความหลากหลายของประเภททรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น เช่น นำช้างมาเป็นหลักประกันŽ” นางกุลณีกล่าว

สำหรับความคืบหน้าของการนำไม้มีค่ามาเป็นหลักประกันนั้น นายศรายุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อธิบายขอบเขตไว้ว่า ธ.ก.ส.ร่วมกับกรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์

Advertisement

โดยกำหนดไว้ว่า ต้นไม้ต้องมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ปลูกในที่ดินของตนเอง โดยที่ดิน 1 ไร่ รับขึ้นทะเบียนไม่เกิน 400 ต้น การวัดมูลค่าจะต้องมีกรรมการและสมาชิกธนาคารต้นไม้รวมกันอย่างน้อย 3 คน ร่วมประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นรายต้น ที่ความสูงจากโคน 130 เซนติเมตร (ซม.) มีขนาดเส้นรอบวงต้นไม่ต่ำกว่า 3 ซม. แล้วเปรียบเทียบเส้นรอบวงที่วัดได้กับตารางปริมาณและราคาเนื้อไม้เพื่อหามูลค่าต้นไม้

รายชื่อไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันธุรกิจได้ มีทั้งหมด 58 ชนิด ประกอบด้วย ไม้สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก กระพี้ควาย สาธร แดง ประดู่ป่า ประดู่บ้าน มะค่าโมง มะค่าแต้ เคี่ยม เคี่ยมคะนอง เต็ง รัง พะยอม ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนชันตาแมว ไม้สกุลยาง สะเดา สะเดาเทียม ตะกู ยมหิน ยมหอม นางพญาเสือโคร่ง นนทรี สัตบรรณ ตีนเป็ดทะเล พฤกษ์ ปีบ ตะแบกนา เสลา อินทนิลน้ำ ตะแบกเลือด นากบุด ไม้สกุลจำปี แคนา กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ สุพรรณิการ์ เหลืองปรีดียาธร มะหาด มะขามป้อม หว้า จามจุรี พลับพลา กันเกรา กะทังใบใหญ่ หลุมพอ กฤษณา ไม้หอม เทพทาโร ฝาง ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจนี้ ธ.ก.ส.แบ่งประเภทต้นไม้รับเป็นหลักประกันไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้คือ กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็วถึงปานกลาง รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ เช่น ไม้กระถิน เทพณรงค์ สะเดา เป็นต้น

Advertisement

กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา ตะเคียนทอง เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง เช่น ไม้สัก มะปิน (มะตูม) เป็นต้น กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น ไม้พะยูง จันทร์หอม มะค่าโมง เป็นต้น จากนั้นบันทึกข้อมูลลงในแบบตรวจสอบและประเมินมูลค่าต้นไม้ (ธตม.3) และบันทึกรับฝากต้นไม้ในสมุดธนาคารต้นไม้ (ธตม.9) เพื่อแสดงมูลค่าสินทรัพย์ ใช้เป็นหลักทรัพย์และหลักประกัน

นายสรายุทธ กล่าวถึงหลักค้ำประกันว่า มูลค่าต้นไม้แต่ละต้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยใช้เป็นส่วนควบในการเพิ่มวงเงินจดทะเบียนจำนองที่ดินได้ไม่เกิน 50% ของราคาประเมินมูลค่าต้นไม้ เช่น ที่ดินราคาประเมิน 500,000 บาท ปกติกู้ได้ 50% ของราคาประเมินคือ 250,000 บาท กรณีมีต้นไม้ที่ประเมินมูลค่าไว้จำนวน 300,000 บาท สามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อีก 50% หรือ 150,000 บาท รวมหลักทรัพย์ค้ำประกันจึงเป็น 650,000 บาท วงเงินกู้รวมจึงอยู่ที่ 325,000 บาท เพิ่มจากเดิม 75,000 บาท

ทั้งนี้ ได้ทำการวัดขนาดสำหรับประเมินมูลค่าต้นไม้และจัดทำทะเบียน ตลอดจนออกโฉนดธนาคารต้นไม้ให้กับสมาชิกได้แล้วกว่า 30 แปลง โดยต้นไม้ที่ปลูกส่วนมากเป็นต้นพะยูงและสะเดา และในปัจจุบันมีชุมชนที่ร่วมปลูกต้นไม้กับ ธ.ก.ส. ตามโครงการธนาคารต้นไม้จำนวน 6,804 ชุมชน มีสมาชิก 115,217 ราย จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศอยู่ที่ประมาณ 11.7 ล้านต้น สอดคล้องกับแผนโครงการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าผ่านชุมชนทั่วประเทศ 2.6 ล้านครัวเรือน ภายใน 10 ปี เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศ 26 ล้านไร่

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์ถึงหลักประกันรูปแบบใหม่ว่า เรื่องนี้ทางกสิกรไทยกำลังดูอยู่ ยังไม่มีนโยบายออกมา เนื่องจากจะต้องรอหลักเกณฑ์ทั้งวิธีการและการตีราคาให้ชัดเจนก่อน ซึ่งเข้าใจว่าการนำไม้มีค่ามาใช้เป็นหลักประกันขอสินเชื่อเข้าข่ายหลักประกันแบบเวิร์กกิ้งแคป (Working Cap) มีรายละเอียดหลายอย่างที่จะต้องพิจารณาจากสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ไม้สักอายุ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี การตีราคาหรือการพิจารณาก็จะแตกต่างกันอีก

หลักประกันสินเชื่อนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เข้าใจว่าเป็นหลักประกันสินเชื่อในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ต้องพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ อีกครั้ง เช่น ไม้มีค่าที่จะนำมาเป็นหลักประกันนี้สอดคล้องกับการทำธุรกิจหรือไม่ ถ้าสอดคล้องก็ถือว่าเป็นสต๊อกสินค้าได้หรือเป็นเวิร์กกิ้งแคป อย่างเช่น ทุเรียน ก็เป็นไม้ที่มีความน่าสนใจ แต่สุดท้ายแล้วจะตอบโจทย์หรือไม่ยังตอบยาก เพราะราคาไม้อาจจะต่ำมากก็ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อไม้ อายุ รวมถึงจำนวนที่ปลูกด้วยŽ นายสุรัตน์กล่าว

นายสุรัตน์กล่าวว่า ในภาพรวมการปล่อยสินเชื่อยังคงเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีและภาคธุรกิจ การปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรยังมีน้อย ส่วนหลักประกันอันดับต้นๆ ยังคงเป็นหลักประกันทั่วไป ได้แก่ ที่ดิน อาคาร สต๊อก และเงินสด ที่ผ่านมามีเรื่องการนำไก่หรือหมูมาเป็นหลักประกัน แต่ไม่สามารถนำมาใช้ยึดได้ ติดเรื่องการดูแลสัตว์

เพราะฉะนั้นไม้มีค่าที่เป็นหลักประกันรูปแบบใหม่ ก็ต้องติดตามกันต่อว่าในทางปฏิบัติจริงจะทำได้จริงหรือติดขัดอะไรหรือไม่ รัฐจะหาทางออกอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image