แบงก์ชาติแตะเบรก คุมเข้มเก็งกำไรอสังหาฯ เร่งถกมาตรการบังคับใช้ ม.ค.62

ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีทิศทางขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง 

จากนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลายซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ด้านเสถียรภาพการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่พบว่ามีความเปราะบางเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้น คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง กนง.มีความกังวลและเริ่มติดตามมาตั้งแต่ปลายปี 2560 ต่อเนื่องมาจนการประชุม กนง. และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ในช่วงกลางปี 2561 มีการส่งสัญญาณเตือนถึงการสะสมความเสี่ยงในสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น จากการแข่งขันสูงในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งในระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันเฉพาะกิจของรัฐ ที่ยอมรับความเสี่ยงมากขึ้นและเริ่มมีลักษณะการหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อต่ำลง

ซื้อลงทุนเพิ่ม-คอนโดเงินทอนบูม

ทั้งยังพบสัญญาณการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยหวังผลตอบแทนการลงทุนจากการปล่อยเช่าหรือการคาดหวังว่าจะขายต่อได้ในราคาที่สูงขึ้น พบว่าการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2-3 ขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคอนโดมิเนียม และในช่วงครึ่งปีแรก 2561 มีการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2-3 เพิ่มขึ้นกว่า 20% สะท้อนการซื้อเพื่อการลงทุนมากกว่าการอยู่จริง ทั้งนี้ การซื้อสัญญาที่ 2-3 ขึ้นไป มีการเก็บเงินดาวน์ หรือมีสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-Value : LTV) ใกล้เคียงกับบ้านหลังแรก (สัญญาที่ 1) ที่ 10-15% ทั้งที่การซื้อบ้านสัญญาที่ 2-3 ขึ้นไป ควรจะมีเงินออมหรือเงินดาวน์ 20% ด้วยการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น ผู้กู้จึงไม่ต้องมีเงินดาวน์และมีการให้ LTV ในระดับสูงในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาท

Advertisement

ขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เพราะมีคาดหวังไปในทิศทางเดียวกันว่าผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าและราคาอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้น แต่ความเป็นจริงมีโอกาสที่จะปล่อยเช่าได้ราคาต่ำกว่าที่ประเมินเพราะมีซัพพลายโครงการใหม่ออกมาต่อเนื่อง และราคาอสังหาริมทรัพย์อาจจะปรับลดลงหรือเสื่อมมูลค่าลงได้ นอกจากนี้ พบว่า ผู้กู้ที่มี 2-3 สัญญาขึ้นไปมีแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อแย่ลง โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นเร็วจาก 2.5% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 3.4% ณ สิ้นไตรมาสแรก 2561 ส่วนผู้กู้ที่มี 1 สัญญา เอ็นพีแอลในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นจาก 3.6% เป็น 4.0%

อีกรูปแบบที่พบ คือ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือตัวแทนขาย (เอเยนต์) มีการให้ส่วนลดกับผู้กู้กระตุ้นการซื้อ ดังนั้น ราคาซื้อขายจริงกับราคาที่ทำสัญญาเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินไม่ตรงกัน มีการให้ข้อมูลและเชิญชวนกันอย่างแพร่หลายผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ

ในรูปแบบคอนโดเงินเหลือ คอนโดเงินทอน สามารถนำเงินไปใช้จ่ายอื่นๆ หรือต่อยอดธุรกิจได้ เช่น ราคาซื้อขายจริงอาจจะอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่ราคาสัญญาซื้อขายอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท เมื่อสถาบันการเงินประเมินราคาออกมาให้กู้ที่ 2.4 ล้านบาท จึงมีส่วนต่าง 4 แสนบาท ที่ผู้กู้จะได้รับคืนมา แต่หนี้ที่เกิดขึ้นก็อยู่ที่ 2.4 ล้านบาท ทำให้ผู้กู้มีภาระการผ่อนชำระที่สูงขึ้น

Advertisement

หากรายได้สะดุดเป็นหนี้เสียรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม ในที่สุดอาจก่อความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและระบบการเงินได้

ใช้แมคโครพรูเด็นเชียลสกัด

หลังจากที่ติดตามสถานการณ์มาได้ปีกว่า กนง.ประเมินว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นลดน้อยลงเรื่อยๆ จึงส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะหากใช้นโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นอาจจะกระทบต่อภาคส่วนอื่นเป็นวงกว้าง ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้มีการใช้ไมโครพรูเด็นเชียลกำกับดูแลสถาบันการเงินรายสถาบัน เพื่อให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งต้องมีการดูแลพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เช่น การไม่ให้วงเงินสินเชื่อด้วยการประเมินราคาซื้อขายที่เกิน ควรมีการประเมินมูลค่าหลักประกันให้มั่นใจว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันจริง การพิจารณาภาระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ของผู้กู้อย่างเหมาะสมรวมถึงต้องระมัดระวังในกระบวนการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงได้เปิดเผยแนวนโยบายแมคโครพรูเด็นเชียลสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อดูแลเฉพาะจุด ปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยและยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อ

เข้มดาวน์20%-LTVรวมท็อปอัพ

รายละเอียดมาตรการที่จะกำกับดูแลจะบังคับใช้เฉพาะกับการขอกู้ครั้งใหม่เท่านั้นและไม่มีผลต่อบ้านหลังแรก สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการ กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. อธิบายว่า ได้หารือกับทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพื่อปรับปรุงเกณฑ์ซึ่งปัจจุบันกำหนดระดับ LTV ในลักษณะ Soft Limit คือกำหนดระดับ LTV เบื้องต้นแต่หากให้กู้โดยมี LTV เกินกว่าระดับที่กำหนดจะต้องดำรงเงินกองทุน หรือเกณฑ์ risk weight (RW) by LTV ในระดับที่สูงขึ้น กรณีกู้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ LTV ที่ ธปท.กำหนด จะคิด RW by LTV ที่ 35% หากให้กู้โดยมี LTV เกินกว่าระดับที่กำหนดจะต้องคิด RW by LTV ที่ 75% ซึ่งพบว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเลือกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นโดยให้ LTV สูงกับผู้กู้ เพราะแม้จะกำหนด RW by LTV ที่ 75% แต่เมื่อผู้กู้ได้ทยอยชำระหนี้จนยอดเงินให้สินเชื่อคงค้างรวมดอกเบี้ยค้างรับลดลงจนมี LTV ไม่เกินระดับที่ ธปท.กำหนดค่าน้ำหนักความเสี่ยงจะถูกปรับลดลงมาที่ 35%

ดังนั้น 1.กำหนดให้มีเงินดาวน์ขั้นต่ำอย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน หรือกำหนดเพดานไม่ให้ปล่อยกู้เกินอัตราที่กำหนด (Hard Limit) สูงสุดระดับ 80% เพื่อดูแลความเสี่ยงจากการเก็งกำไร

เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่มี LTV เกิน 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หากรวมสินเชื่อเพิ่มเติม (Top-Up) เพื่อวัตถุประสงค์อื่นภายใต้หลักประกันเดียวกันอาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อเพื่อจ่ายเบี้ยประกันชีวิต รวมทั้งสินเชื่อบ้านแลกเงิน (Home for Cash) เป็นต้น ด้วยการแข่งขันในตลาดสูง พบพฤติกรรมการให้ LTV ที่สูงกว่า 100% มากขึ้น ทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมในทุกระดับราคา รวมถึงการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2-3 ขึ้นไป จึงกำหนด 2.ให้นับรวมสินเชื่อ Top-up ทุกประเภทที่อ้างอิงหลักประกันเดียวกัน ในการคำนวณสัดส่วน LTV โดยสินเชื่อรวมต้องไม่เกินมูลค่าหลักประกันทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ LTV สูงเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพคล่องของผู้กู้ที่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนจากการปรับขึ้นของดัชนีราคาโดยเฉพาะที่ดินและอาคารชุดที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและแม้จะไม่เร่งตัวจนเป็นปัญหาฟองสบู่ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราการเพิ่มของระดับรายได้เฉลี่ยของผู้กู้

ทั้งนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเมื่อเทียบกับรายได้ (Loan-to-Income : LTI) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจสูงถึง 6-7 เท่าจากมาตรฐานการให้สินเชื่อที่อยู่ที่ราว 4.5 เท่า แม้ว่าสถาบันการเงินจะยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ให้ยาวขึ้น แต่ภาระการผ่อนชำระสินเชื่อต่อรายได้ของผู้กู้กลับยังไม่ลดลง สะท้อนการเป็นหนี้นานซึ่งมีการขยายระยะเวลาไปถึง 360-420 เดือน และการยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินมีส่วนทำให้คุณภาพของสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มด้อยลง

สวนทางกับคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทอื่นที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งมีระยะเวลาการผ่อนชำระนานและมีสัดส่วนมากที่สุดของหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 77.5% ต่อจีดีพี ณ ไตรมาส 2/2561

บังคับใช้มาตรการปี 2562

โดยคาดว่าจะออกประกาศแนวนโยบายภายในเดือนพฤศจิกายนก่อนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ขณะนี้ ธปท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) แนวนโยบายแมคโครพรูเด็นเชียลกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2561 และวันที่ 11 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมชี้แจงและเฮียริ่งจากสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริโภค

ด้านผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย วจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาไม่ได้แตะเบรก แค่ผ่อนคันเร่งของภาคอสังหาริมทรัพย์ลง เพื่อลดการเก็งกำไรในบ้านหลังที่สอง เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาเกิดจากการสะสมความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรการนี้เป็นมาตรการเชิงป้องกัน เพื่อสร้างมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ที่ต้องสามารถรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน ด้านผู้กู้ควรมีเงินออมก่อนกู้เพื่อใช้เป็นเงินดาวน์และไม่กู้เกินความจำเป็น และคาดว่าจะทำให้คนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริงสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสมและประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ยันไม่กระทบบ้านหลังแรกไม่มีผลย้อนหลัง

ยืนยันว่ามาตรการที่จะออกมาไม่กระทบผู้กู้บ้านหลังแรกที่มีสัญญาเดียว ข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของระบบธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 100,000 บัญชีต่อปี พบว่ากลุ่มที่ต้องมีการปรับตัว ได้แก่ กลุ่มบัญชีที่ได้รับสินเชื่อเกินมูลค่าหลักประกันซึ่งมีประมาณ 20,000 บัญชีต่อปี

คิดเป็น 20% ของบัญชีปล่อยใหม่ และกลุ่มบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไป มีประมาณ 15,000 บัญชี หรืออยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งที่ 3,000 บัญชี ส่วนสินเชื่อส่วนที่เกิน LTV limit คิดเป็นเพียง 3.5% ของมูลค่าสินเชื่อปล่อยใหม่ระบบธนาคารพาณิชย์ มีบัญชีที่ LTV เกิน 80% ประมาณ 12,000 บัญชี และ 2,000 บัญชี

มาตรการที่ออกมาทุกภาคส่วนจะได้ประโยชน์ ซึ่งความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนและเก็งกำไรจะลดลง ขณะที่ประชาชนที่ซื้อเพื่อลงทุนรับความเสี่ยงได้ดีขึ้น ไม่ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินควร และลดโอกาสที่จะถูกผลกระทบจากการปรับลดลงของราคาอสังหาริมทรัพย์

ด้านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สามารถวิเคราะห์ความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงได้ดียิ่งขึ้น และวางแผนลงทุนได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงจากโอกาสเกิดฟองสบู่ ทั้งนี้ สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระดับที่เหมาะสม ไม่ส่งเสริมให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นเกินความจำเป็นและคุณภาพสินเชื่อจะดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระกันสำรองในอนาคต และมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน

อสังหาฯพร้อมแจงข้อมูล

มาตรการที่จะออกมานั้นยังไม่ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ธปท.ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งตัวแทนจากสถาบันการเงิน ประชาชน มารับฟังการชี้แจงและเปิดเฮียริ่ง ในวันที่ 11 ตุลาคมนี้

ซึ่ง อิสสระ บุญยัง นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ระบุว่า มาตรการที่ออกมาค่อนข้างนำมาบังคับใช้เร็ว เพราะอย่าง LTV ปัจจุบันที่ออกมาตั้งแต่ปี 2554 โดย LTV ของบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท บ้านแนวราบอยู่ที่ 95% ส่วนคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 90% นั้น ขณะที่บ้านราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียม กำหนด LTV ที่ 80% มีการหารือกันมาก่อนหน้านั้นค่อนข้างนานก่อนจะประกาศใช้ และมองว่าการเก็บเงินดาวน์หรือกำหนด LTV ของทั้งสองตลาดควรจะแบ่งให้ชัดเจน เพราะ ธปท.กังวลเรื่องการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งในส่วนของบ้านแนวราบไม่มีการเก็งกำไรอยู่แล้ว เพราะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (เรียลดีมานด์) ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการป้องกันการเก็งกำไรของนักลงทุนบางกลุ่มที่ไม่มีความพร้อมในการลงทุนเพราะมีเงินลงทุนต่ำและใช้การขอเงินกู้จากธนาคารเพื่อลงทุน และบางกรณียื่นขอสินเชื่อพร้อมกันหลายธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารอาจจะไม่ทราบข้อมูลว่าแต่ละแห่งมีการอนุมัติสินเชื่อให้หรือไม่ แต่หากมีการอนุมัติสินเชื่อให้พร้อมกันหลายธนาคารอาจจะทำให้เกิดปัญหาการชำระหนี้ตามมาได้ แต่ที่ผ่านมาธนาคารยังเข้มงวดในการปล่อยกู้สะท้อนจากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่ 20-30%พร้อมระบุว่า มาตรการที่ออกมาไม่ได้กระทบต่อเรียลดีมานด์ คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะขยายตัวต่อเนื่องแต่ไม่ได้หวือหวา เพราะผู้ประกอบการระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์และต้องรอความชัดเจนจาก ธปท. เพื่อประเมินสถานการณ์ปี 2562

สอดคล้องกับ อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่มองว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบผู้ซื้อบ้านก่อนหน้านี้ที่กำลังจะรอโครงการแล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะโครงการที่จะแล้วเสร็จในช่วงปี 2562 เพราะจะต้องเตรียมเงินดาวน์เพิ่มเป็น 20% จากเดิมที่จ่ายเงินดาวน์ประมาณ 5-10% ซึ่งระยะเวลาการออกประกาศและบังคับใช้มีความกระชั้นชิด ผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจะเตรียมตัวไม่ทัน เพราะต้องหาเงินดาวน์เพิ่ม 2-3 เท่า ดังนั้น ธปท.ควรจะให้มีระยะเวลาเตรียมตัวประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี นอกจากนี้ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบอีก คือ กลุ่มบ้านตากอากาศ หากมีการเก็บเงินดาวน์ที่สูงขึ้นเพราะเป็นบ้านหลังที่สอง

คาดผลจิตวิทยาดันอสังหาฯQ4คึกคัก

ขณะที่ ณัฐพล พร้อมลือชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า วันที่ 11 ตุลาคม ธนาคารจะขอรายละเอียดเพิ่มเติมในแง่การปฏิบัติ เพราะมีรายละเอียดบางอย่างยังไม่ชัดเจน รวมทั้งอยากให้ ธปท.นิยามให้ชัดเจนเรื่องบ้านหลังที่สองในแง่ของคนที่ซื้อเพราะความจำเป็น หรือเป็นนักลงทุนที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระ เพราะแม้จะมีการเพิ่มเงินดาวน์ที่อาจจะเป็นต้นทุนการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่คงไม่ยกเลิกการซื้อเพราะไม่สามารถกู้ธนาคารได้ 100% ส่วนมาตรการจะกระทบสินเชื่อหรือไม่ ยังต้องรอประเมินตัวเลขและมาตรการที่จะออกมาชัดเจนก่อน แต่จะทำให้ความยืดหยุ่นอาจจะต้องหมุนเงินลงทุนมาเป็นเงินดาวน์เพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อตลาดคงมีบ้างแต่ยังไม่สามารถประเมินได้ อาจจะต้องกลับไปทำตัวเลขก่อนและคงมาคุยกันกับ ธปท. ทั้งนี้ ประเมินว่าช่วงไตรมาสสุดท้าย 2561 ที่ปกติเป็นฤดูขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว อาจจะเห็นการเร่งซื้อและโอนเพราะเป็นผลจิตวิทยาสำหรับกลุ่มที่มีแผนจะซื้ออยู่แล้วในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ อาจจะมีการตัดสินใจเร็วขึ้น เพราะยังมีความยืดหยุ่นก่อนมาตรการจะบังคับใช้ในปี 2562 นอกจากนี้ มองว่าปีนี้มีความเป็นไปได้ที่เป็นปีทองของอสังหาริมทรัพย์อีกปีหนึ่ง เพราะมีดับเบิลเอฟเฟ็กต์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจการซื้ออสังหาริมทรัพย์ และเมื่อมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อออกมาจะเป็นแรงหนุนภาคอสังหาริมทรัพย์อีกแรงหนึ่งได้

ห่วงเร่งโอนโครงการยังไม่เสร็จ 

ด้าน อลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารพันธมิตรและส่งเสริมการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากการออกมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธปท. ต่อตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น จะต้องรอประเมินอีกหลังจากมีการหารือและเสนอความคิดเห็นในการหารือร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารจะมีการหารือเพื่อประเมินผลกระทบและวางแนวธุรกิจสินเชื่อบ้านให้สอดรับกับมาตรการที่จะออกมาในช่วงต้นสัปดานี้

ขณะที่ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร กล่าวว่า ประเด็นที่น่าจับตา คือในช่วงที่เหลือของปีนี้ก่อนที่จะมีมาตรการออกมาจะมีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์โครงการก่อนที่จะแล้วเสร็จโดยอาจจะใช้โปรโมชั่นจูงใจ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงกับผู้ซื้อบ้านได้หากรับโอนกรรมสิทธ์โดยที่บ้านยังไม่แล้วเสร็จ ในขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สามารถรับรู้รายได้และสถาบันการเงินได้ยอดสินเชื่อเข้ามาในพอร์ต ซึ่งในวันที่ 11 ตุลาคม จะเข้าไปรับฟังและเฮียริ่งที่ ธปท.ด้วยเช่นกัน

คงต้องลุ้นผลการประชุมกันว่าหลังจากที่ทุกภาคส่วนชี้แจงไปแล้ว ธปท.ว่าอย่างไร และท้ายที่สุดแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลง และเป็นการแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ ท่ามกลางนโยบายที่รัฐส่งเสริมให้ประชาชนมีบ้าน!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image