สงครามการค้า ‘มะกัน-จีน’ ถล่มส่งออกไทย เจาะลึกแผนสานพลังรัฐ-เอกชน ทวงคืนเป้าหมายปีหมู คงโต8%

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่จุด
เริ่มต้นจากสหรัฐตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสองรอบ ห่างกันไม่กี่เดือน วงเงินพรวดเดียวถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ด้านจีนไม่อยู่นิ่งตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเช่นเดียวกัน ผลกระทบไม่ได้เกิดแค่ 2 ประเทศ กำลังกลายเป็นปัญหาลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

เทรดวอร์ฉุดส่งออกไทยลบรอบ19เดือน
สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนกันยายน 2561 หดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน โดยมีมูลค่า 20,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และติดลบ 5.2% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ออกมายอมรับว่าหนึ่งใน 3 สาเหตุหลักที่เป็นปัจจัยลบ คือ สงครามการค้าสหรัฐและจีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยติดลบ 8% หรือคิดเป็นมูลค่า 402 ล้านเหรียญสหรัฐ ผสมกับอีก 2 สาเหตุ คือ ยอดส่งออกกลุ่มทองคำและรถยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ ที่บวกต่อเนื่องหลายเดือนและมีฐานการส่งออกที่สูง กลับติดลบ 5.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ และอีกสาเหตุ คือ ประเทศคู่ค้าหันไปหาตลาดใหม่ ดึงยอดส่งออกจากไทย จนต้องติดลบอีก 1% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ยังชี้แจงผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่กระทบต่อไทย ดังนี้ เมื่อแยกเป็นผลกระทบทางตรงจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในกลุ่มโซลาร์เซลล์ ที่ติดลบ 77% เครื่องซักผ้า เหล็กบางชนิดและอะลูมิเนียม รวมติดลบ 60% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนกระทบทางอ้อมเชิงลบ จากการที่ไทยเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ ติดลบ 16.3% คิดเป็นมูลค่า 392 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนผลกระทบทางอ้อมเชิงบวก ที่ไทยส่งออกทดแทนจีนในตลาดสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.7% คิดเป็นมูลค่า 65 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อหักกลบลบกันเดือนกันยายนสงครามการค้ายังทำให้มูลค่าการส่งออกหายไป 402 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1.8% ของมูลค่าส่งออกรวม

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าในภาพรวม กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าการส่งออกในปี 2561 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 8% แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง สินค้าส่งออกของไทยที่มีความหลากหลายและความสามารถทางการแข่งขันในระดับสูง จะช่วยสนับสนุนโอกาสในการเร่งผลักดันการส่งออก ท่ามกลางความท้าทายในระยะสั้น-กลางที่ไทยต้องเผชิญ โดยผู้ประกอบการส่งออกส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาส 4/2561 เท่ากับ 64.8 และ 61.4 ตามลำดับ ซึ่งยังสูงกว่าระดับ 50 ทั้งนี้
คาดว่าการส่งออกในเดือนตุลาคม 2561 จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกันยายน วัดจากดัชนีมูลค่าการส่งออก และดัชนีมูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 53.7 และ 53.6 ตามลำดับ


Advertisement

“หากเดือนที่เหลือปีนี้ไทยส่งออกได้มูลค่าเฉลี่ยละ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน มั่นใจได้ว่าตัวเลขส่งออกปี 2561 จะเติบโตได้ 8% ตามที่ตั้งเป้าหมายแน่นอน สำหรับปี 2562 ยังมีปัจจัยกดดันการส่งออกไม่น้อย ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นการค้าและการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบเกิดการเคลื่อนย้ายซัพพลายเชน ซึ่งไทยเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบสำคัญ ก็เริ่มเห็นแล้วจากตัวเลขส่งออกไปจีน
หดตัว การแย่งชิงหาตลาดใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงปัจจัยใหม่ๆ ที่อาจมีผลกระทบในปีหน้า เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิท) ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงอยู่เป็นระยะเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทและรักษารายได้การส่งออกในรูปเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ยอมรับว่าปีหน้าภาคอุตสาหกรรมจะหนักไม่น้อยกว่าภาคเกษตร”Ž

สมคิดžมอบตัวเลขปีหน้าเติบโต8%
ซึ่งตามธรรมเนียมก่อนขึ้นปีใหม่ กระทรวงพาณิชย์ต้องได้รับมอบตัวเลขเป้าหมายการทำงานและผลักดันการส่งออกในปีถัดไป ดังนั้นในการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก พร้อมภาคเอกชนรายอุตสาหกรรม ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ได้มอบนโยบายให้คงตัวเลขการขยายตัวปี 2562 ไว้ที่ 8% เท่าปี 2561 โดยแนะให้ใช้กลยุทธ์ Tailor Made สำหรับแต่ละตลาด และทำงานหนักท่ามกลางความท้าทาย จากสงครามการค้าที่จะเริ่มส่งผลเกิดความผันผวนการเงินโลก ค่าเงินบาทมี
แนวโน้มแข็งค่า ต้นทุนน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น


“อยากให้ทูตพาณิชย์เตรียมพร้อมล่วงหน้าในการรับมือ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันพอสมควร และมีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ดีมาก ต้องเตรียมพร้อมกำลังคน ใช้เงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่มีกว่า 1,500 ล้านบาท อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ ใช้โอกาสจากสงครามการค้า ที่จะเพิ่มมิติการค้าและการลงทุน แสวงหาโอกาสต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย และเจาะลึกเมืองรองในแต่ละประเทศมากขึ้น ในประเทศอย่างพาณิชย์จังหวัด ต้องผลักดัน Local Economy โดยการจัดกิจกรรมทางการค้าใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น ให้สามารถออกสู่ตลาดสากลได้Ž”

พาณิชย์กางแผนขับเคลื่อนเป้าส่งออก
เมื่อได้รับมอบนโยบายส่งออกปีหน้า 8% แล้ว ด้าน น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยถึงแผนขับเคลื่อนการส่งออกตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงปี 2562 ว่า กรมได้ปรับแผนกลยุทธ์รายสินค้าและบริการ เพื่อรับมือการส่งออกชะลอตัว มุ่งเน้นขยายโอกาสสินค้าและบริการไทยสู่ตลาดโลก ชูธงยุทธศาสตร์ Local to Global สั่งการทูตพาณิชย์จับตา Trade War เร่งใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส พร้อมกับเตรียมแผนผลักดันสินค้ารายกลุ่มที่มีศักยภาพ ได้แก่

1.สินค้าเกษตร/สินค้าอาหาร เป็นสินค้าที่สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจพื้นฐานของไทย กรมจะเร่งผลักดันในตลาดหลักและตลาดใหม่ อาทิ ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในสหรัฐ ผ่านสื่อ Social Media นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานสำคัญของโลก เช่น Sial ที่ฝรั่งเศส เร่งเจาะตลาด organic โดยนำผู้เชี่ยวชาญสหรัฐมาร่วมพัฒนาสินค้ากับ SMEs ไทยก่อนคัดเลือกไปแสดงในงาน Natural Product Expo West ที่สหรัฐในเดือนกันยายนปีหน้า ส่วนในประเทศ จะใช้งาน Thaifex ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียเร่งขยายตลาด นอกจากนี้ จะผลักดันโครงการ SME Proactive ให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกิจกรรมทั้งงานแสดงสินค้า รวมถึงกิจกรรมด้าน Start up ทั่วโลก ทั้งนี้ จากการประเมินร่วมกับภาคเอกชน ในปี 2561 ไทยจะมียอดส่งออกอาหารรวม 19,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังคงขยายตัวที่ 8%

2.สินค้าไลฟ์สไตล์ มุ่งเน้นการสร้าง Brand พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง local to global ใช้ผลิตผลจากท้องถิ่นสร้างสินค้ามูลค่าสูง ทั้งนี้ สินค้าไลฟ์สไตล์ คิดเป็น 5% ของ มูลค่าส่งออกประมาณ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 คาดว่าปีหน้ายังเติบโตได้ดีจากอานิสงส์จากเทรดวอร์ โดยคาดว่าสินค้าไทยจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในสหรัฐ ทดแทนสินค้าจีน กิจกรรมที่สำคัญคืองานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยก็ได้รับความนิยมสูงขึ้น

3.สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศยังคงขยายตัวได้ดี โต 5% มูลค่ารวม 24,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลักได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐ เวียดนาม จีน และอินเดีย โดยมีตลาดเป้าหมายต่อไปคือ อาเซียน เอเชียใต้ รัสเซียและ CIS และตะวันออกกลาง ที่มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้น

4.สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน กระทรวงมีนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์มุ่งสู่ S Curve ตลาดที่น่าสนใจในปีหน้า ได้แก่ อาเซียน เอเชียใต้ แอฟริกา ละตินอเมริกา ส่วนตลาดหลักในอเมริกาอาจจะได้รับผลกระทบจาก NAFTA 2.0 ซึ่งจะเพิ่ม local content จาก 62% เป็น 75% ออสเตรเลียซึ่งน่าจะผลกระทบทางบวกต่อการส่งออกไทย หลังจากที่ออสเตรเลีย ปิด 3 โรงงานประกอบรถยนต์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

รวมถึงผลดีจากการปรับโครงสร้างการค้าสู่ภาคบริการตามนโยบาย 4.0 จากตัวเลขขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2560 ไทยส่งออกบริการมูลค่า 75,354 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่ 19 ของโลก และอันดับที่ 6 ของเอเชีย ธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจร้านอาหารไทย Thai Select ทั่วโลก จำนวน 1,351 ร้าน กระจายในอเมริกา ยุโรป เอเชีย รวมถึงธุรกิจบริการ ก่อสร้าง/ตกแต่ง รวมถึง เครื่องประดับตกแต่งในอาคาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจ Event ตลอดจนธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (ธุรกิจแลนด์สเคปหรือจัดสวน) กรมเร่งนำผู้ประกอบการเจาะโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเจาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาเซียน เอเชียใต้ และแอฟริกา

อีกทั้งธุรกิจบริการ Digital Content ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยปีหนึ่งมีมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท ตลาดสำคัญได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอาเซียน และอีกหลายธุรกิจกำลังขยายตัว เช่น ธุรกิจบริการ เสริมความงาม และการแพทย์ (Wellness) รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องและสมุนไพร มีรายได้จากต่างชาติ ไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านบาท สินค้าสปา 1.3 พันล้านบาท เป็นต้น ปีหน้าจะมุ่งเน้นตลาดที่มีโอกาส ได้แก่ จีน CLMV ตะวันออกกลาง แอฟริกา

เอกชนฟันธงปีหน้าดีสุดโตแค่6%
หันมาสอบถามภาคเอกชน ต่างก็มีมุมมองแบบระมัดระวังมากกว่าภาครัฐ อย่าง นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสานพลังประชารัฐภาคเอกชน ด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ กล่าวถึงทิศทางการส่งออกไทยว่า ดูจากการส่งออก 9 เดือนแรกปี 2561 ยังโตอยู่ที่ 8.14% ถึงแม้การส่งออกเดือนกันยายนจะติดลบมากถึง -5.2% เนื่องจากการ
ส่งออกไปประเทศจีน ติดลบ 14% ผลจากส่งออกสินค้ายางพาราลดลงมาก และแรงผลักดันส่งออกสินค้าเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมาสูงกว่าปกติ ทำให้ส่งออกเดือนกันยายนแผ่วลง แต่ก็ยังเชื่อมั่นการส่งออกทั้งปี 2561 จะคงรักษาระดับได้ประมาณ 7-8% เนื่องจากสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและอาหาร ยังสามารถส่งออกในอัตราที่เติบโตได้ และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์
และชิ้นส่วนยานยนต์ Electronic และสิ่งทอ
ยังคงการเติบโตได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้

“ปี 2562 จากการประชุมภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรม มีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้น และคาดว่าการส่งออกจะชะลอตัว เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้าน เช่น ผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้า ไม่แค่สหรัฐ จีน แต่จะลามไปถึงประเทศต่างๆ จนกระทบให้เกิดการชะลอตัวเศรษฐกิจของโลก ต่างจับจองในเรื่องการเคลื่อนย้ายแหล่งทุน อัตราดอกเบี้ยโลกขาขึ้น ดังนั้น การส่งออกเติบโตปีหน้าน่าจะอยู่ได้ในระดับประมาณ 5-6%Ž” นายสนั่นกล่าว

เมื่อสำรวจการประเมินตัวเลขของภาคเอกชนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ล่าสุด ในเดือนตุลาคมนี้
พบว่า ประเมินส่งออกปี 2562 เติบโต 5.2% (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) มีมูลค่า 267,983 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2561 คาดเติบโต 7.6% และมีมูลค่า 254,705 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแยกเป็นส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ขยายตัว 3% มูลค่า 38,505 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีนี้คาดโต 7% สินค้าสำคัญ คือ ข้าว 0% ยางพารา 5% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 5% อาหาร 5% น้ำตาลลบ 7% จากปีนี้บวก 8% ลบ 24% บวก 11% บวก 16% และบวก 3% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เติบโต 6% มูลค่า 216,978 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปีนี้คาดโต 9% สินค้าสำคัญ ดังนี้ อิเล็กทรอนิกส์ 7% ยานยนต์ 5% เครื่องใช้ไฟฟ้า 5% เม็ดพลาสติก 6% อัญมณีและทองคำ 0% น้ำมันสำเร็จรูป 6% วัสดุก่อสร้าง 10% ผลิตภัณฑ์ยาง 10% เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ 5% สิ่งทอ 8% และเคมีภัณธ์ 6% จากปีนี้ 7% 12% 4% 16 % ลบ 6% 29% 12% 8% 10% 8% 25 % ตามลำดับ

ผู้ส่งออกชี้ปัจจัยรุมเร้าเพียบ
โดย น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้เหตุผลว่าทิศทางการส่งออกปี 2562 การส่งออกจะไม่เติบโตแบบหวือหวา และคงรักษาเอสเคิร์ฟการเติบโต 5% เนื่องจากฐานการส่งออกปี 2561 ฐานใหญ่ขึ้น ซึ่งโต 5% ถือว่าอยู่ระดับการขยายตัวที่ดีอยู่ แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้า โดยหากไทยได้รับผลกระทบทางตรงจากการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐ เช่น การใช้มาตรา 232 และมาตรา 201 โดยเฉพาะหากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนที่นำเข้ากับทั่วโลก คาดว่าจะทำให้การส่งออกไทย ซึ่งเป็นซัพพลายเชนสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบและอาจทำให้ตัวเลขการส่งออกขยายตัวต่ำกว่า 5% ได้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวว่า ความน่ากังวลของผู้ส่งออกคือปัจจัยเสี่ยงที่เริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะสถานการณ์ค่าเงินบาทผันผวนและแข็งค่า ค่าเงินภูมิภาคอ่อนค่ากว่าไทย จะส่งผลให้การส่งออกทั้งรายได้ และการเสียเปรียบคู่แข่งขัน ซึ่งค่าเงินบาทที่ผู้ประกอบการไทยรับได้อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ หรือบวกหรือลบไม่เกิน 0.5 สตางค์ รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทิศทางปรับตัวสูงขึ้น จนเริ่มกังวลขนส่งและสินค้าแพงขึ้น หากราคาน้ำมันดิบสูงเกิน 80 ดอลลาร์/บาร์เรล
จะเป็นผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกไทย และผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีจากการใช้มาตรา 232 และมาตรา 201 กับสินค้าเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซลส์ กลุ่มเหล็ก อะลูมิเนียม ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปตลาดสหรัฐลดลงยังมีอยู่ ส่วนกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าเฉพาะกับจีน และจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้ากับสหรัฐ ซึ่งได้ดำเนินการตอบโต้ระหว่างกันไปแล้ว และอาจเกิดขึ้นอีกปีหน้า ล้วนเป็นปัจจัยกดดันส่งออกไทยกลับมาเป็นขาลงในแง่อัตราเติบโตอีกครั้ง

ไม่ว่าส่งออกไทยในปี 2562 จะโต 8% หรือโตได้ 5% ก็ไม่เท่ากับว่ามูลค่าการส่งออกไทยนับจากนี้อย่าหลุดเดือนละ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพราะนั่นหมายถึงการถดถอยของการ
ส่งออกไทยแน่แล้ว

อีกเรื่องที่ต้องติดตามผลจากการเยือนประเทศจีน นำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ช่วงวันที่ 1-7 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ว่าจะมีคำมั่นระหว่างไทยกับจีน ต่อการเพิ่มการค้าการลงทุนสองฝ่าย และแนวทางความร่วมมือใหม่ที่จะฝ่าวิกฤตสงครามการค้าโลกไปด้วยกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image