พลิกล็อก! เคาะปมแย่ง ‘เฟิร์สต์คลาส’ แค่ ‘บกพร่องจริยธรรม’ ‘สุเมธ’ โค้งขอโทษ…จะไม่มีเหตุซ้ำ!!

เป็นกระแสข่าวครึกโครมอย่างต่อเนื่องเมื่อสัปดาห์ก่อน กรณีเครื่องบินของสายการบินไทยขึ้นบินล่าช้ากว่ากำหนด (ดีเลย์) ในเที่ยวบิน ทีจี 971 เส้นทางซูริก-กรุงเทพฯ เนื่องจากนักบินไม่ยอมนำเครื่องขึ้น เหตุจากนักบินที่โดยสารมากับเที่ยวบินนั้น เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในเที่ยวบินอื่นหลังจากนี้หรือปฏิบัติหน้าที่ในเที่ยวบินก่อนหน้านี้ (Passive Crew) ยืนยันจะนั่งชั้นเฟิร์สต์สคลาส ทั้งที่เที่ยวบินนั้นในชั้นเฟิร์สต์คลาสที่นั่งเต็ม ส่งผลให้ผู้โดยสารกว่า 300 คน ต้องนั่งรอเครื่องบินขึ้นนานเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่ง จนสุดท้ายมีผู้โดยสารสามี-ภรรยาคู่หนึ่งยอมสละที่นั่งที่จองไว้ล่วงหน้าให้นักบินได้นั่งแทน จึงสามารถนำเครื่องขึ้นบินได้นั้น

กระหึ่มนักบินแย่งที่นั่งชั้นหนึ่ง

ทันทีที่มีข่าวแพร่สะพัดออกไป ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทุกภาคส่วนถึงความไม่เหมาะสมของนักบินกันอย่างหนัก จนกลายเป็นกระแสดราม่าในเชิงตำหนิ และโจมตีนักบินเป็นจำนวนมาก จนทำให้ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษผู้โดยสารต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ในฐานะผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง และกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร จึงได้สั่งการให้เรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามระเบียบของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต

“ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ผมขอแสดงความเสียใจ และขออภัยต่อผู้โดยสารทุกท่านที่ทำให้ทุกท่านได้รับผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดความล่าช้า และขอโทษท่านผู้โดยสารที่ได้ผลกระทบโดยตรงจากการย้ายที่นั่ง ผมขอน้อมรับผิดต่อผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขณะนี้ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดมาตรการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในอนาคต”

Advertisement

ตั้งทีมตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ นายสุเมธยังได้เซ็นหนังสือตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่เกิดขึ้น โดยมอบหมายให้รองดีดีฝ่ายกฎหมายนั่งเป็นประธาน โดยเน้นย้ำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนที่วางไว้ และจะใช้เวลาในการสอบข้อเท็จจริงให้เร็ว ไม่ล่าช้า ไม่ต้องห่วง สำหรับระยะเวลาในการสอบข้อเท็จจริง สื่อก็พยายามคาดคั้นว่าจะเสร็จภายในกี่วัน นายสุเมธก็ยืนยันว่า ตนเองก็อยากรู้เช่นกัน หากตอบว่าสอบภายในวันนี้ เร็วไปก็ไม่ดี ตอบลวกๆ เพื่อให้มีคำตอบกับสังคมให้มีทางออกไป หากช้าเกินไปจะเกิดความคาดหวังทางลบจากสังคมเช่นกัน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีระเบียบการสอบอยู่แล้วเช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้น แต่ด้วยการมีผลกระทบรุนแรงต่อสังคม จึงต้องจัดการด้วยความระมัดระวัง ซึ่งก็ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการ

“ทุกคนก็ด่ากัน ก็เข้าใจ ผมเองก็อยากรู้สาเหตุเช่นกัน ผมเองยินดีรับทุกเรื่อง ไม่ได้คัดค้าน พอรู้เรื่องก็สั่งการทันที ให้รายงานมายังผู้บังคับบัญชา ขณะเดียวกันก็ต่อสายถึงหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม คุยกันถึงเที่ยงคืน ผู้หลักผู้ใหญ่สนใจหมดและต้องการคำตอบ ซึ่งผมเองก็รับปาก ในฐานะดีดีการบินไทย ผมปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องน้อมรับผิด ก็ขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเรียนว่าผมก็ไม่แฮปปี้กับเรื่องที่เกิดขึ้น ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องสอบทวนข้อเท็จจริง” นายสุเมธระบุ

Advertisement

เป็นสิทธิโดยธรรมเนียมปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นก็มีหลายคนอยากทราบว่า แท้จริงแล้วการนั่งชั้นเฟิร์สต์คลาส เป็นสิทธิของนักบินโดยอัตโนมัติหรือไม่ ก็มีแหล่งข่าวจากพนักงานการบินไทย ออกมาให้ข้อมูลว่า ในการปฏิบัติงานของคณะนักบิน มักจะได้นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสเป็นประจำ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เสมือนเป็นสิทธิของนักบิน ขณะที่นักบินที่ก่อเหตุดังกล่าวได้เดินทางไปซูริกด้วยเครื่องบินลำอื่นก่อนหน้า โดยไม่ได้แจ้งหรือประสานงานว่าจะขึ้นเครื่องบินทีจี 971 จึงไม่ได้กันที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสไว้ให้ จนเกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งมีความพยายามเจรจากันแล้วเพื่อไม่ให้เครื่องบินเกิดการล่าช้า แต่นักบินดังกล่าวยืนยันจะใช้สิทธิของตัวเอง ทำให้กัปตันประจำเครื่องต้องประสานมายังผู้บังคับบัญชาที่มีระดับสูงกว่าที่กรุงเทพฯ จนทำให้เกิดความล่าช้าอย่างที่เกิดขึ้น และสุดท้ายก็ยังไม่สามารถหาทางออกจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ กระทั่งมีการตัดสินใจเบื้องต้นว่าหากไม่สามารถนำเครื่องบินขึ้นบินได้ อาจต้องเปิดโรงแรมที่ซูริกให้ผู้โดยสารประมาณ 300 คนบนเครื่องบินเข้าพักแทน จนในที่สุดผู้โดยสารสามีภรรยาคู่ดังกล่าวยอมย้ายที่นั่งไปชั้นอื่นแทน จึงสามารถนำเครื่องขึ้นบินได้ หลังจากดีเลย์มากว่า 2 ชั่วโมง

กระทบภาพลักษณ์บินไทยมาก

ขณะที่ นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพการบินไทย (สร.กบท.) ออกมาตำหนิเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นกระทบกับภาพลักษณ์การบินไทยมากๆ เพราะฉะนั้น จึงตั้งคำถามว่าการบินไทยทำอะไรอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นมีระเบียบอยู่แล้ว แต่ทางนักบินจะต้องคำนึงถึงรายได้หรือผู้โดยสารก่อน หรือคำนึงถึงประโยชน์ของการบินไทยก่อนประโยชน์ส่วนตัวก่อนหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ ก็ระบุว่า หลังจากนี้จะมีการหารือกับฝ่ายบริหารของการบินไทย เพื่อวางแนวทางปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เนื่องจากมีขนาดใหญ่โตเกินไป แต่เป็นลักษณะหัวใหญ่ หางลีบ ต้องทำการลดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทับซ้อนกัน ซึ่งมีหลายหน่วยงาน แต่ไม่ได้หมายรวมถึงการปรับลดพนักงาน ซึ่งต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อลงรายละเอียดทั้งหมด ในส่วนของการปรับลดสิทธินักบิน เบื้องต้นคาดว่ายังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสิทธิของพนักงานการบินไทยมีเหมือนกับสายการบินอื่น ไม่ได้มีสิทธิพิเศษมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งมีบางส่วนได้น้อยกว่าสายการบินอื่นด้วยซ้ำ

เรื่องการให้สิทธิตั๋วบินฟรี หรือการมีสิทธินั่งในชั้นเฟิร์สต์คลาส มองว่าเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พนักงานที่ทำงานให้กับองค์กร เพื่อให้จงรักภักดีกับองค์กรนั้นๆ ซึ่งตั๋วบินฟรีที่ให้แก่พนักงานการบินไทย ต้องจองตั๋วเหมือนผู้โดยสารทั่วไป หากมีที่นั่งว่างก็ได้บิน แต่หากไม่มีก็ต้องรอไปก่อน ที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสของนักบินก็เช่นกัน หากไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ทำการขึ้นบิน ก็ต้องทำการจองที่นั่งเหมือนผู้โดยสารปกติ รวมถึงการต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าภาษีสนามบิน ไม่นับรวมตั๋วลดราคา 10-25% และพนักงานเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากมองภาพรวมแล้วพนักงานการบินไทยก็ไม่ได้สิทธิพิเศษมากมายเกินกว่าสายการบินอื่นเลย

แจงใช้สิทธิที่นั่งเฟิร์สต์คลาส

“ตามระเบียบการบินไทยให้สิทธิที่นั่งนักบินชั้นเฟิร์สต์คลาสกับนักบินที่โดยสารเครื่องบินเดินทาง ไม่ได้ให้เฉพาะนักบินที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ซึ่งหากนักบินต้องการเดินทางเป็นผู้โดยสารธรรมดาก็ต้องรอที่นั่งว่างจึงจะได้นั่ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลพบว่า ผู้โดยสารได้จองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ตมาแล้ว แต่มีคณะนักบินที่ต้องการเดินทางกลับไทย ซึ่งถือว่าอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นนักบิน โดยหากเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นทั่วโลกถือว่าทำเหมือนกันหมด เนื่องจากนักบินต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการขึ้นบิน แต่ในกรณีนี้คณะนักบินเพียงเดินทางกลับเท่านั้น จึงไม่ต้องมีเวลาพักผ่อนมากเท่านักบินที่ต้องขึ้นบินเลย รวมถึงโดยปกติแล้วจะมีการให้เวลานักบินพักผ่อนก่อนขึ้นบินครั้งต่อไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมง” นายดำรงค์ระบุ

นอกจากนี้ ยังคาดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากบุคคลในองค์กรซึ่งต้องหาทางแก้ไขอีกครั้ง ทั้งนี้ ในสหภาพมีสมาชิกที่เป็นนักบินอยู่ประมาณ 200-300 คน ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการที่นักบินรักษาสิทธิของตนเอง จนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่ก็ยังถือเป็นส่วนน้อยของจำนวนนักบิน 1,200 คน ที่อยู่ในการบินไทย โดยในขณะนี้ยังไม่มีการหารือเพื่อหามาตรการเยียวยาผู้โดยสารทั้ง 2 คน ที่ต้องเสียสละที่นั่งชั้นเฟิร์สต์คลาสให้กับคณะนักบิน เพื่อให้เครื่องบินสามารถขึ้นบินได้ แต่เบื้องต้นได้มีการดูแลผู้โดยสาร 2 คนในระหว่างการเดินทางกลับบนเครื่องบินเป็นพิเศษแล้ว ซึ่งหากจะมีการเยียวยาเพิ่มเติม คงต้องรอหารือร่วมกันอีกครั้ง

ยอมรับนักบินทำได้แต่ผมไม่ทำ

“เรื่องที่เกิดขึ้นถามว่านักบินสามารถทำได้ไหม ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิที่พึงมี แต่ในตอนนั้นควรทำหรือไม่ เพราะนักบินควรมีภาวะผู้นำมากกว่านี้ ควรต้องนึกถึงผู้โดยสารที่สร้างรายได้ให้กับองค์กรมากกว่าสิทธิของตนเอง ซึ่งข่าวนี้ไม่ได้ออกเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศก็เล่นข่าวนี้กัน ซึ่งถ้ามองเรื่องสิทธินักบินก็ทำได้ แต่ถามว่ามันต้องทำถึงขนาดนั้นเลยเหรอ เพราะถ้าเป็นผม ผมจะยอมอ่อนให้ผู้โดยสาร เพราะอย่างที่บอกว่าผู้โดยสารซื้อตั๋วมาแล้ว เอาเงินให้องค์กรไปแล้ว และเงินที่ได้ก็กลับมาเป็นเงินเดือนของนักบินเอง” นายดำรงค์ระบุ

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “เรื่องนี้ก็ต้องรอให้ทางการบินไทยสรุปข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย อาทิ นักบินที่อยู่บนเครื่อง และหัวหน้าสถานี ซึ่งเรื่องนี้มีระเบียบอยู่ โดยตอนนี้การบินไทยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องนี้แล้วว่าเหตุเกิดจากอะไร มีการจองตั๋วผิดพลาดหรือไม่ แต่หากมองในมุมผู้โดยสารถือว่าท่านไม่ได้เสียสิทธิ ซึ่งการเกิดดราม่าในครั้งนี้มองว่าเป็นการสร้างเหตุผลขึ้นมาเอง”

แห่ให้กำลังใจเชื่ออะลุ่มอล่วย

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ผลการสอบสวนยังไม่ออกมาทางกลุ่มนักบินและผู้ช่วยนักบินประมาณ 100 คนก็ได้นัดเดินทางไปที่สำนักงานใหญ่การบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อให้กำลังใจนักบินที่ถูกตรวจสอบ และให้กำลังใจผู้บริหารการบินไทยด้วย พร้อมออกมาให้สัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ประชุมกลุ่มนักบินมองว่าเกิดจากช่องว่างในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น การบินไทยจึงเตรียมทบทวนระบบต่างๆ ให้รัดกุมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร เพราะถ้าหากมีการประสานงานว่า ปัญหาดังกล่าวจะทำให้เครื่องบินล่าช้าถึง 2 ชั่วโมง ก็เชื่อว่าทุกฝ่ายจะตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและรีบตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเชื่อว่าผลการสอบสวนจะออกมาแบบอะลุ่มอล่วย เป็นความผิดพลาดจากระบบ เพื่อรักษาองค์กรไว้ เพราะถึงปัญหาดังกล่าวจะทำให้เกิดกระแสโจมตีการบินไทยอย่างหนัก แต่ต้องยอมรับว่าคนทั่วไปรับทราบปัญหาแค่บางส่วน ไม่ได้รับข้อมูลทั้งหมดของการบินไทยและแนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมการบิน

เปิดแถลงสรุปผลตรวจสอบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งครบกำหนด 7 วันในการตรวจสอบข้อเท็จในเรื่องดังกล่าวแล้ว ทางผู้บริหารการบินไทย นำโดยนายสุเมธก็ออกโรงเปิดแถลงข่าวผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและแนวทางการแก้ไขกรณีเที่ยวบินที่ ทีจี 971 ล่าช้าด้วยตัวเอง โดยระบุว่า หลังจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายมาให้ถ้อยคำแล้วนั้น คณะกรรมการสอบสวนฯได้สรุปว่า นักบินและผู้จัดการการบริการสนามบินซูริกหรือนายสถานีซูริกได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการปฏิบัติงานและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างกันเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่นั่งของ Passive Crew จึงส่งผลให้เกิดความล่าช้าของเที่ยวบินและส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร รวมทั้งทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์ขององค์กร

โดยผู้ปฏิบัติงานทั้ง 2 คน ไม่ได้คำนึงถึงการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ที่มุ่งเน้นการให้บริการแก่ผู้โดยสารเป็นลำดับแรก จึงสรุปได้ว่า “ผู้ปฏิบัติงานทั้งสองคนมีข้อบกพร่องด้านจริยธรรมตามคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ที่กำหนดให้พนักงานยึดมั่นและปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท” ความบกพร่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบริการผู้โดยสารและสร้างความเสียหายให้แก่บริษัท ดังนั้น บริษัทจะดำเนินการทางวินัยและพิจารณาบทลงโทษกับผู้ปฏิบัติงานทั้งสองคนตามระเบียบของบริษัทต่อไป นอกจากนี้ บริษัทจะดำเนินการเยียวยาผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวตามมาตรฐานสากล ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว

พร้อมแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

“ผมในฐานะผู้บริหารสูงสุดของการบินไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขอน้อมรับความผิดพลาดและขออภัยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมขอให้ความมั่นใจว่า บริษัทคำนึงถึงการรักษามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดและการให้บริการลูกค้าควบคู่กันไป ซึ่งบริษัทจะดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีการประสานงานที่เป็นหนึ่งเดียวโดยใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และเพื่อให้การบินไทยกลับมาทะยานสู่ฟ้าสมดั่งที่ทุกคนตั้งใจอีกครั้งหนึ่ง” นายสุเมธระบุ

พร้อมกันนี้ ยังระบุด้วยว่า ตลอดเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น ฝ่ายบริหารไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะสังคมมีการวิจารณ์เชิงลบกว้างขวาง เกิดภาพที่ไม่ดีต่อการบินไทย และมีการตอบโต้กันไปมาจากหลายฝ่าย ขอชี้แจงว่าเที่ยวบินดังกล่าวเกิดจากการการบินไทยมีการเปลี่ยนแบบเครื่องบินจากโบอิ้ง 777 เป็นโออิ้ง 747 ทำให้ผังการจองหรือผังการจัดสรรที่นั่งมีการปรับเปลี่ยนจากผังที่นั่ง 2 แบบ เป็น 3 แบบ โดยผังที่นั่งมีการโชว์ที่นั่งชั้น 1 (เฟิร์สต์คลาส) เพิ่มเติมเข้ามาด้วย นอกเหนือไปจากผังที่นั่งเดิมที่มีเฉพาะที่นั่งชั้นประหยัด และชั้นธุรกิจเท่านั้น ซึ่งผู้โดยสารสามารถมองเห็นที่นั้งชั้นเฟิร์สต์คลาสด้วย ผู้โดยสารจึงเลือกจองที่นั่งเฟิร์สต์คลาสจึงทำให้เกิดปัญหา โดยยืนยันว่าสถานีไม่ได้มีการอัพเกรดชั้นโดยสารให้กับผู้โดยสารแต่อย่างใด

เร่งเยียวยาผู้โดยสารทุกคน

ส่วนปัญหาความล่าช้านั้น เกิดจากการขาดการประสานงานของทั้ง 2 ฝ่ายที่ยึดหลักการปฏิบัติของตัวเอง ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มองว่า 2 ฝ่ายได้ปฏิบัติตามหน้าที่ตามคู่มือ และไม่ได้มีเจตนาทำให้เครื่องบินเกิดความล่าช้า แต่เกิดจากไม่ยอมประสานงานกัน ทำให้เครื่องบินออกล่าช้า 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่นักบินได้มีการเร่งทำเวลาทำให้เวลามาถึงปลายทางล่าช้าไปประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

สำหรับการเยียวยาผู้โดยสารเที่ยวบินดังกล่าวว่า จะมีการเยียวยาผู้โดยสารทั้งลำ โดยได้เริ่มเยียวยาตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาจร และที่เป็นสมาชิกอาร์โอพี โดยในส่วนของอาร์โอพีได้ติดต่อเพื่อการการชดเชยได้แล้ว เบื้องต้นจะมอบไมล์สะสมให้นำไปใช้ในเที่ยวบินถัดไป ส่วนผู้โดยสารที่ไม่ใช่สมาชิกอาร์โอพีอาจจะต้องเยียวยาในรูปแบบอื่น ซึ่งขณะนี้ได้พยายามเร่งติดต่อตามหาตัวผู้โดยสาร

“ตอนนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเพื่อกำหนดโทษต่อไป ซึ่งเป็นขบวนการภายใน ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาผมทำเรื่องนี้เต็มที่ ได้บทเรียนจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น วันนี้ขอทิ้งปัญหาทั้งหมดไว้ที่ซูริก เครื่องจะบอร์ดดิ้งแล้ว ขอให้ทุกคนรัดเข็มขัด เราจะบินออกจากซูริกไปแตะขอบฟ้า ผมและผู้บริหารการบินไทยทั้งหมดต้องขอโทษและขออภัยต่อผู้โดยสารและประชาชน หวังว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก”

จบประโยคนี้ปุ๊บ! หลายคนก็ใจชื้นขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง คงไม่ต้องหวาดผวาจะมีเที่ยวบินดีเลย์จากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันอีก ที่สำคัญกำหนดระยะเวลาสอบสวน 7 วันที่ลั่นวาจาไว้ถือว่าเที่ยงตรงอย่างมาก พร้อมท่วงท่าโค้งคำนับแสดงความขอโทษของผู้บริหารอย่างนอบน้อม ก็มั่นใจว่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ในระยะเวลาอันใกล้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image