‘กานต์ ตระกูลฮุน’ žชี้ช่องอัพเกรดเศรษฐกิจไทย

หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนาเรื่อง Transform (ทรานส์ฟอร์ม) เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.00-12.00 น. ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาจะได้เข้าใจทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาล และทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี และประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จะปาฐกถาพิเศษถึงทิศทางเศรษฐกิจไทย 2562 พร้อมกันนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับฟังมุมมองต่อนโยบาย Transform ประเทศไทย : คนทำธุรกิจคาดหวังอะไร

นายกานต์ ตระกูลฮุน ผู้บริหารมากฝีมือที่หลายรัฐบาลขอให้ร่วมทำงานในกรรมการต่างๆ เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์ มติชนŽ ถึงประเด็นการ Transform ประเทศไทย อัพเกรด เศรษฐกิจไทย ไว้ว่า

นโยบาย Transform มีความสำคัญต่อภาคเอกชน ภาครัฐ และประเทศไทย
จากที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าช่วยงานหลายรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์ เอสซีจีใช้นวัตกรรมในการพัฒนาสินค้า ยิ่งปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง สามารถก้าวผ่านไปได้ สิ่งหนึ่งที่ไทยต้องมีคือ นวัตกรรม เพื่อ Transform ประเทศ โดยการวิจัยพัฒนาไม่ใช่นวัตกรรม แต่หากเราสามารถนำมาปรับ มาใช้ นั่นคือ นวัตกรรม ที่ผ่านมาประเทศไทยมักเจอปัญหานวัตกรรมขึ้นหิ้ง แต่นำมาใช้ไม่ได้ จนตกรุ่น นำมาใช้ไม่ได้ หากนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ จนสามารถเพิ่มผลิตสินค้าที่ใช้นวัตกรรม เกิดรายได้ สร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร และจะเกิดนักวิทยาศาสตร์ในองค์กรมากขึ้น ในการวางยุทธศาสตร์ชาติ เริ่มเห็นหน่วยงานประสานการทำงานระหว่างกันมากขึ้น เพื่อผลักดันประเทศบนกรอบแนวทางที่วางไว้ ตามอำนาจและกฎหมายของตัวเอง

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ต้องรับมือดิจิทัล ดิสรัปชั่น องค์กร บุคลากรต้องปรับตัวอย่างรุนแรง ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ส่วนที่เกี่ยวกับผม เช่น คณะกรรมการ (บอร์ด) เอไอเอส ก็ไปเยี่ยมซิลิคอนแวลลีย์ ที่จีน ดูห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ส่วนตัวผมไปดูห้องแล็บที่ยุโรป ช่วงเวลาที่ทำงานผมเยี่ยมชมแล็บมาก น่าจะมากสุดในโลก ไปมาแล้ว 20 มหาวิทยาลัยทั่วโลก การหาข้อมูลตรงนี้ช่วยต่อยอดความคิดเราได้ดี อาทิ ไปดูบริษัท หัวเว่ย ปี 2016 ใช้งบอาร์แอนด์ดี 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่แอปเปิล
ใช้ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นว่าหัวเว่ยแซงบริษัท แอปเปิล พอปี 2017 หัวเว่ยใช้ 11,000-12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดขายทั่วโลก 90,000 ล้านเครื่อง ขนาดเอสซีจียังมียอดขาย 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่ถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สิ่งเหล่านี้เติบโตด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะองค์กรไหนก็เติบโตได้

Advertisement

หรืออย่างจีดีพี 10 ประเทศสำคัญของโลก พบว่า สหรัฐอันดับหนึ่งช่วงปี 1962 ตอนนั้นจีนยังไม่ติดอันดับ อันดับสองคือ เยอรมนี และต่อด้วยญี่ปุุ่น ต่อมาปี 1980 ญี่ปุ่นขึ้นมาอันดับสอง และปี 1990 จีนก็ยังไม่โดดเด่น จนเอสซีจีเข้าไปลงทุนในจีนปี 1995 และผมไปเยี่ยมจีนปี 1998-99 ไปขายธุรกิจเพราะเจอปัญหาเศรษฐกิจ ตอนนั้นจีนเบอร์ 10 ของโลก ตอนนั้นกรุงปักกิ่งรถน้อยเน้นปั่นจักรยาน แต่วันนี้จีนเติบโตเพราะเขาทุ่มด้านเทคโนโลยี หากไทยไม่ก้าวเข้าไปก็เสียโอกาส เราสามารถไปสู่ประเทศพัฒนาได้ เราต้องหวัง ถ้ารัฐและทุกภาคส่วนช่วยกัน และจะทำให้เศรษฐกิจดี รับภาษีมากขึ้น ก็นำมาดูแลประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

สิ่งสำคัญ คือ บรรยากาศต่างๆ ต้องดี ทั้งบรรยากาศการลงทุน การทำงาน การทำธุรกิจ และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ แม้ล่าสุดอันดับจะตกลงมานิดหน่อยจาก 26 เป็น 27 ก็ยังไม่น่ากังวลนัก รู้สาเหตุก็เข้าไปแก้ไข ถ้าติดเรื่องขั้นตอนการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ก็ต้องปรับปรุงจุดนี้ ปีก่อนอันดับไทยกระโดดมากถึง 20 อันดับ และคงรักษาระดับใกล้เคียงไว้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ลดแค่หนึ่งอันดับ มองว่าไม่มีนัยยะอะไร และยิ่งช่วยกันสะท้อนมุมดี
บรรยากาศการค้าและลงทุนก็จะดีตาม

ทิศทางการอัพเกรดประเทศไทย
บุคลากรภาครัฐ อาจยังติดในเรื่องข้อจำกัดหลายเรื่อง ด้านกฎระเบียบ กฎหมาย ขั้นตอนการทำงาน การเปลี่ยนแปลงอะไรจึงต้องใช้เวลา คงปรับไม่ได้รวดเร็วเหมือนองค์กรเอกชน คล่องตัวกว่า เป็นเรื่องต้องแก้ไข อย่างรัฐบาลเอสโตเนียลงทุนด้านดิจิทัลเกือบ 100% แนวนี้สามารถช่วยลดขั้นตอนการทุจริตได้ด้วย

Advertisement

ดังนั้น รัฐบาลไทยควรลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมเชื่อว่ารัฐบาลลงทุนด้านไอที 100,000 ล้านบาท ต่อเนื่องในระยะ 3 ปี เพื่อทำให้ระบบขั้นตอนต่างๆ ของภาครัฐมีความคล่องตัว ลดปัญหาด้านบุคลากรในแง่ต่างๆ ขณะที่เอกชนก็ต้องเดินหน้าเช่นกัน อย่างที่เอกชนได้ทำแล้วและสามารถลดต้นทุนด้านบุคลากรได้มาก

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การกำหนดอัตราค่าจ้างให้เหมาะสมให้กับผู้บริหารระดับสูงในระบบราชการ ใกล้เคียงกับผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชน เชื่อว่าการจ่ายอัตราเงินเดือนที่เหมาะสมจะเกิดประโยชน์มากขึ้น และคล่องตัว ต้องมาพร้อมกับการปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัว เราอาจไม่รอด ครั้งนี้จะเป็นการปรับตัวครั้งมโหฬาร แม้ที่ผ่านมาอาจล่าช้าไปแล้วก็ตาม

หากถามว่าการจะอยู่รอดต้องทำอย่างไร ผมว่าไม่ว่าองค์กรนั้นจะเล็กหรือใหญ่ ต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยี อย่างธนาคารต่างๆ ก็เริ่มลงทุนแล้ว นำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยเพื่อศักยภาพการทำงานและการให้บริการ ขณะที่ภาครัฐกระทรวงต่างๆ ควรลิงก์กันด้วยระบบดิจิทัล อย่างการประชุมกรรมการต่างๆ ของรัฐ ใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก็น่าจะคล่องตัวมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของประเทศหรือติดภารกิจต่างประเทศ ก็สามารถประชุมเพื่อให้งานได้รับการขับเคลื่อน ช่วยลดอุปสรรคได้มาก แต่เราก็ยังติดในเรื่องกฎหมายหลายเรื่องรัฐต้องเร่งตัดสินใจ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณด้านดิจิทัล และเร่งโครงการที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่กลับไม่มีงบประมาณ คงต้องปรับปรุง อย่างเอสเอ็มอีมีปัญหาไม่มีเทคโนโลยีเชิงลึก ต้องพึ่งมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพด้านนี้ แต่ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเข้ามาช่วยด้านนี้ เรื่องนี้ทำไม่ยาก เริ่มต้นสามารถเข้าไปช่วยเอสเอ็มอีลดต้นทุน

มุมมองต่อเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2562
ปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เริ่มส่งผลกระทบกับโลก ทำให้ตลาดหุ้นตก ตอนนี้จึงคาดการณ์ยากมาก อย่างไทยมีการค้ากับต่างประเทศมาก ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น อย่างเอสซีจีก็ได้รับผลกระทบบ้างแล้ว จนอาจต้องติดต่อผู้ค้าโดยตรง อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ที่จีนว่าจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาอาจมองว่าเจรจาได้ แต่สหรัฐทำก่อน

ความก้าวหน้าโครงการอีอีซีไปได้ดีนะ ตอนนี้โครงการเมกะโปรเจ็กต์เดินหน้าได้ มีทีโออาร์ออกมาแล้ว ทั้งรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และล่าสุดตัวเลขคำขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็คึกคักมาก มั่นใจว่าอีอีซีจะเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนของประเทศใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างการจ้างงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในบรรยากาศที่โลกมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า

อยากให้ดูช่วง 1-2 ปีข้างหน้า อีอีซีจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจประเทศ เพราะนักลงทุนหลายรายที่ได้คุยกัน ต่างเชื่อมั่นนโยบายนี้ อย่างเอสซีจีก็พร้อมลงทุน แต่ก็ต้องขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมด้วย เช่น บรรยากาศการเมืองต้องไม่มีความขัดแย้ง นักลงทุนต้องการเห็นการเมืองนิ่ง รวมถึงความต่อเนื่องของนโยบาย และหลายประเทศในอาเซียนก็เห็นความสำคัญ Transform ประเทศ ต้องเปลี่ยนไป อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือเมียนมา หากพิจารณาแล้วถ้ารวมใช้ความเป็นซีแอลเอ็มวีทีเชื่อมโยง ก็จะเติบโตไปด้วยกัน

เศรษฐกิจโดยรวมปี 2562 การบริโภคในประเทศน่าจะดีแน่นอน ล่าสุดยอดใช้ปูนซีเมนต์ 3 ไตรมาสปีนี้ 2561 เติบโตดีกลับมาเป็นบวก เชื่อว่าเป็นผลจากรัฐบาลลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ก็ดึงการลงทุนภาคเอกชนเริ่มเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกก็ยังต้องพึ่งพาอยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการไทยปัจจุบันมีศักยภาพระดับโลกแล้ว ก็น่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ ปีหน้าผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตกว่า 4% แน่นอน

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเคยเติบโตแค่ 0.7% นักเศรษฐศาสตร์หลายคนประเมินไทยจะเติบโตแค่ 2-3% ผมไม่เห็นด้วย หากเศรษฐกิจไทยจะโตแค่นั้น แสดงว่ารัฐกำลังเผชิญกับภาวะล้มเหลว มีการเมืองไร้เสถียรภาพ แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังเดินไปได้ เพียงแต่การเมืองไทยต้องนิ่ง ปรองดอง ต้องบูรณาการกันเพื่อประโยชน์ชาติ ก็จะดีต่อเนื่องในระยะยาว

สังคมสูงวัยไม่เป็นอุปสรรค Transform
เชิงเศรษฐกิจมีผลแน่นอน แต่หากเราดูตัวอย่างญี่ปุ่น เจอสังคมสูงวัยก่อนไทย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไม่ค่อยสูง แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นลงทุนเรื่องหุ่นยนต์ และให้คนสูงวัยทำด้านเซอร์วิส กลายเป็นเรื่องดี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการพบปะผู้บริหารเอสซีจีกับผู้บริหารบริษัท ดาว เคมิคอล ถึงประเด็นการปรับตัวของสหรัฐคล้ายกับประชารัฐของไทย แต่ต่างตรงที่สหรัฐจะใช้เอกชนล้วนในการทำโครงการเพื่อสังคม และใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ดิสรัปทีฟ ช่วง 10 ปีข้างหน้า

กรณีผู้สูงอายุในสหรัฐ จะเปลี่ยนความคิดพวกเขาอย่างไร ให้ลดความกลัวในการใช้เทคโนโลยี แล้วเปลี่ยนเป็นความกล้า ให้เหมือนเด็กพร้อมทดลองสิ่งต่างๆ เพราะเข้าใจว่าผู้สูงอายุจะมีความกลัว กลัวว่ากดปุ่มต่างๆ แล้วจะผิด เครื่องจะเสีย แต่สิ่งเหล่านี้ต้องปรับ ต้องเรียนรู้ หากเปลี่ยนตรงนี้ผู้สูงอายุก็สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้ สามารถควบคุมหุ่นยนต์ ส่วนประเทศไทยถ้ามีผู้สูงอายุ 20% หรือคิดเป็น 10 กว่าล้านคนก็ไม่ยาก

อีกประเด็นต้องปรับ คือ ระบบของมหาวิทยาลัยต้องปรับหลักสูตร ต้องเปิดการเรียนการสอนผ่านระบบดิจิทัล เพื่อสร้างความสะดวก สร้างมาตรฐาน และมีการสร้างสตาร์ตอัพ พบว่ามหาวิทยาลัยมีการปรับตัวอย่างมาก และใช้ประโยชน์จาก 4จี

แนวทางทั้งหมด ทุกภาคส่วนของไทยต้องรับมือและเร่งปรับตัว เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจไม่ทันการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image