‘สมคิด’ ลั่นปี’62 ปีทองการลงทุนไทย

หมายเหตุน.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจจัดงานสัมมนา “Thailand 2019 เมื่อคนเปลี่ยน แลนด์สเคปธุรกิจโลกเปลี่ยน ธุรกิจไทยจะก้าวไปอย่างไร” ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบ็งคอก (เพลินจิต) มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตามด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเศรษฐกิจ ธุรกิจ ร่วมบรรยายพิเศษ ได้แก่ นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน และนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)


 

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี

หากมองประเทศไทย ปี 2019 (2562) ก็เหมือนทุกปีที่กราฟมีขึ้นลง อย่าดูปีต่อปี จะต้องมองไกล ถ้าสนใจเฉพาะระยะสั้นประเทศไม่มีทางจะพัฒนาไปไหน ดังนั้น ให้มองไปข้างหน้า มีความอดทน โฟกัสให้ชัด ทั้งฝ่ายรัฐบาลและเอกชน สำหรับปี 2019 จะเป็นปีที่สำคัญมาก ไม่ใช่เชิงว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะโตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นปีที่มองเห็นโอกาสมาอยู่หน้าประตูบ้าน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงทั้งในประเทศและความเสี่ยงจากในโลก แต่ขณะนี้โฟกัสของโลก คือ เอเชีย และในเอเชียประเทศที่มีความสำคัญ คือ จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจทั้งสองประเทศเป็นกำลังหลักสำคัญขับเคลื่อนเอเชีย ในฐานะผู้บริหารเศรษฐกิจต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับสองประเทศ และต้องก้าวลึกไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้คนอื่นตามทัน

Advertisement

ในส่วนของจีนนั้น ไทยและจีนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น โดยตั้งแต่ 15 ปีที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (เจซีเศรษฐกิจ) ซึ่งมีแผนที่จะยกระดับความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้นเป็นระดับกระทรวงกับกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นการค้า ดิจิทัล และจะร่วมมือลงลึกไปยังอนุภูมิภาคของจีนมากขึ้น เพราะจีนมี 11 มณฑล นำโดยปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนสิน กวางตุ้ง และยังมีฮ่องกง มาเก๊า ทั้งนี้ ประเทศจีนมียุทธศาสตร์เบลต์แอนด์โรด หรือการเชื่อมจากจีนไปยังประเทศต่างๆ โดยใช้เส้นทางรถไฟ ที่จะทำให้เกิดการค้าขายตามเส้นทางตามมาด้วย คิดว่ามีประโยชน์กับไทยสูงที่สุด แม้จีนจะมีความขัดแย้งกับมาเลเซีย แต่ภายใต้การเมืองที่อึมครึม ไทยเป็นศูนย์กลางซีแอลเอ็มวีที เมื่อยุทธศาสตร์เบลต์แอนด์โรดผ่านไทยแม้ยังไม่ผ่านมาเลเซีย จะช่วยเติมเสน่ห์ให้ไทย เมื่อเชื่อมโยงถึงชุมพร สุราษฎร์ธานี ไทยจะมีการเชื่อมต่อรางคู่ไปยังระนองเพื่อเชื่อมออกอันดามัน เป็นการเชื่อมสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เชื่อว่าโครงการนี้ จีนและญี่ปุ่นจะเห็นประโยชน์ หากโครงการนี้เกิดก็ไม่ต้องขุดคอคอดกระ

ล่าสุดนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กับนายชินโสะ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น มีแผนจะร่วมกันลงทุนในประเทศที่สาม เพื่อพัฒนาประเทศที่สามเจริญยิ่งขึ้น หลังมีสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้ญี่ปุ่นร้อนๆ หนาวๆ คำพูดของนายกฯ อาเบะ บอกว่าเป้าหมายสำคัญคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยคือหนึ่งในนั้น และเอ่ยถึง อีอีซี เรียกได้ว่าวุ้นที่เราพยายามสร้างขึ้นมา 2-3 ปี ที่ไทยพยายามสร้างให้เห็นว่าไทยมีความสำคัญยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้าไปอยู่ในใจผู้นำทั้งสองประเทศแล้ว ถ้าเราไม่สามารถต่อยอดก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ดังนั้น ในปี 2019 จึงเป็นโกลเด้นเยียร์ของไทยของการลงทุน

สำหรับไทยนั้น ถ้าสามารถพัฒนาตัวเองป็นศูนย์กลางภูมิภาคกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และไทย (ซีแอลเอ็มวีที) ที่มียุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (แอคเม็กส์) ร่วมกัน และในการประชุมที่เกิดขึ้นล่าสุด ไทยได้ประสานให้ทุกประเทศมีจัดทำยุทธศาสตร์ของแอคเม็กส์ ทำให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นและเป็นจุดสนใจทั้งสองยักษ์ใหญ่ ที่จะสามารถใช้ไทยให้เกิดประโยชน์

ในปี 2019 คาดว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) และความร่วมมือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) จะยิ่งเพิ่มความสำคัญให้กับอาเซียนและไทย ได้หารือกับผู้ว่าการเกาะฮ่องกงเดิมทีจะไปตั้งศูนย์กลางการค้าที่เวียดนาม ได้ขอให้มาตั้งที่เมืองไทยซึ่งฮ่องกงเอาด้วย หลังจากเปิดศูนย์แล้วการค้าการลงทุนจากฮ่องกงจะหลั่งไหลผ่านมาที่ไทย ดังนั้น สงครามการค้าที่เกิดขึ้นอาจจะสร้างปัญหาแต่ก็สร้างโอกาสให้ไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่มาก ในมุมมองของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน บอกว่า จีนเป็นมหาสมุทรต้องเผชิญพายุลูกแล้วลูกเล่าถ้าไม่เจอพายุก็ไม่ใช่มหาสมุทร และกว่าพันๆ ปีจีนเจอพายุก็ผ่านมาได้ มองว่านี่เขาสะท้อนว่าเขากำลังต่อสู้กับสงครามการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อเศรษฐกิจจีน ไม่เฉพาะกับธุรกิจแต่คนจีนเริ่มรัดเข็มขัด

อย่างไรก็ดีประเทศไทยแม้เป็นประเทศเล็กต้องไม่ประมาท เพราะการส่งออกชะลอตัวลงมาแล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม เรื่องนี้เป็นคำพูดที่ซีเรียสไม่ใช่เรื่องการหาเสียง เราจะต้องสู้ เพราะไทยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าจะเจอพายุกี่ร้อยปีก็อยู่ได้ แต่ต้องสู้เหมือนจีน ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวมีการอนุมัติฟรีวีซ่า 21 ประเทศ คนจีนมีความอ่อนไหวต่อราคา เมื่อฟรีมาแน่ รวมถึงให้มี Thailand Grand Sale ประคองการท่องเที่ยวเอาไว้ เพราะการท่องเที่ยวไปถึงรากหญ้า

ความเสี่ยงข้อสำคัญ กำลังส่องมาที่ประเทศไทยคือเรื่องเลือกตั้ง ต่างประเทศไม่สนใจว่าเลือกหรือไม่เลือก แต่สนใจต่อเนื่องเชิงนโยบายหรือไม่ ไม่อยากไปลงทุนกับประเทศที่เปลี่ยนรัฐบาลแล้วเปลี่ยนนโยบาย ไม่อยากไปประเทศที่มีจลาจลอยู่ท้องถนน ปีหน้าเป็นปีที่เราเป็นประธานอาเซียน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราเป็นประธานอาเซียน มีดราม่าละครที่ยิ่งใหญ่เรามีม็อบไปปิดโรงแรม ผู้นำต่างประเทศขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีแทบไม่ทัน คราวนี้ขอเลย หนังเรื่องนี้สร้างซ้ำไม่ได้ สร้างซ้ำโอกาสไทยจะหมด การเลือกตั้งต้องเป็นเลือกตั้งที่สมูท แข่งขันกัน ด่ากันพอประมาณ ให้มันสนุกสนานไป สู้กันในเกมไม่ว่าพรรคไหน แต่คำนึงว่าเราเป็นประธานเจ้าภาพอาเซียนเป็นเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอย่าให้อะไรเกิดขึ้นบนถนน เราเป็นน้ำเจ้าพระยาแต่อย่าให้ท่วม กทม.แล้วกัน ปี 2019 เป็นแค่หนึ่งปี ถ้าเราทำได้ดีจะไปได้ดี ถ้าทำไม่ดีโอกาสจะหาย ความเสี่ยงจะเป็นเรื่องใหญ่ ของทุกคน

 

ชฎาทิพ จูตระกูล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด

ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจประเภทใด ก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายเหมือนกัน เพียงแต่ธุรกิจประเภทการค้ามักมีปัจจัยกระทบหลายด้านมากกว่า โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเปลี่ยนแปลงในด้านของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เองด้วย นับตั้งแต่ 33 ปีก่อนที่จะได้เข้ามาดูแลและบริหารศูนย์การค้าในเครือของบริษัท อาทิ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้าเหล่านี้ล้วนเจอกับช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตและความท้าทายมาแล้วมากมาย แต่ยังยืนหยัดและผ่านพ้นมาได้หมด ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตค่าเงินบาท ภาวะเศรษฐกิจผันผวน เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหรือการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เพียงแต่ดิจิทัลดิสรัปชั่นในปัจจุบันเท่านั้นที่เราต้องผ่านไปให้ได้ เพราะเราผ่านมาได้หลายเหตุการณ์มากในอดีต โดยตั้งแต่อดีตปัจจุบันและอนาคต การดำเนินธุรกิจทำมาโดยมีการรับผิดชอบคู่ค้าและพนักงานที่ทำงานร่วมกัน และสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและคู่ค้าที่อยู่ร่วมกันทุกคน จำนวนหลายพันชีวิต

6 ปีก่อนตอนนั้นเราประกาศการลงทุนสร้างไอคอนสยาม ท่ามกลางวิกฤตเหตุการณ์ทางการเมืองไม่สงบในประเทศ เป็นการทำงานที่ยากและท้าทายมากในการที่จะดึงความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ให้เข้าใจและกล้าเข้ามาลงทุนด้วยกัน โดยสิ่งที่ทำให้ผ่านจุดนั้นมาได้คือ เราต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย เชื่อมั่นว่าต้องทำได้ จึงสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ทั้งที่มีเสียงสะท้อนดูถูกว่าทำไม่ได้มากมาย โดยการทำธุรกิจรีเทลไม่มีวันสิ้นสุด เพราะตลาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที มีการบ้านให้คิดตลอดและมีโจทย์ให้แก้ปัญหาตลอด สอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของสยามพิวรรธน์ จะทำในสิ่งที่เหมือนเดิม ไม่ทำซ้ำหรือลอกเลียนใคร สิ่งที่จะทำจะต้องออกแบบเองเป็นครั้งแรกเท่านั้น อาทิ สยามเซ็นเตอร์ ที่สร้างขึ้นมาเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในเมืองไทยเมื่อ 45 ปีก่อน หรือสยามพารากอนเมื่อ 13 ปีก่อน ที่เราสามารถทำให้คนทั่วโลกเห็นถึงความสำเร็จในการเป็น Pride of bangkok ติดอันดับในโกลบอลที่ทุกคนต้องมา และล่าสุดกับโครงการสยามไอคอมที่มีงบในการลงทุนกว่า 54,000 ล้านบาท และการที่ตั้งชื่อไอคอนสยามเพราะต้องการให้มีสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยนี้ และนำไปสู่การแข่งขันของทั่วโลก

ไอคอนสยามกับการพัฒนาเมือง อย่างแรกต้องเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานรูปแบบใหม่ ไม่สามารถนึกถึงแต่บริษัทของตนเองส่วนเดียวเท่านั้นได้ เนื่องจากการสร้างสิ่งใดขึ้นมาสักอย่าง ต้องมีผลกระทบต่อทั้งภาคส่วนในพื้นที่ที่จะสร้างอยู่แล้ว ทำให้ต้องมีการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้โครงการของเราส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ส่วนนั้น โดยมีการวางแผนร่วมกับชุมชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ การวางแผนร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนในพื้นที่รวมถึงสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในน้ำ การสร้างคอมมูนิตี้สเปซริมแม่น้ำ การมาของไอคอนสยามเป็นการเปิดพื้นที่ในการเข้าถึงบรรยากาศริมแม่น้ำ และจะมีการเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการพื้นที่ริมแม่น้ำได้ ถึงแม้ว่าศูนย์การค้าจะยังไม่เปิดให้บริการ แต่จะมีการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางเข้ามาใช้บริการพื้นที่ริมแม่น้ำทำกิจกรรมตามต้องการได้ และการสร้างจุดเชื่อมต่อของการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ นำนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ในการเดินทางทางเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้เรือในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม การจะให้เอกชนมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราคิดและทำตามแนวคิดของเราเองคือ เป็นการลงทุนจากภาคเอกชนที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ การลงทุนทำโครงการไอคอนสยาม ใน 5 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 5 แสนอัตรา มีเม็ดเงินลงสู่รถไฟฟ้าสายสีทองและท่าเรือจำนวนกว่าพันล้านบาท เป็นส่วนช่วยในการพัฒนาระบบขนส่งของไทย การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งหากมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่เกิดขึ้น เชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอนโครงการไอคอมสยาม โมเดล เป็นแนวความคิดใหม่ในการทำธุรกิจสู่ความยั่งยืนร่วมกันทุกภาคส่วน

ในยุคของดิจิทัลดิสรัปชั่น ผู้ประกอบการทุกคนต้องเปลี่ยนแนวความคิด เพื่อสร้างการอยู่รอดของตนเอง อย่างในไอคอนสยามเอง เรามีเรื่องเล่าประมาณ 1 ล้านเรื่องเล่า ที่สามารถดูเรื่องเล่าเหล่านี้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไอคอนสยาม ที่จะช่วยให้ความรู้และเสริมข้อมูลให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ทำให้สามารถมาเที่ยวไอคอนสยามได้อย่างมีความเข้าใจในทุกรายละเอียดของเรื่องเล่าที่มีทั้งหมด โดยไม่ว่าจะมีการดิสรัปชั่นมากขนาดไหน ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นชีวิตจริงที่ไม่ได้อยู่บแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น แต่เป็นการใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริง ที่หากโลกเปลี่ยน พฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเกิดการพัฒนาสิ่งใหม่มากขึ้น มีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งผู้ประกอบการเองต้องตามสิ่งเหล่านี้ให้ทัน ต้องทำงานหนักขึ้น และคิดให้มากขึ้น โดยโครงการไอคอนสยาม ก็เป็นโครงการรูปแบบใหม่ที่สร้างออกมาตอบสนองความต้องการของคนทุกคน ไม่ได้ตอบโจทย์ว่าเราต้องการสร้างอะไร แต่เป็นการตอบโจทย์ว่าเราต้องการสร้างออกมาเพื่ออะไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image