ตรวจแถว…ความพร้อมประเทศไทย 5G …กับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

หลังจากที่ “บ้านเรา” ขยับตัวเรื่อง 5G แบบเนิบๆ อยู่พักใหญ่ ปล่อยให้หลายประเทศจัดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 กันอย่างคึกคัก อาทิ ประเทศอังกฤษ ที่จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3.4 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อเดือนเมษายน 2561 ประเทศเกาหลีใต้ จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3.5 กิกะเฮิรตซ์ และ 28 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ประเทศออสเตรเลีย จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3.6 กิกะเฮิรตซ์ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 สหรัฐอเมริกา จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 24 กิกะเฮิรตซ์ และ 28 กิกะเฮิรตซ์ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ประเทศเยอรมนี จะจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3.6 กิกะเฮิรตซ์ ในช่วงปลายปี 2561 และประเทศ

สวิตเซอร์แลนด์ จะจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700, 1400 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 2.6 กิกะเฮิรตซ์, 3.5-3.6 กิกะเฮิรตซ์ และ 3.6-3.8 กิกะเฮิรตซ์ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ทั้งนี้ คาดว่าจากนี้ประเทศอื่นๆ จะทยอยนำคลื่นความถี่ที่เหมาะสมออกมาประมูล เพื่อรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ประเทศได้รับผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านอุตสาหกรรม

“กสทช.”ไฟเขียวร่างหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่น

ฝั่งผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ในบ้านเรา อย่าง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” แจงว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่ที่ถือเป็นสมบัติของชาติ ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานรัฐ ทำให้ที่ผ่านมา กสทช.ได้แต่เพียงนำคลื่นความถี่ที่หมดอายุสัมปทานออกมาประมูล กระทั่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 ตามมาตรา 27 (12/1) ระบุให้ กสทช.มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นความถี่ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า และคลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น จากผู้ได้รับใบอนุญาต เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช.ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ที่ประชุม กสทช.มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นความถี่ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า และคลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ซึ่งได้ปรับปรุงร่างประกาศจากการนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยในขั้นตอนต่อไปเตรียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อให้มีผลบังคับใช้การเรียกคืนคลื่นความถี่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายหลังประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวลงราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) คลื่นความถี่ย่าน 3400-3500 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ 26-28 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ขณะที่ คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่ไม่ต้องใช้ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ เนื่องจากสำนักงาน กสทช.สามารถเรียกคืนได้ทันที ดังนั้น ที่ประชุม กสทช.จึงมีมติให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยเฉพาะ ซึ่งมี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช. เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าขั้นตอนการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ ที่ยังมีการใช้งานในกิจการทีวีดิจิทัล การเรียกคืนจึงต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบกับประชาชนผู้รับชมทีวีดิจิทัล ทั้งนี้ จะให้กิจการทีวีดิจิทัลย้ายไปใช้งานบนคลื่นความถี่ย่าน 470 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันอยู่กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ขั้นตอนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ สำนักงาน กสทช.จะจัดทำรายงานวิเคราะห์ประเมินว่าจะเรียกคืนคลื่นความถี่ย่านใดเป็นลำดับแรก โดยหลังจากนั้นจะว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสถาบันวิจัยของรัฐ หรือสถาบันวิจัยที่ไม่แสวงหากำไร อย่างน้อย 3 ราย มาทำการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน สำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่

Advertisement

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าตลอดกระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่ จะใช้เวลาอย่างช้าที่สุด 270 วัน นับจากวันที่มีบทวิเคราะห์ และจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 150 วัน (กรณีที่ผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ไม่โต้แย้งใดๆ) โดยหลังจากเรียกคืนคลื่นความถี่ได้แล้วนั้น กสทช.จะนำมาจัดสรรผ่านการประมูลต่อไป ทั้งนี้ คาดว่า กสทช.จะเปิดการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2562 โดยก่อนการประมูลจะเกิดขึ้น กสทช.จะทบทวนหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ รวมถึงมูลค่าคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยอาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในส่วนของการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จะมีการขยายเวลาออกไป

รวมถึงการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ผู้ถือครองพร้อมคืนคลื่นหนุนรัฐใช้ประโยชน์

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อสมท ยินดีที่จะสนับสนุนการนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะมีการเรียกคืนคลื่นความถี่เท่าใด และเมื่อคืนคลื่นความถี่ไปแล้ว จะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างไร อีกทั้ง จะมีการแบ่งสัดส่วนคลื่นความถี่ให้ อสมท นำไปใช้งานต่อได้หรือไม่อย่างไร รวมถึงจะมีการกำหนดอัตราค่าชดเชยในการเรียกคืนคลื่นความถี่อย่างไร โดยต้องเข้าใจถึงบริบทของเทคโนโลยีและมิติของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปประกอบด้วย

“เนื่องจาก อสมท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงต้องแจ้งการคืนคลื่นความถี่ให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบด้วย ทั้งนี้ สำหรับประเด็นการใช้งานคลื่นความถี่ควรต้องพิจารณาถึงบริบททางสังคมด้วย ส่วนการกำหนดกรอบว่าคลื่นความถี่ที่จะที่จะเรียกคืน เป็นคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เป็นการตีความที่กว้างเกินไป อย่างไรก็ตาม อสมท คงต้องหารือในประเด็นนี้กับ กสทช.ด้วย เพราะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นที่สามารถนำไปหลอมรวมกับกิจการโทรคมนาคมได้ ซึ่ง อสมท คิดตรงกันกับ กสทช.ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด และหน่วยงานของรัฐ เช่น อสมท ที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นสูงสุดก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน” นายเขมทัตต์กล่าว

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ให้ความสำคัญกับการผลักดันระบบ 5G ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ผ่านการจัดสรรคลื่นความถี่ในอดีต ตลอดจนการจัดสรรคลื่นความถี่ต่อเนื่องในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ย่าน 700, 2600, 3500 เมกะเฮิรตซ์ และ 28 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่ใช้ในระบบ 5G ทั้งสิ้น ถึงอย่างไร 5G ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ด้านบวก แต่ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นจาก 5G ด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“การเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยี 5G จะไม่ส่งผลกระทบแต่ในแง่ของเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต ซึ่ง 5G จะสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ในชีวิตประจำวันของประชาชนให้มีความสะดวกสบายขึ้น โดย 5G มีประสิทธิภาพในการรองรับอุปกรณ์ที่หลากหลาย ต่างกับเทคโนโลยี 3G และ 4G ขณะที่การขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ไม่ใช่แค่ภารกิจของภาครัฐ แต่ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน โดยรัฐมีบทบาทอำนวยความสะดวกให้เกิดนวัตกรรมของเอกชน”

“เอไอเอส”นำทีมแสดงเทคโนโลยี 5G ก่อนใคร

ด้านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จึงไม่รีรอ ยื่นเรื่องขอทดสอบ 5G และได้รับอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์เพื่อดำเนินการสาธิต 5G จาก กสทช. เมื่อเดือนตุลาคม 2561 พร้อมทั้งยื่นเรื่องขอดำเนินการสาธิต 5G ให้กับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม โดยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติอนุญาตให้เอไอเอสใช้คลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อสาธิตเครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับแสดงเทคโนโลยี 5G เป็นการชั่วคราว ในงาน “5G เดอะ เฟิร์ส ไลฟ์ ไทยแลนด์ บาย เอไอเอส” ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม 2561 ณ เอไอเอส ดีซี ชั้น 5 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม โดยใช้กำลังส่งเพื่อการทดสอบไม่เกิน 200 มิลลิวัตต์ อีกทั้งอนุญาตให้บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคม ตราอักษร NOKIA รุ่น AEUA และตราอักษร Intel รุ่น Intel MTP จำนวนรุ่นละ 1 ชุด ด้วย

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส เปิดเผยว่า ภายในงาน 5G เดอะ เฟิร์ส ไลฟ์ ไทยแลนด์ บาย เอไอเอส มีการสาธิตผ่าน 5 รูปแบบนวัตกรรมสุดล้ำ ประกอบด้วย (1) 5G ซุปเปอร์สปีด โดยการแสดงศักยภาพที่สำคัญของเครือข่าย 5G เช่น ความเร็วในการรับส่งสัญญาณ และความหน่วง (2) 5G อุลตร้า โล เลเทนซี่-โคเพอเรทีฟ คลาวด์ โรบอท การสาธิตประสิทธิภาพการตอบสนองที่รวดเร็วของเครือข่าย 5G โดยการใช้หุ่นยนต์สามตัวในการหาจุดสมดุล ที่ทำให้ลูกบอลอยู่กึ่งกลางกระดาน การสาธิตแสดงเวลาที่หุ่นยนต์ใช้ในการหาจุดสมดุลผ่านการสื่อสารระหว่างกันโดยใช้เครือข่าย 4G เปรียบเทียบกับเครือข่าย 5G

ขณะที่ (3) 5G ฟอร์ อินดัสทรี 4.0 คือ หุ่นยนต์จะมีบทบาทอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 การทำงานร่วมกันของเครื่องจักรจากหลายสายการผลิตต้องการการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความหน่วงต่ำและความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งจะทำให้สายการผลิตทำงานได้เร็วขึ้น ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น (4) 5G วิชวล เรียลิตี้-แอมเมอร์ซีฟ วิดีโอ การสาธิตการดูวิดีโอที่แสดงสภาวะเสมือนจริง ผ่านเครือข่าย 5G ผู้ที่ใส่แว่นตาวีอาร์ จะสามารถมองเห็นได้รอบด้าน 360 องศา การดูวิดีโอ วีอาร์ ที่มีความคมชัด ต้องการ แบนด์วิธที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการถ่ายทอดสด หรือไลฟ์ สตรีมมิ่ง และ (5) 5G ฟีฟ่า วิชวล เรียลิตี้ ทดลองความเร็วของเครือข่าย 5G ด้วยตัวคุณเอง โดยการเตะลูกบอล วิชวล เรียลิตี้ ที่จุดโทษผ่านเครือข่าย 5G

“เชื่อว่า 5G จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพจากคุณสมบัติ 3 ส่วน ได้แก่ การยกระดับความเร็วการใช้ดาต้าที่เน้นความเร็ว, การขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ โดยเน้นสนับสนุนอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ที่จะถูกนำมาใช้อย่างมหาศาล และเพิ่มคุณภาพเครือข่ายให้สามารถตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด เน้นประสิทธิภาพความเร็วในการตอบสนอง ที่จะตอบโจทย์รูปแบบการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางการแพทย์ หรืออุตสาหกรรมยานยนต์” นายวีรวัฒน์กล่าว

“ทรู”เร่งเครื่องทดสอบ 5G ที่ไอคอนสยาม

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติอนุญาตให้ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้คลื่นความถี่ย่าน 28 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อสาธิตเครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับแสดงเทคโนโลยี 5G เป็นการชั่วคราว ในระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม 2561 ณ ทรู แบรนดิ้ง ช็อป ไอคอนสยาม โดยใช้กำลังส่งเพื่อการทดสอบไม่เกิน 200 มิลลิวัตต์ พร้อมทั้งอนุญาตให้บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคม ตราอักษร HUAWEI รุ่น AAU5G28A (AAU28A) จำนวน 2 ชุด และตราอักษร HUAWEI รุ่น 5G CPE จำนวน 4 ชุด พร้อมอุปกรณ์ประกอบ เพื่อนำมาใช้ในการจัดแสดง และสาธิตดังกล่าว

นายภัคพงศ์ พัฒนมาศ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทาง ทรูมูฟ เอช อยู่ระหว่างการนำเข้าอุปกรณ์ 5G ที่ได้คัดเลือกไว้ รวมถึงการจัดเตรียมรูปแบบการใช้งานจริง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดการสาธิตเทคโนโลยี 5G ได้ในอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ ณ ทรู แบรนดิ้ง ช็อป ไอคอนสยาม ส่วนรายละเอียดรูปแบบของนวัตกรรมที่จะนำมาจัดแสดงนั้น ไม่สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูลได้ ทั้งนี้ จะเน้นทดสอบการใช้งาน 5G ที่มอบประสบการณ์ตรงให้ประชาชนได้ทดลองประสบการณ์จริง ในรูปแบบการใช้งานทั้งในชีวิตประจำวันและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

“ดีแทค”รอ กสทช.อนุญาตทดสอบ 5G

ด้าน นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคได้ทำเรื่องขออนุญาตทดลองระบบ 5G ไปยัง กสทช. เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 จึงยังอยู่ระหว่างการขออนุญาต และไม่สามารถที่จะเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ได้ทันในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะทำการทดลองในพื้นที่ใด แต่จะมีการพิจารณาต่อไปในภายหลัง ทั้งนี้ ดีแทคอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สำคัญ โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เพื่อพัฒนาระบบแจ้งพิกัด ซึ่งเป็นระบบที่นำไปประยุกต์ใช้งานดิจิทัล ในการระบุพิกัดสถานที่ต่างๆ และตำแหน่ง ที่มีความแม่นยำสูง ลดข้อผิดพลาดด้วยสัญญาณเชื่อมต่อจากโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียม ให้แม่นยำได้ถึงระดับเซนติเมตร โดยโครงการดังกล่าวเกิดจากโครงข่ายดีแทคในระยะเวลา 3 ปี จนถึงเดือนกันยายน 2564 พร้อมทั้ง ตั้งเป้าสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G เพื่อรากฐานบริการเชิงตำแหน่ง นำมาสู่ทุกนวัตกรรมดิจิทัลที่กำลังถูกออกแบบพึ่งพาการใช้ข้อมูลจากค่าพิกัดที่ต้องการความแม่นยำสูง และด้วยโครงข่าย 5G จะเชื่อมต่ออุปกรณ์นับล้านชิ้นไว้ด้วยกันจึงต้องมีแพลตฟอร์มที่พัฒนา เพื่อรองรับการตอบสนองสัญญาณแบบเรียลไทม์ และด้วยจุดเด่นค่าความหน่วงสัญญาณที่ต่ำ พร้อมทั้ง ดีแทคและดีป้า มีแนวคิดร่วมต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์สนับสนุนทุกอุตสาหกรรม

“การเปิดตัว 5G จะไม่ใช่แค่กรณีของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่จะเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายของตน หรือผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เพียงเท่านั้น แต่รวมถึงการมีส่วนร่วมทั้งอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมต่อธุรกิจสู่ธุรกิจ และธุรกิจสู่ผู้บริโภค รวมทั้งยังพลิกโฉมอุตสาหกรรมและธุรกิจด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนสู่กลยุทธ์ 5G ของไทย”

การมาของ 5G ในอนาคตอันใกล้ อาจไม่ใช่แค่ฝันเพราะปัจจุบันทั้งรัฐและเอกชนพากันขานรับ “การทดลองเทคโนโลยี 5G” เพื่อการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลครั้งสำคัญอีกครั้งของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image