ปั่นมาตรการ กระตุ้นเกษตรฯ โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง สำเร็จหรือล้มเหลว

สืบเนื่องจากนโยบายด้านการเกษตรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ล่าสุดได้มอบหมายให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เชิญกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาหารือร่วมกันในการหาทางดูแลปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร โดยที่ประชุมมีมติให้หาแนวทางดำเนินการให้ราคาปุ๋ยลดลง 30% ซึ่งจะให้สหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็งอำเภอละ 1 แห่ง หรือประมาณ 700 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางการผลิตปุ๋ยสั่งตัด (ปุ๋ยที่ใช้เฉพาะกับแต่ละพื้นที่) และปุ๋ยผสม แล้วกระจายให้กับสมาชิกนำไปใช้ รวมถึงใช้กลไกร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 30,000 แห่งทั่วประเทศ

ดันเกษตรกรทำปุ๋ยใช้เองลดต้นทุนการผลิต

เนื่องจากปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตหลัก คิดเป็นต้นทุน 30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดของเกษตรกรกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ และในปัจจุบันการจำหน่ายปุ๋ยมีกลไกซับซ้อนมาก แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะนำเข้าสู่บัญชีสินค้าควบคุม แต่เกษตรกรก็ยังซื้อปุ๋ยแพง โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อปุ๋ยแบบสินเชื่อ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น จึงต้องหาทางลดค่าใช้จ่าย โดยผลักดันให้สหกรณ์การเกษตรผลิตปุ๋ยเอง ทำให้ลดต้นทุนผลิตปุ๋ยลงได้ถึง 50% โดยเฉพาะปุ๋ยผสม และเมื่อผลิตปุ๋ยเองได้ เกษตรกรก็จะซื้อปุ๋ยได้ราคาถูกลง พร้อมกับสั่งการให้กรมการค้าภายในศึกษาเรื่องการกำหนดเพดานราคาขายปลายทางปุ๋ยทุกประเภทด้วย เพื่อไม่ให้ราคาสูงเกินสมควร

สำหรับมาตรการเหล่านี้จะต้องดำเนินการโดยทันที ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะไปหารือกับสหกรณ์การเกษตร กรมการค้าภายในที่ดูแลร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับร้านค้าที่จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นร้านขายปุ๋ยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อน รวมทั้งไปเจรจากับผู้ผลิตเพื่อจัดส่งปุ๋ยเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำความคืบหน้าในเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในสัปดาห์นี้(18 ธันวาคม 2561) และคาดว่าทุกอย่างจะเห็นผลภายใน 1-2 เดือนนี้

Advertisement

โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดปุ๋ยเคมีอยู่ที่ 98,000 ล้านบาท หากลดลง 30% จะลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรลงได้เกือบ 30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฯ ได้มีการประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ให้ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษให้กับเกษตรกรผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรนำไปซื้อปุ๋ย และกรณีซื้อผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ จะมีกลไกในการให้สินเชื่อด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปคิดวิธีในการดำเนินการแล้ว ขณะเดียวกันทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนใจที่จะผลิตปุ๋ยขายในตลาด และอาจจะเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหม่ โดยมั่นใจว่าจะผลิตปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลง เนื่องจากวัตถุดิบบางอย่างมีพร้อมอยู่แล้ว

เข็นมาตรการพักหนี้เป็นของขวัญปีใหม่

Advertisement

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมเสนอโครงการพักต้นเงินกู้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้คงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท พักดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้แบบเดียวกับลูกหนี้ ของสมาชิกธนาคาร ธ.ก.ส. ตามนโยบายของ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ จึงให้กรมไปรวบรวมมูลหนี้ตามที่มีเกษตรกรเรียกร้อง เนื่องจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.

คาดว่าจะสามารถเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อจัดทำงบประมาณนำมาชดเชยอัตราดอกเบี้ย 3% ให้สหกรณ์ประมาณ 2,269 ล้านบาท จากมูลหนี้เงินต้น 80,144 ล้านบาท ได้ทันภายในเดือน ธันวาคมนี้ ซึ่งตัวเลขมูลหนี้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2561 จำนวน 71 จังหวัด กลุ่มสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรรวม 1,892 แห่ง สมาชิก 754,388 ราย มีสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้ คงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท ทั้งนี้กรมได้ส่งให้ ธ.ก.ส.ตรวจสอบรายชื่อเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนกับโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงบประมาณว่าจะใช้เงินก้อนไหนมาชดเชยดอกเบี้ย จะเป็นงบกลางหรือจากที่ใด

ส่วนการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีนั้น รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้สั่งการให้เชื่อมโยงสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัดและอำเภอเพื่อร่วมโครงการปุ๋ยสั่งตัดของรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์หารือร่วมกัน เนื่องจากปุ๋ยถือเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตถึง 30-40% หากสามารถจัดทำปุ๋ยสั่งตัดได้ จะทำให้ได้ปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการพืช ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมเคยหารือร่วมกับ ธ.ก.ส. เพื่อสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ 500 กว่าแห่งเข้าร่วมโครงการทำปุ๋ยสั่งตัด เมื่อเป็นนโยบายก็จะทำให้การขับเคลื่อนเร็วขึ้นและเพื่อรองรับกับการผลิตในปีการผลิตหน้า

เดินหน้าแก้ไขปัญหา”ข้าวโพด-ยางพารา”

ในช่วงนี้ทางรัฐบาลได้เร่งรัดให้กระทรวงเกษตรฯ แก้ไขปัญหาเรื่องข้าวโพด ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายพื้นที่ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูการทำนา หลังจากดำเนินการอนุมัติโครงการดังกล่าวไปแล้ว เมื่อเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาทิ การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวนาปรัง เป็นการปลูกข้าวโพด เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตข้าวมากเกินความต้องการเกือบ 2 ล้านตันต่อปี ขณะเดียวกันผลผลิตข้าวโพดน้อยกว่าความต้องการถึง 2-3 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตามยังมีจังหวัดที่มีศักยภาพปลูกข้าวโพดเพิ่มเติมและมีความพร้อมในการรับซื้อผลผลิตอีก 4 จังหวัด ได้แก่ เลย มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ นอกจากนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทยและธนาคาร ธ.ก.ส. ยังพร้อมและยินดีสนับสนุนในการเข้าร่วมโครงการด้วย

ที่ผ่านมา นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ติดตามจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐฯ ในพื้นที่ โดยได้สอบถามสถานการณ์กับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ และจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ โดยพยายามเร่งรัดให้มีผู้เข้าร่วมโครงการ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และมีการเข้าพบหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยขอให้ผู้ว่าฯ กำชับนายอำเภอในการขับเคลื่อนโครงการ และให้ผู้ตรวจราชการกลับมารายงานผลการตรวจติดตามโครงการต่อปลัดกระทรวงเกษตรฯ อีกทั้งให้ประชุมทำความเข้าใจโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา กับเกษตรอำเภอและเกษตรตำบลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่

“ตอนนี้กำลังเร่งการสมัครของเกษตรกรใน 37 จังหวัด จากการสำรวจความต้องการในพื้นที่ 1,023,276 ไร่ มีผู้สมัครแล้ว 768,120 ไร่ หรือคิดเป็น 75.06% ของพื้นที่สำรวจ ยังคงเปิดรับสมัครถึงวันที่ 15 มกราคม 2562 จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งรัดเชิญชวนให้เกษตรกรสมัครร่วมโครงการเพิ่มให้ครบตามจำนวนพื้นที่สำรวจ นอกจากนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวทั้งระดับจังหวัดและอำเภอให้วางแผนการเพาะปลูก คาดการณ์ปริมาณผลผลิต รวมถึงจัดเครื่องจักรกลสนับสนุนการเพาะปลูกทุกพื้นที่ แล้วให้รายงานความคืบหน้ามายังศูนย์ปฏิบัติการส่วนกลางทุกวัน”

เร่งผลักดันถนนยางพาราลดปัญหายางล้น

สำหรับโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ขณะนี้ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องข้อแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราธรรมชาติ สำหรับงานถนนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว ด้วยกระบวนการ Mix in Place หรือการดำเนินเรื่องการก่อสร้างได้เอง โดยใช้รถเกลี่ยดินในการผสม เหมาะสำหรับถนนที่มีปริมาณงานไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร หรือความยาวไม่เกิน 5 กิโลเมตร โดยให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตามข้อแนะนำซึ่งสามารถใช้เป็นคู่มือดำเนินการก่อสร้างด้วยตนเองหรือจ้างเหมาก่อสร้างได้ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยใช้วัสดุน้ำยางพาราสดจากเกษตรกรชาวสวนยางผ่านสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับรองได้โดยตรง พร้อมทั้งได้แจ้งให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และ กยท.แต่ละจังหวัดนำประกาศดังกล่าวไปประสานงานกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ตลอดจนได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ทุกคนต้องลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานตามประกาศดังกล่าวนี้ด้วย หากพบปัญหาอุปสรรคให้แจ้งส่วนกลางทราบทันที

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการถนนยางพาราและผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากยางพารา ณ จังหวัดบึงกาฬ พร้อมสาธิตการฉีดจากหัวฉีดการสร้างถนนยางพารา โดยพบว่า อัตราส่วนในการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ 1 ตารางเมตร ใช้ยางพาราสด 2 กิโลกรัม ผสมสารเคมีและปูนซีเมนต์ 20 กิโลกรัม ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬได้ดำเนินการเริ่มโครงการถนนพาราซีเมนต์เมื่อ 2 ปีก่อน ณ บ้านตาลเดียว จ.บึงกาฬ ระยะทาง 300 กิโลเมตร เป็นถนนระหว่างตำบลโดยมีคุณสมบัติที่ดี ปลอดฝุ่น ป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้มีการนำงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนายางพารา เพื่อทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ให้มีผลผลิตออกมาล้นตลาดจนเป็นปัญหาอย่างที่ผ่านมา

กยท.หนุนใช้ยางในประเทศ

มาตรการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ ที่ล่าสุด นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ยังยืนยันในหลักเกณฑ์เดิมว่าบริษัทผลิตยางล้อที่จะได้รับคูปองลดหย่อนภาษีเพื่อมอบให้กับประชาชน ต้องเป็นบริษัทที่ซื้อยางผ่าน กยท. หรือสถาบันเกษตรกรที่ กยท.เป็นผู้รวบรวมให้เท่านั้น ซึ่งกติกานี้จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยตรง หากไม่มีกติการะบุไว้ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อาจเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะค้านกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ได้กำหนดไว้

“การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่อาจติดอยู่ในเรื่องของบริษัทข้ามต่างชาติ ที่ยังคงชินกับการซื้อเทรดจากต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ เป็นต้น แต่ยางที่ซื้อก็เป็นยางของเกษตรกรไทย จึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมบริษัทเหล่านั้นถึงไม่ซื้อยางจากเกษตรกร หรือซื้อยางจาก กยท.โดยตรง ซึ่งถ้าบริษัทยางล้อซื้อยางภายในประเทศก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้อยู่แล้ว ไม่ได้มีการปิดกั้นแต่อย่างใด ขึ้นอยู่ที่ว่าทางบริษัทจะสนใจเข้าร่วมหรือไม่เท่านั้น”

ทั้งนี้จากการตรวจสอบ ขณะนี้มีบริษัทยางล้อที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 5 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อดีสโตน, ยี่ห้อโอตานิ, ยี่ห้อไออาร์ซี, ยี่ห้อแม็กซิส และยี่ห้อ เอ็น.ดี.รับเบอร์ นอกจาก 5 รายนี้แล้วยังมีบริษัทผลิตยางล้อรายอื่นสนใจเข้าร่วมโครงการแต่อาจจะยังติดในเรื่องของกระบวนการซื้อขายยางพารา ทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลการขอเข้าระบบเพื่อซื้อภายในประเทศกับทาง กยท.ได้ พร้อมแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ ทาง กยท. จะพิจารณาข้อมูลและดำเนินการต่อไป

เตรียมปลดสต๊อกข้าวดันราคา

ยันปี”62หอมมะลิยังพุ่ง

ไทยต้องเตรียมส่งออกข้าวทั้งหมดรวม 324,000 ตัน ภายในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวนาและตลาดข้าวของไทย เพราะมีคำสั่งซื้อข้าวไทยจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก โดยตลาดต่างประเทศจะช่วยรองรับผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงสิ้นปีนี้ ผู้ส่งออกข้าวจะต้องซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อส่งมอบข้าวปริมาณมากในระยะเวลาสั้น จึงเป็นการช่วยระบายข้าวฤดูกาลใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลดีต่อชาวนาที่จะขายข้าวเปลือกได้ในราคาดี มีเสถียรภาพมากขึ้น และยังส่งผลดีต่อการค้าข้าวไทยทั้งระบบด้วย

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ในต้นปี 2562 กระทรวงเกษตรฯ จะสรุปตัวเลขเป้าหมายผลผลิตข้าวในปีการผลิต 2562/63 เบื้องต้นคาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2561/62 ประมาณ 1 ล้านตัน หรือมีผลผลิตข้าวทั้งปีประมาณ 33-34 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวคาดว่าจะไม่กระทบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ โดยข้าวหอมมะลิยังน่าจะขายได้ในราคาใกล้เคียงปีก่อนหน้า คือประมาณ 18,000 บาท/ตันส่วนข้าวขาวก็ลดหลั่นลงไป แต่ปัญหาราคาและผลผลิตข้าวของไทยจากนี้ไม่น่ามีปัญหาแล้ว

โดยช่วงประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม จะมีขบวนการปล่อยข่าวลือตลอดทุกปี เรื่องข้าวไทย ว่ามีข้าวปริมาณมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ อาจเกิดความคาดหวังให้มีการลดราคาต่ำลง กดราคาของชาวนาที่จะขายได้หลังราคาเก็บเกี่ยว กรมการข้าวได้ลงพื้นที่ทุกครั้งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่มีข่าวซ้ำเติมชาวนา ปรากฏว่าปริมาณข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไม่ได้มีมากเกินความต้องการ ซึ่งความจริงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลก รวมถึงขณะนี้ไทยมีสต๊อกข้าวจากการจำนำเหลืออยู่ส่งผลให้ราคาข้าวจากนี้ต่อไปไม่น่ามีปัญหา ชาวนายังคงขายได้ราคาใกล้เคียงปีนี้แน่นอน

นอกจากความประณีตในเรื่องของการประกอบอาชีพของชาวนามีมากขึ้น พร้อมกับภาคเอกชน โดย นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เริ่มเข้ามาทำโครงการประชารัฐเรื่องข้าวกับกระทรวงเกษตรฯ ถือเป็นความร่วมมือที่ทำให้ความสัมพันธ์อันดีเกิดขึ้นระหว่างพ่อค้ากับเกษตรกร เพราะเมื่อร่วมมือกันทำงาน พ่อค้าหรือเอกชนก็จะเข้าใจว่าชาวนามีความเสี่ยงด้านการประกอบอาชีพ ทั้งเรื่องของผลผลิต ราคา ส่วนชาวนาก็จะได้เลิกหาว่าพ่อค้าเอาเปรียบ

ขณะที่ นายพายัพ ยังปักษี นายกสมาคมชาวนาและโรงสีข้าวไทย แสดงความเห็นว่า เพิ่งผ่านฤดูเก็บเกี่ยวข้าวที่ผลผลิตออกมากระจุกตัวพร้อมๆ กัน เริ่มจากภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ประมาณ 20 ล้านตัน ทำให้รู้ว่าชาวนายังประสบปัญหาเรื่องของการสูญเสียข้าวจากการเก็บเกี่ยวจำนวนมาก เพราะขณะนี้ชาวนาไทยมีอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่เริ่มใช้เครื่องจักร เริ่มใช้รถเกี่ยวข้าว ทำให้เกิดการสูญเสียในกระบวนการเก็บเกี่ยวประมาณ 10% หากหอมมะลิราคา 18,000 บาท ชาวนาจะสูญเสียเงินจากข้าวตกสูญหายประมาณ 1,800 บาทต่อตัน

คงต้องติดตามต่อไปว่า มาตรการต่างๆ ที่ทางกระทรวงเกษตรฯเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของประชาชนได้ขนาดไหน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ออกมาตรการมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ดังนั้น จึงต้องติดตามดูว่าของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ มอบให้พี่น้องเกษตรกรในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ จะช่วยลดทอนปัญหาที่คั่งค้างอยู่ได้หรือไม่!!

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image