ระทึก! สำรวจหอการค้า5ภาค ศก.ปี ’62 โอกาสร่วงมากกว่ารุ่ง

เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าปี 2562 หลายสำนักวิเคราะห์ต่างออกมาแสดงความวิตก และยังคงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้ามมาจากปี 2561 “มติชน” จึงได้สอบถามภาคเอกชนถึงมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับประเทศนั้น ประเทศไทยต้องเผชิญอะไรบ้าง 

๐หอเหนือห่วงราคาเกษตร/ ปากท้อง

วิโรจน์ จิรัฐติกาลโชติ

นายวิโรจน์ จิรัฐติกาลโชติ รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ (หอการค้าภาคเหนือ) ระบุุถึงภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ ปี 2562 ประชาชนในพื้นที่ยังคงมีความกังวลในเรื่องของราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะต้องติดตามในเรื่องของเสถียรภาพของราคา และยังคงต้องติดตามตัวเลขการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือปีเก่าเข้า

ปีใหม่แล้ว ยังเป็นในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งสามารถขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังขยายตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันโปรโมตการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งช่วงนี้ภาคเหนือเป็นจุดหมายของนักเดินทางอิสระทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตัวเองมีเพิ่มมากขึ้น โดยจังหวัดที่มีการนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ยังคงเป็น จ.เชียงใหม่ อยู่เช่นเดิม

Advertisement

อยากจะให้รัฐบาลเชื่อมโยงภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่างเข้าด้วยกัน เพื่อหวังกระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่วนในเรื่องของการค้าระหว่างชายแดน ที่ผ่านมาเติบโตกว่า 6-7% แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่ยังคงต้องพัฒนา คือ พื้นที่การค้าชายแดนแม่สอด จ.ตาก ยังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ โดยอยากให้ทางภาครัฐเจรจากับพม่าเร่งเปิดใช้งานสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เนื่องจากสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 มีช่องทางจราจรเพียง 2 ช่อง เพื่อให้สะดวกต่อการขนสินค้า เพราะใช้เวลาในการเดินทางนาน

ส่วนในเรื่องของการเลือกตั้งในปี 2562 ไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล อยากให้เข้ามาดูแลปัญหาปากท้องของคนในท้องถิ่น ปรับโครงสร้างฟื้นฟูหนี้ใหม่ รวมถึงช่วยในเรื่องของการกระจายรายได้สู่ชุมชนให้มากขึ้น และควรเริ่มจากการดูแลและผลักดันการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาคให้รายได้กระจายสู่ทุกจังหวัด ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่บางพื้นที่อย่างเช่นที่ผ่านมา ส่วนความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ต้องการ คือในเรื่องของการเข้าถึงประชาชนตามหัวเมืองต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงพื้นที่ชนบท

๐หอกลางคาดเศรษฐกิจโตแค่3%

ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์

ด้าน ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง (หอการค้าภาคกลาง) กล่าวว่า เศรษฐกิจของภาคกลางมีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งราคาสินค้าเกษตรจำพวกพืชไร่ในปัจจุบันยังไม่ดีขึ้น รวมไปถึงปัจจัยลบในเรื่องอื่นๆ อาทิ เงินเฟ้อ การส่งออก และราคาน้ำมัน เป็นต้น ส่วนในเรื่องของสถานการณ์ท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ผู้ที่

มาเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางจะเป็นกลุ่มนักเที่ยวจีน ที่มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ปัจจุบันก็เริ่มหายไป ซึ่งอาจส่งผลมาจากเศรษฐกิจในประเทศจีนปรับตัวลดลง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2562 จะขึ้นไปถึง 4% แต่จากปัจจัยลบที่กล่าวไปข้างต้นนี้ อาจจะต้องกลับมาทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศไทยอีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าอาจอยู่ที่ประมาณ 3% กว่าๆ เท่านั้น

ปัจจัยลบในภาคกลาง มีเพียง 2 เรื่องหลัก คือ 1.การส่งออก จะมีผลกระทบเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น ซึ่งเกิดจากการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และ 2.ราคาน้ำมัน หากเศรษฐกิจโลกยังไม่ปรับตัวดีขึ้น อาจส่งผลให้มีการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงก็ได้ ฉะนั้นในปี 2562 จึงเป็นปีที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในทุกเรื่อง

ในส่วนของมาตรการที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่รัฐบาลควรลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะจากปัญหาดังกล่าวทำให้เงินเฟ้อกลับลดลงจากความเป็นจริงที่ควรลดลงไม่ต่ำกว่า2% แต่ประเทศไทยตอนนี้กลับลดลงเหลือเพียง 0.7-0.8% และเงินเฟ้อในชนบท เหลือเพียง 0.5% จากตัวเลขดังกล่าว จึงเกิดการตั้งข้อสงสัยว่าเงินประชารัฐที่จะมาช่วยอุดหนุนกำลังซื้อหายไปไหน ถ้ากำลังซื้อการค้า-ขาย ของประชาชนฐานรากก็จะแย่

ดูจากตัวเลขสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็เป็นตัวเลขเดียวกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประมาณ 3 ล้านราย ซึ่งหายไปประมาณ 5 แสนรายนั้นมองได้

2 ประเด็น คือ 1.ตัวเลขที่ทาง สสว.ประเมินอาจคลาดเคลื่อน และ 2.เงินที่อุดหนุนของภาครัฐเข้าไม่ถึงเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายที่รัฐบาลช่วยเหลืออีกประมาณ 2.7 ล้านราย ส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าแย่ลง

อีกเรื่องคือการศึกษาเป้าหมายความต้องการสู่ยุค 4.0 ต้องมีการปรับบริบทขนานใหญ่ ทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้มีการเพิ่มมูลค่ามากขึ้น การศึกษาตอนนี้มีการทุ่มงบกว่า 500,000 ล้านบาท ที่ได้งบมาจากกระทรวงศึกษาธิการ ต้องไปดูว่าส่งผลต่อ 4.0 ที่ประเทศไทยต้องการจะไปหรือไม่ รวมถึงเข้าไปเพิ่มรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนการเลือกตั้งแม้ยังเลื่อนออกไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ท้ายที่สุดก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เริ่มต้นจากเงินใช้จ่ายในประเทศ เพื่อการหาเสียง แต่ก็เป็นผลบวกแค่ชั่วคราว

พวกเรา (ภาคเอกชน) ไม่ได้สนใจว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล สนแค่ว่านโยบายของรัฐบาลจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้อย่างไร ไม่ใช่แค่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น ที่จะมีรายได้ดีขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) บางครั้งก็ไม่ได้โตจากการส่งออกของบริษัทใหญ่เพียงอย่างเดียว ยังยืนยันว่าในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน หากแผนที่มีอยู่ไม่ได้ผล ก็ต้องรีบปรับแผนใหม่ เพื่อที่จะให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีกว่าเดิม พ้นเส้นความยากจนโดยประมาณให้ได้

๐หออีสานแนะเปลี่ยนวิธีพัฒนาประเทศ

ประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร

ในส่วนของ นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หอการค้าภาคอีสาน) ระบุว่า เศรษฐกิจในพื้นที่ภาคอีสานปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาแนวโน้มขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง โดยแรงงานหนีเข้าไปทำงานตามหัวเมืองกันหมด แต่ปี 2562 คาดว่าแรงงานเริ่มทยอยกลับมาทำงานในพื้นที่มากขึ้น ส่วนในเรื่องของการค้า การลงทุน ผู้ประกอบการทุกระดับมีความต้องการที่แตกต่างกันไป และเป็นปีที่ต้องมีการปรับตัวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

ปัญหาภาคเกษตรไม่มี แต่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ต้องระวังและตอนนี้ยังเป็นบวก คือ ราคาข้าวยังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาราคายางพารา ทางภาคอีสานได้รับผลกระทบเพียงบางพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากภูมิประเทศของภาคอีสานค่อนข้างมีความแตกต่างจากภาคใต้ ทำให้ลักษณะของต้นยางพาราจะเบาบางกว่า ประชาชนในพื้นที่จึงไม่ค่อยให้ความสนใจกับการปลูกยางพารามากนัก

ภาพรวมของเศรษฐกิจปี 2562 ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจโลก หรือในเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีอุปสรรคมากนัก คิดว่าจะมีลู่ทางที่ดี ซึ่งมีตัวแปรอยู่หลายอย่าง อาทิ การค้าที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเป็นประเทศที่ไทยอาศัยในเรื่องของการส่งออก และอาจจะส่งผลกระทบเรื่องแรงงาน ซึ่งในส่วนของประเด็นนี้จะเห็นผลได้ในระยะยาว เป็นต้น ส่วนความคาดหวังของผู้ประกอบการในไตรมาสที่ 2/2562 หวังว่าเรื่องการค้าการลงทุนต่างๆ จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

การเลือกตั้ง อยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขในส่วนของปัญหาขั้นพื้นฐานของประเทศ อาทิ การกระจายอำนาจ การกระจายงบประมาณ ซึ่งบทบาทของภาครัฐในเวลานี้

พูดถึงเรื่องการกระจายทรัพยากร การกระจายอำนาจ การกระจายคน เรื่องเหล่านี้ใช่ว่าจะดำเนินการได้โดยง่าย ส่วนตัวคิดว่าการเมืองในปัจจุบัน ไม่ควรใช้วิธีเก่าๆ มาขับเคลื่อนประเทศไม่ได้อีกแล้ว ควรเน้นพัฒนาประเทศให้ครอบคลุมโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก โดยเพิ่มการช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถลืมตาอ้าปากได้

จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ พบว่าสิ่งที่อยากให้เร่งช่วยเหลือ ยังคงเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรืออาจเป็นเพราะภาครัฐยังไม่รับรู้ปัญหาที่แท้จริงของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ คงต้องดำเนินไปตามกลไกของภาครัฐ และขับเคลื่อนไปกับ

วิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ เชื่อว่าหากมีการพัฒนาร่วมกัน เศรษฐกิจในทุกระดับก็สามารถเติบโตขึ้นอีกได้

๐หอใต้ชี้ศก.ปี”62แค่เสมอปี”61

วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ (หอการค้าภาคใต้) กล่าวว่า เศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2561 เริ่มชะลอตัวลงโดยเฉพาะเรื่องยางและปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ส่วนในเรื่องภาคการท่องเที่ยวจากที่คาดการณ์ไว้ว่านักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกรุ๊ปทัวร์จะกลับมา แต่ก็ยังไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากนัก มีแต่

นักท่องเที่ยวยุโรป สิงคโปร์ อินเดีย และมาเลเซีย โดยเป็นกลุ่มประเทศที่เดินทางมาเที่ยวยังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับจำนวนนักเที่ยวจีนที่มาแบบเป็นกรุ๊ปลดลง ก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ ทั้งนี้ ภาพรวมการท่องเที่ยวในไตรมาส 4/2561 ถือว่าชะลอตัว

ส่วนในปี 2562 คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มดีขึ้น เกิดจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ การเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หากเลือกตั้งเกิดได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ก็น่าจะได้รัฐบาลเดือนพฤษภาคม ย่อมเป็นผลบวกในด้านการลงทุน อีกเรื่องผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องหามาตรการดึงนักท่องเที่ยวจีนกลับมา พร้อมหากลุ่มประเทศใหม่ๆ เข้ามาท่องเที่ยว

เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่วนเรื่องที่น่าห่วง คือ เรื่องพืชผลการเกษตร จากการได้ฟังนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ มีหลายพรรคที่มีมาตรการกระตุ้นให้ยางและปาล์มมีราคาสูงขึ้น ซึ่งต้องรอดูการแสดงวิสัยทัศน์ของแต่ละพรรคการเมืองต่อไป จึงเชื่อว่าสถานการณ์ปี 2562 เศรษฐกิจจะคงทรงตัวเท่ากับปี 2561 โดยภาพรวมมองว่านอกจากปัจจัยในประเทศแล้วจะต้องระวังปัจจัยจากต่างประเทศ อาทิ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงการค้าทั่วโลก เป็นต้น

ในเรื่องการเลือกตั้ง อยากให้ทุกพรรคการเมืองควรจะมีเมกะโปรเจ็กต์ ผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเรื่องระบบราง ถนน และท่าเรือ ทั้ง 3 ส่วนจะสามารถต่อยอดให้กับอีอีซี ซึ่งภาคตะวันออกมีจีดีพีโตที่สุดของไทยประมาณ 6-7% แต่จีดีพีภาคใต้ประมาณ 2% ฉะนั้นการจะนำงบไปลงทุนในพื้นที่อีอีซีถึง 2 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 2-3 ปี ขณะเดียวกัน หากสามารถนำมาเชื่อมโยงหรือต่อยอดกับทางภาคใต้ได้

ภาคใต้จะถือเป็นประตูส่งออกไปทั่วโลก อาทิ กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที ลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น หากจะต่อยอดโครงการของอีอีซี นักลงทุนควรเข้าพัฒนาโครงสร้าง เพื่อให้การขนส่ง การท่องเที่ยวดีขึ้น เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเรื่องที่ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ต้องการมากที่สุด ซึ่งทุกครั้งที่รัฐบาลมาลงพื้นที่ ทางหอเสนอเรื่องนี้ไปโดยตลอด ทางรัฐบาลก็รับเรื่องไป

แต่เรื่องก็ยังไม่คืบ จึงอยากให้ภาครัฐใหม่ช่วยแสดงถึงความชัดเจน เพื่อที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับทราบว่าเรื่องที่เสนอขอไปมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

๐หอตะวันออกมั่นใจอีอีซีคึกคักเป็นพิเศษ

ปรัชญา สมะลา

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก (หอการค้าภาคตะวันออก) กล่าวถึง สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงปี 2562 คาดว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากโครงการต่างๆ เริ่มมีโครงสร้างให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว ส่วนในเรื่องของผังเมืองคาดว่าจะได้เห็นในไตรมาสที่ 2/2562 ซึ่งตอนนี้นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอให้มีการออกแบบผังเมืองเสร็จสิ้นก่อนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ส่วนเศรษฐกิจในพื้นที่ข้างเคียงอย่าง จ.จันทบุรี มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก ทั้งในเรื่องของการเป็นเมืองท่องเที่ยวและยังเป็นเมืองผลไม้ แต่ควรเพิ่มในเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่ายให้หลากหลาย เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในชุมชน ได้ส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ส่วนปัจจัยด้านลบภาคตะวันออก ห่วงมากสุดคงเป็นเรื่องราคาสินค้าเกษตรต่ำ อาทิ ยางพารา คาดการณ์ราคาจะยังไม่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้ ส่วนผลไม้ปีนี้น่าจะส่งออกค่อนข้างมาก จึงทำให้มีปัญหาเรื่องของคุณภาพที่ตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึง โดยปี 2562 จึงจะมีมาตรการดูแลเรื่องคุณภาพผลไม้มากขึ้น และยังคงกังวลเรื่องแรงงาน คาดขาดแคลนแน่นอนปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มของผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเก่า รวมทั้งเอสเอ็มอี ที่คาดว่าจะโดนแย่งตลาดจากหลายแหล่ง อาทิ ตลาดออนไลน์และผู้ค้ารายใหญ่ เป็นต้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการทุกประเภทเตรียมรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้า-ขาย ในอนาคต

อยากให้รัฐบาลใหม่เพิ่มมาตรการช่วยเหลือเรื่องราคาสินค้าเกษตร เรื่องแรกที่ควรแก้ไข คือ ราคายางพารา เป็นปัญหาที่ควรแก้ไขโดยเร็วที่สุด และเรื่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้ และควรเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ด้วย นอกจากนี้อยากให้มุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนาคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายในการสนับสนุนในกลุ่มอาชีวะ แต่เป็นการดำเนินการระยะสั้น ควรจัดศูนย์การศึกษาพัฒนาศักยภาพในระยะยาวขึ้นมา

ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ ปัจจุบันในส่วนภูมิภาคได้รับงบประมาณในส่วนนี้น้อยมาก แม้รัฐบาลจะลงพื้นที่มาหลายครั้ง จากประสบการณ์ 2-3 ปี

ที่ผ่านมา งบประมาณที่ได้มาจะไปอยู่ในส่วนของฟังก์ชั่นมากเกินไป ควรแบ่งมาใช้ในส่วนอื่นบ้าง อาทิ การนำงบประมาณไปขยายเส้นทางในพื้นที่ที่มีผลด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ประเด็นนี้ได้มีการนำเสนอไปหลายครั้งแต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ซึ่งในความเป็นจริงหากโครงการใดใช้งบประมาณไม่ถึง 50 ล้านบาท จังหวัดสามารถดำเนินการในส่วนนั้นได้เลย เพราะถ้ารอการอนุมัติจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ในพื้นที่มีการพัฒนาที่ล่าช้า ทั้งนี้ มีพรรคการเมืองหลายพรรค ที่มีนโยบายกระจายงบสู่ภูมิภาค วิธีนี้ถือเป็นวิธีการที่ถูกต้องดีกว่าเอางบไปถมที่โครงการใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว

ทั้งหมดที่หอการค้าไทย 5 ภาคสะท้อนถึงปัจจัยดีปัจจัยร้ายต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งก็ยังไม่รวมถึงภัยธรรมชาติถือเป็นปัจจัยเสียวที่ไม่อาจควบคุมได้ ดูจากความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นจากพายุปาบึก ถล่มภาคใต้ของไทยเพียงไม่กี่วัน ได้เขย่าทั้งภาคท่องเที่ยวและบริการที่มีมูลค่า 8 แสนล้านบาท และภาคเกษตรการประมงอีกหลายแสนล้านบาท รวมถึงกระทบต่ออารมณ์การบริโภคของคนทั้งประเทศด้วย

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image