อียูปลดใบเหลืองประมงไทย ผลงานทิ้งทวนรัฐบาล”ตู่”…อย่าเสียของ

หลังจากใช้ความพยายามนานถึง 4 ปี ที่สุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถนำพาประเทศไทยหลุดจากรายชื่อ ประเทศที่ทำการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู โดยสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศปลดใบเหลืองออกจากประเทศไทยเมื่อต้นปี 2562 นี่เอง!

คนที่ประกาศข่าวดีนี้ คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

“ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูมาโดยตลอด” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวระหว่างอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่

8 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมหารือทวิภาคีความร่วมมือด้านการประมงไทยกับคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทยในตำแหน่งประธานอนุกรรมการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู)

Advertisement

ย้อนรอย4ปีไทยโดนแบนจากอียู

ย้อนกลับไปที่เหตุ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่ทำการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ในห้วงเวลาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศได้ไม่ถึง 1 ปี

ถือเป็นการประกาศเตือนไทยอย่างเป็นทางการของอียู หลังจากก่อนหน้านั้น ไทยถูกสหรัฐอเมริกาลดชั้นลดอันดับไปอยู่ Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (US”s Trafficking in Persons Report : TIP Report) เมื่อเดือนมิถุนายน 2557

การประกาศเตือนของอียูครั้งนั้น ประมงไทยถูกจับจ้องจากทั่วโลกอย่างมากว่าไม่ได้ทำประมงที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล โดยประเด็นที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษคือ การทำประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย และยังมีปัญหาการใช้แรงงานทาส ตอกย้ำในสิ่งที่สหรัฐเป็นกังวลเรื่องการค้ามนุษย์ และทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงไทย หากการเร่งแก้ไขปัญหาไม่ทันกาล ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์เคยคาดการณ์ว่ากรณีที่อียูระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากไทย อุตสาหกรรมประมงไทยอาจสูญเสียรายได้จากการส่งออกประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกรณีเลวร้ายสุดจะสูญเสียมากถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รัฐบาลในขณะนั้นอยู่ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สวมหมวก 2 ใบ คือหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี มอบหมายภารกิจกู้ชื่อประมงไทย ให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้จัดการ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือฟรีไอยูยู และมี พล.อ.ฉัตรชัยเป็นประธานเพื่อพิจารณาออกใบรับรองด้านการค้าสินค้าประมงต่างๆ เพื่อยกระดับการประมงของไทยให้มีมาตรฐานสากล

และแม้ว่าในเวลาต่อมาเมื่อปี 2560 มีการปรับ ครม. พล.อ.ฉัตรชัยขยับเก้าอี้นั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็ยังได้รับมอบหมายภารกิจเดิม ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาไอยูยู

ทุ่ม130สัปดาห์สู่เป้าปลดใบเหลือง

พล.อ.ฉัตรชัยทุ่มสุดกำลังเรียกหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกวันจันทร์ต่อเนื่อง 130 สัปดาห์

ไม่นับรวมการลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้า พบปะหารือกับชาวประมงพื้นที่บ้านและประมงพาณิชย์อยู่ตลอดๆ มีการออกพระราชกำหนดเรือไทยของกรมเจ้าท่า เพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยสามารถใช้บริหารจัดการกองเรือประมงทั้งระบบ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 แยกเรือออกเป็น 7 ประเภท คือ เรือสำหรับทำการประมง เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง เรือบรรทุกน้ำจืดและเรือสนับสนุนการประมง

จนในที่สุดความพยายามแก้ไขปัญหาบังเกิดผล พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวเปิดใจว่า ตลอดเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองจากอียู ไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาไอยูยูมาโดยตลอด จนมีผลเป็นรูปธรรมอย่างครอบคลุมทั้งในด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (เอ็มซีเอส) การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ไทยสามารถแสดงความรับผิดชอบและมีบทบาททั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่าและรัฐตลาด ในระดับของมาตรฐานสากล กระทั่งอียูปลดใบเหลืองให้ สะท้อนความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ทั้งในและนอกน่านน้ำเทียบชั้นมาตรฐานสากล และพร้อมจะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับอยู่ในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

“ไทยกำหนดแก้ไขปัญหาไอยูยูเป็นวาระแห่งชาติ นายกฯมอบหมายให้ผมมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมงไอยูยู ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.ด้านกฎหมาย 2.ด้านการบริหารจัดการประมง 3.ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4 ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (เอ็มซีเอส) 5.ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย”

ยึดเวทีอาเซียนร่วมทีมป้องไอยูยู

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยจัดประชุมอาเซียนในฐานะเป็นประธานอาเซียน มีแนวคิดหลักจะส่งเสริมหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนด้วย โดยไทยได้เสนอผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียนให้มีผลเป็นรูปธรรม ตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู ไว้เป็นกลไกการป้องกันการทำประมงไอยูยูของภูมิภาค ซึ่งนายกฯได้แถลงให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องนี้แล้ว และเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการอาเซียน ไอยูยู เวิร์กช็อป ในช่วงเดือนเมษายนนี้ เพื่อผลักดันการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงไอยูยู หรือ ASEAN IUU Task Force

นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยูหรือไอยูยูฟรี โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงไอยูยู และเชิญผู้แทนอียูคือนายโรแบร์ดต เซซารี หัวหน้าฝ่ายนโยบายของไอยูยู

จากกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง อียู เข้าร่วมประชุมเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ฝ่ายไทยจะนำงานด้านการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของอียูมาศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนาแผนงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย และนำไปสู่ ไอยูยูฟรี ไทยแลนด์ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมาของรัฐบาล มีหลายเรื่อง ทั้งการกำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อการปฏิรูปการประมงพร้อมกับปฏิรูปกฎหมายกำกับดูแลประมงรวม 130 ฉบับ ภายใต้เป้าหมายแก้ปัญหาทุกภาคส่วน และให้ชาวประมงปฏิบัติได้อย่างยั่งยืนภายใต้กรอบกติกาสากล คือเรือถูกต้อง แรงงานถูกต้อง และการทำประมงถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีเรือประมงที่ถูกต้องจำนวน 38,495 ลำ แยกเป็นเรือประมงพาณิชย์จำนวน 10,565 ลำ และเรือพื้นบ้านจำนวน 27,930 ลำ จากก่อนหน้าเรือพื้นบ้านมีมากกว่า 50,000 ลำ ตั้งเป้าหมายว่าจะบริหารจัดการกลุ่มหลังนี้เข้าสู่ระบบสากลทุกลำภายในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหา

ปลดใบเหลืองไม่เกี่ยวไทยเลือกตั้ง

ด้านแรงงาน เป็นอีกประเด็นที่ประเทศคู่ค้าให้ความสนใจมาก โดยตลอดช่วงเวลาที่ไทยพยายามแก้ไขปัญหาไอยูยู ได้พยายามแก้ไขเรื่องการใช้แรงงานในภาคประมงด้วย ได้ปรับปรุงกฎหมายโดยการออกพระราชกำหนดบริหารแรงงานต่างด้าว พระราชบัญญัติปราบปรามแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานประมงทะเลอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญ การแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ส่งเสริมอนุสัญญา องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลแรงงานประมงด้วย การสแกนม่านตา (IRIS SCAN) จํานวน 171,128 คน เฉพาะในเรือประมง 58,322 คน และใช้เครื่องสแกนม่านตา ที่ศูนย์เข้าออก เรือประมง (PIPO) ส่งเสริมการนําระบบแรงงานสัมพันธ์ในภาคประมงมาใช้โดยแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ นักวิชาการ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของแรงงานประมงไทย และข้ามชาติ

ปัจจุบันคดีประมงที่ผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ภาคการประมงตั้งแต่ปี 2558-2561 รวมทั้งสิ้น 4,448 คดีนั้น แก้คดีแล้วเสร็จจำนวน 3,958 คดี คิดเป็น 89% ของคดีทั้งหมด จึงคาดการณ์ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ไอแอลโอ ซี 188 เรื่องแรงงานในภาคประมงที่อยู่ภายใต้หลักมนุษยธรรมและความรับผิดชอบความสำเร็จครั้งนี้ หลังพยายามอยู่นาน 4 ปี ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นแน่นอนในปีนี้ ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการเลือกตั้งมีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการปลดใบเหลือง

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวหนักแน่นว่า ตัวแทนฝ่ายอียูยืนยันว่าการพิจารณาปลดใบเหลืองไม่เกี่ยวกับที่ประเทศไทยเตรียมจัดการเลือกตั้งแน่นอน

แม้ว่าอียูจะปลดใบเหลืองภาคประมงไทย ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องน่าจะได้รับประโยชน์ แต่ข่าวดีใช่ว่าจะอยู่ยั้งยืนนาน เพราะอียูจะมีการทบทวนสถานะของประเทศที่ส่งออกสินค้าทางทะเลเป็นประจำอยู่แล้ว

เกษตรฯรับไม้ต่อหนุนทำประมงยั่งยืน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หนึ่งในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จำเป็นต้องเตรียมการป้องกันเพื่อไม่ให้ประเทศไทยโดนแขวนธงเหลืองอีก

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า หลังจากนี้จะดูแลและพัฒนาอาชีพประมงให้มีความยั่งยืนและถูกต้องตามกฎหมายไอยูยู

ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะเน้นการดูแลชาวประมงชายฝั่ง และประมงพื้นบ้าน ทั้งในเรื่องการปรับเปลี่ยนเครื่องมือการอบรม การทำประมงแบบใหม่ หากประชาชนบางกลุ่มไม่ยอมเปลี่ยนเครื่องมือและอยากเปลี่ยนอาชีพใหม่ กระทรวงเกษตรฯจะดูแลช่วยหาอาชีพใหม่ให้

“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช พบว่าบ้านเรือนของชาวประมงชายฝั่งมีสภาพที่เก่า ทรุดโทรม และคุณภาพไม่ดี กระทรวงเกษตรฯได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลหมู่บ้านชาวประมงทั่วประเทศ ใน 22 จังหวัด หรือประมาณ 640 จุด เรากำลังจะประสานงานกับผู้ว่าราชการและปลัดอำเภอให้ลงไปสำรวจพื้นที่ และสอบถามถึงปัญหาและความต้องการของชาวประมงในพื้นที่ อาจทำการช่วยเหลือเป็นเฟสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับชาวประมงพื้นบ้าน หรือชาวประมงชายฝั่ง ตามคำสั่งของนายกฯ” นายกฤษฎากล่าว

ส่วนเรื่องหลักประกัน นายกฤษฎากล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐสามารถร่วมทำและส่งเสริมได้ คือการทำตามกฎกติกาที่ได้รับมาแล้ว มั่นใจว่าชาวประมงส่วนใหญ่มีความเข้าใจและเริ่มคุ้นเคยกับกติกาใหม่ แต่กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องห้ามละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยต้องเข้าไปดูแลปัญหาในพื้นที่ ต้องใกล้ชิดชาวประมงให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประมงพาณิชย์ ประมงชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน ให้สามารถดำรงอาชีพอยู่ได้

เอกชนเชื่อธุรกิจประมงฟื้นชีพ

ด้านตัวแทนจากเอกชน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมเดินหน้าแก้ไขปัญหา การทำประมงที่ผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด การที่อียูปลดล็อกใบเหลืองถือเป็นข่าวดีของชาวประมง หลังจากนี้จะกลับมาขายสินค้าได้ดีขึ้นจากออเดอร์ผู้ส่งออกที่จะส่งสินค้าประมงได้มากขึ้น คาดว่ากำลังการผลิตจะกลับมาสูงถึง 90% จากช่วงที่ผ่านมาที่ยังติดเรื่องไอยูยูการผลิตลดลงเหลือเพียง 50%

“หลังจากนี้ สินค้าประมงไทยจะได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในฐานะผู้นำในภูมิภาคในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายอย่างแท้จริง โดยเฉพาะท่าทีของอียูที่แสดงความจำนงจะสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการดำเนินการเรื่องนี้ ถือเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยให้ไทยถูกปลดจากประเทศที่มีความเป็นได้ที่จะถูกจัดขึ้นบัญชีประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาประมง ไอยูยูของอียู จึงคาดหวังว่าในการปลดล็อกครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการค้าขายของชาวประมงในประเทศไทยต่อไปในอนาคต” นายมงคลกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มประมงที่ยังประสบปัญหา คือประมงพื้นบ้านจากกฎหมายบางฉบับยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนั้น ทางสมาคมเตรียมหารือเรื่องนี้กับทางการ อาทิ กฎหมายที่ห้ามประมงพื้นบ้านออกนอกชายฝั่ง เป็นการไปตีกรอบชาวประมงให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ

ถึงแม้ว่าการเจรจาในครั้งนี้จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีแล้ว ประเทศไทยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือหันกลับมาทำการประมงแบบล้างเผ่าพันธุ์เหมือนในอดีต เพราะตอนนี้ไทยได้มีกฎหมายในการทำประมงแล้ว หากทุกฝ่ายร่วมกันไม่ละเมิดกฎหมายหรือแข็งข้อ เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่กลับไปติดใบเหลืองอีกแน่นอน

แต่เรื่องของอนาคตคือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ไม่สามารถการันตีอะไรได้ เพราะอะไรๆ ก็ย่อมเกิดขึ้น

ถ้าไม่จำบทเรียนในอดีตแล้วย้อนกลับไปทำพฤติกรรมเดิมๆ พาสถานะของประเทศไทยกลับไปอยู่ในจุดเดิม ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความพยายาม 4 ปี…เสียเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image