เทรดวอร์พ่นพิษส่งออกติดลบ พาณิชย์วาดเป้าสวยหรู8% ทำได้จริงหรือ?

สร้างความผิดหวังไปตามๆ กันสำหรับตัวเลขส่งออกในเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่า 19,381 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 1.71% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนพฤศจิกายน ติดลบ 0.95%

ยอดส่งออกที่ติดลบ 2 เดือนทำให้ตัวเลขการส่งออกตลอดทั้งปี 2561 เหลือเพียง 6.7% จากเป้าหมาย 8% การส่งออกที่ติดลบดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้กัน ล่าสุดการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศยังไม่มีความคืบหน้า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอการค้าขายลดลง จึงส่งผลหนักต่อการส่งออกของไทย

ถ้าดูเนื้อในของสินค้าส่งออกในเดือนธันวาคม พบว่าสินค้าหลักที่ส่งออกไปจีนติดลบหนัก เช่น คอมพิวเตอร์ -42%, ยางพารา -45%, แผงวงจรไฟฟ้า -9.8%, อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ -4.3% การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร -6.6%

เมื่อลงลึกไปดูเป็นรายตลาดพบว่า ตลาดหลักติดลบ 0.5% จากการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ที่ลดลง

Advertisement

และที่สำคัญตลาดจีนติดลบถึง 7.3% แต่ยังมีตลาดอาเซียนและตลาดเอเชียใต้ที่ยังไปได้ดี ขณะที่ตลาดอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น และอาเซียน แม้ขยายตัวต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกปี 2562

ยืนเป้าส่งออกปีนี้โต8%

แม้ว่าในปี 2561 การส่งออกของไทยยังไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 8% เช่นเดิม

Advertisement

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเดินไปให้ถึงเป้าหมายส่งออก 8% ในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทนตลาดที่ลดลง และพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น รวมถึงสนับสนุนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เพื่อยกระดับสินค้า รวมทั้งเร่งเจรจาความตกลงอาเซียนบวก 6 หรือ RCEP ให้จบโดยเร็ว เพื่อเพิ่มแต้มต่อด้านภาษีให้สินค้าไทย

ทั้งนี้ จะมีการขยายความร่วมมือทางการกับคู่ค้าศักยภาพ อาทิ เกาหลี และขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ในโอกาสไทยเป็นประธานอาเซียนจะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกโดยใช้กลยุทธ์ระดับพื้นที่เจาะเมืองรองที่มีศักยภาพ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขายสินค้าทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์

การส่งออกในปี 2562 มีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงภายนอกโดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาททางการค้ายังต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรจะอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากอุปทานและสต๊อกตลาดโลกอยู่ในระดับสูง คาดว่าภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะขยายตัวในระดับต่ำก่อนจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีหากสงครามการค้ามีแนวโน้มคลี่คลาย

ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณดี เมื่อฝ่ายจีนยอมถอย 1 ก้าวประกาศเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ยินยอมลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ และนำเข้าสินค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลา 6 ปี ระหว่างการเจรจาช่วงพักรบระหว่างสหรัฐและจีนเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศของการค้าโลกดีขึ้น และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกกลับมาได้ในช่วงสั้นๆ

กางแผนเจาะตลาดปี”62

แม้หลายคนเริ่มมองว่าเป้าหมายส่งออก 8% ที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้เป็นไปได้ยาก แต่ น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มั่นใจจะสามารถผลักดันการส่งออกปี 2562 ถึงเป้าหมาย 8% โดยมีมูลค่า 272,685 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยต่อเดือนต้องได้ 22,724 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวประเมินถึงปัจจัยเสี่ยง ทั้งสงครามการค้า อัตราแลกเปลี่ยน น้ำมันดิบ เศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกไว้แล้ว

แนวทางการทำงานที่ทำให้การส่งออกถึงเป้าหมายมี 3 เรื่อง คือเพิ่มช่องทางการค้าทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการผลักดันธุรกิจสู่สากล โดยเฉพาะผู้ประกอบการในชุมชน ต้องผลักดันทำตลาดต่างประเทศให้ได้

สำหรับแผนเจาะตลาดสำคัญ เริ่มจากตลาดอาเซียนตั้งเป้าหมายโต 8.3% จะใช้ประโยชน์จากการเป็นประธานอาเซียนในการขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งงานแสดงสินค้าที่จะช่วยสร้างโอกาสในการขายให้กับสินค้าไทย การผลักดันให้คนไทยไปลงทุนในอาเซียน ผลักดันธุรกิจบริการ การมุ่งเจาะตลาดเมืองรอง ตลาด CLMV และการค้าชายแดน

ตลาดจีนและฮ่องกงตั้งเป้าโต 12% มีแผนจะเพิ่มกำลังเพื่อเจาะตลาดจีนเป็นรายมณฑล โดยเฉพาะจีนตอนเหนือและจีนตะวันตกที่สินค้าไทยยังเข้าไปไม่ถึง

ส่วนตลาดเอเชียใต้ตั้งเป้าโต 8% เน้นเจาะตลาดอินเดียซึ่งมีความสำคัญพอๆ กับตลาดจีน โดยจะเน้นสร้างพันธมิตร เจาะกลุ่มลูกค้าคนรวย กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ขยายตลาดผ่านการค้าออนไลน์ รวมถึงการใช้โอกาสจากนโยบายเมดอินอินเดียสนับสนุนการส่งออกเครื่องจักรของไทย และการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

สำหรับตลาดตะวันออกกลางตั้งเป้าโต 3% ออสเตรเลียโต 6% แอฟริกาตั้งเป้าโต 10% อเมริกาเหนือโต 6.1% มีแผนจะเพิ่มกำลังคนทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ และคนท้องถิ่นเพื่อช่วยด้านการตลาด ขณะที่ตลาดละตินอเมริกาตั้งเป้า 6% จะใช้สำนักงานทูตพาณิชย์ที่เม็กซิโกเป็นศูนย์กลางในการเจาะตลาดเข้าเม็กซิโกและชิลี ลดต้นทุนการขนส่งด้วยการใช้เทรดดิ้งคอมปานีเข้าไปบริหารจัดการแทน

ด้านตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ตั้งเป้าโต 10% จะเร่งผลักดันการส่งออกควบคู่ไปกับการโปรโมตสินค้าไทยผ่านนักท่องเที่ยว

ส่วนตลาดหลัก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ตั้งเป้าโต 3% และญี่ปุ่นตั้งเป้าโต 7% ปรับกลยุทธ์ในการเจาะตลาดด้วยการแบ่งกลุ่มให้ชัดเจน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มรักสุขภาพ กลุ่มสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

จับตาผลกระทบศก.ไทย

ส่งออกถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย มีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพี ดังนั้นถ้าส่งออกมีปัญหาส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแย่ไปด้วย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประเมินตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2562 ว่าจะโตมากกว่า 3.8% สูงกว่าที่ธนาคารโลกประเมินไว้ แม้ว่าการส่งออกในเดือนธันวาคม 2561 ติดลบต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่เศรษฐกิจไทยยังโตได้ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะรัฐบาลชุดนี้เน้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น มาตรการช่วยรากหญ้า การดูแลผู้มีรายได้น้อย กระตุ้นการบริโภค ตรงนี้ถือว่าเข้ามาช่วยรักษาสมดุลของเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกโต 8% เป็นการมองในแง่ดีก็ต้องทำงานให้เต็มที่ เมื่อส่งออกเริ่มติดลบโครงสร้างสินค้าส่งออกต้องพัฒนาให้มากกว่านี้ และต้องกว้างกว่านี้

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การส่งออกปี 2561 ของเดือนธันวาคม ลดลงต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2561 ไม่เป็นไปตามที่ สศค.

คาดไว้ว่าจะโต 4.5% การโตในระดับดังกล่าวส่งออกทั้งปีต้องขยายตัว 8% ดังนั้นเมื่อกระทรวงพาณิชย์ปรับลดเป้าการส่งออกในปี 2561 เหลือ 6.7% สศค.คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปี 2561 โตได้เพียง 4.1-4.2% ขณะนี้ สศค.กำลังประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มกราคมนี้

สำหรับในปี 2562 สศค.ประเมินจีดีพีเบื้องต้นอยู่ที่ 4% และการส่งออกขยายตัว 5% การส่งออกที่ สศค.ประเมินจะต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ว่าจะโต 8% โดยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เพราะขณะนี้ยังมองไม่ออกว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไร คงต้องติดตามผลการเจรจาในเดือนมีนาคม

ผลจากสงครามการค้าทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มซัพพลายเชนปรับลดลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหากสงครามการค้ายืดเยื้อจะส่งผลดีต่อไทย เพราะทำให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐาน ซึ่งไทยมีโอกาสในการที่จะเป็นฐานการลงทุนใหม่ของนักลงทุนดังกล่าว

เศรษฐกิจในปี 2562 มีปัจจัยกระทบทั้งในเรื่องสงครามการค้า และการเลือกตั้งในไทย หากการเลือกตั้ง

เป็นไปด้วยดีส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนมองภาพในอนาคตมากขึ้น คาดว่าเม็ดเงินลงทุนเริ่มเข้ามาไทยมากขึ้นหลังเลือกตั้ง

ลุ้นมี.ค.เทรดวอร์คลี่คลาย

ทางฝั่งนักวิชาการมีความกังวลกับปัญหาสงครามการค้าหรือเทรดเวอร์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ หลังจากการส่งออกในปี 2561 กระทรวงพาณิชย์ตั้ง

เป้าหมายส่งออกไว้สูงมากแต่ก็ไปไม่ถึง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มองว่าส่งออกจะโต 7-8% ในส่วนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมองไว้ 7% ตัวเลขจริงของกระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมา 6.7% ถือว่าหลุดเป้า

เล็กน้อยโดยเป็นการหลุดเป้าหนักในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2561 ซึ่งมาจากปัญหาเทรดวอร์ที่รุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ ประเมินว่าผลกระทบของเทรดวอร์จะต่อเนื่องถึงปี 2562 ทำให้ส่งออกจะโตเพียง 4-5% เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อยๆ ซึม จากผลของเทรดวอร์ที่จะมีการเจรจากันระหว่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ถ้าคลี่คลายการส่งออกของไทยจะสามารถวิ่งขึ้นไปแตะ 5% โดยง่าย แต่สถานการณ์ขณะนี้ควรจะมองเชิงอนุรักษ์ เพราะเมื่อปีที่แล้วมองกัน 8% แต่ไปไม่ถึง ดังนั้นในปีนี้การ

ตั้งเป้าหมายส่งออกจึงไม่ควรสูงเกินไป โดยในปีที่แล้วฐานการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกสูงมาก ดังนั้นในปีนี้คาดว่าการส่งออกช่วงไตรมาสแรกจะติดลบต่อเนื่องจากปลายปี 2561

การตั้งเป้าหมายส่งออกควรมองแต้มต่อในการขายของด้วยเพราะประเทศคู่แข่งของไทย เช่น มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ค่าเงินอ่อนกว่าเงินบาทไทย ถ้าสถานการณ์แบบนี้ รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการมาช่วยดูแลควบคู่กันไป เช่น ดูแลค่าเงิน แต่ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังปล่อยให้เป็นไปตามกลไก ดังนั้นการที่ธุรกิจขายของในสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งและตลาดโลกที่ซึมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

ขณะนี้การเจรจาเทรดวอร์ดูดีขึ้น ทางทำเนียบขาวมองว่าจีนไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทางจีนต้องการเปิดตลาดปีละ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นประเด็นปัญหาและทำให้การเจรจาในรอบ 2 ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐและรองนายกฯจีนในเดือนมกราคมนี้จึงกั๊กกันอยู่ คาดว่าจะเจรจากันไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มแย่กว่าปีที่ผ่านมา

จึงมองว่าสหรัฐไม่ควรเครียดกับเรื่องจีน และหวังว่าสหรัฐจะดูแลเศรษฐกิจไม่ให้สถานการณ์แย่กว่านี้ คงต้องรอดูผลการเจรจาในรอบเดือนมีนาคมว่าจะสรุปอย่างไร

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย ปีนี้ส่งออกไม่ดี โชคดีท่องเที่ยวตลาดจีนเริ่มกลับมา อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกแย่ลงจะมีผลต่อการท่องเที่ยวเช่นกัน ดังนั้นคงต้องติดตามผลการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐในเดือนมีนาคมด้วย

ขณะนี้ไทยกำลังมีการเลือกตั้ง การลงทุนจากภาครัฐเป็นตัวค้ำยันเศรษฐกิจ มองว่าสถานการณ์ไม่ควรย่ำแย่ไปกว่านี้ ไทยควรรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 4% ในปีนี้จากปีที่แล้วคาดว่าจะโต 4.2%

เอกชนมองส่งออกปีนี้โตแค่5%

มุมมองเอกชนในเรื่องการส่งออกปีนี้ แม้จะเสียงแตกไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่คาดว่าจะแย่กว่าปีที่ผ่านมา

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองในเชิงบวกว่า เป้าหมายส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ 8% ในปีนี้น่าจะเป็นไปได้ เพราะสถานการณ์ระหว่างจีนกับสหรัฐน่าจะดีขึ้น รวมถึงการค้าระหว่างชายแดนในประเทศยังขยายตัวดี ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตลาดใหม่ๆ ยังทำรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงส่งผลให้ในปี 2561 ไปไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ ดังนั้นในปีนี้จึงต้องทดลองในเรื่องของการเข้าถึงตลาดอีกครั้ง โดยประเทศที่เหมาะกับการทำการค้า เช่น จีน อินเดีย ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีหอการค้าหลายแห่งส่งสินค้าไปยังจีนจำนวนมากตรงนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกไทยปีที่ผ่านมาขยายตัว 6.7% จากเป้าหมาย 8% ถือว่าผิดคาดพอสมควรเพราะเดิมภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่าจะขยายตัวระดับ 7-9% อย่างไรก็ตาม ปีนี้ กกร.คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 5-7% ไม่น่าถึง 8% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ เพราะสถานการณ์ปีนี้มีปัจจัยลบมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมัน

ส่วน นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่าในปีนี้ส่งออกจะโต 5% ปัจจัยบวกสำคัญมาจากการเป็นประธานอาเซียนของไทยช่วยสร้างความเชื่อมั่น ช่วยสร้างความสะดวกทางการค้าและการลดการกีดกันทางการค้า การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่คาดว่าจะยืดเยื้อ นอกจากนี้ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากในปี 2562 ข้อตกลงทางการค้าระหว่างอียูกับเวียดนาม (FTA) มีผลบังคับใช้ ซึ่งสินค้าเวียดนามเป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับไทย นอกจากนี้การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากเหตุจลาจลในกลุ่มประเทศยุโรป ความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาท การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 1.5% เป็น 1.75% ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศจะเป็นการกีดกันผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าทางอ้อม

นางสาวกัณญภัคกล่าวต่อว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์และภาครัฐควรส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น จัดกิจกรรมเปิดตลาดใหม่ แยกตามกลุ่มสินค้าและประเทศ รวมถึงการสำรวจตลาดใหม่ ขณะเดียวกันควรเร่งแก้ไขและลดอุปสรรคทางการค้า อาทิ การเร่งเปิดท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อลดความแออัดในการขนส่ง เดินหน้าผลักดัน

และเร่งเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน อียิปต์ ส่วนผู้ประกอบการไทยควรสำรวจตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากความผันผวนของสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ

ปีนี้ผลพวงจากสงครามการค้ามีแนวโน้มกระทบต่อการส่งออกตั้งแต่ต้นปี ทำให้เป้าหมายส่งออก 8% ของกระทรวงพาณิชย์ถูกมองจากภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ว่าเป็นไปได้ยาก ดีสุดแค่ 5%

แค่ต้นปียังมีแนวโน้มติดลบ ถ้าจะเข็นส่งออกให้ถึงฝั่งฝัน 8% กระทรวงพาณิชย์ต้องออกแรงเหนื่อยหนักอีกหลายเท่าตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image