บาทแข็งโป๊กยืนหนึ่งในเอเชีย แซงคู่ค้า-คู่แข่ง ถึงเวลาธปท.ต้องจัดการ!

ภาพค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 สะท้อนภาพว่าเงินบาทยังเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) ในภูมิภาคและในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่นักลงทุนเลือกเข้ามาลงทุนในจังหวะที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน และยังเลือกเข้ามาลงทุนในจังหวะที่ตลาดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) จากเสถียรภาพการเงินของไทยที่แข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง เงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง และหนี้ต่างประเทศต่ำ

ทั้งยังมีแรงหนุนจากปัจจัยทางการเมือง คือ การเลือกตั้งของไทยที่ได้มีการประกาศชัดเจนและกำลังจะเกิดขึ้น ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับค่าบาทที่แข็งค่า

บาทแข็งขึ้น 1 บาท นำโด่งสกุลเอเชีย

ดังนั้น จากค่าเงินบาทที่เปิดตลาดวันทำการแรก ปี 2562 ที่ 32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงไต่ระดับแข็งค่าขึ้นไปที่ 31.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแข็งค่าสุดที่ในรอบ 7 เดือน และล่าสุดแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 9 เดือน เคลื่อนไหวอยู่ที่ 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าแล้วกว่า 1 บาท และถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย โดยตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้วกว่า 4.02% รองลงมาคือ รูเปียห์ อินโดนีเซียที่แข็งค่า 3.19% หยวน จีน แข็งค่า 2.13% ดอลลาร์ สิงคโปร์ แข็งค่า 1.07% ริงกิต มาเลเซีย แข็งค่า 0.93% เยน ญี่ปุ่น แข็งค่า 0.71% เปโซ ฟิลิปปินส์ แข็งค่า 0.67% ขณะที่ดอลลาร์ ไต้หวัน อ่อนค่า 0.08% ดอลลาร์ ฮ่องกง อ่อนค่า 0.19% วอน เกาหลีใต้ อ่อนค่า 0.29% และรูปี อินเดีย อ่อนค่า 2.07%

Advertisement

เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ยหนุนบาทแข็งเพิ่ม

ไม่เฉพาะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจและเสถียรภาพของไทย รวมทั้งการเลือกตั้งเท่านั้น โดยปัจจัยหนุนค่าเงินบาทล่าสุด คือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินอย่างระมัดระวังในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางชะลอตัว จากเดิมในช่วงปลายปีก่อนที่มีท่าทีขึงขังจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปีนี้ต่อเนื่อง ทำให้ตลาดมีความกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดลดลง และคาดการณ์แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า เฟดอาจจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบสกุลอื่น ขณะที่สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน คลี่คลายลงบ้าง คาดว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน น่าจะเจรจากันได้และพบกันครึ่งทาง ล่าสุดการเจรจาในระดับรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายออกมาในทิศทางที่ดีแต่ยังต้องรอติดตามในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และนักลงทุนมีความมั่นใจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ดันค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่ม

สินค้าไทยแพง-การแข่งขันลดลง

Advertisement

แม้ว่าทิศทางของเงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค แต่ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ใช้เทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย พบว่าดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อน ตามการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งเกือบทุกสกุล โดยเปรียบเทียบดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 119.1 ในเดือนมกราคม 2562 ขณะที่เดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 117.17 เดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 116.57 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นสะท้อนว่าของส่งออกจากไทยจะราคาแพงกว่า อย่างไรก็ตาม ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ล่าสุดเดือนธันวาคม 2561 ลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 108.27 รวมทั้งอยู่ที่ 108.01 และ 109.07 ในเดือนพฤศจิกายน-ตุลาคม 2561 สะท้อนว่าการแข่งขันที่เพิ่มดีขึ้นบ้างจากก่อนหน้า จากการที่ค่าเงินของคู่ค้าคู่แข่งแข็งค่าขึ้นเช่นกัน

ผลกระทบทั้งบวกและลบ

ผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ จะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะมีผลกระทบต่อผู้ส่งออก เนื่องจากราคาสินค้าไทยจะแพงกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งเมื่อแปลงค่าเงินจากดอลลาร์สหรัฐกลับมาเป็นบาทจะได้รับรายได้ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม จะส่งผลดีต่อผู้นำเข้าที่สามารถซื้อสินค้านำเข้าได้ในราคาที่ถูกลง ขณะที่ธุรกิจต่างๆ มีการลงทุนโดยนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศจะได้สินค้าที่ถูกลงเช่นกัน และผู้ที่มีหนี้ต่างประเทศ จะมีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการชำระหนี้สกุลต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สามารถซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ในราคาถูกลง และการท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทย มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะสามารถแลกเงินบาทเป็นสกุลต่างๆ ได้มากขึ้น

คลังจี้แบงก์ชาติดูแลค่าบาท

แนวโน้มค่าบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องทำให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้เป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูแล ถ้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ธปท.ก็ต้องออกมาแทรกแซงเพื่อไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง ควรอยู่ในระดับเดียวกัน เพราะหากแข็งค่ามากเกินไปจะทำให้เสียเปรียบการแข่งขัน

ห่วงกระทบส่งออกรายได้หด-รากหญ้า

นายอภิศักดิ์ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทแข็งค่าก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ในช่วงที่ประเทศต้องลงทุน ค่าเงินบาทแข็งค่าก็จะดีเพราะต้นทุนถูกลง แต่ผลเสียจะกระทบการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกพืชผลเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เพราะไม่มีผลดีจากการนำเข้ามาชดเชย และจะส่งผลกระทบมาถึงเกษตรกร คนฐานรากส่วนหนึ่ง ดังนั้น ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

สอดคล้องกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) โดย น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท. ให้ความเห็นว่า คาดว่าค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าอยู่ในระดับนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ซึ่งเดิม สรท.คาดหวังว่าสถานการณ์และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอาจจะทำให้ดอลลาร์แข็งขึ้นในปีนี้และค่าเงินบาทจะมีอานิสงส์ยังอ่อนค่าได้ แต่เท่าที่ติดตามสถานการณ์มีการปิดทำการรัฐบาลชั่วคราว (ชัตดาวน์) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง การจ้างงานที่ออกมาล่าสุดยังไม่ดีมากนัก ซึ่งเฟดก็จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจก่อน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็ง หากเทียบกับต้นปีค่าเงินบาท

ที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกเมื่อแปลงค่าเงินจากดอลลาร์สหรัฐมาเป็นบาทลดลงไปแล้ว 7-8% ซึ่งจะกระทบโดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเกษตรเพราะเป็นสินค้าในประเทศซึ่งจะกดดันต่อรายได้ของประชาชนฐานราก เพราะปกติธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเกษตรไม่ได้มีกำไรสูงมากนัก หากค่าเงินบาทยิ่งแข็งอาจจะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้กำไรลดลง หรืออาจจะขาดทุนได้

สรท.เล็งถกผู้ว่าการแบงก์ชาติ

น.ส.กัณญภัคกล่าวว่า สรท.อยากให้ ธปท.เข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปและแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง เพราะมีผลต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการ และอยากขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะหากขึ้นดอกเบี้ยค่าเงินบาทก็จะแข็งขึ้นอีก และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะกระทบทั้งรายได้ที่ลดลงและต้นทุนการเงินเพิ่มซึ่งอาจจะขาดทุนได้ โดย สรท.อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อเข้าพบ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและสะท้อนภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการหารือกันภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ ปี 2562 สรท.คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 5% ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาทในกรอบ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่ามากกว่าสมมุติฐานที่วางไว้แล้วและค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องซึ่งอาจจะกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกทั้งปีได้ และยังต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐและจีนที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยอีกด้วย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) มีความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดรอบ 9 เดือน และแข็งค่าที่สุดในเอเชียเมื่อเทียบจากต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่มากกว่าคู่ค้าจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันของสินค้าไทย มีผลต่อภาพรวมการส่งออกและผู้ประกอบการของไทย ซึ่งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมประจำเดือนจะมีการหารือกันกรณีนี้ ส่วนจะมีจะการเสนอทางการ หรือ ธปท. ให้เข้ามาดูแลค่าเงินบาทนั้นต้องรอการหารือร่วมกันก่อน

หอค้าไทยมองนักลงทุนหวังเก็งกำไร 2 ต่อ

ด้านมุมมองของ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทในขณะนี้ หากมองระยะสั้นสะท้อนความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดเงินของไทย หลังจากที่ไทยได้มีการประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ หากดูพื้นฐานเศรษฐกิจไทยก็มีความแข็งแกร่ง ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง เงินสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาคาดหวังผลตอบแทนจากราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้น และส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน และมีการเติบโตที่จูงใจในการลงทุน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ระยะสั้นนี้เริ่มเห็นธุรกิจมีเสียงบ่นขึ้นมา และในระยะปานกลางจะทำให้คนไทยขายของแพงขึ้นในสายตาต่างชาติเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ขายสินค้าเหมือนๆ กัน ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกจะแลกเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาเป็นเงินบาทได้น้อยลง ดังนั้น จึงจำเป็นที่ ธปท.ต้องดูแลค่าเงนบาทให้มีเสถียรภาพและเหมาะสมโดยเปรียบเทียบกับคู่ค้า แต่สถานการณ์นี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) การตกลงซื้อสิทธิที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต (ออปชั่น) บัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (เอฟซีดี) เป็นต้น ให้เหมาะสมเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตาม มองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ คาดการณ์ส่งออกประมาณ 4-5% เพราะทิศทางสงครามการค้าคลี่คลาย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังพร้อมซื้อ รวมทั้งรสนิยมและความต้องการสินค้าไทย ทำให้การส่งออกจะยังขยายตัวได้ ทั้งนี้ คาดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจประเทศ (จีดีพี) ที่ 4% เพราะปีนี้ นอกจากการส่งออกแล้ว เศรษฐกิจไทยยังมีการลงทุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่จะเข้ามา กระแสเงินจากการเลือกตั้ง แต่ยังต้องติดตามความชัดเจนสถานการณ์สงครามการค้า เบร็กซิท รัฐบาลใหม่ของไทยที่จะเข้ามา

กรุงไทยคาดบาทแข็งทะลุ 30 บาทต่อดอลล์

“ทิศทางค่าเงินบาทในระยะต่อไปมีโอกาสที่จะแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องไปแตะระดับ 31.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปิดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 31.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ” นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุ และว่า สำหรับช่วงครึ่งแรก 2562 ค่าเงินบาทและค่าเงินเอเชียจะอยู่ในทิศทางแข็งค่า จากปัจจัยการเจรจาสงครามการค้าสหรัฐและจีน คาดว่าจะมีข้อสรุปก่อนเดือนมีนาคม การชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครึ่งปีแรกนี้ซึ่งจะลดแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยของตลาดเกิดใหม่ และการเลือกตั้งไทยที่หนุนให้เงินไหลเข้า

ทั้งนี้ นายจิติพลประเมินว่า ค่าเงินบาทปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70-31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทจะเริ่มนิ่งมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 และคาดสิ้นปีจะอยู่ที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่จุดเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนจะมาจาก กรณีที่เฟดเปลี่ยนมุมมองกลับมาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและแนวโน้มราคาน้ำมันปรับขึ้นไปถึง 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ซึ่งถือเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดที่ประเมินไว้แต่โอกาสเกิดขึ้นก็ยาก ส่วนผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น มองว่าขณะนี้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านราว 1-2% เท่านั้น ยังไม่กระทบต่อการแข่งขันส่งออกมากนัก หากจะกระทบรุนแรงจะต้องแข็งค่ามากกว่า 10% แต่มองว่าการนำเข้าจะได้รับผลดีเพราะซื้อของถูกและเอื้อต่อการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ฟาก ธปท.เองขณะนี้ได้เข้ามาดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะๆ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 25 มกราคม 2562 จากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ 2.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ธปท.ยังย้ำเสมอว่าให้ผู้ประกอบการที่มีการค้าขายต่างประเทศต้องป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และอาจจะใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการซื้อขายเพื่อลดความผันผวนที่เกิดขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ กนง.จะมีการประชุมนัดแรกของปี 2562 ต้องติดตามว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งจะมีการส่งสัญญาณกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่ากับตลาดหรือไม่ เพราะหากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่ออาจจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกปีนี้ลดลงไปอีก โดยล่าสุด ธปท.คาดการณ์มูลค่าส่งออกปีนี้ขยายตัวเพียง 3.8% และระบุว่ามีโอกาสที่จะปรับลดลงได้อีกเนื่องจากผลกระทบสงครามการค้า แต่ยังยืนยันว่าจะมูลค่าการส่งออกจะไม่ติดลบแน่นอน ซึ่งมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสำคัญในจีดีพีถึง 60-70% ดังนั้น ย่อมหมายถึงเป้าหมายจีดีพีที่ประมาณ 4% อาจจะลดลงไปด้วย ถือว่าเป็นประเด็นความท้าทายที่ยังต้องติดตาม!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image