รายงาน หน้า 2 : นานาทรรศนะ จอดำ ‘วอยซ์ทีวี’

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการ และเอกชน กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติพักใช้ใบอนุญาตวอยซ์ ทีวี เป็นเวลา 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไปนั้น


 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
ออกแถลงการณ์ร่วม

ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนดังกล่าว ด้วยเหตุผล 1.การใช้ดุลพินิจพักการใช้ใบอนุญาต สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวีครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบสถานีในฐานะเป็นองค์กรธุรกิจและองค์กรสื่อมวลชน ที่มีคนทำงานอยู่ในหลายส่วน ซึ่งบางส่วนอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายการ หรือมีส่วนรับรู้ในการกระทบของพิธีกรบางรายการ แต่ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น การที่ กสทช.ใช้อำนาจสั่งพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวีทั้งสถานีย่อมก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายที่รุนแรงยิ่งกว่า โดย กสทช.ที่เป็นองค์กรผู้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการสื่อ และทำหน้าที่กำกับดูแลจะต้องใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อและองค์กรธุรกิจเสียเอง

Advertisement

ในกรณีของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีนั้น หากพบว่ารายการใดมีปัญหาควรพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่ใช่ใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี หรือหากการนำเสนอเนื้อหาของสถานีมีผลกระทบหรือละเมิดสิทธิบุคคล ด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมใช้สิทธิแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องร้องตามกฎหมายปกติได้อยู่แล้ว

2.คำสั่งของ กสทช.ดังกล่าว ขัดแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ระบุว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพจะกระทำมิได้ ดังนั้น การใช้อำนาจของ กสทช.ออกคำสั่งครั้งนี้ จึงขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน และกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชน โดยขณะนี้บรรยากาศช่วงรณรงค์หาเสียงควรเอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อและประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน

3.ขอเรียกร้องสื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่รายงานข่าวสารอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย สื่อต้องระมัดระวังในการรายงานข่าวเลือกตั้ง ไม่ให้มีลักษณะว่าเข้าข้างหรือเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องหลีกเลี่ยงการรายงานข่าวด้วยการใช้วาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงดังที่เคยเกิดมาแล้ว

Advertisement

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 3 สมาคม เรียกร้องให้ กสทช.ได้ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระอย่างแท้จริง โดยใช้อำนาจด้วยระมัดระวังด้วยการเร่งทบทวนคำสั่งพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี เพื่อให้สังคมไทยได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งด้วยบรรยากาศที่เกื้อหนุนและเปิดกว้างในการแสดงความคิดความเห็นของสื่อมวลชนและประชาชนต่อไป

 

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เหตุการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน โดยพยายามจำกัดข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ซึ่งเกิดมาแล้วทุกยุคของรัฐบาล เพียงแต่ในยุคนี้อาจสะท้อนผ่านองค์กรอิสระโดยใช้สำนักงาน กสทช.เป็นกลไกในการลิดรอนเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร

ในเรื่องข้อมูลข่าวสารนั้น กรณีของวอยซ์ ทีวี หากนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ย่อมมีกระบวนการ มีกลไกลงโทษ หรือกระบวนการทางสังคมคือ เปิดเผยข้อมูลว่าวอยซ์ ทีวี
ทำผิดแบบไหนอย่างไรต่อสังคมให้รับรู้

ส่วนกระบวนการลงโทษมีหลายอย่าง ตั้งแต่การปรับ หรือขั้นรุนแรงคือปิด อาจถูกสังคมตั้งคำถามได้ว่าเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งกันหรือไม่

นี่เป็นสิ่งหนึ่งในบทพิสูจน์การทำงานของ กสทช.ว่ามีอิสระมากน้อยแค่ไหน เพราะเจตนารมณ์ในการเกิดขึ้นของ กสทช.คือต้องการให้เกิดคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อบริหารจัดการสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ของไทยให้เป็นอิสระจากรัฐ

โดยกระบวนการหลังจากนี้ของวอยซ์ ทีวี คือการฟ้องศาลปกครอง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือผลกระทบทางสังคม ตลอดจนเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในสายตาประชาคมโลกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่ากรณีนี้ที่ กสทช.ใช้นโยบายจอดำ 15 วัน ตรงประเด็นไหนที่แน่นอน เนื่องจากอ่านดูคำสั่งแล้วค่อนข้างกว้าง ถ้าชัดเจนว่าใช้คำไหนอย่างไร วอยซ์ ทีวี คงสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง หรือเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้กับทุกช่องหรือไม่

หากพูดกว้างๆ อย่างนี้ วอยซ์ ทีวี สามารถอ้างได้ว่าทำไมช่องนี้ทำได้ ทำไมเขาทำไม่ได้ ดังนั้น กสทช.ควรระบุให้ชัดเจน หรือหากคิดว่าเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมก็ควรผ่านการกลั่นกรองให้ชัดเจนแล้วแจ้งกับสังคม เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติกับทุกช่อง ไม่เลือกปฏิบัติ

จริงๆ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมีในทุกๆ สังคม รัฐทุกรัฐไม่ใคร่ยินดีนักที่จะให้มีความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะผ่านสื่อมวลชน แต่เรื่องการดำเนินการอาจมีความแตกต่างกันบ้าง ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากหน่อย รัฐอาจกดดันผ่านโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านกลุ่มทุน ส่วนอื่นๆ หรือแทรกแซงผ่านบางองค์กร

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือรัฐบาลที่ใช้สิ่งนี้ ต้องการพยายามปิดปาก ปิดข้อมูลข่าวสารที่จะสะท้อนให้ประชาชน ซึ่งในอดีตอาจทำได้ง่าย เพราะช่องทางการสื่อสารจำกัด โดยเฉพาะช่องทางหลักอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หากปิดแล้วประชาชนอาจไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือได้รับข้อมูลข่าวสารด้านเดียวที่รัฐนั้นๆ สามารถสื่อได้

แต่วันนี้เรื่องของเทคโนโลยีเปลี่ยนไป มีการพัฒนาขึ้น มีสื่อดิจิทัล ออนไลน์ โซเชียลมีเดียมากมาย ปิดตรงนู้นก็ไปโผล่ตรงนี้แทน ยิ่งทำให้แพร่กระจายได้กว้างมากขึ้นในเรื่องความไม่ชอบธรรม

ดังนั้น ผู้บริหาร โดยเฉพาะในภาวะอ่อนไหว พึงให้เสรีภาพในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ให้ประชาชนมีองค์ความรู้ในการเลือกเสพและตัดสินใจในข้อมูลจะดีกว่า โดยการให้ความรู้กับประชาชนในการรู้เท่าทันสื่อว่าเพจไหน เว็บไหน หรือข้อมูลแบบใดที่บิดเบือน ไม่ถูกต้องอย่างไร

จะเป็นการสร้างพลังตรวจสอบได้ดีกว่าการเลือกปิดช่องใด หรือแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง

เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

เราได้รับจดหมายตอน 16.29 น. ซึ่งศาลปิดตอน 16.30 น. พอดี จึงเตรียมการยื่นศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว จริงๆ ได้เร่งดำเนินการในทันที แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่เป็นข้อกล่าวหาหรือข้อชี้แจงถึง 6 ข้อ มีเรื่องสำนวนซึ่งต้องใช้เวลา และรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ตอนแรกคิดว่าจะไปศาลปกครองตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ แต่ไม่ทัน ต้องเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์

ที่ผ่านมาทุกครั้งซึ่งมีข้อท้วงติงมาโดยตลอด เราก็ชี้แจงไป และรับมาปฏิบัติทั้งที่ไม่เห็นด้วย เหตุการณ์เกิดตั้งแต่ปี 2557 คือหลังรัฐประหาร จนถึงปัจจุบัน หลักๆ แล้วจะเป็นประเด็นเรื่องคำสั่ง คสช.ทั้งสิ้น น้อยมากที่จะเป็นเรื่อง พ.ร.บ.กสทช. ก่อนหน้านั้นเราดำเนินการมาอย่างราบรื่น รูปแบบรายการก็เหมือนเดิม

พอหลังรัฐประหาร มีการปิดสื่อไปหลายส่วน เราเป็นหนึ่งในนั้น

พออยู่ในภาวะเซ็นเอ็มโอยูก็เปิดกลับมา เอ็มโอยูดังกล่าวก็อิงคำสั่ง คสช. ฉบับต้นๆ สักพักหนึ่ง คสช.ก็มีคำสั่งใหม่มา แล้วยังมีคำสั่งมาเรื่อยๆ จนถึงคำสั่ง 97 จนถึงล่าสุดคือ 103 แต่เมื่อดูจากการพิจารณาเนื้อหาต่างๆ จริงๆ 97 ยกเลิกไปแล้ว

แต่ในหนังสือที่แจ้ง กสทช.บอกว่าเราผิดคำสั่งที่ 97 นี่เป็นเทคนิคทางกฎหมาย ก็ให้ทางกฎหมายว่ามา แต่โดยเนื้อหาที่ผ่านมา คือเราทำไปตามปกติ แต่การใช้ดุลพินิจของ กสทช. เรื่องที่ว่ามีการขัดต่อคำสั่ง คสช.ในระหว่างทาง เป็นดุลพินิจที่เราไม่เห็นด้วย แต่ก็ปฏิบัติตามโดยไม่เห็นด้วยมาตลอด

เราเห็นว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความเห็นและข้อมูลว่าถูกเลือกปฏิบัติ ศาลปกครองเป็นพื้นที่ให้ท้วงติงได้ ด้วยกติกาเป็นอย่างนั้นมา การใช้ดุลพินิจว่าต้องทำตามคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ โดย กสทช.เป็นผู้ใช้ดุลพินิจก็มีที่เดียวให้อุทธรณ์ คำสั่งหนึ่งที่มาจาก คสช. คือ ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหาร กสทช. ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งแพ่งและอาญา ตรงนี้ยิ่งทำให้สมดุลในการใช้ดุลพินิจอยู่ในกรอบที่ไม่ต้องอิงเหตุผลได้หรือเปล่า

ผลที่เราได้รับตลอดมา ยังยืนยันว่าเราดำเนินการเต็มที่แล้ว ส่วนการแสดงความเห็นหรือการชี้แจง กสทช. ว่าดำเนินการเป็นอิสระหรือไม่ ก็ว่าไป แต่เท่าที่ประสบ ส่วนใหญ่เวลาไปให้ข้อมูล พบว่าประเด็นนั้นประเด็นนี้ไม่มีปัญหาแต่ว่าคำสั่งที่มาหาเรากลายเป็นประเด็นที่ไม่มีในที่ประชุม เป็นปัญหามาจนถึงขั้นลงโทษปิดสถานี 15 วัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ได้รับผลกระทบเยอะ ถ้าไปดูในคำสั่ง ครั้งนี้มีอยู่ข้อหนึ่ง เรื่องการรายงานความเห็นของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ว่าเกินเลยกว่าสิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์พูด ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะสิ่งที่รายงานไปเป็นการรายงานบริบททั้งหมดที่คุณหญิงสุดารัตน์ได้ให้ข่าว แต่เนื้อหาที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ ตัดมาเฉพาะการประกอบเท่านั้น เราก็ไม่ได้ชี้แจงเพราะไม่ได้มีการพูดถึง แต่ข้ามไปเลย แต่กลับกลายเป็นประเด็นนี้ที่นำไปสู่การปิด หรือการให้ความเห็น การนำเสนอข่าวสารที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ให้ข่าว ทุกช่องเหมือนกันแต่กลายเป็นว่าวอยซ์ ทีวีถูกวิเคราะห์ว่าผิดหรือไม่ อย่างไร ซึ่งสะสมและชัดเจนจนต้อง take action

เราต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม ขอกลับมาอยู่ในพื้นที่ที่ลงตัว เหมาะสม ไม่ได้ต้องการอะไรเป็นพิเศษ ไม่ได้ต้องการการชดเชย แต่ประเด็นคือในช่วงบริบทที่ก้าวเข้าสู่การเลือกตั้ง บรรยากาศเช่นนี้ควรเปิดให้มีการเผยแพร่ข่าวสารอย่างทั่วถึง และครอบคลุมทำให้คนได้รับประโยชน์จากการรับข้อมูลข่าวสาร นำไปสู่การเลือกตั้ง

เรานำสิ่งเสนอที่เป็นข้อเท็จจริง นำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่าต่อสังคม สุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญคือต้องไม่หมิ่นประมาทใคร ทั้งองค์กร หน่วยงาน หรือบุคคล เราจะทำตามหลักนี้ และจะต้องชี้แจงให้เต็มที่

ส่วนเรื่องความร่วมมือใดๆ ที่อ่อนไหว ขอนู่นขอนี่ ถ้าทำได้ก็จะทำ แต่ถ้าจะให้รื้อโครงสร้าง มันหลุดจากหลักไปเลย อันนี้ไม่ทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image