เช็กความพร้อม ‘ภาษีที่ดิน’ แลนด์ลอร์ด-ดีเวลลอปเปอร์ เขย่าพอร์ต รับกฎหมายปี’63

หลังพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 คาดว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563

หากกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีเวลา 120 วันในการออกกฎหมายลูก 20 ฉบับ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมรับมือกฎหมายดังกล่าว รวมถึงเตรียมความพร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในฐานะผู้จัดเก็บภาษี

นอกจากนี้ ยังพบว่าบรรดาแลนด์ลอร์ดเริ่มขยับตัวตั้งบริษัทขึ้นมาบริหารจัดการที่ดิน เพราะถ้าหากทิ้งไว้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ต้องเสียภาษีมากกว่าประเภทอื่นหลายสิบเท่า

‘อัตราภาษีประเภทต่างๆ
ถ้าดูอัตราจัดเก็บเผยแพร่โดยกระทรวงการคลัง อัตราภาษีจะทำให้คนที่มีบ้านและที่ดินเกษตรไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะรัฐยกเว้นสำหรับที่ดินเกษตร และบ้านหลังแรกของบุคคลธรรมดา หากมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี

Advertisement

กลุ่มที่จะกระทบมากหน่อยคือแลนด์ลอร์ดถือครองที่ดินจำนวนมาก หากไม่มีการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์เสียภาษีสูงกว่าทุกประเภท

อัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภท ประกอบด้วย ที่ดินเกษตรกรรมมีเพดานจัดเก็บ 0.15% มีอัตราการจัดเก็บแบ่งเป็น 5 ขั้น คือมูลค่า 0-75 ล้านบาท อัตราจัดเก็บ 0.01%, มูลค่า 75-100 ล้านบาท 0.03%, มูลค่า 100-500 ล้านบาท 0.05%, มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท 0.07%, มูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท 0.1%

ถ้าเป็นบุคคลธรรมดายกเว้นในส่วนไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่งผลให้มีภาระภาษีเช่น
ที่ดิน 50 ล้านบาทยกเว้น ที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท เสียภาษี 10,000 บาทต่อปี ที่ดินมูลค่า 200 ล้านบาท เสียภาษี 60,000 บาทต่อปี เป็นต้น

Advertisement

สำหรับบ้านพักอาศัยมีเพดานจัดเก็บ 0.3% อัตราการแบ่งเป็น 4 ขั้น ประกอบด้วย 0-50 ล้านบาท อัตราจัดเก็บ 0.02%, 50-75 ล้านบาท 0.03%, 75-100 ล้านบาท 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป 0.1% โดยบ้านหลังหลัก ซึ่งต้องเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินมีชื่อในทะเบียนบ้าน ได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาท

หากมีบ้านราคา 100 ล้านบาท เสียภาษี 20,000 บาทต่อปี ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว ไม่มีชื่อในที่ดิน แต่มีชื่อในทะเบียนบ้านรับการยกเว้น 10 ล้านบาทแรก ส่วนบ้านหลังที่ 2 ถูกเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรก

ที่ดินอื่น (พาณิชยกรรม) มีเพดานจัดเก็บ 1.2% การจัดเก็บแบ่งเป็น 5 ขั้น คือ 0-50
ล้านบาท อัตราจัดเก็บ 0.3%, 50-200 ล้านบาท 0.4%, 200-1,000 ล้านบาท 0.5%, 1,000-5,000 ล้านบาท 0.6%, 5,000 ล้านบาทขึ้นไป 0.7% ทำให้ภาระภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 50 ล้านบาท
อยู่ที่ 150,000 บาทต่อปี, 100 ล้านบาท อยู่ที่ 350,000 บาทต่อปี, 500 ล้านบาท อยู่ที่ 2.25 ล้านบาทต่อปี

ส่วนสำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าอัตราเพดานและการจัดเก็บเหมือนประเภทอื่นๆ แต่จะเพิ่มอัตราภาษี 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3%

‘ยกเว้น-ลดหย่อน-ผ่อนปรน
มาตรการดูแลผลกระทบ ประกอบด้วย 1.ยกเว้นสำหรับทรัพย์สินของรัฐ, ทรัพย์ส่วนกลาง, ศาสนสมบัติ, องค์กรระหว่างประเทศ, ทรัพย์ของเอกชนที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ, ทรัพย์สินที่ใช้ทำเกษตรกรรมของเกษตรกรในเขต อปท.เดียวกันไม่เกิน 50 ล้านบาท, บ้านหลังหลักไม่เกิน 50 ล้านบท

2.ลดหย่อนสำหรับสถานศึกษาเอกชน, กิจการสาธารณะ (เช่น กีฬา พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ), บ้านมรดก

3.ผ่อนปรนในช่วง 3 ปีแรก คือยกเว้นภาษีให้ทรัพย์สินที่ใช้ทำเกษตรกรรมของเกษตรกร, ทยอยเสียภาษีสำหรับกลุ่มที่จ่ายภาษีเพิ่มขึ้น โดยให้เพิ่มจากเดิม 25% 50% และ 75%

‘คาดสร้างรายได้4หมื่นล.
กฎหมายภาษีที่ดินฯ เป็นการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษี จากเดิมใช้ภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินบุคคลทั่วไป และภาษีโรงเรือนสำหรับกลุ่มธุรกิจ โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวออกมานานมาก โดยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุง
ท้องที่ พ.ศ.2508 ทำให้การจัดเก็บภาษีไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และฐานภาษีไม่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากใช้ราคาปานกลางของที่ดินซึ่งปกติต้องปรับปรุงทุก 4 ปี แต่ยังใช้ของปี 2521-2524

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในแต่ละปีจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประมาณ 2.3-2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วน
ภาษีบำรุงท้องที่เก็บได้ 900 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี

ภาษีที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับฐานราคาที่ดินใช้เคยอ้างอิงเมื่อ 40 ปีก่อน มาเป็นราคาปัจจุบัน ยืนยันว่าประชาชนที่มีบ้านแล้วต้องเสียภาษีจะเสียภาษีหลักร้อยบาทเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ไม่เสียภาษีเพราะยกเว้นภาษีสำหรับบ้านหลังแรก 50 ล้านบาท โดยขณะนี้มีบ้านเข้าข่ายเสียภาษีประมาณหลักหมื่นหลังเท่านั้น

‘ปิดช่องหลบหลีก
นายลวรณกล่าวว่า ถ้าเทียบกฎหมายภาษีที่ดินกับกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิม ภาษีเก็บจากภาษีที่ดินของใหม่จะถูกกว่า เช่น หอพักให้เช่ามีมูลค่า 10 ล้านบาท เสียภาษีที่ดิน 0.3% หรือเสีย 30,000 บาทต่อปี แต่ภาษีโรงเรือนต้องเสีย 70,000 บาทต่อปี แต่ที่เสียกันน้อยเพราะมีการหลบเลี่ยงภาษี และใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ โดยภาษีใหม่จะมีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์เพื่อฐานในการประเมินภาษีให้ผู้เก็บนำไปใช้ จึงทำให้ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นช่องโหว่ในการเก็บภาษีที่ผ่านมา

ในการเสียภาษีอยู่ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเดิม ในอดีตเมื่อได้รับการแจ้งให้ไปเสียภาษี ผู้เสียภาษีต้องประเมินตัวเองว่ามีภาระภาษีเท่าไหร่ แล้วเดินไปที่ อปท.เพื่อขอเสียภาษี ถ้า อปท.เห็นว่าน้อยไปอาจจะมีการทักท้วงบ้าง ส่วนของใหม่ อปท.ต้องประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในท้องถิ่นว่าแต่ละแปลงเสียภาษีเท่าไหร่ และแจ้งไปยังผู้ถือครอง พร้อมติดประกาศเพื่อให้รับทราบโดยทั่วกันว่าใครเสียภาษีเท่าไหร่ ตรงนี้ทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบกันเอง เช่น ทำไมบ้านนั้นเปิดเป็นโรงงาน แต่เสียเท่าบ้านนี้เป็นบ้านพักอาศัย จะเกิดการทักท้วงกันขึ้น จากเดิมแต่ละบ้านไม่เคยรู้กันว่าเสียภาษีเท่าไหร่

กฎหมายเปิดให้อุทธรณ์ได้หากเจ้าของที่ดินเห็นว่าภาษีที่ถูกจัดเก็บนั้นไม่เหมาะสม

‘เคาะราคาประเมินใหม่
อีกเรื่องที่ต้องทำคู่ขนาน คือการปรับราคาประเมินที่ดินใหม่ ให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการสำรวจราคาที่ดินใหม่เพื่อนำมาเป็นฐานในการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เตรียมประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นการประกาศรอบ 2 ปี จากเดิมจะประกาศทุก 4 ปี

นอกจากนี้ยังมีการประเมินราคาที่ดินรายแปลงเพื่อรองรับภาษีที่ดินใหม่ ขณะนี้ประเมินแล้ว 20 ล้านแปลง คาดว่าในปีนี้จะประเมินอีก 13 ล้านแปลง รวมเป็น 33 ล้านแปลง ยืนยันว่าราคาประเมินราคาที่ดินจะเสร็จทันกับการประกาศบังคับใช้ภาษีที่ดินใหม่แน่นอน
ในปี 2562 กรมธนารักษ์มีแผนร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในการอบรมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเกี่ยวกับภาษีที่ดินฉบับใหม่ รวมถึงวิธีปฏิบัติในการเก็บภาษี ซึ่งเป็นการอบรมต่อเนื่องจากปี 2561 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้กรมธนารักษ์กำลังเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ… ขณะนี้กฎหมายกำลังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยกฎหมายนี้ทำให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติในเรื่องการประเมินราคาที่ดินและทรัพย์สิน เพราะงานดังกล่าวถูกโอนมายังกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2545 แต่ในการทำงานกระทรวงการคลังยังต้องใช้กฎหมายที่ดินของกระทรวงมหาดไทย

กฎหมายเดิมใช้วิธีการประเมินตามกฎหมายที่ดิน เพื่อเป็นฐานในการเก็บภาษีในการโอนนิติกรรม แต่กฎหมายใหม่ ประเมินเพื่อใช้การจดทะเบียน ใช้เป็นฐานของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการเวนคืนที่ดิน
นอกจากนี้กฎหมายประเมินมูลค่าทรัพย์สินฯ ทำให้การอุทธรณ์ราคาที่ดินทำได้เร็วขึ้นไม่ถึง 1 เดือน เพราะจะให้อำนาจท้องถิ่นในการประกาศผลการอุทธรณ์ จากกฎหมายเดิม ท้องถิ่นรับเรื่องไว้ อุทธรณ์เสร็จต้องส่งมาให้ส่วนกลางในการพิจารณาใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะจบแต่ละเรื่อง

รวมถึงกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินเข้าไปประเมินราคาที่ดินและทรัพย์สินโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน ถ้าเป็นกฎหมายเดิมแม้จะได้ความยินยอมเจ้าของที่ดินสามารถถูกฟ้องได้ในข้อหาบุกรุกเพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

‘แลนด์ลอร์ดปรับพอร์ตที่ดิน
กฎหมายภาษีที่ดินทำให้ผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากๆ หรือเรียกกันว่าแลนด์ลอร์ดเริ่มปรับตัว โดยเริ่มชัดเจนว่ารัฐบาลเอาจริง ก่อนหน้านี้กฎหมายมีความพยายามจากกระทรวงการคลังมากว่า 30 ปี แต่ไม่เคยสำเร็จ ล่าสุดมีข้อมูลว่าบรรดาเศรษฐีที่ดินตระกูลดังจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารที่ดิน ด้วยการนำที่ดินถือครองอยู่ไปให้เช่า ทำสวน ทำนา ทำไร่ นับ 10 บริษัท

หลายคนมองว่าการดำเนินการดังกล่าวเพื่อต้องการเลี่ยงภาษีที่ดิน ถ้ามีที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท และเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเสียภาษี 3.5 แสนบาท และเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี แต่ถ้าเป็นที่ดินเกษตรเสียภาษี 1 หมื่นบาท
อย่างไรก็ตามฝั่งกระทรวงการคลังมองการจัดตั้งบริษัทเช่าที่ดินของกลุ่มแลนด์ลอร์ด เป็นการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์เป็นเจตนาของกฎหมายฉบับนี้อยู่แล้ว ดังนั้นกระทรวงการคลังมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พบว่ามีที่ดินถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าถึง 8 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยเป็นนาร้าง 1.2 แสนไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นที่ดินเพื่อซื้อสะสมเก็งกำไรกับมรดก

ประเมินว่ากฎหมายภาษีที่ดินทำให้เกิดความเคลื่อนไหวนำที่ดินออกทำประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ

‘ดีเวลลอปเปอร์ขยับรับมือภาษี
กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลลอปเปอร์) ถือครองที่ดินราคาแพงย่านสำคัญไว้ในมือ

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการรับรู้เรื่องภาษีที่ดินมาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นจึงเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภาษีพอสมควร โดยขณะนี้กำลังรอกฎหมายมีผลบังคับใช้และรอดูกฎหมายลูก โดยเฉพาะกรณีจะยกเว้นหรือลดหย่อนสำหรับที่ดินรอการพัฒนาของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังบอกว่าบรรเทาภาระภาษีให้ 3 ปี แต่มีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ที่ดิน 100 ไร่ พัฒนาเฟสแรกไปแล้ว 30 ไร่ ที่เหลือ 70 ไร่ จะคิดยังไง

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์วางแนวทางการบริหารจัดการที่ดินพอสมควร ถ้าถือครองที่ดินในมือไว้จำนวนมาก ต้องมาประเมินว่าคุ้มกับภาษีที่ต้องจ่ายไหม หรือจะจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อนำที่ดินดังกล่าว
ไปปล่อยเช่า เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีในอัตราที่ดินรกร้างว่างเปล่า นอกจากนี้มีแนวคิดจะนำที่ดินไปทำการเกษตร แต่ต้องดูสภาพแวดล้อมด้วยว่าเหมาะสมที่จะทำการเกษตรหรือไม่ รวมถึงการขายที่ดินในแปลงที่ยังไม่มีแผนพัฒนาอันใกล้ออกไปก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นต้นทุน โดยคิดไว้ทุกทางและต้อง
ดูว่าทางไหนจะดีที่สุด และลดภาระจากภาษีที่ดินให้มากที่สุด

หลังจากภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้ หากทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น หนีไม่พ้นที่จะต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภค เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจหากต้องการได้กำไรเท่าเดิม แต่ต้นทุนเพิ่ม ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้คงต้องดูคู่แข่งด้วยคงไม่สามารถผลักภาระไปได้ทั้งหมดทันที

‘นักวิชาการชี้กม.เสียของ
ส่วนความเห็นจากนักวิชาการ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กฎหมายภาษีที่ดินออกมายังมีช่องโหว่ ทำให้บรรดาผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากใช้ช่องทางในการหลบหนีภาษี เช่น ไปตั้งบริษัทเพื่อให้เช่าที่ดินทำการเกษตร เนื่องจากอัตราภาษีที่ดินสำหรับเกษตรต่ำมาก ต่ำกว่าประเภทอื่นหลายเท่าตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนต้องการเสียภาษีให้น้อย เมื่อนำที่ดินไปทำการเกษตรมากทำให้โครงสร้างเกษตรมีปัญหา เช่น ไปปลูกข้าวทำให้ผลผลิตออกมามากเกิดปัญหาล้นตลาด

ทั้งนี้ กฎหมายที่ออกมาถือว่าผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำที่ดินไปใช้ประโยชน์มากที่สุด แต่ภาษีเก็บจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่เท่ากัน ทำให้นำที่ดินมาพัฒนาน้อย ถ้าจะให้เกิดการพัฒนาควรแยกเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่ต่ำกว่าภาษีที่ดิน เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง

นอกจากนี้ ภาษีต้องการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น แต่ไม่ได้ให้อำนาจท้องถิ่นในการกำหนดภาษี รวมถึงยังเว้นภาษีสำหรับที่ดินเกษตร 50 ล้านบาท ทำให้ท้องถิ่นขาดรายได้ จากเดิมที่ดินเกษตรเสียภาษีปีละ 200-300 บาท ก็จะไม่สามารถเก็บภาษีตรงนี้ได้ ทั้งนี้ หากเว้นภาษีให้กลุ่มเกษตรกรแล้ว ที่ดินเกษตร
ควรมีอัตราการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้นใกล้เคียงกับที่ดินประเภทอื่น เพื่อไม่ให้บรรดาผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากใช้ช่องทางนี้ในการเลี่ยงภาษี

รัฐบาลไปตีความกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงทำให้ออกมาเป็นอย่างนี้ ดังนั้นกระทรวงการคลังควรจะเก็บข้อมูลในอีก 2-3 ปีข้างหน้าว่าเมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้วเกิดปัญหาอะไรบ้าง และควรปรับแก้กฎหมายอย่างไร เพราะถ้าปล่อยไว้คงจะคล้ายภาษีมรดก ออกมาหลายปีแล้ว แต่มีคนมาเสียภาษีเพียง 2-3 รายเท่านั้น

ด้าน นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ (ประเทศไทย) ที่ปรึกษากฎหมายภาษี กล่าวว่า ภาษีที่ดินกำหนดอัตราภาษีในช่วง 2-3 ปีแรกน้อยมากแทบ
จะไม่มีผลกระทบกับบุคคลทั่วไป แถมยังมีลดหย่อนสำหรับบ้านหลังแรก และที่ดินเกษตร มูลค่า 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี

ข้อดีของภาษีที่ดินทำให้ที่ดินว่างเปล่าลดลง ขณะนี้มีข่าวบรรดาเจ้าสัวนำที่ดินไป
เปิดบริษัทให้เช่าทำการเกษตร ถือเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ต้องประเมินให้ดีเพราะการเสียภาษีในรูปแบบบริษัทอาจจะสูงกว่าการเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา

หลากหลายแนวทางเตรียมความพร้อมและรับมือภาษีที่ดินคงต้องติดตามหลังกฎหมายมีผล จะเกิดปัญหาจนต้องมารื้อแก้ไขกฎหมายอีกรอบอย่างที่นักวิชาการประเมินกันไว้หรือไม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image