บาทแข็งโป๊กแถมขึ้นค่าจ้าง ระวัง!!! กดส่งออก-จีพีดีหงอย

ประดังเข้ามาเรื่อยๆ สำหรับปัจจัยลบต่อการส่งออกหัวใจหลักของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ทั้งพิษจากสงครามการค้าระหว่างระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว นอกจากนี้

ในเดือนมีนาคมนี้คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง)ที่เป็นไตรภาคียังเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเพื่อบังคับใช้เดือนเมษายนอีกด้วย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 ว่าจะเติบโต 4.0% หรือในกรอบ 3.5-4.5% ปัจจัยบวกหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง และคาดการณ์แรงส่งเศรษฐกิจด้านการส่งออกปีนี้จะเติบโต 4.1% เนื่องจากแรงกดดันเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเติบโตชะลอและผลจากสงครามการค้า เป็นตัวเลขที่มองอย่าง

กลางๆ ใกล้เคียงกับภาคเอกชน ทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่มองตัวเลขส่งออกปีนี้ในระดับเดียวกันคือ 5%

Advertisement

ประเดิมปีหมูส่งออกลบ5.7%

ต่างกับกระทรวงพาณิชย์ที่คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกอย่างท้าทายว่าจะขยายตัวสูงถึง 8% ยืนยันจาก น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ถึงแม้การส่งออกไทยในเดือนมกราคม 2562 จะติดลบ 5.7% แต่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันว่าจะไม่มีการปรับลดเป้าหมายในการส่งออกแน่นอน เพื่อกระตุ้นการทำงานของทุกฝ่ายทำให้เต็มที่มากที่สุด มองว่าตัวเลขติดลบในช่วงต้นปีไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องตื่นเต้น เพราะเทรนด์การส่งออกในช่วงต้นปีจะไม่ได้สูงมากเหมือนปีที่แล้ว ต้องรอดูตัวเลขการส่งออกในช่วงเดือนมีนาคมก่อน เพราะมองว่าน่าจะเป็นเดือนที่ตัวเลขการส่งออกปรับตัวดีขึ้นได้

กระทรวงพาณิชย์ยังรายงานตัวเลขการส่งออกไทยเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 18,994 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.7% ผลมาจาก 5 ปัจจัยหลัก คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ราคาน้ำมันโลกลดลงกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ทองคำลดลง ปัญหาการส่งออกรถยนต์ไม่ทันคำสั่งซื้อ และค่าเงินบาทแข็งค่าจนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับตลาดโลกโดยเฉพาะสินค้าเกษตร

ส่งออกไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขจะไม่สวยงามเท่าไหร่ โอกาสขยายต่ำเหลือ 1-2% แต่แนวโน้มจะดีขึ้นในไตรมาส 2 สนค.จะติดตามสถานการณ์ปัจจัยต่างๆ 2-3 เดือน จึงจะทบทวนเป้าหมายส่งออกอีกครั้งว่าตัวเลขส่งออกที่มีโอกาสจะเป็นเท่าไหร่Ž น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุ

พณ.หารือเอกชนเข็นส่งออก

รายงานข่าวระบุว่า วันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมประชุมหารือกับภาคเอกชนและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมหลัก เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออก 3-6 เดือนนับจากนี้ และหาแนวทางในการดูแลการส่งออกที่เกิดจากผลกระทบค่าบาทแข็งค่าและมาตรการช่วยเหลือการขยายตลาดใหม่ หลังจากตลาดเก่าติดลบและการแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน สหรัฐ ยุโรป และอาเซียน ซึ่งพบว่าเป็นตลาดที่แข่งขันดุเดือดในการหันเป็นผู้ส่งออกแทนนำเข้าระหว่างกันในอาเซียน และการดัมพ์ตลาดของสินค้าจีน หลังจากส่งออกไปสหรัฐลดลง

อย่างไรก็ตาม การหารือร่วมระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อเข็นตัวเลขส่งออกปีนี้ น่าจะเหนื่อยหนัก เพราะจากสถานการณ์ส่งออก 2 เดือนสุดท้ายของปี 2561 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2561) ที่ติดลบต่อเนื่อง โดยตัวส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน 2561 ติดลบ 0.95% ขณะที่เดือนธันวาคม 2561 การส่งออก ติดลบ 1.72% ถือเป็นสัญญาณเตือนให้รับมือการส่งออกปีนี้อยู่แล้ว

กสิกร-เอสซีบีมองส่งออกต่ำกว่า5%

ฟากหน่วยงานวิเคราะห์ ทั้งศูนย์วิจัยกสิกรไทยและศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี อีไอซี) ต่างคาดการณ์ตัวเลขส่งออกไทยปีนี้ไม่ถึง 5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การส่งออกสินค้าไทยอยู่ที่ 4.5% และมองว่าการส่งออกสินค้าไทยจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสหลัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีสัญญาณที่ดีขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้า แต่ยังต้องติดตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหภาพยุโรป

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี อีไอซี) คาดการณ์การส่งออกจะขยายตัว 3.4% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวชะลอลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางทรงตัว ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ให้มีทิศทางชะลอลงเช่นกัน นอกจากนี้อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมที่เริ่มใช้ในปีก่อนหน้า โดยยังต้องติดตามท่าทีของทางจีนและสหรัฐ หาก 2 ประเทศไม่สามารถบรรลุข้อตกลงด้านสงครามการค้า สหรัฐจะขึ้นภาษีเพิ่มเติมจากเดิมที่อัตรา 10% เป็น 25% สำหรับสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

บาทไทยแข็งโป๊กผู้ส่งออกอึดอัด

ทั้งนี้จากหลายปัจจัยลบต่อการส่งออก พบการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มส่งกระทบรุนแรงจนเอกชนต่างเรียกร้องให้ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด

โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ยอมรับว่าภาคเอกชนมีความกังวลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทที่ลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญและอาจส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 2.73% เทียบกับอินโดนีเซียแข็งค่า 2.29% เวียดนามแข็งค่า 0.3% ไทยเป็นรองแค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่แข็งค่า 3%

เรื่องค่าเงินบาทต้องยอมรับว่าอึดอัดมาก เพราะไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ หากปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องโดยไม่ทำอะไร อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะต่อไปด้วย โดยขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็คงต้องขอหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แน่นอนŽ นายสุพันธุ์ระบุ

10กลุ่มอุตฯกระอักบาทแข็ง

นอกจากติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ส.อ.ท.ยังมีการสำรวจผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วในกลุ่มสมาชิก ล่าสุด มติชนŽ พบผลสำรวจที่น่าสนใจจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม มี 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับกระทบ ประกอบด้วย 1.เซรามิก ระบุว่า ทางกลุ่มได้รับผลกระทบต่อยอดขายสุทธิที่จะได้ เนื่องจากขึ้นลงตามอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งค่าเงินบาทแข็งมาก พร้อมระบุว่า ยอดส่งออกของไทยในกลุ่มเซรามิกจะลดลงแน่นอน ในทางตรงกันข้ามหากมีการขึ้นราคากับลูกค้าก็จะเป็นผลลบในเชิงการแข่งขัน นอกจากนี้จากบาทแข็งค่าจะทำให้ผู้นำเข้าได้เปรียบมากขึ้น ทำให้โรงงานผลิตทุกบริษัทยิ่งมีคู่แข่งที่มีต้นทุนลดลง จะเป็นอันตรายสำหรับกลุ่มเซรามิก และประเมินภาพรวมการส่งออกของกลุ่มตลอดปีนี้น่าจะหายไป 10% แต่ต้นทุนเท่าเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้น

2.กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ระบุว่า ได้รับผลกระทบ และปัจจุบันยังเกิดสงครามการค้าขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เริ่มปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยการออกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี 3.เครื่องปรับอากาศ ระบุว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการส่งออกกว่า 80% ทำให้ตอนนี้เริ่มได้ผลกระทบจากการที่สินค้ามีราคาสูงขึ้นในสายตาของคู่ค้าจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการมีความกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ทำให้เกิดปัญหาในการวางแผนธุรกิจ จึงอยากเสนอไปยังภาครัฐ ขอให้รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ให้ภาคเอกชนสามารถคาดการณ์ในการดำเนินธุรกิจได้

4.สิ่งทอ ระบุว่า การส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า โดยจะมีการประเมินสถานการณ์กับสมาชิกอีกครั้ง 5.หนัง ระบุว่า ผู้ประกอบการมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่ก็มีการส่งออกมากกว่า 60-70% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ดังนั้น เงินบาทที่แข็งค่าจึงเกิดผลกระทบมากกว่า 6.พลาสติก ระบุว่า กลุ่มได้รับผลกระทบในการส่งออก เนื่องจากมีการส่งออกถุง ขณะเดียวกันพบว่าแต่ละประเทศที่มีมาตรการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมการนำเข้าพลาสติก ทั้งนี้จากผลกระทบทุกๆ บาทที่แข็งขึ้น ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นบาทละ 3% ทำให้ลูกค้าระงับการส่งออเดอร์คงไว้เฉพาะที่ต้องการใช้สินค้าเท่านั้น หากยังแข็งค่าต่อไป มีโอกาสสูงที่ลูกค้าจะหันไปสั่งสินค้าจากแหล่งอื่นที่ถูกกว่า อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการต้องลดราคาขายเพื่อรักษาฐานลูกค้า จะมีผลให้กำไรสุทธิลดลง 3% ส่วนประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่ามีแต่น้อย ทั้งนี้กลุ่มได้เสนอภาครัฐแทรกแซงให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในระดับที่เหมาะสม คือที่ 31.5-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หากไม่สามารถทำได้ควรชดเชยภาษีให้ผู้ส่งออก 3-5% เป็นการชั่วคราว

7.ไฟฟ้า ระบุว่า มีสัดส่วนการส่งออกปริมาณมาก ทำให้กลุ่มได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาให้สอดคล้องกับค่าเงินได้เพราะมีสัญญาการซื้อขายล่วงหน้า มีปัญหาในการเจรจาด้านราคาเพราะประเทศไทยมีค่าเงินที่แข็งกว่าในภูมิภาคที่เป็นคู่แข็งยิ่งทำให้ไทยเสียเปรียบมากขึ้น อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นผู้ประกอบการจะปรับตัว พยายามจะลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการภายในองค์กรเพื่อทดแทนรายได้จากการส่งออกที่ลดลง 8.ปิโตรเคมี ระบุว่า ได้รับผลกระทบในเชิงลบบางส่วน จากการที่บริษัทมีส่วนต่างของรายได้การขายและต้นทุนวัตถุดิบลดลงแต่บริษัทมีหน่วยงานพยากรณ์จึงสามารถรับมือได้ แต่อยากเสนอให้หน่วยงานรัฐช่วยกำกับดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ

9.เครื่องสำอาง ระบุว่า เศรษฐกิจภายในประเทศไม่ดี ผู้ประกอบการจึงต้องมีการส่งออก และด้วยสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะยิ่งเกิดผลกระทบต่อการส่งออก และ 10.เครื่องนุ่งห่ม ระบุว่า ได้รับผลกระทบรุนแรงมากจากค่าเงินที่แข็งค่า ล่าสุดคำสั่งซื้อหายไปและอาจจะหายไปในระยะยาว หากบาทหลุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐจะมีผลต่ออุตสาหกรรมในวงกว้าง ทั้งนี้ทางกลุ่มฯ ไม่สามารถเน้นนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาถูกลงได้ เนื่องจากข้อกำหนดการได้รับสิทธิประโยชน์เขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่จะบังคับให้ผู้ประกอบการจะต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศ นอกจากนี้ผลกระทบจากบาทแข็งค่า อาจทำให้ลูกค้าหันไปซื้อประเทศอื่นที่มีค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าไทย

จากผลกระทบของ 10 อุตสาหกรรม จะเป็นข้อมูลสำคัญที่นายสุพันธุ์จะเข้าหารือกับ ธปท.!!

ผลสำรวจยังพบว่า มี 9 อุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ประกอบด้วย เคมี ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก ยานยนต์ การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม แกรนิตและหินอ่อน อัญมณี อะลูมิเนียม และยา ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า คือ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและเยื่อกระดาษ

บริษัทใหญ่ยังอ่วม

จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ยังส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปี 2561 พบว่า มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17% แต่มีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท ลดลง 11% ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กำไรลดมาจากการแข็งค่าของเงินบาท เช่นเดียวกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทปี 2561 มีกำไร 5,587.60 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 7.5% เนื่องจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

ค่าจ้างขึ้นแน่เคาะ13มี.ค.

ล่าสุดเอกชนที่เน้นส่งออกโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อาจต้องเหนื่อยขึ้นไปอีก ภายหลังคณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาการ ที่มี นพ.สุรเดช วลีอิทธกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้มีการประชุมหารือตัวเลขอัตราค่าจ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดเสนอ และมีมติว่าให้ปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศในอัตราที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 2-10 บาท โดย 49 จังหวัดที่ไม่เสนอตัวเลข จะปรับขึ้นให้ 2 บาท ส่วนอีก 28 จังหวัด ที่เสนอตัวเลข แบ่งเป็นขึ้น 10 บาท 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และภูเก็ต ขึ้น 7 บาท มีเพียง 1 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ขึ้น 5 บาท อาทิ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ระยอง นครราชสีมา ขึ้น 4 บาท อาทิ นราธิวาส ชัยภูมิ และขึ้น 3 บาท อาทิ ราชบุรี สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ โดยบอร์ดค่าจ้างจะมีการพิจารณาในขั้นสุดท้ายวันที่ 13 มีนาคมนี้

นายจ้างวอนวินวินทั้งคู่

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. แสดงความเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 เป็นเรื่องที่คณะกรรมการไตรภาคีได้เห็นชอบร่วมกันเบื้องต้นไปแล้วในระดับจังหวัดและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2562 โดยการปรับขึ้นได้มีการหารือ 3 ฝ่ายแล้ว ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ ซึ่งเห็นว่าทุกอย่างต้องไปด้วยกันได้หรือแบบวินวิน โดยคำนึงถึงค่าครองชีพแต่ละจังหวัดเป็นหลัก อาทิ กรุงเทพมหานครและภูเก็ตจะปรับสูงสุดเพราะมีค่าครองชีพสูง

ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ขณะที่สังคมไทยก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นแนวโน้มการปรับขึ้นค่าจ้างจะมีอย่างต่อเนื่อง

น่าติดตามว่าทุกภาคส่วนจะเข็นส่งออกและฝ่าสารพัดปัจจัยลบเพื่อดันเศรษฐกิจไทยโตถึง 4% ได้หรือไม่!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image