“ท่องเที่ยวไทย”โค้งแรกส่อฝืด รัฐย้อมใจปัจจัยนอกแค่สั้นๆ ยันเป้า3.5ล้านล้านเอื้อมถึง

เริ่มต้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยรบกวนต่อเนื่องจากปีก่อนมากพอสมควร ตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในเรื่องเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น หากทำจริงเสียหาย 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แม้ตอนนี้สหรัฐมีท่าทีผ่อนคลายลงบ้าง แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะตกลงกันได้หรือข้อสรุปเรื่องนี้เป็นอย่างไร จึงกระทบภาคการค้าและการส่งออกทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย ตัวเลขส่งออกตั้งเป้าไว้สวยหรู 8% อาจเหลือไม่ถึง 3%

ท่องเที่ยวแผ่วตั้งแต่เดือนแรก

ล่าสุดเริ่มมองผลกระทบภาคท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจมากขึ้น คาดต้องทบทวนแผนงานกันอีกรอบ จากที่หลายฝ่ายคาดว่าดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี แม้ตัวเลขช่วงเดือนมกราคม 2562 พบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น 3,718 คน ขยายตัว 4.91% สร้างรายได้กว่า 1.96 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.39% เทียบเดือนมกราคม 2561 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย 3,545 คน เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 10.87% สร้างรายได้กว่า 123.39 พันล้านบาท และขยายตัว 13.58% ซึ่งปัจจัยส่งต่อการท่องเที่ยวเพิ่มปีก่อนคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต้องการในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

หากดูลึกตัวเลขช่วงเดือนมกราคม แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวฟื้นตัวและขยายตัวได้ดี แม้ตัวเลขแผ่วกว่าปีก่อนไม่น้อย!!

Advertisement

จนเข้าเดือนที่ 2 ของปีนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจัยกระทบเพิ่มขึ้นอีก อย่างปัญหาเงินบาทแข็งค่ามากสุดในรอบ 5 ปี ไม่แค่กระทบต่อความสามารถการแข่งขันต่อการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศแล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนชะลอแผนมาไทยก่อน เพราะอัตราแลกเงินบาทได้น้อยลง อาจส่งผลกระทบกับการตัดสินใจเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงค่าเงินลีรา (Lira) ของประเทศตุรกี ที่อ่อนค่าลงกว่า 30% ในเดือนมกราคม 2562 หากเปรียบกับค่าเงินยูโรแล้ว จะได้เปรียบทางการแข่งขันด้านราคากับประเทศไทย เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวตุรกีได้ในราคาที่ถูกลง

และปัญหาสงครามการค้าโลก ที่กระทบต่อรายได้ของทุกประเทศหดหายไป ทำให้กำลังซื้อและใช้จ่ายท่องเที่ยวเริ่มหดตัวแล้ว โดยเฉพาะชาวจีน!! อาจมีผลต่อการขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์นี้สูงไม่เท่าปีก่อนต่อเนื่องอีกเดือน

ล่าสุด ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอินเดียกับปากีสถาน จนปากีสถานปิดน่านฟ้ายาว ป่วนเส้นทางการบินเข้า-ออกไปยุโรป เกิดภาวะตกค้าง รอตารางปรับเส้นทางการบิน และต้องใช้เส้นทางบินอ้อมแทน จนไม่คล่องตัว ชะลอการเดินทางหลังจากนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนเหมือนปัญหาเทรดวอร์ หรือประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ !!!!

Advertisement

ขณะที่ปัจจัยบวกยังพุ่งเป้าในเรื่องตลาดเดิม พัฒนาเรื่องความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่น การจัดการต้อนรับโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและความพร้อมในการต้อนรับ ลดความทรงจำเหตุเรือล่มที่เกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มวันหยุดทำงานต่อเนื่องตามเทศกาล หวังการใช้เงินและบรรยากาศการเลือกตั้งในรอบ 5 ปีของไทย

รมว.ท่องเที่ยวชูจุดขายลดอันตราย

จากคำกล่าวของ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ปีนี้ภาคท่องเที่ยวไทยต้องให้ความสำคัญความปลอดภัยให้มากขึ้น เป็นจุดขาย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางน้ำที่ต่างชาติ รวมถึงชาวจีนนิยมมาก ได้หารือกระทรวงคมนาคม การจัดทำแผนระดับชาติป้องกันภัยการเดินทางทางน้ำ เพิ่มเติมจากแผนทางบกที่มีอยู่แล้ว อาทิ จัดศูนย์ควบคุมและสั่งการด้านความปลอดภัยพร้อมมอนิเตอร์เรียลไทม์ การใช้ร่มชูชีพแบบติดตามตัว ระบบติดตามเรือท่องเที่ยวด้วยระบบ AIS ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ ทำคู่กับแผนโปรโมตท่องเที่ยวตามฤดูกาล เช่น สงกรานต์

นายวีระศักดิ์กล่าวย้ำว่า ได้สั่งให้ทุกจังหวัดตรวจสอบพื้นที่ของตนเอง ค้นหาพื้นที่ที่เปราะบางเรื่องของความปลอดภัย เพื่อช่วยให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการท่องเที่ยวได้ โดยเน้นย้ำเรื่องการปล่อยเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์สำหรับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับการจัดการการท่องเที่ยว โดยเลือกผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่ และดึงชุมชนเข้ามาร่วมในคณะกรรมการการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หลายหน่วยงานได้ทำแผนดูแลความปลอดภัยในภาพรวม เริ่มต้นที่แผนการป้องกันภัยทางน้ำ เสนอ ครม.ผลักดันเป็นแผนระดับชาติ ที่จะควบคุมความปลอดภัยทั้งหมด มีการกำหนดความเร็วของเรือสปีดโบ๊ต กำหนดร่องน้ำเฉพาะ เรื่องนี้ยังไม่เคยมีการทำมาก่อนในไทย

นายวีระศักดิ์ระบุอีกว่า เดือนพฤษภาคมปีนี้ ประเทศไทยพร้อมเปิดให้ใช้งานอิเล็กทรอนิกส์วีซ่า (อี-วีซ่า) โดยเริ่มนำร่องจากจีน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ก่อนขยายไปประเทศอื่นๆ ต่อไป หลังจากนำร่องแล้วเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เริ่มต้นใช้งานอิเล็กทรอนิกส์วีซ่าสำหรับการตรวจยืนยันตัวตน ในช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (อี-วีโอเอ) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และลดเวลาในการจัดการเอกสาร รวมถึงการเข้าคิวหน้าด่าน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการขยายมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าประเทศ ในช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (ฟรีวีโอเอ) ซึ่งการเปิดใช้อี-วีซ่าเดือนพฤษภาคมนี้ จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเพิ่มขึ้น

“ร่างแก้ไข พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ อยู่ระหว่างการผ่านพิจารณาในวาระ 3 โดยกระทรวงมีแนวคิดเรียกเก็บค่าประกันภัยในการเดินทางจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากต้องการเดินทางเข้ามาเที่ยวไทย ต้องทำประกันให้กับตนเอง เพื่อนำไปเข้ากองทุนพัฒนาการท่องเที่ยว โดยต่อปีการใช้จ่ายในการซื้อประกันภัยไทยต้องใช้งบประมาณแผ่นดินกว่า 300 ล้านบาท” นายวีระศักดิ์กล่าว

ททท.ใช้มหาสงกรานต์ปั๊มตัวเลข

ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า แม้ปัจจัยเสี่ยงต่อการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปี แต่ยังเชื่อมั่นจะทำได้ตามเป้าแน่นอน โดยปี 2562 ตั้งเป้าภาพรวมการท่องเที่ยวทุกตลาดโต 10% รายได้เพิ่มเป็น 3.5 ล้านล้านบาท จากปี 2561 อยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท เพราะปัญหาเรื่องของนักท่องเที่ยวจีนหมดลง คาดจะกระตุ้นให้ชาวจีนกลับเที่ยวไทยได้ตามเป้าในที่สุด พร้อมกับวางแผนกระตุ้นคนไทยเที่ยวไทยมากขึ้น เพื่อไม่ต้องหวังพึ่งพารายได้จากต่างชาติเพียงทางเดียว เดินหน้านโยบายเที่ยวเมืองรองต่อเนื่อง เพราะกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้

นายยุทธศักดิ์กล่าวเสริมว่า ยอมรับปัจจัยกังวลเศรษฐกิจมีผลทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่ตัดสินใจเดินทาง รวมถึงความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะขีดความสามารถสนามบินไม่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากกว่านี้ อีกปัจจัยสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเงินหยวนอ่อนค่า กระทบคนจีนชนชั้นกลางรายได้ลดลง และระมัดระวังการใช้จ่ายและเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงแลกเงินเป็นเงินบาทลดลง จะมีผลต่อการใช้จ่ายน้อยวันกว่าปกติ ดูจากตรุษจีนที่ผ่านมา ต้วเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติโตขึ้น 5% ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวในแถบอาเซียนและเพื่อนบ้านเราเอง ขณะที่ชาวจีนตัวเลขยังหายไป

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า เรื่องยังต้องติดตามจากนี้ คือ เรื่องค่าเงิน อย่างเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลง 30% ได้เปรียบไทย ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรป อาจส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปหายไปบ้าง ส่วนการปิดน่านฟ้าปากีสถาน ยังมองเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น เป็นเรื่องการเมืองของปากีสถานกับอินเดีย ไม่น่าจะเกิดอะไรซ้ำอีก

“สงกรานต์ที่จะถึงนี้ ททท.เตรียมกระตุ้นนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ผ่านกิจกรรมใหญ่ในแต่ละพื้นที่ โดยเป็นการจัดเทศกาลสงกรานต์ในเมืองรอง ทั้งภาคเหนือ ใต้ อาทิ เชียงใหม่ จะจัดประเพณีเล่นน้ำสงกรานต์

จัดพื้นที่เล่นน้ำหลายจุด และมีการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ น่าจะเป็นส่วนดึงตัวเลขการท่องเที่ยวได้พอควร หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงภายนอกอีก” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ฟาก นายรณรงค์ ชีวินสิริอำนวย นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนปีนี้ใกล้เคียงกับปี 2561 และพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ผ่านไทยเพื่อไปประเทศอื่นหรือประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่รายได้ยังไม่เพิ่มขึ้นตาม เพราะที่ผ่านมากังวลเรื่องพิษฝุ่นละออง PM2.5 ที่ยังไม่หมดไป เพียงยันไม่ให้เลวร้ายไปมากกว่านี้ เงินบาทแข็งค่ายังผันผวน แลกเงินบาทน้อยลง ทำให้ชะลอการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวชะลอลง อีกทั้งสินค้าและบริการในไทยแพงขึ้น ตามการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากค่าเงินหยวนเริ่มแข็งค่าเพิ่มขึ้น จึงเริ่มพบว่านักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง

เอกชนวอนออกมาตรการกระตุ้น

“ถามว่าอยากให้ภาครัฐมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้นอีกไหม อยากให้ช่วย เพราะมองว่ามาตรการหรือนโยบายที่ออกมายังไม่เพียงพอและยังไม่ตรงจุด แต่ถ้าถามว่าจะให้ช่วยอะไรอีกก็ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะในขณะนี้มันกลายเป็นว่าเราต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน เพราะภาครัฐก็ยังช่วยเหลือเราไม่พอ รวมถึงบางครั้งภาครัฐก็เหมือนจะเข้ามาช่วย แต่บางเรื่องกลับกลายเป็นว่า มาเพิ่มความยุ่งยากให้มากขึ้นอีกด้วยซ้ำ” นายรณรงค์กล่าว

นายกสมาคมฯ กล่าวเสริมอีกว่า ยกตัวอย่างเรื่องการที่ภาครัฐจะมีการยกเลิกให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องมีใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (job order) เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบการทำงานได้ ซึ่งหากยกเลิกใบจ๊อบออเดอร์จริง จะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงขั้นพังได้ เพราะหากนักท่องเที่ยวใช้บริการไกด์หรือมัคคุเทศก์เถื่อน จะไม่สามารถตรวจสอบและนำคนทำผิดมาลงโทษได้ ซึ่งจะเป็นการเอื้อให้เกิดไกด์เถื่อนเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยหากภาครัฐต้องการช่วยเหลือภาคเอกชนจริงๆ อยากให้ผู้ที่มีอำนาจในการพิจารณาการยกเลิกใบจ๊อบออเดอร์ “อย่าพึ่งตัดสินใจหรือให้ความสนใจกับเรื่องนี้” แต่อยากให้ยกเรื่องนี้ไปให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาแทน

นายรณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าตำรวจท่องเที่ยวในปัจจุบันมักมาจากตำรวจท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รู้และเข้าใจกฎระเบียบในด้านการท่องเที่ยวดีเท่าที่ควร จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ให้บริการและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอย่างจริงใจ รวมถึงศึกษาและทำความเข้าใจกับกฎระเบียบที่มีอยู่ให้มากขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวเรื่องความปลอดภัยต้องเป็นอันดับ 1 เพราะต่างชาติยังมองว่าประเทศไทยยังไม่ได้มีความปลอดภัยมากเท่าที่ควร ถึงแม้ภาครัฐและภาคเอกชนจะหารือร่วมกันและพยายามแก้ไข แต่ก็ยังไม่สำเร็จ 100% เพราะก็ยังมีข่าวออกมาให้เห็นกันอยู่ ทั้งความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากดูกันจริงๆ พบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้น จนแทบจะมีจำนวนเทียบเท่ากับมาเที่ยวไทย แต่ยังไม่พบว่ามีข่าวที่นักท่องเที่ยวจีนถูกทำร้าย หรือได้รับอุบัติเหตุใหญ่จากญี่ปุ่นเลย ทำให้ต้องย้อนกลับมามองประเทศไทย และหาวิธีทำให้การมาเที่ยวไทยเป็นเหมือนการไปเที่ยวญี่ปุ่นให้ได้

“เงินบาทแข็งค่ามองว่า อาจเป็นส่วนที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เพราะนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลเงินอื่นได้มากขึ้น แต่หากมองอีกด้านก็พบว่าบาทแข็งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลง รวมถึงทั้ง 2 ภาคนี้มีขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อคนเป็นวงกว้าง ถึงแม้ค่าเงินบาทแข็งจะทำให้แลกเงินได้เพิ่มขึ้น แต่หากรายได้ของประชาชนลดลง ก็คงไม่มีแรงหนุนที่จะทำคนไทยออกเดินทางเที่ยวต่างประเทศ” นายรณรงค์กล่าว

เมื่อได้สอบถามภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว น่าจะน้อยครั้งที่ไม่ยืนยันว่าท่องเที่ยวปีนี้จะลื่นไหลเหมือนปีก่อนๆ หลายรายมองว่ากำลังเกิดภาวะหักมุมได้ตลอดเวลา อีกทั้งปัญหาการค้าโลกและเศรษฐกิจรายประเทศอ่อนแอลง ต่างก็หันแย่งชิงตัวเลขจากการท่องเที่ยวแทน แม้เมื่อดูแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวปี 2562 ของภาครัฐ และฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ระบุถึงหลายปัจจัยที่กำลังกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่ภาครัฐยังพยายามปรับปรุงและพัฒนาทุกทางเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยพยุงให้ภาคท่องเที่ยวสามารถเดินต่อไปได้ ไปพร้อมกับเริ่มแสดงความกังวลมากขึ้นแล้วว่า ปีนี้อาจไม่สดใสกว่าปีก่อน

ผลจะเป็นอย่างไร คงต้องมาติดตามดูกันต่อไปว่าจะมีปัจจัยบวกเข้ามาช่วยทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยสดใสขึ้นได้บ้างหรือไม่ แล้วปัจจัยเสี่ยงอะไรเข้ามาฉุดรั้งเพิ่มเติม จนทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนปาดเหงื่อกันอีกหลายรอบเพราะเพิ่งผ่านไปเพียง 2 เดือนตัวเลขเคยโตได้เกิน 2 หลักก็เหลือหลักเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image