พณ.ไม่หมดหวัง‘ส่งออก’ ปักธงโต8% เข็นมาตรการฝ่ามรสุม

ภาคการส่งออกไทยในอดีต อาจจะเป็นพระเอกที่เป็นตัวหลักในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย แต่ในปัจจุบันตัวเลขการส่งออกที่ไม่ได้เป็นบวกมากเท่าเดิม รวมถึง 2 เดือนแรกของปีนี้พบว่า การส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศวิ่งในแดนลบ ทำให้ภาคเอกชนออกมาปรับลดคาดการณ์การส่งออกกันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้กระทรวงพาณิชย์ยังยืนเป้าไว้ที่ 8% ก็ตาม เนื่องจากมองว่าภาคการส่งออกในปีนี้จะเป็นปีที่เหนื่อยมากกว่าปีที่ผ่านมา

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีจะมีตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก แล้วจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้ในขณะนี้ยังจะไม่ปรับเป้าหมายการส่งออก เพราะมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่าอยากจะประเมินตัวเลขการส่งออกในทุก 3 เดือน จึงยืนยันไว้ที่ 8% ซึ่งได้มีการหารือกับภาคเอกชน ปรากฏว่าเอกชนคิดว่าในช่วงต้นปียังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะการส่งออก 2 เดือนแรกติดลบ และยังมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้มีการปรับลดคาดการณ์การส่งออกลง

‘เหนื่อย เพราะมีหลายปัจจัยควบคุมไม่ได้
นางสาวบรรจงจิตต์ยอมรับว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เหนื่อยสำหรับภาคการส่งออกไทย เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้มีผลค่อนข้างมาก อาทิ สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ถึงแม้จะเริ่มมีความคืบหน้าในการเจรจาการค้ามากขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจก็ไม่สามารถฟื้นตัวตามได้อย่างรวดเร็วนัก รวมถึงเรื่องการเมืองของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ในเรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือเบร็กซิท ก็ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ของทั้งอียูและอังกฤษจับตามองว่าหากมีช่องทางที่จะส่งสินค้าไทยไปทดแทนทั้งสองประเทศได้ให้รีบทำทันที รวมถึงการหาโอกาสให้ทางอังกฤษและอียูเข้ามาลงทุนในไทยทดแทนด้วย แต่ทั้งนี้ มองว่าทุกประเทศมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เหมือนกันหมด รวมถึงเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากสภาวะสงครามการค้าอย่างทั่วถึง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ส่วนปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ยังมี นางสาวบรรจงจิตต์กล่าวว่า คือ 1.การพยายามสร้างผู้ประกอบการในระดับจังหวัดที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันได้ 2.การทำแผนเจาะตลาดจีนในรายมณฑลและในอินเดียเป็นรายรัฐในระดับที่ลึกมากขึ้น จะทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้อย่างชัดเจนและทั่วถึงมากขึ้น และในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้จะมีการลงพื้นที่ไปยังแอฟริกาเพื่อสำรวจตลาด ทำให้ถือว่าตอนนี้ไทยอยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ที่จะตามมา หลังจากได้ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้แล้ว แต่อาจต้องรอเวลาบ้าง จึงคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 จะเห็นตัวเลขการเติบโตของการส่งออกเพิ่มขึ้น

Advertisement

‘การเมืองไม่กระทบการส่งออกไทย
ในส่วนของปัจจัยด้านการเมือง นางสาวบรรจงจิตต์มองว่า ไม่ว่าฝ่ายใดจะได้จัดตั้งรัฐบาลก็ไม่มีผลกระทบ เนื่องจากตัวแผนงานทั้งหมดได้ดำเนินการไปแล้วและงบประมาณของปี 2562 ได้รับการจัดสรรแล้ว เพราะฉะนั้นงานในเชิงนโยบายไม่ว่ารัฐบาลใดจะมา นโยบายก็ยังคงใช้การได้ ยกเว้นว่าจะมีการสั่งให้ดำเนินการใดเป็นพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งใน 6 เดือนแรกยังไงก็ต้องดำเนินการตามแผนการ ที่วางไว้ เพราะมองว่ากว่าจะได้รัฐบาลจัดตั้งแล้วเสร็จน่าจะเลย 6 เดือนแรกของปีไปแล้ว ทำให้แผนที่มีก็ต้องเดินหน้าต่อไปเพราะงบประมาณที่จะใช้จ่ายก็ได้มาแล้ว จึงมองว่าในปีนี้ปัจจัยภายในประเทศไม่ได้มีปัญหาหรือสร้างความกังวลมากนัก ส่วนมากที่มีผลกระทบสูงๆ ก็จะเป็นปัจจัยภายนอกมากกว่า และหากสถานการณ์ทางการเมืองนิ่งช่วงใด นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศก็พร้อมที่จะลงทุนทันที โดยหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วมากเท่าไหร่ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากเท่านั้นŽ

ดังนั้น ปีนี้ภาคการส่งออกน่าจะไม่ใช่พระเอกของประเทศไทยอีกต่อไป ส่วนพระเอกตัวจริงน่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว เห็นได้จากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับภาคการท่องเที่ยวให้มากขึ้น อีกด้านคือต้องกระตุ้นภายในประเทศ โดยต้องทำให้ผู้ประกอบการสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง

‘ดำเนินแผนงานพัฒนาผู้ประกอบการ
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า ขณะนี้ได้พัฒนาผู้ประกอบการในต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะมองว่าหากจะทำให้ภาคการส่งออกสามารถส่งออกได้อย่างยั่งยืน จะดูเพียงตัวเลขการส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตัวเลขการส่งออกสินค้าหลายตัวปรากฏในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามจะเห็นได้ว่าในตอนนี้การส่งออกของเวียดนามสูงมาก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากที่ผู้ประกอบการไทยไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามมากขึ้น สำหรับความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้นทดแทนภาคส่งออกตามแนวคิดรองนายกฯสมคิด กำลังจะนำสินค้ามาตรฐานการส่งออกไปกระจายขายตามแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝากติดมือตอนกลับประเทศน่าจะช่วยหนุนการส่งออกได้อีกช่องทางหนึ่ง เบื้องต้นจะใช้สินค้าขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัดเป็นตัวตั้ง และตั้งเป้าหมายในการสร้างผู้ส่งออกหน้าใหม่ระดับจังหวัดให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศไว้ที่ 300-500 ราย เฉลี่ย 3-5 รายในแต่ละจังหวัด รวมถึงยังสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์สำรวจตามแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศว่าจะสามารถผลักดันให้สินค้าไทยไปวางขายตามแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง โดยตัวเลขการส่งออกจะดูเฉพาะตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูตัวเลขของผู้ประกอบการไทยที่ไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอื่นและสามารถสร้างรายได้ควบคู่ด้วย

Advertisement

“เรายังยืนยันเป้าไว้ที่ 8% ส่วนผลสรุปจะออกมาได้มากหรือได้น้อยอย่างไรก็คงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ เนื่องจากถึงแม้ภาคการส่งออกจะทำไม่ได้ตามเป้าแต่เราก็ยังมีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาทดแทน และให้ความสำคัญในการช่วยพัฒนาความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการไทยในระดับจังหวัดให้สามารถแข่งขันในระดับประเทศได้เป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่าŽ”

ในขณะที่หากภาคการส่งออกไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ ยังมีตัวเลขรายได้จากภาคอื่นๆ มาสนับสนุน ซึ่งเรื่องนี้ นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเก็บตัวเลขเหล่านี้รวมถึงตัวเลขในภาคของการบริการที่เป็นตัวเลขของชาวต่างชาติเข้ามาบริโภคภายในประเทศไทย ซึ่งจะมีการทำงานควบคู่กันไปในภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

‘เรียกประชุมทูตพาณิชย์พ.ค.นี้
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดประชุมทูตพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้รายงานผลสำรวจปัจจัยที่จะได้รับผลกระทบในประเทศที่อยู่ในความดูแลและทบทวนเป้าส่งออกสินค้า เนื่องจากการตั้งเป้า 8% ได้มาจากเป้าของแต่ละประเทศที่คาดการณ์ไว้ว่าจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน และสำรวจสินค้าที่มีความต้องการนำเข้าในประเทศของตน โดยเฉพาะการผลักดันสินค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจ Well-being อาทิ ธุรกิจเกษตรและอาหารที่มีสายการผลิตเชื่อมโยงไปถึงผู้ผลิตต้นน้ำอย่างเกษตรกร และส่งผ่านไปยังผู้บริโภคทั่วโลก เช่น เกษตรชีวภาพ ไอโอเทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจบริการที่ต้องการให้ทูตพาณิชย์สำรวจและให้ความสำคัญมากขึ้น

เพราะตอนนี้กระทรวงพยายามให้แต่ละประเทศจัดทำฐานข้อมูลสินค้าที่นำเข้าจากไทยและมีความต้องการสูง ทั้งยังมีการปรับปรุงฐานข้อมูลให้ลึกมากกว่าเดิม โดยจะมีการซอยย่อยข้อมูลในแต่ละพื้นที่ แยกเป็นรายผู้ส่งออกทั้งรายใหม่และรายเดิม เนื่องจากผู้ส่งออกแต่ละรายก็มีความต้องการที่จะพัฒนาสินค้าของตนเองไม่เหมือนกัน และการจับคู่แตกต่างกันด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถจับคู่พัฒนาสินค้าและศักยภาพได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้สินค้าส่งออกที่มีอนาคตสดใสมองว่า เป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง อาหารสัตว์
โดยตลาดจีนเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง เนื่องจากมีคู่แข่งเยอะ ทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าอย่างเดิมได้จึงต้องมีการเจาะตลาดเป็นรายมณฑล เพราะความต้องการของประชากรในแต่ละมณฑลไม่เหมือนกัน แต่ตลาดที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษในปีนี้ คือตลาดอินเดีย เพราะหากเปรียบเทียบกับจีนแล้ว ในปีที่ผ่านมา
กระทรวงพาณิชย์พยายามเจาะตลาดอินเดียน้อยกว่าจีนมาก แต่ตัวเลขการส่งออกเกือบจะเท่ากัน นั่นเพราะอินเดียมีความสนใจในประเทศไทยมากแต่ผู้ประกอบการไทยเองที่กลัวตลาดอินเดีย โดยสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกได้ดีคือกลุ่มอาหาร ประเภทมังสวิรัติ น้ำนมข้าว ฮาลาล และเครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ
ในขณะที่ภาครัฐยังคงพยายามดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายให้ดีที่สุด ภาคเอกชนก็มีการปรับคาดการณ์ส่งออกลง เนื่องจากมีความกังวลในปัจจัยรบกวนของปีนี้

‘การส่งออกติดลบเพราะปัจจัยภายนอก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยไตรมาสแรกของปี มองว่าติดลบแน่นอน 3-5% เนื่องจากเดือนมกราคม ติดลบ 4-5% เดือนกุมภาพันธ์ก็ติดลบหากหักสินค้าในกลุ่มอาวุธออก เพราะเป็นสินค้าตัวที่ทำให้การส่งออกเพิ่มเป็นบวก แต่สินค้าส่งออกของไทยอย่างแท้จริงยังติดลบ จึงมองว่าในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ต้องทำงานกันหนักมากขึ้น และเพื่อไม่ให้เป็นการเหนื่อยมากเกินไป จึงปรับคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกลดเหลือ 3% จากเดิมที่ให้ไว้ 5%
แม้จะปรับลดคาดการณ์ลงแล้ว อีก 9 เดือนที่เหลือของปีนี้การส่งออกยังต้องทำให้ได้ที่มูลค่ากว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งถือเป็นตัวเลขเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากในปี 2561 ถือว่า ภาคการส่งออกไทยทำตัวเลขได้ดีมาก แต่ยังส่งออกเฉลี่ยได้ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ถึงแม้จะมีบางเดือนที่ทำได้ถึง 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม

โดยการส่งออกในปีนี้ไม่ได้ติดลบเพราะปัญหาที่เกิดในประเทศ แต่ได้รับผลกระทบจากการค้าโลกที่ชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าฯที่ได้รับผลกระทบมาสักระยะแล้ว แต่ในขณะนี้เริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนมากขึ้น หลายประเทศติดอยู่ในห่วงโซ่การส่งออกสินค้าไปยัง 2 ประเทศ (สหรัฐและจีน) ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงกัน จึงมีการระมัดระวังในการผลิตสินค้า มีการปรับลดการผลิตสินค้าให้น้อยลง ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าน้อยลงตาม รวมถึงเรื่องเบร็กซิทที่ไม่มีความชัดเจน ส่งผลต่อบรรยากาศการค้าโลก ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยใหญ่ระดับโลกที่มีผลกระทบในวงกว้าง

‘ลุ้นปัจจัยภายนอกคลี่คลายเร็ว
สิ่งที่กังวลเป็นเรื่องของการที่อยากให้เร่งรัดการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด และควรมีเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อให้สามารถดำเนินการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ส่งออกไทย เนื่องจากในปัจจุบันมีเอฟทีเอระหว่างประเทศต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในภาคการส่งออก ทางด้านความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะในปัจจุบันไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีจากหลายประเทศมากกว่าเดิม เพราะไม่ได้เป็นประเทศที่มีผู้มีรายได้น้อยสูงเท่าเดิมแล้ว รวมถึงเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยนที่หากเงินบาทไทยแข็งค่าจะเสียเปรียบด้านราคากับประเทศที่เงินอ่อนถูกŽ นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า การส่งออกไตรมาสแรกกับไตรมาส 2 จะยังทรงตัว เนื่องจากมีสินค้าหลายชนิดที่ยังเติบโตไม่ได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว 2 ไตรมาสแรกของปีจะมีการชะลอการเติบโต ซึ่งมองว่าหากสถานการณ์สงครามการค้าฯและเบร็กซิทคลี่คลายได้ในเร็วๆ นี้ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น รวมถึงกระตุ้นการส่งออกไทยให้ดีขึ้นได้

สรุปได้ว่า การส่งออกไทยปีนี้หืดจับ แม้จะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็วหรือไม่ก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image