ส่องธุรกิจแบงก์ปิดQ1ฝืดคอ ไม่ท้อ! หวังพึ่ง รบ.ใหม่/ประมูล5จี ต่อลมหายใจ…

เปิดเผยผลการดำเนินงานช่วงไตรมาสแรก 2562 หรือช่วงมกราคม-มีนาคม ออกมาแล้ว สำหรับกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เผชิญกับความท้าทายจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่เติบโตชะลอตัวลง ตามแรงฉุดการส่งออกช่วงที่ผ่านมายังติดลบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตช้าลงชัดเจนมากขึ้น และมีแรงกดดันสงครามการค้าสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) ที่อยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อสรุป

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเติบโตจากแรงหนุนในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งการบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ต่อเนื่อง การท่องเที่ยวที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐอาจล่าช้าไปบ้าง

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ต่อปี ยังสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ยังทรงตัว ทั้งนี้ มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (มาตรการแอลทีวี) ที่เริ่มบังคับใช้ช่วงต้นเดือนเมษายน ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเร่งตัวขึ้นตามการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เติบโตสูงตามยอดจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยังเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเนื่องเพราะกังวลความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยรวมระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี มีความระมัดระวังและติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการเติบโตของสินเชื่อในอนาคต

กำไรสุทธิใกล้เคียงปีก่อน

Advertisement

ตามข้อมูลที่ออกมา โดยภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรก 2562 เติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561 ที่ 1.5% และคิดเป็นมูลค่า 55,566 ล้านบาท ที่เป็นตัวเลขรวบรวมจากงบการเงิน 10 ธนาคาร รวมกับคาดการณ์กำไรสุทธิของธนาคารกรุงไทยซึ่งยังไม่ได้รายงานงบการเงิน อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ส่วนใหญ่มีผลกำไรสุทธิติดลบ ผลพ่วงจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศยกเลิกตั้งแต่ปีที่ผ่านมารายได้จากการขายประกันผ่านธนาคาร รายได้ค่าธรรมเนียมจากค่านายหน้าธุรกิจหลักทรัพย์และกองทุนที่ลดลง และกำไรสุทธิจากการขายเงินลงทุนลงลง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เป็นต้น

ลงในรายละเอียด พบว่าธนาคารทหารไทยกำไรสุทธิติดลบ 31.0% ด้านธนาคารกรุงไทย คาดการณ์ของบริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด มองติดลบ 23.3% ธนาคารไทยพาณิชย์ติดลบ 19.4% ธนาคารเกียรตินาคินติดลบ 19.1% ธนาคารกสิกรไทยติดลบ 6.7% ธนาคารธนชาตติดลบ 3.4% ธนาคารทิสโก้ติดลบ 2.1% ขณะที่ธนาคารกรุงเทพกำไรสุทธิเติบโตเล็กน้อยที่ 0.3% ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เติบโต 4.6% ด้านธนาคารที่มีกำไรสุทธิเติบโตกว่าเท่าตัว ได้แก่ กรุงศรีอยุธยาเติบโต 103.8% ผลจากจากการบันทึกกำไรหลังหักภาษีจำนวน 6.7 พันล้านบาท จากการขายหุ้นในบริษัทเงินติดล้อ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่เติบโต 92.4% จากการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ รายได้ดอกเบี้ยจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุน มีกำไรสุทธิจากการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

สำรองหนี้ฯรับความไม่แน่นอน

Advertisement

สำหรับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและรองรับความไม่แน่นอน ไม่ได้มีแรงกดดันมากนัก เพราะมีการตั้งสำรองหนี้ฯ จำนวนมากไปแล้วในปีก่อน และแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมที่ยังทรงๆ ตัว พบว่าธนาคารกรุงเทพมีการตั้งสำรองหนี้สูงสุด แม้จะปรับลดลงบ้างอยู่ที่ 189.0% จากสิ้นปี 2561 ที่ 190.9% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับตัวดีขึ้นมาที่ 165.7% จาก 160.8% ธนาคารกสิกรไทยปรับลงอยู่ที่ระดับ 158.78% จาก 160.60% ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับขึ้นเป็น 152.8% จาก 146.7% ธนาคารทิสโก้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 152.90% จาก 154.90% ธนาคารทหารไทยจาก 152% มาอยู่ที่ 145% ธนาคารธนชาต 123.36% จาก 123.20% ธนาคารเกียรตินาคินอยู่ที่ 114.1% จาก 114.8% ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์อยู่ที่ราว 110% และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย อยู่ที่ 109.5% จาก 107.0%

คุมเอ็มพีแอล-หันบริหารเพิ่มรายได้

ทั้งนี้ สถานการณ์เอ็นพีแอลแต่ละธนาคารมีการบริหารจัดการและดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมคุณภาพป้องกันหนี้ที่จะไหลมาเป็นเอ็นพีแอลเพิ่ม แต่พบว่าธนาคารกสิกรไทยมีเอ็นพีแอลต่อเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ระดับ 3.44% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ที่ 3.34% จากการปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์โดยการลดปริมาณการขายหนี้บางส่วนและบริหารจัดการเองซึ่งทำให้การชำระคืนสูงกว่าในระยะยาว ถือเป็นอีกช่องทางการเพิ่มรายได้ ส่วนธนาคารทิสโก้มีลูกหนี้ธุรกิจกลุ่มการผลิตและการพาณิชย์ที่ประสบปัญหาชำระหนี้ทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.02% จากสิ้นปี 2561 ที่ 2.86% ธนาคารกรุงเทพอัตราส่วนเอ็นพีแอลต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.5% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.8% ธนาคารไทยพาณิชย์มีคุณภาพของสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนอยู่ที่ 2.77% จาก 2.85% จากสิ้นปี 2561 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ทรงตัวอยู่ที่ 4.3% โดยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกหนี้และติดตามหนี้ เช่นเดียวกับธนาคารเกียรตินาคิน อยู่ที่ 4.1% คงที่เทียบสิ้นปี 2561 ธนาคารธนชาตยังรักษาคุณภาพเอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำที่ 2.19% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2.38% ธนาคารทหารไทย อยู่ที่ 2.81% ภาพรวมยังคงเป็นไปตามเป้าหมายปี 2562 ที่จะบริหารจัดการสัดส่วนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.9% ขณะที่ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ อยู่ที่ราว 2.00% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับเพียง 1.99% ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.08% จากปี 2561

สินเชื่อมาแต่กะปริดกะปรอย

หากพิจารณาการเติบโตของสินเชื่อ จะพบว่าสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยและบางแห่งสินเชื่อลดลงตามการชำระคืนหนี้ โดยธนาคารไทยพาณิชย์สินเชื่ออยู่ที่ 2.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากสิ้นปี 2561 เงินฝากอยู่ที่ 2.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 1.70 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561 โดยมีการเติบโตจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เงินรับฝากอยู่ที่ 1.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% ธนาคารกสิกรไทย สินเชื่ออยู่ที่ 1.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.04% และเงินฝากลดลง 0.81% จากเงินฝากออมทรัพย์ อยู่ที่ 1.97 ล้านล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ มีเงินให้สินเชื่อ 2.02 ล้านล้านบาทลดลง 2.6% เงินฝากอยู่ที่ 2.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.06%

ธนาคารธนชาตสินเชื่ออยู่ที่ 7.62 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.22% จากสิ้นปี 2561 เงินฝากอยู่ที่ 7.43 แสนล้านบาท ลดลง 1.11% ธนาคารทหารไทยสินเชื่ออยู่ที่ 6.87 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% และเงินฝากเพิ่มขึ้น 1.8% อยู่ที่ 6.61 แสนล้านบาท ธนาคารทิสโก้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.41 แสนล้านบาท เติบโต 0.4% จากสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อจำนำทะเบียน ส่วนเงินฝากอยู่ที่ 2.40 แสนล้านบาท ลดลง 3.4% ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์สินเชื่ออยู่ที่ 1.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% และเงินรับฝากมีจํานวน 1.71 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% ธนาคารเกียรตินาคินสินเชื่ออยู่ที่ 2.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% เงินฝากรวมอยู่ที่ 1.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.30 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% เงินฝากอยู่ที่ 2.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3%

ธุรกิจแบงก์ฝ่าความท้าทายใน/นอก

ทิศทางการเติบโตของกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 และช่วงที่เหลือทั้งปีนี้ ยังมีแรงกดดันภายใต้เศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับความไม่แน่นอนสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทั้งสงครามการค้าสหรัฐและจีน ความชัดเจนเบร็กซิท นโยบายเศรษฐกิจการเงินและสถานการณ์การเมืองทั่วโลก การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทย ความชัดเจนของทิศทางและแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลจากกฎเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อของ ธปท. ที่ออกมาทั้งมาตรการแอลทีวี การควบคุมสินเชื่อจำนำทะเบียน และแนวทางการดูแลความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนในระยะต่อไปด้วย อย่างไรก็ดี หากมีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน นอกจากนี้ นโยบายเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง

ด้านมุมมมองของนายแบงก์ สุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ระบุว่า ความท้าทายรอบด้านทั้งจากปัจจัยภายนอกอาจทำให้การทำธุรกิจธนาคารในปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้จะยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่การดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ปรับตัวและมองหาช่องทางในการสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรักษาระดับการเติบโตของบริษัทไว้ได้

ขณะที่ อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจหลักของธนาคารยังคงขยายตัวได้ดีและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งสะท้อนจากผลลัพธ์ของโครงการทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ รวมถึงจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลต่อการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่และการปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่จะทยอยลดลงในอนาคต ทั้งนี้ ธนาคารได้ริเริ่มนำวัฒนธรรมองค์กรแบบกระจาย (Agile) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ธนาคารมีความสามารถในการตอบสนองผู้บริโภคในเรื่องของการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ความรวดเร็ว นวัตกรรม และวัฒนธรรมความเสี่ยง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด

เช่นเดียวกับ โนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่าธนาคารยังมีมุมมองเชิงบวกอย่างระมัดระวังโดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 3.8% แนวโน้มต่อไปคาดว่าการใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวขึ้นจากปัจจัยด้านรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นและมาตรการด้านงบประมาณที่แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งการเร่งเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ธนาคารยังคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อที่ 6-8% สำหรับปีนี้ และยังคงมุ่งเน้นด้านการเสริมความแข็งแกร่งของดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงได้รับแรงกดดันจากความอ่อนแอของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่เพิ่มความท้าทายให้กับภาคธุรกิจที่ในอีกด้านหนึ่งต้องรับมือกับภาวะการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและนโยบาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค

บุกหนักสินเชื่อยีลด์สูง-ดิจิทัลเลนดิ้ง

การปรับตัวไปให้บริการผ่านดิจิทัลแบงกิ้ง และการติดตามดูแลการปล่อยสินเชื่อของ ธปท. ผ่านกฎเกณฑ์ระเบียบที่ออกมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องกลับมาเข้มงวดดูแลพอร์ตสินเชื่อและระมัดระวังปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่มีการแข่งขันเพื่ออำนวยสินเชื่อผ่านการให้ดอกเบี้ยต่ำ ธปท. ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงเช่นกัน ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังทรงๆ ตัว ธนาคารต่างมุ่งรุกไปจับสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลซึ่งตลาดนี้เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่และยังมีศักยภาพในการเติบโต เพราะในตลาดอาจจะยังมีกลุ่มคนที่เข้าถึงสินเชื่อไม่ได้อีกมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันยังสามารถใช้ข้อมูลนอกอื่นๆ ประกอบการให้สินเชื่อได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลที่เกิดขึ้นบนดิจิทัล โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้สินเชื่อผ่านออนไลน์ หรือดิจิทัลเลนดิ้ง ซึ่งสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงและให้ดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงเป็นรายบุคคล อย่างธนาคารกสิกรไทยที่ได้ออกสินเชื่อบุคคลให้กับกลุ่มที่เงินเดือน เพียง 7,500 บาทต่อเดือน วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาสูงสุด 90 วัน ในผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด เค-เอ็กซ์เพรส แคช และความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เห็นภาพดิจิทัลเลนดิ้งชัดเจนขึ้น เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์บนลาซาด้า ขณะเดียวกันธนาคารกรุงศรีอยุธยาร่วมมือกับลาล่ามูฟ ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ขับขี่ในแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีความร่วมมือกับแกร็บ และได้เริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อแล้ว

ประมูล5จีเพิ่มพอร์ตสินเชื่อก้อนใหญ่

นอกจากนี้ หากในช่วงที่เหลือของปีนี้มีการเร่งเดินหน้าประมูลคลื่นความถี่พัฒนาระบบ 5จี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผลักดัน จะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนสินเชื่อของธนาคารที่เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยผู้ประกอบการอาจจะมีการระดมเงินทุนผ่านธนาคารโดยใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารหรือแบงก์การันตี เพื่อนำมาชำระค่าประมูล คล้ายกับการประมูล 3จี-4จี ในช่วงที่ผ่านมา โดยหากวงเงินไม่มากนักอาจจะเป็นการให้สินเชื่อรายเดียว แต่กรณีวงเงินสูงประกอบกับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายใหญ่ (เอสแอลแอล) ที่กำหนดเพดานไม่เกิน 25% ของเงินกองทุนขั้นที่ 1 จะเห็นการปล่อยสินเชื่อร่วมกันของธนาคาร โดยธนาคารมีความพร้อมรองรับ เพราะสภาพคล่องในระบบยังมีสูงพร้อมที่จะอำนวยสินเชื่อได้ แต่ที่สุดต้องลุ้นผู้ประกอบการค่ายมือถือที่จะเข้าร่วมประมูล เพราะผู้ประกอบการที่มีความกังวลว่าราคาประมูลจะสูงมากนั่นเอง

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะกลับมาสดใสหรือไม่นั้น ต้องติดตามลุ้นช่วงที่เหลือของปีนี้!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image