ไทยเผชิญ‘แห้งแล้ง’ลากยาว เกษตรกร-เอกชน ออกอาการรุ่มร้อน ห่วงมาตรการรัฐไม่ทันการณ์-ศก.พัง!!

อากาศที่ร้อนอบอ้าวต่อเนื่องกันมาหลายเดือน หลายพื้นที่เข้าภาวะแล้งและน้ำเพื่อการใช้สอยแห้งหาย จึงสร้างความกังวลว่าจะกระทบต่อภาคเกษตรอาจเสียหายมากขึ้น แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังยึดคาดการณ์ว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะหายไปในเดือนพฤษภาคมนี้แต่ถึงตอนนี้อากาศก็ยังร้อนอบอ้าว ฝนก็ตกสั้นๆ ไม่กี่พื้นที่ ทำให้เริ่มกังวลเรื่องปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ประกอบกับภาครัฐเตือนให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้กว่าจะเข้าหน้าฝนก็เข้าสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม นับว่าช้ากว่าค่าเฉลี่ยปีก่อนๆ ซึ่งตามหลักการระบุว่าเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่กลับมาอีกครั้ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด และติดตามมาตรการดูแลจากรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือกันอย่างไร!!

⦁เดินหน้าแผนป้องกันภัยแล้ง
ย้อนดูรายงานของศูนย์ติดตามและแก้ปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ถึงสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ผลการประเมินและผลจัดการความเสี่ยงภัยแล้ง พบว่า สถานการณ์น้ำในปัจจุบันมีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 21,194 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 21,122 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกเขตชลประทาน 72 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการตรวจสอบพบว่ามีการใช้น้ำถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 รวม 203 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น ในเขตและนอกเขตชลประทานมีปริมาณน้ำจัดสรรเพียงพอจนสิ้นสุดฤดูแล้ง หรือในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้แน่นอน

การประเมินความเสี่ยง พบพื้นที่ที่มีปัญหา 1 จังหวัด 1 ตำบล คือ จ.อุตรดิตถ์ อ.พิชัย ต.นาอิน ไม่มีน้ำทำประปาหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาอิน ได้ดำเนินการนำรถบรรทุกน้ำเข้าแจกจ่ายน้ำในพื้นที่ทุกวัน และขอสนับสนุนน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงจาก อบต.บ้านหมอ อบต.บ้านโคน อบต.พญาแมน เพื่อเติมน้ำประปาหมู่บ้าน 3 จุด สัปดาห์ละ 384,000 ลิตร ตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้มีการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน
ด้านพื้นที่เสี่ยงของภาคปศุสัตว์ พบว่ามี 1 จังหวัด 1 ตำบล คือ จังหวัดตาก อ.เมือง ต.กลางทุ่ง สัตว์มีความเสี่ยง อาทิ โค, กระบือ, สุกร และสัตว์ปีก รวมทั้งสิ้นกว่า 89,806 ตัว เป็นต้น ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรสำรองน้ำและอาหารพร้อมแนะนำการเลี้ยงในฤดูแล้งให้กับประชาชน

⦁เตือน12จังหวัดเสี่ยงขาดน้ำกินน้ำใช้
เมื่อดูรายงานจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 ระบุว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ยังมีภาวะเสี่ยงประสบภัยแล้งอยู่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการและเน้นย้ำทุกหน่วยงานซักซ้อมแผนปฏิบัติการของหน่วยงานรับผิดชอบเป็นรายพื้นที่ ทั้งพื้นที่ที่ประกาศภัยแล้งแล้ว 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี รวมถึงพื้นที่เสี่ยงแล้งและขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะเพื่อการอุปโภคเป็นเป้าหมายแรก

Advertisement

จากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้วิเคราะห์จากข้อมูลน้ำฝนของกรมอุตุฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 ร่วมกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำผิวดินต่างๆ คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำสำรองสำหรับการผลิตน้ำประปา จำนวน 12 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง และภาคตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้ สทนช.ได้จัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ให้หน่วยงานใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อใช้ในการวางแผนแก้ไขพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วย

ขณะเดียวกัน ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนงานการแก้ไขปัญหาประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทั้งระยะสั้นโดยใช้งบประมาณของหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการจัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัยโดยใช้รถบรรทุกน้ำ แจกจ่ายน้ำดื่ม จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซมขุดบ่อบาดาล ซ่อมแซมถังเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ และระยะกลาง เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการเพิ่มความจุ แหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่นๆ รวมโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการ มีจำนวนทั้งสิ้น 144 โครงการ งบประมาณ 1,200 ล้านบาท สามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักได้ 28.12 ล้านลูกบาศก์เมตร

⦁สทนช.เตรียมรับมือวิกฤตน้ำ
ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า เรื่องแก้ปัญหาประสบภัยแล้ง ให้ทางกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤต และให้จังหวัดเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประกาศภัยแล้ง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นศูนย์กลางการอำนวยการซึ่งแต่ละจังหวัดต้องจัดหมวดหมู่การช่วยเหลือ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยและการประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมถึงให้หน่วยงานพิจารณาโครงการที่จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาปัญหาด้านภัยแล้ง ทั้งในระยะเร่งด่วนระยะกลางและระยะยาวต่อไป

Advertisement

ครั้งนี้ สทนช.ได้รับมอบหมายให้นำสภาพปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 มาวางแผนปรับปรุงร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งการวางแผนการเพาะปลูกที่ไม่มีการระบุพื้นที่ด้านการเกษตร ขอบเขตที่ชัดเจน โดยให้ประกาศพื้นที่การเพาะปลูกให้ชัดเจนในระดับตำบล ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ทั้งในเขตชลประทาน กรมชลประทานและกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบและนอกเขตชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและกรมการส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบ การวางแผนการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ไม่ได้ระบุแหล่งน้ำที่ใช้ การบริหารจัดการน้ำมีการใช้น้ำมากกว่าแผนที่กำหนด ต้องมีการระบุแหล่งน้ำที่อยู่นอกเขตชลประทานให้ชัดเจน โดยมีผู้รับผิดชอบดำเนินการนอกเขตชลประทาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทยและกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งนำพื้นที่ภัยแล้งที่อยู่ในพื้นที่เกาะมาพิจารณาวางแผนบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาภัยแล้งในปีถัดไปด้วย

นอกจากหารือเพื่อติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือ และการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันยับยั้งการประกาศพื้นที่ภัยแล้งไม่ให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2562 ตามปฏิทินการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2562 โดยกำหนดมาตรการเป็นรายพื้นที่และสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดในแหล่งเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย โดยนำเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบตั้งแต่กลางเดือนนี้เป็นต้นไป

“พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือและสิ่งก่อสร้าง กำจัดวัชพืช เริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา และแผนบริหารจัดการน้ำ การเตรียมการด้านบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหลากรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงก่อนฤดูฝนสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม สทนช.จึงทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยขอให้จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมรายจังหวัด ประกอบด้วย ความพร้อมอาคารรับน้ำที่ตรวจสอบแล้ว วัชพืชกีดขวางทางน้ำ จุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยหรือน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมรายชื่อผู้รับผิดชอบที่สามารถติดต่อได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ด้วย” นายสมเกียรติกล่าว

⦁เร่งมาตรการด่วนดูแลเกษตรกร
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการวางแผนการเพาะปลูกพืช ว่าอยู่ระหว่างการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกร แหล่งน้ำขนาดเล็ก แหล่งน้ำสำรองเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปาส่วนภูมิภาค และกองทัพบก ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (งบกลาง) และดำเนินการโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มน้ำต้นทุนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ประกอบด้วย สนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ 6,078.98 ตัน และถุงยังชีพสัตว์ 3,000 ชุด โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา พื้นที่ 4.87 ล้านไร่ วงเงิน 2.92 ล้านบาท ช่วยเหลืออัตราไร่ละ 600 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 498 ล้านบาท โดยให้สหกรณ์กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี และให้สมาชิกกู้รายละไม่เกิน 30,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ดังนี้ กู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาอาชีพ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี, กู้เพื่อการป้องกันผลกระทบจากภัยแล้ง อาทิ การขุดสระ และระบบน้ำในไร่นา ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี เป็นต้น และโครงการสนับสนุนเงินกู้แก่สหกรณ์ที่ประสบสาธารณภัย วงเงิน 561.20 ล้านบาท

⦁ชี้อุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบ
ส่วนความกังวลจากภาคเอกชนว่าภัยแล้งจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภัยแล้งไม่ได้มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมมากนัก ซึ่งในส่วนของกระทรวง ได้มีการดูแลในเรื่องของการป้องกันการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานลงแหล่งน้ำ และในปัจจุบันยังไม่มีการร้องเรียนทั้งในเรื่องดังกล่าว และพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งแต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่ในภาคการผลิตไม่ได้ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลักจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หน้าแล้งในปีนี้ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ อย่างไรก็ตาม หากได้รับรายงานว่ามีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทางกระทรวงได้เตรียมแหล่งน้ำสำรองโดยประสานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการขอขุดใช้แหล่งน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่อไป

⦁ธนาคารห่วงพิษแล้ง ศก.เสียหาย
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ว่าที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้ หากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้

นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้ง และระดับความรุนแรงของฤดูแล้งอาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน

แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.7% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในระดับภูมิภาค จากเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ ซึ่งจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ หนี้ครัวเรือนเพิ่ม รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น เกษตรกรอาจต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนเพื่อเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ ตลอดจนต้องมีการเตรียมพร้อมวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ ก็อาจช่วยลดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงให้ภาพที่ไม่ดีนัก

“ผลของภัยแล้งในปี 2562 ที่มาเร็วและยาวนานขึ้นจะมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนนี้มีพืชเกษตรหลายรายการที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นพืชที่รวมแล้วมีน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาสินค้าเกษตรไม่มากนัก โดยในแง่ของราคาอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2562 ทำให้โดยภาพรวมทั้งปี 2562 ราคาสินค้าเกษตรอาจขยับดีขึ้นอยู่ที่ 0.1-0.5% เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่ราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 0.2-0.6% อาทิ ราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 10,650-10,740 บาทต่อตัน หรือปรับตัวลดลง 0.8-1.7% เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ในแง่ของผลกระทบต่อผลผลิตในช่วงภัยแล้งจะมีปริมาณลดลง ซึ่งถ้ามองต่อไปในมุมของรายได้เกษตรกร ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลจากภัยแล้งในปี 2562 อาจทำให้รายได้เกษตรกรในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2562 ให้ภาพที่ไม่ดีนัก จากผลของแรงฉุดด้านผลผลิตซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2562 ให้หดตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1.2-1.6% เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่หดตัวอยู่ที่ 0.4-0.8%

⦁เอกชนวอนรัฐแก้ปัญหาแล้งเร่งด่วน
ด้านความคิดเห็นจากฟากเอกชน นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่า เรื่องที่รัฐบาลต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในขณะนี้ คือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ควรเตรียมมาตรการในการช่วยเหลือด้านผลผลิตทางการเกษตร ปีนี้มีภัยแล้งผลิตได้น้อย ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอยู่ในขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาวิธีกระตุ้นทำให้ราคาสินค้าไม่เพียงแต่สินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปศุสัตว์ก็ต้องผลักดันให้มีราคาที่สูงขึ้นด้วย อาทิ การใช้วิธีกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันในมีการท่องเที่ยวเชิงชุมชนให้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น หากสามารถช่วยเหลือในส่วนนี้ได้เชื่อว่าปัจจัยจากส่วนนี้จะช่วยกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจให้โตขึ้นได้

ภาคการเกษตรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ส่วนปัญหาภัยแล้งก็เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล้วนกังวลหากปัญหามีความยืดเยื้อ รัฐบาลควรจัดหามาตรการในการดูแลช่วยเหลือและสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนได้เห็นว่าไทยจะสามารถก้าวผ่านปัญหานี้ไปได้ตามแนวทางที่ได้จัดเตรียมไว้
ส่วนจะเป็นวิธีใดและจะเห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรมได้เมื่อไหร่คงต้องติดตามกันต่อไปแค่ไม่รู้ว่าจะทันรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image