5ปี ‘ที วีดิจิทัล’…ถอยแล้ว 9 ลุ้นกันต่อ 15 ช่อง ที่เหลือ ‘รอด-ไม่รอด’

คลื่น “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” โหมโจมตีธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” มาพักใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการส่งเสียงร้องโอดโอย กระทั่งรัฐบาล โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการประมูลทีวีดิจิทัล วิ่งโร่หาทางช่วยเหลืออยู่เป็นระยะๆ กระทั่งรอบล่าสุด ที่กว่าจะได้มาซึ่งมาตรการช่วยเหลือว่ายากแล้ว หลังได้รับการช่วยเหลือยังยากกว่า เพราะ “กสทช.” มีสูตรคำนวณเงินชดเชยแบบถี่ยิบ เพื่อไม่ทำให้รัฐต้องเสียรู้ “เอกชน” แม้แต่แดงเดียว ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นั่งกุมขมับดีดเครื่องคิดเลขกันเป็นแถว

⦁เปิดสูตรม.44เยียวยา‘ทีวีดิจิทัล’
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 หรือชื่อเต็มคือ มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตได้ ผู้ประสงค์ต้องแจ้งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่คำสั่งมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 10 พฤษภาคม 2562 ขณะที่ผู้ประกอบการทั้ง 17 ช่อง ที่ค้างชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 4 ต้องชำระภายใน 120 วัน นับแต่วันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้ หรือภายใน 8 สิงหาคม 2562 รวมเป็นเงิน 3,215 ล้านบาท

จากนั้นนำรายได้ที่เกิดขึ้นส่งคืนให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย ที่ได้ชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 แล้ว ได้แก่ ช่อง 7 จำนวน 372 ล้านบาท, ช่องเวิร์คพอยท์ จำนวน 395 ล้านบาท และช่องสปริงนิวส์ 219 ล้านบาท รวม 986 ล้านบาท และนำรายได้ที่เหลือ จำนวน 2,228 ล้านบาท ส่งเป็นรายได้ของรัฐ
ทั้งนี้ หากค้างชำระต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปีอย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ได้รับเงินจากการชำระงวดที่ 4 ไม่เพียงพอ จะพิจารณาจ่ายคืนให้กับผู้ประกอบการตามลำดับ โดยพิจารณาจากความจำเป็นของแต่ละช่อง ซึ่งอ้างอิงจากผลประกอบการ

อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และงวดที่ 6 รวมเป็นเงิน 13,622 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (มักซ์) เต็มจำนวนตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ 9 ปี 6 เดือน รวม 18,775 ล้านบาท โดยจะเริ่มสนับสนุนในเดือนกรกฎาคม 2563 หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2561 ที่ช่วยเหลือค่ามักซ์ 50% เป็นเวลา 24 เดือน นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อมูลค่าความนิยมเฉลี่ย (เรตติ้ง) เบื้องต้น 431 ล้านบาท โดยการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อวัดเรตติ้งที่ถูกต้อง และยุติธรรม

Advertisement

⦁เปิดสูตรคำนวณ ช่องคืนไลเซนส์
ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” ตัดสินใจปล่อยจอดำ มีสูตรคำนวณเงินชดเชย คือ นำค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระแล้ว คูณด้วยอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ (10 ปี) จากนั้นหารด้วยอายุใบอนุญาต 15 ปี ได้ผลอย่างไรเป็นตัวตั้ง และนำสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้รับระหว่างการประกอบกิจการ ได้แก่ 1.เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) ตามคำสั่ง คสช. 9/2561 และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ (มัสต์แครี่) ตามคำสั่ง คสช.ที่ 76/2559 ตั้งแต่วันที่ได้รับการสนับสนุนจนถึงวันยุติการให้บริการ และ 2.ผลประกอบการของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึง 11 เมษายน 2562 เฉพาะที่มีกำไรสุทธิ มาหักออก

จากนั้นจึงจะคำนวณเงินชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ขอคืนใบอนุญาต โดย กสทช.จะจ่ายเงินชดเชยจากการคืนใบอนุญาตให้ใน 60 วัน นับแต่ยุติการให้บริการตามที่ กสทช.กำหนด โดยนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก่อน และเมื่อได้รับเงินจากการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะนำหักลบกับส่วนที่ได้ชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไป เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

⦁‘เจ๊ติ๋มทีวีพูลยื่นหนังสือขอเอี่ยวม.44’
ทันทีที่มี ม.44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลออกมา ชื่อ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด และบริษัท ไทยทีวี จำกัด ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

Advertisement

เมื่อ “เจ๊ติ๋ม” ดอดเข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. เพื่อสอบถามในรายละเอียดคำสั่ง ตาม ม.44 ว่ามีประโยชน์กับบริษัทอย่างไรหรือไม่ ทั้งๆ ที่ทีวีดิจิทัลทั้ง 2 ช่องของบริษัท คือช่องไทยทีวี และช่องโลก้า ยื่นหนังสือถึงที่ประชุม กสทช. เพื่อขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และได้ยุติการออกอากาศตั้งแต่ปี 2558 แล้ว แต่เพื่อลบคำครหา “เจ๊ติ๋ม” จึงตั้งโต๊ะแถลงไม่ขอเอี่ยวมาตรการช่วยเหลือกิจการทีวีดิจิทัลดังกล่าว

และเมื่อสูตรคำนวณเงินชดเชยทีวีดิจิทัลที่ประสงค์คืนใบอนุญาตออกมา “เจ๊ติ๋ม” ได้แสดงความคิดเห็นว่า สูตรการคำนวณค่าชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ออกมา ส่วนตัวพอใจในระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่าจะไม่เพียงพอสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่มีความประสงค์จะขอคืนใบอนุญาต เพราะสูตรการคำนวณที่ออกมา ระบุถึงผลประกอบการของผู้ประกอบการเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงผลการขาดทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับมาตลอด ดังนั้นทางที่ดีหาก กสทช.จะใช้สูตรการคำนวณค่าชดเชยดังกล่าว ควรที่จะบวกเพิ่มในส่วนผลการขาดทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับด้วย

“ขอให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายพิจารณาในรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ อย่างรอบคอบ ซึ่งคาดว่า จะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขอคืนใบอนุญาตประมาณ 3 ช่อง จากจำนวนทีวีดิจิทัล 22 ช่อง และเพื่อให้ธุรกิจเกิดการแข่งขัน มองว่า ทีวีดิจิทัลควรจะมีจำนวน 12 ช่อง หรือลดลง 10 ช่อง จากผู้ประกอบกิจการที่ถือครองใบอนุญาตหลายใบ ซึ่งจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น ทีวีดิจิทัลมีการแข่งขันด้านคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่วนรายการขายของก็จะลดลง การคืนใบอนุญาตเพียงไม่กี่ช่องผลการเปลี่ยนแปลงจะไม่มากนัก” นางพันธุ์ทิพา กล่าว

⦁เส้นตาย‘7ช่องทีวีดิจิทัล’ขอคืนไลเซนส์
และเมื่อถึงวันกำหนดเส้นตาย 10 พฤษภาคม ในการแถลงข่าวสรุปการยื่นความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เลขาธิการ กสทช.เปิดรายชื่อผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ที่ผู้แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาต จำนวน 7 ช่อง ได้แก่ ช่อง 13 ช่อง 3 แฟมิลี่ (บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด), ช่อง 14 เอ็มคอตแฟมิลี่ (บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)), ช่อง 19 สปริงส์นิวส์ (บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)), ช่อง 20 ไบรท์ทีวี (บริษัท ไบร์ท ทีวีจำกัด), ช่อง 21 วอยซ์ ทีวี (บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด), ช่อง 26 สปริง (บริษัท สปริง 26 จำกัด) และช่อง 28 ช่อง 3 เอสดี (บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด) ขณะที่ผลของการคืนใบอนุญาตดังกล่าว ส่งผลให้ทีวีดิจิทัล คงเหลือ 15 ช่อง จากเดิม 22 ช่อง

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงอย่างมากต่อพนักงานที่ต้องถูกเลิกจ้าง จึงอยากให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต มีมาตรการดูแลพนักงาน โดยหลังจากได้รับเงินชดเชยแล้ว ให้นำไปเยียวยาพนักงานกลุ่มดังกล่าว ให้มากกว่าอัตราที่กฎหมายแรงงานกำหนด” นายฐากรกล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ขั้นตอนดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล หากจะให้สมบูรณ์ผู้ประกอบการต้องส่งเอกสารให้ สำนักงาน กสทช.พิจารณาไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ หากเอกสารไม่ครบถ้วนขยายระยะเวลาการส่งเอกสารให้อีก 30 วัน โดยแต่ละช่องจะต้องส่งแผนยุติการออกอากาศเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช.ให้อนุมัติการยุติการออกอากาศ เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่า อีก 30 วัน หรือ 45 วัน หรือ 60 วัน ช่องดังกล่าวจะยุติการออกอากาศ และเมื่อยุติการออกอากาศแล้วในวันถัดไป ซึ่งคาดว่า ผู้ประกอบการจะสามารถนำเอกสารหลักฐานมายื่นเพื่อรับเงินชดเชยได้ ไม่เกินเดือนสิงหาคม 2562

“เอกสารต่างๆ ที่ต้องยื่นต่อสำนักงาน กสทช. อาจมีความซับซ้อนบ้างสำหรับผู้ประกอบการที่ถือครองหลายใบอนุญาต ที่ต้องจัดทำบัญชีแยกแต่ละช่องให้ชัดเจน ซึ่งเต็มที่คาดว่าไม่เกิน 10 วัน น่าจะแล้วเสร็จ ส่วนผู้ประกอบการที่ถือครองใบอนุญาตเพียงใบเดียว เตรียมเอกสาร ใน 5 วันน่าจะแล้วเสร็จได้ ไม่จำเป็นต้องเตรียมเอกสารจนครบเวลา 60 วันหรอก เมื่อยื่นเอกสารเร็ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาเร็ว เงินที่จะได้รับชดเชยก็อาจจะได้รับก่อนเดือนสิงหาคมนี้ก็ได้” นายฐากร กล่าว

⦁‘ผอ.อสมท’ยันคืนช่องเด็กไม่กระทบพนง.
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า พนักงานส่วนของช่อง 14 เอ็มคอตแฟมิลี่ มีอยู่ประมาณ 30 ราย จะนำกลับมาช่วยช่อง 30 เอ็มคอตเอชดี การเยียวยาพนักงานจึงมีไม่มากนัก

“จำนวนทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ 15 ช่อง เป็นจำนวนที่มากอยู่แต่ก็ถือว่าไม่น่าเกลียด และเพื่อให้ธุรกิจเกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น มองว่า ควรจะมีจำนวนทีวีดิจิทัล 10-11 ช่อง หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนทีวีดิจิทัลทั้งหมด 22 ช่องจึงจะเหมาะสม” นายเขมทัตต์กล่าว

นายเขมทัตต์ กล่าวว่า จากมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่าทั้งรัฐบาล และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เล็งเห็นสภาพสิ่งแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จึงได้ให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ยังเป็นกังวลถึงในอีก 4-5 ปี ข้างหน้าที่หากเกิดปัญหา อาทิ ดิจิทัลดิสรัปชั่นที่รุนแรงขึ้นกว่าสถานการณ์ที่ทีวีดิจิทัลเจอในปัจจุบันจะทำอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือร่วมกันระหว่าง กสทช. และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต่อไป

“ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ชคท.) ที่ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะมีการหารือกันในช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้ให้บริการโครงข่าย เช่น โครงการแก้ปัญหาและเยียวยาจำนวนช่องรายการที่ว่างอยู่ในโครงข่าย ซึ่งเกิดขึ้นตามแผนแม่บทและข้อบังคับของ กสทช. เพื่อเสนอ กสทช.ต่อไป” นายเขมทัตต์กล่าว

⦁‘4สมาคมสื่อ’ออกแถลงการณ์
พลันที่มีข่าวผู้ประกอบการทีวีคืนใบอนุญาตรวม 7 ช่อง เท่ากับว่าจะมีผู้ที่อยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชนตกงานอีกจำนวนหนึ่งจากก่อนหน้านี้ทยอยตกงานไปแล้วด้วยผลกระทบของการดิสรัปชั่น สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย พร้อมด้วยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่า 4 สมาคม เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลตลอดมามีความเข้าใจในสถานการณ์และห่วงใยต่อสภาวะการว่างงานของพนักงานสังกัดทีวีดิจิทัลที่ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในแวดวงสื่อสารมวลชน เพราะนี่คือการปิดบริษัทไม่ได้เป็นเพียงการเปิดโครงการเพื่อลดจำนวนพนักงานเช่นเดียวกับในช่วงที่ผ่านมาจึงมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะดังนี้

1.เรียกร้อง กสทช.ให้ขอความร่วมมือ/กำชับผู้ประกอบการที่คืนใบอนุญาตได้ดำเนินการดูแลชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงานมากกว่าที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดเนื่องจากการคืนใบอนุญาตดังกล่าวผู้ประกอบการเองก็ได้รับเงินคืนจาก กสทช. เช่นกัน และ 2.ขอให้ผู้ประกอบการเจ้าของสื่อชดเชยเยียวยาพนักงานที่ตกงานด้วยความเป็นธรรมและมากกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดเนื่องจากเป็นการปิดบริษัทอย่างกะทันหันไม่ได้แจ้งล่วงหน้าตามที่กฎหมายกำหนดและการคืนใบอนุญาตดังกล่าวผู้ประกอบการเองก็ได้รับเงินคืนจาก กสทช. เช่นกันรวมทั้งต้องบอกหนังสือรับรองการทำงานให้ด้วย

“ยืนยันว่า ทุกองค์กรวิชาชีพเข้าใจในสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และต้องการให้การยุติการประกอบการจบลงด้วยดีกับทุกฝ่าย”

⦁‘นักวิชาการ’แนะเยียวยาพนักงานถูกเลิกจ้าง
นายมานะ ตรียาภิวัฒน์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีขอคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลว่า ผลกระทบในแง่บวก คือการมีช่องทีวีเหลือน้อยลง สัดส่วนของเม็ดเงินโฆษณาน่าจะกระจายตัวได้ดีขึ้น ทำให้บางสถานีมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่มีข้อเสียอยู่ที่มีพนักงานจากช่องที่คืนใบอนุญาตต้องตกงานจำนวนมาก ถึงแม้พนักงานจะได้รับเงินชดเชย แต่ กสทช.ไม่ได้กำหนดรายละเอียดในเงื่อนไขการคืนใบอนุญาตว่าต้องกันเงินชดเชยไว้ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง จึงอยากให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงพนักงานที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา

นายมานะกล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือที่ กสทช.ออกมาน่าจะช่วยให้ทีวีดิจิทัลอยู่รอดได้ในระยะเวลาหนึ่ง ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปผู้ชมไม่ได้รับสื่อผ่านโทรทัศน์เหมือนเดิม คนจะดูในสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือติดตามแพลตฟอร์มใหม่ๆ สื่อสารมวลชนกำลังจะลดบทบาทลง พลังในการสื่อสารจะไม่เหมือนเดิมเนื่องจากผู้บริโภครับสื่อจากกลุ่มเฉพาะมากขึ้น ถ้าทีวีดิจิทัลไม่พัฒนาตัวเองให้มีเนื้อหาสนองตอบผู้รับสารเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น รวมถึงมีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอื่นด้วย ผู้ประกอบการและองค์กรสื่อควรมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพนักงานที่มีภาระ อาจจะเป็นกองทุนช่วยเหลือ หรือการช่วยเพิ่มพูนความรู้เพื่อให้อยู่รอดทำงานต่อไป

“สื่อต้องปรับตัวต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง ต้องเข้าใจและรู้เท่าทันเทคโนโลยีและภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ทีวีกลุ่มหลักจะจับทิศทางเดิมที่เน้นผู้ชมกลุ่มใหญ่ ขณะที่ช่องทีวีใหม่จะสร้างบุคลิกเฉพาะเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม ส่วนการเกิดขึ้นของเว็บข่าวที่เกิดขึ้นจากคนข่าวที่ออกจากสำนักข่าวไปแล้ว การมีสำนักข่าว หรือเว็บไซต์ข่าวเกิดขึ้นมีข้อดีของความหลากหลายแต่ควรจะมีการปรับตัวรูปแบบการนำเสนอ มีบิซิเนสโมเดลที่หลากหลาย เพราะสื่อยุคใหม่สามารถหารายได้ ได้หลายแบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคำถามเรื่องจริยธรรม” นายมานะกล่าว

บทเรียนหน้าหนึ่งของวงการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทย หรือทีวีดิจิทัล ที่เริ่มต้นทดลองออกอากาศเมื่อปี 2557 หลังจากปลายปี 2556 มีผู้ประกอบการจากหลายวงการต่อคิวเข้าร่วมประมูลเพื่อขอรับใบอนุญาต นับถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 5 ปี หายไปแล้ว 9 ช่องทีวี หลังจากนี้ ยังต้องดูว่าสุดท้ายแล้วที่เหลืออยู่ 15 ช่องจะทำให้ปัญหาของทีวีดิจิทัลหมดไป จะอยู่รอดครบทั้ง 15 ช่องหรือไม่…ต้องติดตามตอนต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image