พาเหรดหั่นเป้าจีดีพี-ส่งออก กู่ร้องหาฮีโร่รัฐบาลใหม่ ช่วยปั๊มชีพจร…

กําลังจะเข้าสู่ช่วงกลางปี 2562 หากมองภาพย้อนกลับไปปี 2561 จะเห็นได้ชัดเจนว่าภาพเศรษฐกิจไทยกลับตาลปัตรกันอย่างชัดเจน ปี 2561 ที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย เติบโตถึง 4.1% มีแรงหนุนทั้งจากการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนภาครัฐเดินหน้าและการลงทุนเอกชนเริ่มฟื้นตัวกลับมา

เทรดวอร์ฉุดเศรษฐกิจ

แต่มาวันนี้ หลังจากที่สหรัฐและจีนเปิดฉากสงครามการค้า (เทรดวอร์) ตั้งแต่ปี 2561 มาต่อเนื่อง ด้วยการใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าระหว่างกัน ประกอบกับปัจจัยความไม่ชัดเจนการเจรจาเบร็กซิท การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ และประเด็นท้าทายในอนาคตที่จะมีผลมากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่ทำให้ต้องมีการปรับตัว เหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน บรรยากาศการค้าโลกชะลอตัวส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยสหรัฐได้เริ่มขึ้นภาษีนำเข้า 10% จากสินค้าจากจีน มูลค่ากว่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรก ปี 2561 เป็นต้นมา และล่าสุดได้ประกาศเพิ่มอัตราภาษีเป็น 25% เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา และสหรัฐยังอาจจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าอีก 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนได้มีมาตรการตอบโต้ โดยมีการประกาศขึ้นภาษี 15-25% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เช่น ผลไม้ เนื้อหมู ชีส และไวน์ บนมูลค่าการนำเข้า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งได้ตอบโต้สหรัฐรอบล่าสุดโดยขึ้นภาษีอีก 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 5,140 รายการ จะมีผลในเดือนมิถุนายนนี้ ดังนั้น แรงกดดันต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังมีและการส่งออกน่าจะยังชะลอตัวลงต่อเนื่อง

หั่นจีดีพีโลกโตต่ำรอบ10ปี

Advertisement

จนล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ต้องปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 3.3% ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นระดับการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และยังเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ของปีหลังจากได้ปรับคาดการณ์จีดีพีในช่วงเดือนมกราคาลงมาที่ 3.5% จากคาดการณ์เดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 3.7% ขณะที่ปริมาณการค้าโลกปรับลดลงมาที่ 3.4% จาก 4.0% ช่วงเดือนมกราคมที่ทรงตัวเท่ากับเดือนตุลาคม 2561 ที่ 4.0%

ผลการค้าและเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวกระทบมูลค่าการส่งออกในทุกประเทศปรับลดลงจนไปถึงระดับติดลบ หากเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561 ทั้งนี้ สถานการณ์การค้าที่หลายฝ่ายคาดว่าจะคลี่คลายและหาทางออกได้กลับเข้มงวดขึ้น สหรัฐและจีนเปิดฉากตอบโต้ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันเพื่อกีดกันทางการค้าอีกระลอก

มูลค่าส่งออกติดลบ

Advertisement

มาที่ภาพเศรษฐกิจไทยแม้มีภาพที่สดใสมาในช่วงก่อนหน้าแต่ก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้า เห็นสัญญาณการส่งออกสินค้าชะลอตัวตั้งแต่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 ต่อเนื่องมาในปี 2562 ซึ่งภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนในจีดีพีไทยสัดส่วนหลักถึง 70% หากการส่งออกลดลงจะมีผลต่อจีดีพีค่อนข้างมาก โดยข้อมูลเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น จากรายงานมูลค่าการส่งออก ไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) 2562 ของกระทรวงพาณิชย์ ติดลบ 1.64% มูลค่า 61,987 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานมูลค่าการส่งออก ไตรมาสแรก 2562 ติดลบ 3.6% มูลค่าการส่งออก 60,221 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่น จากภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากกรณีเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวไทยให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งนักเที่ยวชาวจีนที่ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย แม้ว่าจะทยอยกลับมาแล้วแต่อัตราการเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากฐานที่สูง ด้านการบริโภคยังขยายตัวได้ แต่มีแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยมีการกำหนดที่เข้มงวด (มาตรการแอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ ส่วนการลงทุนเอกชน นักลงทุนยังรอความชัดเจนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าจะผ่านช่วงการเลือกตั้งมาแล้ว ยังต้องติดตามการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องที่เอกชนและนักลงทุนจับตาคือทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้จะมีความต่อเนื่องหรือไม่

จับตารายงานจีดีพีQ1/62

แม้ว่าจะมีการรายงานตัวเลขดัชนีประกอบเบื้องต้นออกมา แต่จีดีพีไตรมาสแรก 2562 จะออกมาระดับใด ต้องรอตัวเลขอย่างเป็นทางการ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) ที่จะมีการรายงาน ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ โดยถือเป็นตัวเลขที่สำนักเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างจับตาและลุ้นตัวเลขที่จะออกมา เพราะจีดีพี ไตรมาสแรก 2562 จะเป็นไกด์ไลน์แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 ว่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างไร ท่ามกลางการชะลอตัวการค้าและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลมีเสถียรภาพหรือไม่

ก่อนหน้านี้ ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ประเมินจีดีพีปี 2562 กรณีฐานจะเติบโตระดับ 4.0% หรือในกรอบประมาณการ 3.5-4.5% แรงหนุนสำคัญจากการใช้จ่ายครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดียังสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการเพิ่มขึ้นของการผลิต และการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวมไปถึงการเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐตามความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งตัวเลขนี้ก่อนการเลือกตั้งและยังไม่ได้รวมผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น จึงต้องติดตามว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกจะออกมาเป็นอย่างไร และ สศช.จะมีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงหรือไม่ ซึ่งกรอบล่างจีดีพี สศช. ประเมินไว้อยู่ที่ราว 3.5%

คาดไตรมาสแรกโตแค่3%

มุมมองของนักวิเคราะห์เศรษฐกิจประเมินว่าผลกระทบจากการส่งออกที่เกิดขึ้น จะมีผลต่อการเติบโตจีดีพี โดย จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินจีดีพี ไตรมาสแรก 2562 อยู่ที่ 2.8% หรือเติบโต 0.8% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เนื่องจากไตรมาสนี้การส่งออกชะลอตัว ขณะที่การบริโภคเอกชนไม่ได้เร่งตัวดีมากนัก เช่นเดียวกับการลงทุนเอกชนที่รอความชัดเจนการเลือกตั้งก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขจะออกมาขยายตัวไม่มากนัก แต่เป็นไปตามทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีการเติบโตชะลอลงเช่นกัน และประเมินว่าในช่วงอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะต่อยอดปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ความหวังเศรษฐกิจ คือ ช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อย เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ คาดว่าจีดีพีไตรมาสแรก 2562 อยู่ที่ 3.0% หรือเติบโต 1.0% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ซึ่งความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าทำให้ภาคการส่งออกชะลอตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ยังต่อเนื่องมายังไตรมาสแรกของปีนี้ และความว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจตลอดทั้งปี ซึ่งไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตและซัพพลายเชนของจีน อาจจะได้รับผลกระทบเชื่อมโยงมา ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศมากน้อยเพียงใด การท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ ส่วนการบริโภคแม้มีการขยายตัวแต่มีแรงกดดันหนี้ครัวเรือนสูงที่จะจำกัดการบริโภคใหม่ ขณะที่การลงทุนภาครัฐน่าจะเดินหน้าต่อได้ และหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วเสร็จ เชื่อว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวออกมา

ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประมาณการว่า จีดีพีไตรมาสแรก 2562 น่าจะอยู่ที่ 3.1% หรือราว 1.3% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อการเติบโตยังเป็นด้านการบริโภคภาคเอกชนจากกลุ่มรถยนต์เป็นหลัก ส่วนการลงทุนภาครัฐยังล่าช้า มีตัวประคองคือการใช้จ่ายของรัฐบาลที่น่าจะเร่งขึ้นตามงบโอนด้านสวัสดิการ ด้านส่งออกติดลบและการท่องเที่ยวก็แผ่วลงมาก

ทั้งนี้ กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า จีดีพี ไตรมาสแรก 2562 น่าจะอยู่ที่ 3.2% หรือราว 1.5% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะฟื้นตัวดีขึ้นหรือไม่ เพราะในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกอาจจะติดลบ หรือเติบโต 0% ซึ่งหากการส่งออกไม่ฟื้นตัวจะมีผลต่อประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีนี้

ธนาคารโลกห่วงลงทุนชะลอ

นอกจากนี้ เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก ให้มุมมองว่าตามประมาณการจีดีพีทั้งปีที่ 3.8% จีดีพี ไตรมาสแรก 2562 ควรจะใกล้เคียง 3.5% เท่าที่ติดตามข้อมูลการส่งออก การบริโภคมีความเป็นไปได้ยากที่จะถึง 3.5% ซึ่งความเสี่ยงสำคัญ คือ สงครามการค้า ที่ทำให้ภาพรวมการค้าโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น หลังจากที่สหรัฐและจีนมีมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันรอบล่าสุด ถ้าย้อนไปดูผลกระทบสงครามการค้าในอดีตจะพบว่ามีผลกระทบจริง โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลก ผลกระทบจะมากที่สุดกรณีที่สงครามการค้ากระทบให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง จะมีผลต่อเศรษฐกิจเอเชียเพราะจีนถือเป็นคู่ค้าสำคัญในเอเชีย

ทั้งนี้ หากสหรัฐชะลอตัวพร้อมกันก็จะยิ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมเช่นกัน สำหรับเศรษฐกิจจีน ธนาคารโลกคาดการณ์จีดีพีเติบโต 6% เป็นการชะลอตัวที่ไม่ได้รุนแรงมาก ค่อยเป็นค่อยไป ประเมินผลกระทบอาจจะไม่แย่อย่างที่เคยคาดไว้ แต่ความไม่แน่นอนที่ยังมีสูงจะเป็นความเสี่ยงให้นักลงทุนกังวลและการลงทุนเอกชนชะลอลงไป ขณะนี้เท่าที่ติดตาม สำหรับจีนยังไม่เห็นว่าสงครามการค้ากระทบต่อการลงทุนเอกชนชัดเจน ส่วนในไทยตัวเลขการลงทุนเอกชนปีนี้ไม่ได้เติบโตเร็ว เท่ากับช่วงปลายปี 2561 ซึ่งขณะนี้การลงทุนเอกชนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะหากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลต่อการเดินหน้าลงทุน การขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ได้หรือไม่ เอกชนจะได้รับความชัดเจนหรือไม่ เอกชนจะเข้ามาร่วมลงทุนหรือไม่ ความล่าช้าจัดตั้งรัฐบาลและความต่อเนื่องรัฐบาล อาจจะส่งผลต่อการลงทุนรัฐล่าช้า

พาเหรดลดเป้าส่งออก-จีดีพี

ฟากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ให้ความเห็นเองว่า จะมีการปรับจีดีพี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2562 วันที่ 26 เดือนมิถุนายน ซึ่งการส่งออกและจีดีพี มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 3.0% และ 3.8% ตามลำดับ ซึ่ง ธปท.จะประเมินผลกระทบต่างๆ ทั้งบรรยากาศทางการค้าที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า และแนวโน้มการกัดกันทางการค้าสหรัฐและจีนที่มากขึ้น ถือเป็นความไม่แน่นอนที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ต้องติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพราะไทยเป็นประเทศส่งออก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยอมรับว่ามีทั้งผลบวกและผลเสียกับธุรกิจและอุตสาหกรรมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการเป็นซับพลายเชน หรือการเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ผลจากสงครามการค้าที่กระทบต่อการส่งออกแล้ว ความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นอาจกระทบกับการตัดสินใจลงทุนของเอกชนได้ โดย ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ขยายรายละเอียดว่า การส่งออกช่วงไตรมาสแรก 2562 ติดลบ เป็นเรื่องที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ แต่เป็นการติดลบมากกว่าที่คาด ซึ่งแนวโน้มมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะยังติดลบต่อเนื่อง และเป็นไปได้ว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีจะต่ำกว่า 3% ซึ่งภายใต้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนมิถุนายน คาดจีดีพีไตรมาสแรกโต 3.4% ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ธปท. คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3% เป็นไตรมาสที่ขยายตัวต่ำที่สุดในปีนี้ ทำให้ครึ่งปีแรกต้องขยายตัวราว 3.1-3.2% ส่วนครึ่งปีหลัง ธปท. คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวดีขึ้นระดับ 4%

ทั้งนี้ หาก ธปท. มีการปรับลดคาดการ์ส่งออกและจีดีพีลงจะเป็นครั้งที่สองต่อเนื่องในรอบปี 2562 ทั้งนี้ หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคารต่างๆ เตรียมปรับตัวเลขส่งออกและจีดีพีปี 2562 หลังรายงานของ สศช. เช่นเดียวกับธนาคารโลกที่จะปรับตัวเลขใหม่ในเดือนกรกฎาคม ปัจจุบันคาดจีดีพีไทยเติบโต 3.8% แต่ที่เห็นปรับลดลงมาแล้ว ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดจีดีพี 2562 มาอยู่ที่ 3.5% จากเดิม 3.8% โดยการส่งออกสินค้าเติบโตเพียง 0.5% จาก 3.9%

คลังมั่นใจได้เห็นจีดีพี3.8%

ด้านทีมเศรษฐกิจ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่าปี 2562 โตได้ 3.8% แม้ว่าจะมีหลายแห่งที่ปรับลดลงคาดการจีดีพีต่ำกว่านี้ ด้านสงครามการค้ากำลังเกิดขึ้นน่าจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่ออกนโยบายมาดูแล และบริการจัดการเศรษฐกิจของไทยให้โตเต็มศักยภาพ ไม่ควรปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นไปตามยถากรรม

ต้องรอลุ้นตัวรายงานตัวเลขจีดีพีที่ สศช. จะเปิดเผยออกมาว่าจะเป็นไปตามที่แต่ละฝ่ายประเมินกันไว้หรือไม่ ก่อนที่จะมีการนำมาปรับตัวเลขใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นไปในทิศทางเดียวกันหวังให้ รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะจัดตั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น พยุงเศรษฐกิจระยะยาว มีมาตรการรับมือสงครามการค้าอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง

ส่วนจะไหวไม่ไหว….ต้องวัดฝีมือรัฐบาลใหม่จะเจ๋งอย่างที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่ !!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image