เอกชนลุ้นฝีมือทีมศก.ใหม่ ชงสารพัดมาตรการกระตุ้น…ฝ่าวิกฤตโลก

การเมืองไทยในห้วงเวลานี้ หากติดตามด้วยใจระทึกจะรับรู้ได้ว่า…มันช่างระทึกแล้วระทึกอีก!! เพราะไล่ตั้งแต่ลุ้นวันเลือกตั้ง ลุ้นผลคะแนน จนถึงวันนี้แม้ที่ประชุมรัฐสภาจะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนแล้ว แต่โผการจัดตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังมีการเจรจาต่อรอง มีประเด็นแย่งเก้าอี้เกิดขึ้นรายวัน

จับเข่าคุยกับภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ถึงสถานการณ์การเมืองไทยที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของประเทศ ต่างมีอาการกล้ำกลืนกันถ้วนหน้า เสียงเรียกร้องเดียวที่ภาคเอกชนคาดหวังให้เกิดขึ้นโดยเร็วในเวลานี้ คืออยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุุด

กกร.หวังรบ.ใหม่กระตุ้นศก.

อย่างการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย นัดล่าสุดต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีมติเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วเช่นกัน โดย สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องว่า หลังจากรัฐบาลใหม่จัดตั้งได้แล้ว ภาคเอกชนต้องการให้เร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และย้ำว่ารัฐบาลต้องใช้มาตรการยาแรงเร่งให้ประชาชนที่มีเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะมาตรการทางด้านภาษี อาทิ มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์, ช้อปช่วยชาติ, เพิ่มมูลค่าราคาสินค้าเกษตร และมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี

Advertisement

เช่นเดียวกับ กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาลชุดใหม่ให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือการเร่งผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์และต้องการความต่อเนื่อง อาทิ การจูงใจให้มีการจับจ่ายใช้สอย โดยการนำมาตรการทางภาษีเข้ามาช่วย, โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี), โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และการขยายเส้นทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

หวั่นกระทบเบิกจ่ายงบ63

ที่ประชุม กกร.ยังประเมินเศรษฐกิจไทยว่าจะมีการปรับตัวเลขประมาณการลดลงในเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากเริ่มเห็นการส่งออกไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบ 1.9% และมีสัญญาณลบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังยืดเยื้อ ดังนั้นเดือนมิถุนายนจึงยังคงตัวเลขเศรษฐกิจทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ไว้ที่ 3.7-4% และตัวเลขการส่งออกไว้ที่ 3-5% ดังเดิม จากทิศทางดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ กกร.ต้องการให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็วเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่กำลังถดถอย

Advertisement

นอกจากนี้ กกร.ยังยอมรับว่าปัจจัยการเมืองในประเทศที่การจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าอาจส่งผลต่อการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ให้ล่าช้าออกไปด้วย ประเด็นนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังให้ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ จึงคาดหวังว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศจะมีความชัดเจนโดยเร็ว และมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเพื่อประคองเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น

ยื่นสมุดปกขาวกกร.ปลายมิ.ย.

ขณะที่ ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มีข้อสรุปว่า ปลายเดือนมิถุนายนนี้ กกร.เตรียมยื่นสมุดปกขาวที่รวบรวมข้อเสนอจากสมาคมธนาคารไทย จาก ส.อ.ท.และจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

“เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้เติบโต 2.8% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี 3 เดือนหรือ 17 ไตรมาส ซึ่งขณะนี้ส่งออกมีทิศทางจะลดลงจากผลกระทบสงครามการค้า แต่จีดีพีไทยส่วนหนึ่งพึ่งพิงส่งออกย่อมได้รับผลกระทบแต่อาจจะไม่มากเพราะมีเรื่องการท่องเที่ยวและลงทุนมาหนุน” ประธานสมาคมธนาคารไทยแสดงความเห็น

สมุดปกขาวส.อ.ท.ดูแลเอสเอ็มอี

สำหรับสมุดขาวในนาม กกร.นั้นได้รับการยืนยันว่าจะนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ทันที ปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรวม จัดหมวดหมู่ข้อเสนอ จึงคาดว่าจะเสร็จประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้ ขณะเดียวกัน กกร.จะขอให้รัฐบาลจัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม พิจารณารายละเอียดของร่างสมุดปกขาว เบื้องต้นในส่วนของ ส.อ.ท.พบว่า เสนอให้ภาครัฐดำเนินการ 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐ และเร่งการพัฒนา Ease of Doing Business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) ของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงปรับวิธีการบริหารศูนย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีของภาครัฐ 2.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย โดยการตั้งกองทุนนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอี วงเงิน 1,000 ล้านบาท และการตั้งศูนย์บิ๊กดาต้าภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 3.ยกระดับเอสเอ็มอีและส่งเสริมสินค้าไทย หรือเมดอินไทยแลนด์ และยกระดับสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล จัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือเอสเอ็มอี วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการซื้อสินค้าเมดอินไทยแลนด์ รวมทั้งส่งเสริมการตลาด ด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ และภาครัฐเพิ่มวงเงินจัดซื้อสินค้านวัตกรรม

4.เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยรัฐจัดให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและปฏิรูปบุคลากรภาครัฐ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม 5.ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ

ขณะเดียวกันในสมุดปกขาว ส.อ.ท.อยากต้องการให้ภาครัฐฟื้นการประชุม กรอ.อย่างจริงจัง โดยเสนอ 3 เรื่องหลักคือ 1.จัดการประชุม กรอ.ส่วนกลางจำนวน 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ และให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงาน และเอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับภาครัฐให้มีความคล่องตัว พัฒนาวิธีการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนให้สะดวกยิ่งขึ้น

2.ผลักดันผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุม กรอ.จังหวัดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อให้สถาบันภาคเอกชนทั่วประเทศมีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น จากการสะท้อนปัญหาและความต้องการของภาคเอกชนในพื้นที่ และ 3.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเข้าไปทำงานร่วมกับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง

วอนตั้งกองทุนนวัตกรรมพันล้าน

ประเด็นเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยในส่วนของเอสเอ็มอีนั้น ในมุมของ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอี วงเงิน 1,000 ล้านบาท ลักษณะระดมเงินทุนจากภาคเอกชนด้วยกันเอง แต่ต้องการให้ภาครัฐคือกรมสรรพากร สนับสนุนด้านภาษีให้ผู้บริจาคเงินสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า เพราะปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมแต่ขาดเงินทุนในการดำเนินงานในต่างประเทศ ส.อ.ท.จึงมองว่าควรมีกองทุนที่มาร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ถึงแม้ปัจจุบันจะมีกองทุนที่ร่วมลงทุนอยู่จำนวนมากแล้วก็ตาม แต่พบว่าเป็นกองทุนปิดที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนได้

อีกประเด็นสำคัญที่ ส.อ.ท.อยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลือ คือการขอรับการสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือเมดอินไทยแลนด์ ที่ผลิตโดยเอสเอ็มอีไทย โดยต้องการให้ภาครัฐเป็นผู้นำร่องการใช้อย่างเข้มข้น รวมทั้งยกมาตรฐานสินค้าของเอสเอ็มอี ประชาสัมพันธ์สินค้าไทย เพราะการสนับสนุนสินค้าไทยจะช่วยสร้างโอกาส สร้างตลาด และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตัวอย่างหลายประเทศ อาทิ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวันและญี่ปุ่น ต่างมีมาตรการสนับสนุนสินค้าในประเทศ อย่างกรณีรถไฟฟ้าของจีน ที่ได้นำเทคโนโลยีของเยอรมันเข้ามาเป็นต้นแบบ เมื่อรัฐให้การสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้าทั้งประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตในจีน สามารถต่อยอดเทคโนโลยีของตัวเองได้ และได้กลายเป็นผู้ส่งออกรถไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นพบว่าภาครัฐและเอกชนช่วยซื้อรถยนต์ที่ผลิตในประเทศจนค่ายรถยนต์ทั้งสองมีความแข็งแกร่งจนเป็นผู้ส่งออกชั้นนำของโลก

หอการค้าฯแนะกระตุ้นศก.

ฟากหอการค้าไทย ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้มีจัดการประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ประจำปี 2562 เพื่อนำข้อสรุปประมวลในสมุดปกขาวของ กกร.เช่นกัน

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ข้อเสนอของหอการค้าภาค 5 ภาคผ่านสมุดปกขาวเพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาล เป็นการรวบรวมข้อเสนอจากภาคเอกชนในประเด็นปัญหาอุปสรรคการทำธุรกิจในพื้นที่ต่างๆ ควรมีการปรับปรุงอย่างไร แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจในพื้นที่ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาการค้าชายแดน การเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ของประเทศจะช่วยหนุนการค้าและการลงทุนได้

“หากรัฐบาลมีการหยิบยกข้อเสนอของเอกชนมาดำเนินการ จะส่งผลดีทางจิตวิทยาประชาชนในพื้นที่เพราะถือว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ จะสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจและลงทุนจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะต่อไป รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจราว 1 หมื่นล้านบาท จะมีผลต่อจีดีพีให้เพิ่มขึ้นราว 0.04-0.06% หรือหากมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามามากกว่านี้จะมีผลต่อจีดีพีให้ขยายตัวมากขึ้นกว่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้การเมืองที่มีเสถียรภาพและสถานการณ์สงครามการค้าไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ เพราะหากทั้งสองปัจจัยไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่วางไว้จะมีผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงได้” ธนวรรธน์กล่าว

5ภาควอนพัฒนาพื้นที่

ด้านวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ สรุปข้อเสนอของภาคเหนือว่า ข้อเสนอประกอบด้วย การแก้ไขในเรื่องของสภาพอากาศที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนและภาคการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล พัฒนาเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ฐาน อาทิ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่แห่งที่ 2 ขยายช่องจราจรถนน และอยากเสนอให้มีเลขาธิการเขตเศรษฐกิจพิเศษของภาคเหนือเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อผลักดันดำเนินโครงการจากปัจจุบันอิงกับผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหลัก

ขณะที่ สวาท ธีระรัตนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางราง ทางถนน และทางอากาศ เพื่อเชื่อมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับอีอีซี และประเทศเพื่อนบ้าน และอยากให้ภาครัฐควรช่วยเหลือในเรื่องการเข้าถึงแหล่ง

เงินทุน พัฒนาการผลิต รวมถึงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เน้นในเรื่องของการค้าการลงทุน และการค้าชายแดน

ในส่วนของ จิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง เสนอว่า นโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจ อาทิ เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ควรหาวิธีดูแลประชาชนเพิ่มนอกเหนือจากบัตรคนจน ส่งเสริมการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว

ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก ระบุว่า ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยและภาษีที่ดินให้กับผู้ประกอบการอย่างเสมอภาคทั้งรายเล็กและรายใหญ่ กระจายรายได้โดยการจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดมากขึ้น ควรเพิ่มการประกันราคาสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคง ส่วนการช่วยเหลือด้านรายได้ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจรเพื่อกระจายได้รายไปสู่ชุมชน และส่งเสริมบริษัทขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนในการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพื่อให้มีศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ ต้องการให้พัฒนาการศึกษาในพื้นที่อีอีซี

ด้าน วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า อยากให้มีการอนุมัติงบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้กับพื้นที่ภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณแม้ว่าจะเสนอกับทางรัฐบาลมาตลอดส่งผลต่อประสิทธิภาพการแข่งขันพื้นที่ภาคใต้ โดยต้องเร่งพัฒนารถไฟฟ้าชุมพร-ระนอง มีการเร่งรัดการก่อสร้างสนามบินภูเก็ต 2 ในจังหวัดพังงา และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องส่งเสริมการค้าและท่องเที่ยวชุมชน อาทิ ไทยแลนด์ริเวียร่า 3 ภาค 12 จังหวัด จัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรชายแดนสุไหงโก-ลก ปลดล็อกแก้ไขกฎหมายการขออนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปปาล์มขนาดเล็กได้ สนับสนุนการค้าบี100 อย่างถูกต้องและสามารถทำได้ทุกคน

จากข้อเสนอเบื้องต้นของเอกชน แน่นอนต่างมีความคาดหวังกับการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ คาดหวังกับทีมเศรษฐกิจที่เตรียมเข้าบริหารประเทศ เพียงแต่ตอนนี้ทำได้เพียงนับถอยหลังวันที่รัฐบาลชุดนี้มีความชัดเจน เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ เพราะยิ่งเสียเวลาไปกับการต่อรองเก้าอี้มากเท่าไร ปมปัญหาเศรษฐกิจของไทยท่ามกลางสารพัดวิกฤต …ก็จะพอกพูนขึ้นเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image