ระทึก! งบ ’63 ล่าช้า-ฉุดจีดีพี ปีนี้เหลือ 3% ลุ้น รบ.อัดฉีด 1 แสนล้าน ต่อลมหายใจ ศก.

งานด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาลุยเป็นงานแรกคงหนีไม่พ้นผลักดันงบประมาณประจำปี 2563 ปกติในช่วงนี้งบประมาณประจำปีต้องอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันต้นปีงบประมาณ วันที่ 1 ตุลาคมปีนี้ แต่จากการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้กระบวนการงบประมาณล่าช้ากว่ากำหนด 3 เดือน คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 งบประมาณล่าช้าสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้งบลงทุนไม่สามารถเบิกได้ตามแผน โครงการลงทุนไม่ต่อเนื่อง

จับตารัฐบาลใหม่รื้อไส้ในงบ

รัฐบาลใหม่คาดว่าจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม น่าจะเข้ามาเร่งรื้อไส้ในงบเพื่อให้ตรงกับนโยบายรัฐบาลใหม่ และให้สอดคล้องกับนโยบายหาเสียงที่สัญญาไว้กับประชาชน โดยคาดว่ากรอบงบประมาณ 2563 ที่รัฐบาลเก่าเห็นชอบไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท อาจไม่ปรับแก้ เพราะหากปรับแก้ต้องนับหนึ่งใหม่ จะยิ่งทำให้การนำงบมาใช้ล่าช้าไปอีก

ทั้งนี้งบประมาณประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท กำหนดรายจ่ายต่างๆ ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2.35 ล้านล้านบาท, รายจ่ายลงทุน 6.91 แสนล้านบาท, รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.76 หมื่นล้านบาท, รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 6.27 หมื่นล้านบาท

Advertisement

งบที่ไม่สามารถรื้อได้คือ เงินเดือนข้าราชการ และงบลงทุนที่ลงนามสัญญาไว้แล้วส่วนงบที่สามารถรื้อได้เป็นงบในนโยบายสวัสดิการต่อเนื่อง เช่น เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี เบี้ยคนชรา งบบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีรัฐบาลไหนไปรื้อ ส่วนงบลงทุน 6.91 แสนล้านบาท อาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวง

เบิกจ่ายเงินเดือนขรก.ไม่สะดุด

ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ปรับปฏิทินงบประมาณใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลทบทวน เพิ่มเติม โดยกำหนดให้ยืนยันคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณภายในเดือนกรกฎาคม 2562 หลังจากนั้นเสนอต่อสภา วาระที่ 1 ช่วงปลายเดือนกันยายน 2562 และสภาพิจารณาวาระที่ 2-3 ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 ก่อนเสนอให้วุฒิสภากลางเดือนธันวาคม 2562 จากนั้นจึงนำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

Advertisement

ในระหว่างรองบประมาณใหม่ หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของงบประจำ โดยเฉพาะเงินเดือนข้าราชการกว่า 2 ล้านคน ใช้เงินปีละกว่า 6 แสนล้านบาทได้ตามเดิม เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐปี 2561 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ปี 2561 ระบุว่า ถ้างบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ทัน ให้ใช้งบประมาณรายจ่ายปีก่อนหน้าได้ ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังสามารถใช้งบประมาณปี 2563 โดยอิงงบปี 2562 ไปก่อน

ส่วนงบลงทุนที่มีการทำสัญญาผูกพันไว้แล้ว งบสวัสดิการต่อเนื่อง งบสวัสดิการคนจน สามารถเบิกจ่ายต่อไปได้ โดยสามารถเบิกจ่ายไม่เกิน 50% ของงบประมาณปี 2562 ส่วนโครงการลงทุนที่ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพัน ต้องรอให้งบประมาณใหม่มีผลก่อนจึงจะเริ่มเบิกจ่ายได้

ทั้งนี้สำนักงบประมาณต้องออกระเบียบเรื่องการใช้งบประมาณ หลังจากนั้นกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินตามโครงการต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อช่วงปี 2557 จากเหตุวุ่นวายทางการเมือง และรัฐประหาร มีการเตรียมพร้อมกรณีงบประมาณไม่ทันไว้แล้ว ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ น่าจะคุ้นชินระดับหนึ่ง

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า งบประมาณปี 2563 ล่าช้าอาจกระทบกับเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีบ้าง แต่จะมากหรือน้อยต้องรอดูช่วงสิ้นปี 2562 โดยยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ทั้งนี้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณต้องออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายเงินตามโครงการต่างๆ ได้ต่อไป ที่ผ่านมาการออกหลักเกณฑ์งบรายจ่ายประจำปีในกรณีงบล่าช้า จะสามารถเบิกจ่ายได้ 3 ส่วนต่อไป คือ งบรายจ่ายประจำปี งบรายจ่ายลงทุนปีก่อนหน้าที่มีการก่อหนี้ผูกพัน และโครงการที่มีการก่อหนี้ผูกพันจากปีก่อนหน้า

ในช่วงในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ งบรายจ่ายประจำปีจะถูกเบิกจ่ายประมาณ 90% ที่เหลือเป็นงบลงทุนที่ผูกพันมาก่อนหน้า ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร

เงินลงทุนหาย 8 หมื่นล้าน

กระทรวงการคลังประเมินว่าผลจากการจัดทำงบประมาณปี 2563 ไม่ทัน 1 ตุลาคม ทำให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐที่เตรียมเบิกจ่ายในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562 หายไปประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ย่อมสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเงินลงทุนรัฐบาลถือเป็นพระเอกในระบบเศรษฐกิจในช่วงที่การส่งออกมีปัญหา และเอกชนยังไม่ยอมลงทุนเต็มที่

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากงบลงทุนใหม่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม-ธันวาคม 2562) ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงไม่นิ่งนอนใจ ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายที่พอทำได้ อาทิ สัมมนาเร่งรัดไตรมาสแรก รวมถึงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใส่ลงไป เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจในปีนี้เติบโตได้

นายลวรณคาดว่า รัฐบาลใหม่จะยืนกรอบงบประมาณปี 2563 ที่กำหนดงบประมาณรายจ่ายไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ถ้าจะมีการปรับเพิ่มงบประมาณสามารถจัดทำงบกลางปีได้ โดยงบกลางปีจะทำได้หากการจัดเก็บรายได้รัฐบาลมีแนวโน้มเกินกว่าเป้าหมายวางไว้ โดยงบกลางปีเริ่มจัดทำในช่วงเดือนมกราคม 2563 นอกจากนี้หากรัฐบาลใหม่ต้องการใช้งบเพิ่มสามารถเพิ่มในปีงบประมาณ 2564 เริ่มจัดทำช่วงปลายปี 2562

ชงรัฐบาลใหม่อัด1แสนล.อุ้มศก. 

เบื้องต้นกระทรวงการคลังนำนโยบายหาเสียงรัฐบาลใหม่ 8-9 มาตรการมาวิเคราะห์ เพื่อประเมินถึงงบประมาณต้องใช้ พบว่านโยบายที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ อาทิ สวัสดิการคนจน เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาท แจกคูปองซื้ออุปกรณ์ผู้สูงอายุ มารดาประชารัฐ ต้องใช้เงินเพิ่มเติมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยขณะนี้สำนักงบประมาณเตรียมพร้อมงบประมาณ 1 แสนล้านบาทไว้แล้ว

นายลวรณกล่าวต่อว่า เรื่องสวัสดิรัฐบาลชุดใหม่คงต้องรอรัฐบาลใหม่สรุปอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน อาทิ ในเรื่องของเบี้ยผู้สูงอายุหาเสียงไว้ว่าจะให้เดือนละ 1 พันบาท จากขณะนี้จ่ายเป็นขั้นบันไดตามอายุเดือนละ 600-1,000 บาท ดังนั้นต้องดูว่าให้เดือนละ 1 พันบาท ทุกคนหรือไม่ หรือให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ส่วนเรื่องการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% อาจหมายถึงขณะนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดเสียอยู่ 35% ลดลง 10% เหลือ 25% หรืออาจหมายถึงลดลง 10% ของภาษีที่เสียอยู่ในขั้นสูงสุดคือ 35% หรือลดลง 3.5% เหลือ 31.5% ตรงนี้เป็นรายละเอียดต้องหารือ

หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายรัฐบาลต่อสภาแล้ว ต้องติดตามว่านโยบายหาเสียงตัวไหนจะถูกนำมาบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาลบ้าง มีรายละเอียดแค่ไหน ในฐานะข้าราชการต้องวิเคราะห์นโยบายไว้เพื่อเสนอถึงข้อดีข้อเสียในแต่ละเรื่อง แต่ทำแบบไหน รัฐบาลใหม่ต้องตัดสินใจ

?นโยบายที่พรรคแกนนำรัฐบาลหาเสียงไว้ ส่วนหนึ่งน่าจะถูกแปลงมาเป็นนโยบายกระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจ ซึ่ง สศค.เองเตรียมมาตรการกระตุ้นไว้นำเสนอรัฐบาลเช่นกัน คงต้องแล้วแต่รัฐบาลใหม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ โดยมาตรการมีทั้งธรรมดา จนไปถึงยาแรง การนำมาใช้จะต้องดูภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วยว่าเป็นอย่างไร หากจะใช้ยาแรงเห็นผลเร็ว แต่ยาแรงจะมีต้นทุน และใช้เงินมาก ถ้านำมาใช้ไม่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มาตรการไม่ได้ผลมากนัก อาจทำให้การใช้งบประมาณไม่ได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ?

นายลวรณกล่าวต่อว่า สิ่งที่ สศค.อยากเห็นคือ มีการต่อยอดของเงิน เช่น รัฐให้ 100 บาท ประชาชนหรือเอกชนควักมาใช้เพิ่มเป็น 130 บาท เช่น แนวคิดแจกเงินท่องเที่ยวคนละ 1,500 บาท ครอบครัวมีพ่อแม่ได้เงินจากรัฐ 3,000 บาท ไปเที่ยวทั้งครอบครัว อาจต้องควักเงินมาใช้จ่ายเพิ่ม 5,000 พันบาท เพราะ 3,000 บาทอาจไม่พอ มาตรการในลักษณะนี้ทำให้ผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าการใส่เงินเข้าไปในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้ 100 บาทใช้ 100 บาท เพราะกลุ่มนี้ไม่มีกำลังในการจับจ่ายเพิ่ม

นายลวรณกล่าวว่า เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ เป็นส่วนหนึ่งช่วยดูแลเศษรฐกิจปลายปี ซึ่งกระทรวงการคลังยังคงเป้าเศรษฐกิจปีนี้ 3.8% ส่งออกเติบโต 3.4% จะสูงกว่าที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจปีนี้เติบโต 3.6% ส่งออกเติบโต 2.2% เนื่องจากกระทรวงการคลังประเมินตัวเลขไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ขอติดตามตัวเลขในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ก่อนปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

โดยเงินที่เข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจหลังจากมีรัฐบาลใหม่จะผลดีต่อเศรษฐกิจปลายปี ทุก 1 แสนล้านบาทของเงินรัฐบาลใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 0.3%

เอกชนห่วงงบล่าช้าฉุดศก.เหลือ3%

ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความเป็นห่วงว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ล่าช้าส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุน และกระทบเศรษฐกิจปีนี้

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มีความเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองในประเทศ และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ล่าช้าจะเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะขยายตัวชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้น หากทุกอย่างดีขึ้น ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศและมีการกระตุ้นจากภาครัฐ ทำให้เกิดแรงส่งต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงที่กำลังเผชิญกับภาวะสงครามการค้า

นายปรีดีกล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2562 สถานการณ์ต่างๆ บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหรัฐอาจจะขึ้นภาษีในสินค้าจีนล็อตที่เหลือ เมื่อประกอบกับภาพความซบเซาของการค้าโลก ทำให้การส่งออกของไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจนกระทั่งอาจจะไม่สามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ผลจากงบประมาณปี 2563 ล่าช้า และความไม่มั่นใจทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทีเอ็มบีประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้แค่ 3% ถือว่ามองต่ำกว่าที่อื่น เพราะเท่าที่ดูเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่โตได้เพียง 2.8% และคาดว่าไตรมาส 2 ไม่ต่างจากไตรมาสแรก ครึ่งปีหลังคาดว่าจะโตได้ไม่ถึง 4% ดังนั้นคิดว่าทั้งปีโตได้ 3% เป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว

นายนริศกล่าวว่า แม้จะมีรัฐบาลใหม่ และมีมาตรการกระตุ้นออกมา ต้องดูว่ามาตรการกระตุ้นนั้นช่วยหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังแจกเงินแบบเดิมๆ คงไม่สามารถกระตุ้นได้มาก โดยมองว่าสิ่งที่รัฐบาลยังไม่ค่อยให้ความสำคัญคือการกระตุ้นให้บริษัทใหญ่ควักเงินไปช่วยเอสเอ็มอี แม้จะมีโครงการพี่ช่วยน้องออกมา แต่ไม่ค่อยเห็นผลนัก โดยเอสเอ็มอีในไทยทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 22 ล้านคน ถ้าเอสเอ็มอีดีขึ้นทำให้การจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมดีขึ้น

คาดงบกระตุ้นเข้าระบบไตรมาส4

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า งบประมาณปี 2563 คาดว่าจะล่าช้า 1 ไตรมาส ส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลเพราะงบใหม่ๆ จะออกไม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้เพียง 3.5% จากกรอบ 3.5-3.8% ส่วนที่กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอรัฐบาลใหม่ 1 แสนล้านบาทนั้น คงต้องขอดูรายละเอียดของโครงการและการใช้งบประมาณก่อน

ทั้งนี้กว่ารัฐบาลใหม่จัดตั้งเสร็จ กว่าจะแถลงนโยบายต่อสภาคาดว่าจะประชุม ครม.นัดแรกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเร็วสุดคือกลางเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน ถือเป็นช่วงปลายไตรมาส 3 แล้ว ดังนั้นผลต่อเศรษฐกิจไตรมาส 3 คงไม่มากการหวังให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 โตจากการกระตุ้นภาครัฐไม่ได้ ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่น่าเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 เป็นต้นไป แต่มีปัญหางบประมาณปี 2563 ถ้าเป็นโครงการใหม่ๆ ยังไม่สามารถนำงบมาใช้ได้ เพราะต้องรอให้งบประมาณผ่านสภาก่อน ดังนั้นเงิน 1 แสนล้านบาทเตรียมไว้นั้น ต้องดูว่าเป็นจากแหล่งไหนถ้ามาจากงบประมาณต้องรอกระบวนการ โดยมาตรการกระตุ้นที่รัฐจะออกมาน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวถึง 3.8%

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยปีนี้คือเรื่องสงครามการค้า ถ้าโชคดีสงครามการค้าจบเร็วภายในเดือนมิถุนายนนี้ ในการพบปะกันของผู้นำสหรัฐและจีนในการประชุมจี 20 อาจทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวใกล้ 4%

งบประมาณที่ล่าช้ากลายเป็นหนึ่งในปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากก่อนนี้ไทยต้องเผชิญปัจจัยลบหลายเรื่องทั้งสงครามการค้าทำให้การส่งออกของไทยอยู่ในภาวะติดลบ ยิ่งการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ปัญหาแย่งชิงเก้าอี้ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้แย่เข้าไปอีก

จึงเห็นถึงความหวังหลายฝ่ายที่อยากเห็นรัฐบาลใหม่เข้ามาเร่งรัดงบประมาณ และใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อล้างภาพที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image