‘น้ำมันปาล์ม’ ป่วน ใครได้ใครเสีย!?

กลายเป็นดราม่าให้ผู้บริโภคต้องตกอกตกใจกันเบอร์ใหญ่ หลังจากมีการเผยแพร่รูป “ขอเปลี่ยนป้ายราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด (1 ลิตร)” ปรับขึ้นรวดเดียวถึง 10 บาท ผ่านทางโซเชียลมีเดีย พร้อมระบุเหตุผลเพื่อการสนับสนุนนโยบายของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

หลังจากนั้นเพียงวันเดียว วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ออกหนังสือชี้แจงว่า กรมไม่ได้มีคำสั่งให้ห้างปรับราคาน้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือให้ห้างสรรพสินค้ากำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ให้สอดคล้องกับต้นทุนและให้คำนึงถึงผลกระทบต่อราคาผลปาล์มที่เกษตรกรขายได้เท่านั้น

ก่อนหน้านั้น กรมได้เรียกผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต มาหารือและขอให้เลิกการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายและให้ขายในราคาปกติตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยติดตามจากสถานการณ์ราคาร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งบิ๊กซี เทสโก้โลตัส รวมทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เคยวางจำหน่าย 24-26 บาทต่อขวด (1ลิตร) มาอยู่ที่ 34-36 บาท

ราคานี้กรมระบุว่าเป็นราคาปกติควรจะเป็น และยังต่ำกว่าเพดานราคาแนะนำที่กำหนดไว้ไม่เกิน 42 บาท โดยอ้างในเรื่องนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรปลูกปาล์มและรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อลดปริมาณล้นตลาดและราคาตกต่ำให้ดีขึ้น และอ้างให้เห็นถึงการลดราคาสินค้าต่ำ อาจนำไปเป็นข้ออ้างของผู้ผลิตที่รับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรให้มีการราคาต่ำ

Advertisement

มาตรการต่างๆ ที่ทำกันอยู่ ทั้งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อเพื่อผลิตไฟฟ้า การนำไปใช้เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล บี 20 บี100 เป็นต้น เพิ่มมากขึ้น เหล่านี้เพื่อลดซัพพลายปาล์มน้ำมันให้ลดลง รัฐมองว่าเมื่อต้นปลายราคาขายสูง ต้นทางก็ต้องขายได้สูงตาม เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่ม ราคาปาล์มไม่มีตกต่ำอีก

ด้านค้าปลีกเมื่อหน่วยงานรัฐร้องขอโดยตรง ต่างก็ต้องตอบสนองให้ความรวมมือกันอย่างรวดเร็ว ไม่มีอิดออด แม้การแข่งขันในตลาดค้าปลีกรุนแรง จนต้องใช้วิธีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า

อีกนัยหนึ่งคือแต่ละผู้ผลิตแต่ละรายก็มีการแข่งขันกันเองด้วย ทำให้มีโปรโมชั่นราคาถูกออกมา เพราะหากสามารถดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาซื้อสินค้าได้ ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าไม่ได้มาซื้อแค่สินค้าชิ้นเดียวเท่านั้น มีโอกาสจะเลือกซื้อสินค้าอื่นเพิ่มทำให้มีกำไรเพิ่มชดเชย แต่ที่ทำได้เพราะต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดก่อนหน้านี้มีต้นทุนต่ำ แต่ปัจจุบันต้นทุนเริ่มขยับขึ้นมาแล้ว

Advertisement

หากดูเส้นทางน้ำมันปาล์มขวดที่เราบริโภคกันอยู่ ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมนี้ เริ่มต้นจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ขายผลผลิตปาล์ม หรือเรียกว่า ปาล์มน้ำมันทะลาย จากนั้นโรงสกัดน้ำมันจะสกัดน้ำมันออกมาเป็นน้ำมันเมล็ดในปาล์ม และน้ำมันปาล์มดิบ

ส่วนนี้นี่เอง โรงสกัดน้ำมันปาล์มจะขายต่อไปยังโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม หรือก็คือผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม

เมื่อมาถึงโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม น้ำมันปาล์มดิบที่ผ่านกระบวนการผลิต ส่วนหนึ่งออกมาเป็นกรดไขมันปาล์ม นำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น โรงงานไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเคมี อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสัดส่วนหลัก คือ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ สามารถแยกได้เป็น ไขปาล์มบริสุทธิ์และน้ำมันปาล์มโอเอลีน

ไขปาล์มบริสุทธิ์ สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมครีมเทียม สบู่ และอาหารสัตว์ ส่วนน้ำมันปาล์มโอเอลีน เป็นน้ำมันปาล์มที่เราใช้บริโภคกัน และใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรโอเลโอมิคอล

สะท้อนมายังโครงสร้างต้นทุนน้ำมันปาล์มขวด จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อปาล์มน้ำมันทะลายจากเกษตรกร เมื่อโรงสกัดน้ำมันปาล์มสกัดน้ำมันออกมาเพื่อส่งต่อไปยังโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ผ่านกระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ก่อนส่งต่อยังผู้ค้าปลีก มีทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยการกำหนดราคาขายปลีกจะแตกต่างกันตามจำนวนคำสั่งซื้อบ้าง

ปัจจุบันราคารับซื้อปาล์มน้ำมันทะลายของโรงสกัดน้ำมันปาล์ม เดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาราคาตกต่ำลงไป 2 บาทต่อ กก.

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ราคารับซื้อปาล์มน้ำมันทะลายเฉลี่ยทั้งปีทั่วประเทศสูงสุดเมื่อปี 2554 อยู่ที่ 5.34 บาทต่อ กก. พบว่าช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ สูงถึง 7-8 บาทต่อ กก. เมื่อสกัดน้ำมันปาล์มดิบเพื่อส่งต่อไปยังโรงกลั่นน้ำมันปาล์มจากเดิมที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ราว 15-17 บาทต่อลิตร

ปัจจุบันขยับขึ้นมาราว 20 บาทต่อลิตร จากนั้นเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่าขณะนี้ต้นทุนส่งไปขายต่อยังผู้ค้าปลีกอยู่ที่ 20 กว่าบาทเกือบ 30 บาทแล้ว

แหล่งข่าวโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเล่าว่า สถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันทะลายเดิมเคยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 บาทต่อ กก. ในหลายปีก่อน แต่ลดลงเรื่อยจนต่ำกว่า 2 บาทต่อ กก. ชาวสวนปาล์มได้รับผลกระทบหนัก รายได้ที่เคยได้หายไปเกือบครึ่ง

จนกระทั่ง เมื่อ “รัฐบาลตู่1” ทุบโต๊ะ เร่งให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมอนุมัติ 4-5 แนวทางให้มีการลดปาล์มน้ำมันที่เกินต้องการกว่า 2-3 แสนตัน ให้ต้องเหลือต่ำกว่า 2 แสนตัน สมดุลกับปริมาณที่ต้องใช้ ต้องส่งออกและสต๊อกเพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร มีทั้งเร่งนำน้ำมันดิบไปผลิตพลังงานทดแทน เร่งส่งออก ในส่วนนี้ทำได้ยาก เพราะผู้ค้ารายใหญ่มาเลเซียและอินโดนีเซียราคายังต่ำ ตลาดโลกต้องการนำเข้าลดลง ราคาขึ้นก็แบบสวิงไม่หวือหวาและราคาสูงขึ้นไม่ยั่งยืน

จึงหันไปดูเรื่องการบริโภคในประเทศว่าจะทำอย่างไรให้มากขึ้น ไปสำรวจพบว่า ค้าปลีกเอาน้ำมันปาล์มเป็นตัวจูงใจผู้บริโภคเข้าห้าง ยอมขาดทุนบ้าง แต่หวังได้กำไรจากการค้าสินค้าอื่นๆ หักกลบลบกันก็จะได้กำไร เป็นการค้าปกติ และทำกับสินค้าหลัก อย่างน้ำตาลทราย ข้าวสารด้วย

“เมื่อคุมซัพพลายไปแล้ว ภาครัฐอยากให้สามารถรักษาเสถียรภาพระดับราคาปาล์มให้คงที่ระดับนี้ไปอีกระยะ จึงได้ไปขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต เลิกทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายดังกล่าว แต่การเลิกทำโปรโมชั่น

อาจมองว่าผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้กำไรเพิ่มขึ้นทันที 10 บาท แต่ความเป็นจริง สต๊อกน้ำมันปาล์มขวดต้นทุนเดิมเริ่มลดลงแล้ว เพราะทยอยขายไปก่อนหน้านี้ แต่อาจจะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างสต๊อกน้ำมันปาล์มทั้งสองล็อตอยู่

อย่างไรก็ดี สต๊อกใหม่ที่เข้ามาราคาต้นทุนสูงขึ้น กำไรจากต้นทุนใหม่จึงอาจจะไม่ได้มากนัก ในแง่การแข่งขัน หากผู้ค้าปลีกขายในราคาเท่าๆ กัน ก็ไม่มีใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน ผู้บริโภคซื้อของในราคาเท่าๆ กันเช่นกัน”

แล้ววิธีการแบบนี้ใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์!!

ในวงการค้าตั้งข้อสังเกตว่า มีการต่อรองของผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นช่องทางจัดจำหน่าย กดดันให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มให้ด้วยต้นทุนถูก เพราะหากไม่ขายถูก อาจจะไม่ได้พื้นที่วางบนชั้นที่ผู้บริโภคสังเกตเห็นง่ายและหยิบได้ง่าย จะให้พื้นที่ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายอื่นได้พื้นที่การวางสินค้ามากกว่า

หรือหากไม่ลดราคาส่ง อาจจะต่อรองให้แถมสินค้า เพื่อนำมาจัดโปรโมชั่นเอง

ส่วนประเด็นการค้าต่อผู้บริโภคหากราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้น อาจจะเปลี่ยนไปบริโภคอย่างอื่นแทน เมื่อขายไม่ได้ กลไกการตลาดก็จะทำงานให้มีการปรับลดราคาขายน้ำมันปาล์มลงมา ผลกระทบก็จะย้อนไปตามห่วงโซ่อุปทาน ถึงต้นน้ำอย่างเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มราคาก็จะตกลงในที่สุด

ธรรมชาติของการแข่งขันก็ต้องยอมหั่นเนื้อ แต่เมื่อรัฐขอความร่วมมือ เหมือนออกกติกาให้ทุกห้างต้องทำบนมาตรการเดียวกัน การได้เปรียบเสียเปรียบย่อมลดลง

แน่นอนว่าระยะสั้นนี้ ใครสต๊อกมากย่อมสร้างกำไรได้มาก เพราะมูลค่าตลาดปาล์มขวดนั้นเป็นหมื่นล้านบาท เมื่อขยับทันที 10 บาท หรือจากที่ขายกัน 23-24 บาทขยับเป็น 34-35 บาท หรือขยับถึง 40-50% กระเป๋าตุงกันถ้วนหน้า

คงต้องติดตามดูว่าวิธีการขอความร่วมมือห้ามห้างขายต่ำ ราคารับซื้อปาล์มจะขยับได้แค่ไหน เกษตรกรจะได้เม็ดเงินเต็มที่หรือไม่

แต่ก็คงไม่เท่ากับงานนี้ “ผู้บริโภค” รับเต็มๆ ราคาเพิ่มขึ้นแรงแบบนี้ กระทบจิตใจของผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจที่รู้กันอยู่ว่าไม่ได้สดใส และผู้บริโภคไม่อยากมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image