“ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ต้นแบบสมาร์ทซิตี้ หรือแค่ฝันลมๆ แล้งๆ

หลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) มีมติเห็นชอบการสร้าง “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) โดยจะนำเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ มาใช้พัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ตลอดจนยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (นิวเอสเคิร์ฟ ดิจิทัล อินดัสทรี)

กรุยทาง”อุตสาหกรรมดิจิทัล”

“ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล” หรือ “อีอีซีดี” ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เลือกใช้พื้นที่ร่วม 700 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นนำของอีอีซี ซึ่งมีความได้เปรียบ อาทิ ใกล้มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์ศรีราชา, มีโครงข่ายมหาวิทยาลัยที่จะมาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และจะมีสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล เข้ามาวิจัยพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการใน “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์”

แต่ก่อนจะจัดทำโครงการยิ่งใหญ่ระดับประเทศ มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (มาร์เก็ต ซาวดิ้ง) เพื่อหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศต่อไป ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจัดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีเอกชนร่วมรับฟังกว่า 50 บริษัท

Advertisement

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เผยว่า “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างสรรค์งานด้านดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ อาทิ แอพพลิเคชั่น ศูนย์บริการจัดเก็บข้อมูล (ดาต้าเซ็นเตอร์) นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะต่างๆ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมนักวิจัยจากทั่วโลก และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงกับทั้งอาเซียนได้

เปิดสูตรจูงใจ”นักลงทุน”

สำหรับผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม จะได้รับการสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้สามารถใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบอัตโนมัติในราคาที่เหมาะสมได้ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น เพื่อเปลี่ยนบทบาทการเป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี ให้เป็นประเทศผู้พัฒนานวัตกรรมดิจิทัล สร้างโอกาสในตลาดโลกและเป็นพื้นฐานรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ทั่วประเทศในอนาคต

Advertisement

“ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ยังเป็นแลนด์มาร์กที่มุ่งสร้างบุคลากรดิจิทัลให้เพียงพอและมีคุณภาพ รองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต ตลอดจนเป็นศูนย์กลางกำลังคนดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย” นายพิเชฐกล่าว

ส่วนผู้เข้าลงทุนพัฒนาพื้นที่ จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะทำให้ผู้พัฒนาพื้นที่และผู้มาลงทุนตั้งธุรกิจได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด และการขอใบอนุญาตด้านธุรกิจก็จะสะดวกรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่น เช่น การขอวีซ่าให้นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ สิทธิลดหย่อนภาษีให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอีอีซี เป็นต้น

กางไทม์ไลน์เกิด”เมืองต้นแบบ”

ด้วยแนวทางการพัฒนาโครงการที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลจากนักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการวิจัยพัฒนาในประเทศไทย ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีสู่คนไทย ตลอดจนหนุนระบบนิเวศในไทยให้พร้อมสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอนาคต จึงมีขั้นตอน คือ นำความคิดเห็นที่ได้จากการทำ “มาร์เก็ต ซาวดิ้ง” ไปจัดทำ “ร่างขอบเขตของงาน หรือทีโออาร์” เสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบ จากนั้นเข้าสู่เงื่อนเวลาเพื่อร่วมประมูลโครงการ ได้แก่ ออกทีโออาร์ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 ถัดมาเปิดให้ยื่นซองต้นเดือนมีนาคม 2562 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกและให้เสนอซองเทคนิคกลางเดือนมีนาคม 2562 จากนั้นประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลภายในเดือนเมษายน 2562 และเซ็นสัญญาจัดทำโครงการได้ในเดือนพฤษภาคม 2562

หลังเซ็นสัญญาจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี ก่อสร้างโครงการ เฟส 1 พื้นที่ 120 ไร่ หรือ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด 700 ไร่ และหากระหว่างก่อสร้างมีพื้นที่ที่ทำเสร็จก็สามารถเปิดขายได้ทันที ส่วนเฟส 2 จะพัฒนาพื้นที่ที่เหลือและเริ่มก่อสร้างหลังจากเฟส 1 ดำเนินการได้ 2 ปี โดยในส่วนของการลงทุนต้นแบบเมืองอัจฉริยะจะแยกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1.หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท จะเป็นผู้ลงทุนและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ได้แก่ ท่อและท่อย่อยที่ใช้วางเคเบิลใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก) ลงใต้ดิน ซึ่งการวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสง คาดว่า จะใช้เงินลงทุน 400-500 ล้านบาท

2.ประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เช่าหรือให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่โครงการ โดยให้เอกชนดำเนินโครงการและจะจัดหาเงินทุนซึ่งสามารถดำเนินโครงการตามที่ “แคท” เห็นสมควรได้

นายวงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท ระบุว่า ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ จะสร้างอาคารสูงหลายหลังเพื่อรองรับบริษัทดิจิทัลและสตาร์ตอัพเข้ามาเช่าพื้นที่ ซึ่งบริษัทด้านดิจิทัลส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ไม่มากและมีพนักงานจำนวนน้อย แต่ละอาคารจึงจะรองรับผู้ประกอบการได้มาก รวมทั้งจะมีห้องแล็บวิจัยพัฒนาดิจิทัล มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ทันสมัยและระบบเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาตั้งธุรกิจ ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมได้อีกมาก

สำหรับโมเดลรายได้ของ “แคท” จะมาจาก 1.ค่าเช่าพื้นที่ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ โดยค่าเช่าจะขึ้น 9% ทุก 3 ปี ตลอดอายุสัญญา 50 ปี และ 2.ส่วนแบ่งรายได้จากกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3% จะมาจากค่าเช่าช่วงที่ดินและค่าบริการสาธารณูปโภคจากภาคเอกชน ขณะที่ภาคเอกชนจะมีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ในโครงการและค่าบริการระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ใช่โทรคมนาคม

ทั้งนี้ เอกชนที่ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบงานออกแบบ ก่อสร้าง จัดหาแหล่งเงินทุน งานให้บริการ งานบำรุงรักษา ดูแลระบบสาธารณูปโภคหลัก ไปจนถึงการทำตลาดกับนักลงทุนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย

ไร้เงา”นักลงทุน”ยื่นซองร่วมทุน

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน เผยว่า “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาโดยตลอด มีเอกชนหลายรายได้ออกสำรวจสถานที่จริง และได้มีหนังสือสอบถามข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารคัดเลือกเอกชนมาหลายครั้ง ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกก็ได้ตอบข้อซักถามรวมถึงออกเอกสารแก้ไขข้อกำหนดให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ที่ผ่านมา “แคท” ได้ขายซองเทคนิคคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนในโครงการ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศสนใจซื้อซอง จํานวน 16 ราย และได้เปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ซึ่งพบว่า ไม่มีเอกชนรายใดยื่นซองขอเสนอจนสิ้นสุดเวลายื่นซอง

“กรณีที่ไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอรวมลงทุนในครั้งนี้เชื่อว่าไม่ใช่เพราะโครงการไม่น่าสนใจ แต่อาจเป็นเพราะยังมีข้อกำหนดบางข้อในร่างสัญญาร่วมลงทุนที่อาจเข้มงวดมากเกินไปสำหรับนักลงทุน”

นางสาวอัจฉรินทร์กล่าวอีกว่า คณะกรรมการกำหนดให้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้สนใจอีกครั้ง ถือเป็นการทำ “มาร์เก็ต ซาวดิ้ง รอบที่ 4” เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ณ อาคารสโมสร สำนักงานใหญ่แคท และจะพิจารณาแนวทางการปรับปรุงข้อกําหนดต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับได้ กับทั้งภาครัฐและเอกชน และจะนำความเห็นทั้งหมดมาพิจารณาทบทวนและปรับปรุง ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมความเห็นและออกร่างสัญญาใหม่ภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้สามารถเปิดขายซองเทคนิคภายในเดือนสิงหาคม และเริ่มประมูลช่วงเดือนตุลาคม 2562

“สำหรับเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีผู้สนใจร่วมโครงการ น่าจะมาจากการบังคับให้เอกชนจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 3% จากรายได้ไม่ใช่กำไร และให้ส่วนแบ่งที่จ่ายเท่ากันทุกปีตลอดการทำโครงการ 50 ปีจึงมองว่า เป็นตัวเลขที่มากเกินไป ขณะเดียวกันยังบังคับให้ทำโครงการเฟสแรก จำนวน 90,000 ตารางเมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งเร็วกว่าการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเสร็จภายใน 5 ปี รวมถึงค่าเช่าพื้นที่ที่ต้องจ่ายให้รัฐตั้งแต่ปีแรกด้วย”

นางสาวอัจฉรินทร์กล่าวว่า จึงจะมีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้มีความเหมาะสม เพราะรัฐไม่ต้องการแสวงหาผลกำไร แต่ต้องสร้างพื้นที่ให้เป็น “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้แก่ การยกเลิกส่วนแบ่งรายได้แบบคงที่ ให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น โดยเอกชนสามารถเสนอมาได้อย่างอิสระ อาจจะเป็น 0% ใน 5 ปีแรก และปีถัดๆ ไป ไม่จำเป็นตัองเท่ากันทุกปีก็ได้ โดยตัวเลขการคาดการณ์รายได้ในอนาคตเอกชนไม่ต้องกำหนดเท่ากันทุกปี และต้องจ่ายให้รัฐ 50% ของเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งรายได้ที่เสนอ

ส่วนค่าเช่า จะเว้นให้ 5 ปี และกำลังพิจารณาว่าจะแบ่งการจ่ายออกเป็น 10 หรือ 30 งวด ซึ่งค่าเช่าจะคิดในรูปแบบรัฐให้รัฐเช่า คือ 120 บาทต่อไร่ต่อปี ส่วนเรื่องการส่งมอบงานเฟสแรกจะขยายเป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่

“ก่อนหน้านี้ กระทรวงดีอีได้เดินสายโรดโชว์เชิญชวนเอกชนต่างชาติและมีความสนใจแล้วหลายบริษัท ซึ่งต่อไปกระทรวงดีอีจะช่วยเอกชนที่ชนะการประมูลออกโรดโชว์ช่วยหาลูกค้าเพิ่มด้วย จึงไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องนี้”

ให้เอกสิทธิ์”แคท”บานเบอะ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังตั้งข้อสังเกตถึงการขอสิทธิพิเศษของ “แคท” ด้วยว่า จะเป็นจุดหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจเข้ามาบริหารพื้นที่หรือไม่ ทั้งเรื่องการขอพื้นที่ 10 ไร่ ให้ “แคท” โดยเอกชนต้องดำเนินการสร้างอพาร์ตเมนต์ 70 ห้อง ให้พนักงานของ “แคท” เดิมมาอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และการสร้างใหม่ ล้วนเป็นต้นทุน แม้ว่า “แคท” จะเว้นการเก็บค่าเช่าที่กับเอกชนในพื้นที่ดังกล่าวก็ตาม แต่เอกชนก็ไม่สามารถเก็บค่าเช่าได้ ซึ่งไม่มีวิธีในการสร้างเม็ดเงินกลับคืนมา และยังใช้พื้นที่ในการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์เองอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการให้สิทธิ “แคท” เป็นผู้ทำท่อร้อยสาย และให้ผู้ให้บริการรายอื่นมาเช่าใช้, การที่มีพื้นที่อีกฝั่งหนึ่งโดนคั่นด้วย “มอเตอร์เวย์” และสถานีรถไฟความเร็วสูงอยู่ห่างจากพื้นที่ 20 นาที รวมถึงค่าเช่าที่สูงกว่านิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ รอบข้างที่เป็นการซื้อ ในขณะที่สัญญาเช่าแบบพีพีพี ต้องโอนทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างคืนให้รัฐเมื่อหมดสัญญา เอกชนอาจจะมีความยากในการเชิญชวนให้เอกชนอื่นๆ มาเช่าพื้นที่

โดยเรื่องการเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง ตัวแทนจาก “แคท” อธิบายว่า กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการเชื่อมต่ออย่างแน่นอน ส่วนพื้นที่ที่มี “มอเตอร์เวย์” คั่นนั้น ไม่มีการระบุในเงื่อนไขสัญญาให้เสนอแผนการเชื่อมต่อแต่อย่างใด จึงเปิดกว้างให้กับเอกชนสามารถออกแบบได้ตามความเหมาะสม ส่วนประเด็นการสร้างอาคารพนักงานนั้น “แคท” จะนำกลับไปคิดต่อว่าจะสามารถช่วยลดหย่อนใดๆ ให้เอกชนได้บ้าง แต่เรื่องการทำท่อร้อยสายนั้น “แคท” ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการผูกขาด แต่มีความจำเป็นต้องขุดท่อพร้อมการสร้างโครงการ และค่าบริการจะเป็นไปตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดแน่นอน

“อมตะ”ชี้ลงทุน”อีอีซี”สะดุด

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชันจำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนในอีอีซีว่า ขณะนี้เริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า ประกอบกับขั้นตอนการขอยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีความซับซ้อน ต้องขอผ่านทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก่อนกลับมายื่นที่อีอีซีอีกครั้ง แทนที่นักลงทุนจะสามารถยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนได้โดยตรงที่อีอีซีเบ็ดเสร็จจุดเดียวได้เลยทั้งที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อีอีซีบังคับใช้แล้ว รวมทั้งบุคลากรของอีอีซีมีจำนวนไม่เพียงพอในการทำงานเป็นอุปสรรคต่อการขอรับส่งเสริมการลงทุน

นายวิบูลย์กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง พบว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินในไทย 950 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมซิตี้ จ.ชลบุรี ตั้งเป้าขาย 150 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมซิตี้ จ.ระยอง 500 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมไทยจีนตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมซิตี้ จ.ระยอง 300 ไร่ คาดรายได้ที่รับรู้จากการขายที่ดินปีนี้ประมาณ 2,500 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ 70% ของรายได้ที่รับรู้ จากยอดขายครึ่งแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2562) อยู่ที่ประมาณ 200 กว่าไร่ และตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามอีก 125 ไร่ รวมเป้าหมายยอดขายทั้งกลุ่มอมตะปีนี้อยู่ที่ 1,057 ไร่

“อานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ คาดว่าจะทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนคาดจะมีการลงทุนมากกว่า 50% ของการลงทุนทั้งหมดของกลุ่มอมตะในไทย ใกล้เคียงกับปีก่อน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เกษตร และอาหาร ซึ่งการลงทุนจากจีนน่าจะทำให้ยอดขายที่ดินของอมตะได้ตามเป้าหมาย”

นายวิบูลย์กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีการแข่งขันกันค่อนข้างมาก ทำให้กังวลว่าจะเกิดภาวะสงครามราคาที่ดิน เพราะมีนักลงทุนรายใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่หรือเส้นทางเดียวกัน อาทิ ดับบลิวเอชเอ, โรจนะ, ปิ่นทอง และซีพี ยอมรับว่าขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการเกิดภาวะสงครามราคาที่ดินแล้ว แต่ส่วนตัวยืนยันกลุ่มอมตะยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับราคาที่ดินให้ถูกลงเพื่อดึงดูดลูกค้าแต่อย่างใด

ปล่อยให้ “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” ประกาศความพร้อมเพื่อก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลแห่งแรกในไทยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว คงต้องเอาใจช่วยให้ “ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์” ไม่เละเป็นโจ๊ก อาจตอกย้ำความ “ไม่มีน้ำยา” ของภาครัฐ ที่มักถูกมองมาจากหลายโครงการที่ผ่านมาที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่คืบหน้า หรือล่มไปแล้วก็มากมาย

เป็นการบ้าน “โจทย์สำคัญ” ที่ส่งไม้ผลัดให้รัฐบาลชุดต่อไปแก้ไขด่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image