วัดใจ กนง. ถึงเวลาต้องลดดอกเบี้ย? สกัดเงินร้อน บรรเทาหนี้ ฟื้นเศรษฐกิจ

แม้ปี 2562 นี้จะชื่อว่าเป็นปีหมู แต่ผ่านมาแค่ครึ่งปีแรกไม่หมูสมชื่อซะแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เห็นการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั่วโลกลดลงแล้วถึง 2 ครั้ง ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ซึ่งภาพสวนทางกับปีที่ผ่านมาที่มีการปรับจีดีพีขึ้น

ขณะที่ปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงไป 2 ครั้งต่อเนื่องเช่นกัน ล่าสุดยังหวังจีดีพีปีนี้เติบโตอยู่ที่ 3.3% แต่ส่งออกที่ผ่านมายังติดลบอยู่ คาดทั้งปีจึงไม่เติบโต หรือ 0% หากพิจารณาตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่ 1/2562 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาที่ 2.8% เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่ตัวเลขจีดีพีออกมาเติบโตต่ำ โดยช่วง 6 เดือนที่เหลือของปียังมีความหวังว่าจีดีพีจะเติบโตได้มากกว่านี้ เมื่อรวมทั้งปี 2562 จะทำให้การเติบโตเป็นไปตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี ก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังบรรยากาศเศรษฐกิจยังอึมครึมทั้งปัจจัยต่างประเทศ ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่มากขึ้นและยังยืดเยื้อ ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยในประเทศที่แม้ว่าการเลือกตั้งจะจบลงไปกว่า 3 เดือนแล้ว ยังไม่ได้มีการจัดรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการที่จะแถลงนโยบายการทำงานต่อรัฐสภา

นโยบายการเงินกลับทิศ

Advertisement

เศรษฐกิจทั่วโลกที่แย่ลง ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ เริ่มกลับทิศทางจากที่เข้มงวด ได้ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโต เห็นธนาคารกลางของหลายประเทศต่างก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วทั้งธนาคารกลางออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย รวมถึงมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงว่าอาจจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปีนี้ จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่น่ากังวลเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กดดันให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจใช้มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม

เงินทุนไหลเข้าดันบาทแข็งโป๊ก

Advertisement

การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่ผ่อนคลาย ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้มีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่และไทยมากขึ้น ทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น เห็นการทยอยไหลเข้ามา และโดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน มีเงินไหลเข้ามากจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทะลุลงมาที่ระดับ 30.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 และหากเทียบกับค่าเงินบาทช่วงต้นปี 2562 กับค่าเงินบาทระดับปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่ 6.12% แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย และแข็งค่าเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากรูเบิล รัสเซีย ที่แข็งค่ามากที่สุดในโลก 10.25% และปอนด์ อียิปต์ ที่แข็งค่า 7.31%

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งในช่วงจังหวะที่การส่งออกลดลง เป็นแรงกดดันต่อการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย เพราะสินค้าไทยจะมีราคาแพงขึ้น และเมื่อแปลงค่าเงินที่ใช้ในการค้าขายที่นิยมใช้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาเงินบาทก็จะได้รายได้ที่ลดลง ส่งผลต่อกำไรที่ได้ลดลงมาเช่นกัน แต่ค่าเงินที่แข็งค่านี้ก็สะท้อนถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีเสถียรภาพดี บัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงบางจังหวะถูกมองเป็นเซฟเฮฟเว่น หรือสินทรัพย์ปลอดภัยในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และไทยบริหารเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรี ดูแลตามความเหมาะสม ไม่ได้เข้าไปบิดเบือนตลาดหรือแทรกแซงมากเกินไป

ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถกลับขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 1,700 จุด ได้อีกครั้ง ที่ระดับ 1,705.98 จุด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมูลค่าซื้อขายหนาแน่นกว่าแสนล้านบาท สูงสุดรอบกว่า 8 เดือนนับจากระดับ 1,721.82 จุด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 โดยปิดตลาดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ 1,730.34 จุด

แบงก์ชาติจับตาบาทแข็งผิดปกติ

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาเร็วนั้น ธปท.ออกมาระบุว่าได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากแข็งค่าต่อเนื่องและเร็วขึ้นเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งอาจเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของไทย ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและการปรับตัวของผู้ประกอบการ จึงจะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาทซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่พึงประสงค์ และล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2562 โดย ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง.ระบุว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี นโยบายการเงินในระดับปัจจุบันยังผ่อนคลายมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงมาทั้งในปี 2562-2563 สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และ กนง.มีความกังวลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วและแข็งค่านำเงินสกุลภูมิภาคเป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง การไหลเข้าของเงินทุนในช่วงสั้นๆ และปัจจัยในประเทศ จึงให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีการดูแลการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีกลไกการบริหารจัดการที่เข้มงวดขึ้นผ่านเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว และจะมีการนำออกมาใช้ในไม่ช้า

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้มีการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทตามวิธีการปกติ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 2.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นมา 2.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา

งัดมาตรการดูแลใกล้ชิด

แต่แม้ กนง.จะออกมาระบุชัดเจนว่าจะเข้าดูแลค่าเงินบาทผ่านเครื่องมือเดิมที่มีอยู่ แต่หลังการประชุม กนง.ค่าเงินบาทแข็งค่าท้าทายทันที จึงยังต้องจับตาว่า กนง.จะหยิบเครื่องมือใดออกมาใช้ สำหรับมาตรการที่เคยนำออกมาใช้ในอดีต ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ระบุว่ามี 5 รูปแบบ ได้แก่ มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น (URR) หรือการกันเงินสำรองเงินตราต่างประเทศไว้จำนวน 30% ของจำนวนที่แลกเปลี่ยน บังคับใช้แก่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งนำมาใช้ในช่วงปี 2549 ส่งผลกระทบให้เงินทุนต่างชาติไหลออกรุนแรงโดยเฉพาะตลาดหุ้น ให้เงิน การเก็บภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ 15% ในปี 2553 สามารถลดเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในระยะสั้นได้ และในปี 2553 มีการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยให้ง่ายมากขึ้น ผ่านการปรับปรุงแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ ในปี 2556 การลดการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในปี 2560 ควบคุมการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ โดยได้ดำเนินการในส่วนการจำกัดการนำเข้าเงินลงทุน ในบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น (NRBS) บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป (NRBA)

นอกจากการเข้าดูแลค่าเงินบาทเพื่อลดการแข็งค่าลง มีการพูดถึงการใช้นโยบายการเงินพยุงเศรษฐกิจ เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุนและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

หวังลดดอกเบี้ยช่วยชะลอค่าบาท

ด้าน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป มีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับที่ต่ำ หรืออาจมีการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีกครั้ง จึงทำให้มีเม็ดเงินไหลออกจากประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุนในประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจดี ซึ่งไทยแม้ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ถือว่าเป็นเซฟเฮฟเว่น ทำให้เงินไหลเข้ามาลงทุนทำให้ค่าเงินบาทแข็ง และตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยในหลายประเทศมีแนวโน้มลดลง ธปท.คงฝืนกระแสไม่ได้ แต่ ธปท.เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายกี่ครั้ง ปรับลดเท่าไหร่ ก้าวก่ายไม่ได้ แต่ ธปท.คงลดแน่นอน

ขณะที่ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก จากปัจจุบันที่ 1.75% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะระดับฐานรากไม่ดี ประกอบกับการส่งออกกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องจากสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพราะมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องจากการที่เฟดส่งสัญญาณที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยและอาจปรับลดลง ซึ่งค่าเงินบาทไทยหากเป็นไปได้เอกชนอยากเห็น ธปท.ดูแลเคลื่อนไหวอยู่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยให้การแข่งขันการส่งออกของไทยกับประเทศคู่แข่งการค้าใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม ผลจากการลดดอกเบี้ยนโยบายอาจเป็นไปได้อย่างจำกัด เพราะขณะนี้อัตราดอกเบี้ยถือว่ายังต่ำ ขณะที่เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูงและกลับมาเพิ่มขึ้น 2 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 76.8% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ จากแรงหนุนสินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจนปัจจุบันแตะระดับ 4.6 ล้านล้านบาท หรือเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ 10.1% ในไตรมาสแรกปี 2562 ซึ่งสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้นกลับมีคุณภาพที่ตกต่ำลง โดยหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อรายย่อยรวมสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.75% ของสินเชื่อทั้งหมด โดยมีเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงสุดประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่เอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 24% สูงแตะระดับ 1.9 หมื่นล้านบาท เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความสามารถในการจ่ายหนี้ที่ด้อยลงของประชาชน ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะอาจไปกระตุ้นการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนให้สูงขึ้นไปอีก อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตได้ และจะมีผลต่อเสถียรภาพการเงินซึ่งเรื่องนี้ ธปท.เป็นห่วงและยังกังวลความเปราะบางที่สะสมอยู่ทั้งจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ภายหลังการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) มีผลบังคับใช้รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ

ชั่งน้ำหนักการเติบโต&เสถียรภาพ

ระบบการเงินในช่วงต่อไปยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลายทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม

มุมมองจาก พลายพล คุ้มทรัพย์ อดีต กนง.เห็นว่าการตัดสินใจนโยบายการเงินของ กนง. ต้องเผชิญความยากลำบาก โดยเสถียรภาพการเงินสำคัญ ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจก็สำคัญ หากการเติบโตเศรษฐกิจอ่อนแอในที่สุดก็จะส่งผลมายังเสถียรภาพการเงินได้ ตอนนี้เห็นชัดว่าภาพรวมเศรษฐกิจอ่อนแอมาก จากผลกระทบภายนอก ด้านภายใน การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า การลงทุนรัฐและเอกชนชะลอตัวไป ธปท.อาจจะต้องคิดเปลี่ยนน้ำหนักมาเสริมเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นไปได้ที่จะเห็นการขึ้นลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ 1.50% เพราะสถานการณ์ทั่วโลกเปลี่ยนไปซึ่งไทยก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เชื่อว่าผลที่เกิดขึ้นจากการลดดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่มากนัก แต่จะมีผลทางจิตวิทยาช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และครัวเรือนที่มีหนี้มีภาระการผ่อนชำระหนี้ลดลง ต้นทุนการกู้

ขณะที่ จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน มองว่า “การตัดสินใจจะลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า ธปท.ให้น้ำหนักกับด้านใดเป็นสำคัญ ไม่ว่าด้านเงินเฟ้อไม่มีแรงกดดันก็สามารถลดได้ ด้านค่าบาทที่แข็งค่าเกินไปก็สามารถลดได้ หรือหากเป็นกังวลด้านเสถียรภาพการเงินก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก”

ไม่น่าส่งผล”ก่อหนี้-เก็งกำไร”

พร้อมแสดงความเห็นอีกว่า ในส่วนความเป็นห่วงว่าจะส่งเสริมให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการเก็งกำไร แต่เชื่อว่าวัฏจักรของการลดดอกเบี้ยและวัฏจักรของธุรกิจต่างกัน ภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในขณะนี้การลดดอกเบี้ยไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการบริโภคมาก หรือส่งเสริมให้เกิดการเก็งกำไร ทั้งนี้ ต้องติดตามการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งขณะนี้ตลาดการเงินเชื่อ 100% ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งหากเฟดปรับลดลง 2 ครั้ง อาจจะเห็น ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ 1 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ระดับเดิม 1.50% สอดคล้องกับมุมมองของสายงานวิจัยเศรษฐกิจธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย คาดดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับเดิม 1.75%

โดย “จิติพล” ระบุต่อว่า มองว่าหากไม่ลดน่าจะยังเป็นการแข็งค่าของเงินบาทต่อเนื่องขึ้นไปทะลุถึงระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ เห็นตัวเลขนี้ช่วงปี 2556 และระดับการแข็งค่ามากที่สุดขณะนั้นอยู่ที่ 29.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ธปท.ต้องลดทิฐิลง ลดดอกเบี้ยซึ่งจะมีผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงบ้าง ซึ่งการกดดันธนาคารกลางจากฝ่ายรัฐบาลเป็นปกติของทั่วโลก ไม่มีนักการเมืองคนใดที่เข้ามาแล้วต้องการให้ดอกเบี้ยปรับเพิ่มมีแต่อยากให้ดอกเบี้ยลดเพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจ

จากข้างต้นดังกล่าว สะท้อนได้ว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่ได้สดใส ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องความกังวลสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ในภาวะที่นโยบายการคลังยังไม่สามารถออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ในฝั่งแรงส่งจากนโยบายการเงิน ต้องวัดใจ 7 อรหันต์ กนง.ว่าจะออกมาดำเนินการอะไรหรือไม่!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image