‘กนง.’ ลดดบ. สู้ค่าบาทแข็งได้จริงหรือ?

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากแบบคงที่ผูกค่าเงินบาทไว้กับค่าเงิน “ดอลลาร์สหรัฐ” หรือระบบตะกร้าเงิน มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ส่งผลให้ “ค่าเงินบาท” มีความผันผวน สามารถแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจจริง หรือจากความต้องการของอุปสงค์ และอุปทานในตลาดการเงินโลก

“ค่าเงินบาท” จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม เช่น การนำเข้าและการส่งออกสินค้า มีผลต่อต้นทุนการผลิต และกำไรของผู้ประกอบการ ความสนใจและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของนักลงทุน อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นต้น

และเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “ค่าเงินบาท” แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ที่ 30.52 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า 3 สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ 1.การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงท่าทีว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ที่ 2.25-2.5% และถึงขนาดกล่าวด้วยซ้ำไปว่าอาจใช้มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (คิวอี) การพูดลักษณะนี้หมายความว่าเฟดต้องการจะเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ และการลดอัตราดอกเบี้ยก็คือการอัดฉีดเงินดอลลาร์ออกสู่เศรษฐกิจ ทั้งในสหรัฐและสู่โลก

Advertisement

ฉะนั้น พอปริมาณเงินดอลลาร์มีมาก จึงทำให้หลายคนต้องรีบนำออกมาหาประโยชน์ โดยเฉพาะบรรดานักลงทุนในสหรัฐ เพราะหากเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจริง ก็จะส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่ามากยิ่งขึ้น

และเมื่อนำออกมาตอนนี้จะไปไหน จึงต้องเลือกประเทศที่จะไป ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียหลักๆ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องออกมาแทรกแซงกันยกใหญ่ ถัดมาประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียมองไปมองมา เห็นว่าประเทศไทยมีหลายปัจจัยน่าจะฝากผีฝากไข้ และเป็นแหล่งพักร้อนของเงิน โดยเฉพาะไทยมีความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาค เช่น การดูจากเงินทุนสำรองต่างประเทศที่มีอยู่เหลือเฟือในขณะนี้ คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) น่าจะติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศที่มีเงินทุนสำรองสูงที่สุดในโลก หรือกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นกว่า 50% ของจีดีพี ขณะที่จีนมีเงินทุนสำรองต่างประเทศ อยู่ที่ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่ถึง 30%

หากถามว่าการที่ไทยเป็นแหล่งพักร้อนของเงิน น่าดีใจหรือไม่ ก็ต้องดูว่าพักอยู่นานแค่ไหน หากเข้ามาแล้วพักอยู่นานก็เป็นเรื่องดี เพราะจะได้นำเงินไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล หากมีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามา ทำไมจะไม่ดี รัฐบาลจะต้องหาวิธีทำอย่างไรให้เงินนี้อยู่ได้นาน และอยู่ยาวที่สุด เช่น จำหน่ายพันธบัตรระยะยาว เพื่อทำให้เงินส่วนนี้อยู่ยาวขึ้น และต้องหาวิธีการว่าจะนำเงินมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

2.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากเกินไป ขณะนี้อยู่ที่ 7% ของจีดีพี เนื่องจากการค้าเกินดุล และภาคบริการเกินดุล อาทิ การท่องเที่ยวเกินดุล จึงทำให้มีเงินไหลเวียนเข้าประเทศจำนวนมาก และเมื่อเกิดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 7-8% ของจีดีพี จากปีก่อน 10.8% แม้จะลดลงมาเล็กน้อย แต่ยังเป็นจำนวนมากอยู่ เพราะประเทศอื่นมีแนวโน้มว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หรือหากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเต็มที่ก็ไม่ถึง 2-3%

3.คนไทยในวัยทำงาน มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% ถือว่าเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.8% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.4% ยังมากกว่าเท่าตัว และจากอัตราการว่างงานน้อย ทำให้ต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เกิดการว่าจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก

“จากตัวแปรเหล่านี้ ทำให้นักลงทุนมองว่าสถานะทางเศรษฐกิจมหภาคของไทยค่อนข้างจะแข็งแกร่ง แม้การเมืองภายในประเทศยังไม่นิ่ง แต่คิดว่าหากเกิดปัญหาจากการจัดตั้งรัฐบาลแล้วอยู่ไม่ได้ เกิดการยุบสภา ยังไงเสียก็จะต้องเกิดการเลือกตั้งใหม่ แต่ขณะที่ ตัวแปรต่างๆ ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น ระบบราชการ หรือภาคเอกชนก็ยังสามารถทำงานได้อยู่”

กรณีภาคเอกชนเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดถกพิเศษเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย มองว่าไม่มีความหมายมากนัก เพราะเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามา ไม่หวังจะเอาประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ย เพราะประเทศไทยขณะนี้มีสภาพคล่องล้นเกิน ฉะนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยลง ถามว่าจะเป็นประโยชน์กับธนาคารจะสามารถปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ หรือว่าจะทำให้แรงจูงใจในการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศมาในประเทศไทยน้อยลงหรือไม่

ปัจจุบันยังมีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเวียนเข้ามาอยู่ เพราะอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรของรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2% ขณะที่ อัตราผลตอบแทนของสหรัฐอยู่ที่ 1-2% และเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย พบว่ายังมีความผันผวน โอกาสจะลงทุนแล้วเจ็บตัวสูง นักลงทุนจึงมองว่าการเข้ามาในประเทศไทยและเกาะเศรษฐกิจไทยโอกาสเจ็บตัวน้อยกว่า เพราะเชื่อว่าค่าเงินบาทจะไม่เตลิดเปิดเปิงอย่างแน่นอน มีแต่จะอ่อนค่าลงอย่างยวบยาบ

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาท หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ต้องลงไปกำกับดูแลภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงตรวจสอบดูว่าผู้ส่งออกกลุ่มไหนได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ นั่นก็คือ กลุ่มผู้ส่งออกที่ไม่ได้พึ่งพาการนำเข้า กลุ่มพึ่งพาการนำเข้าได้รับผลกระทบไม่มากนัก และหามาตรการอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ตามแต่ละกรณีไป

ประเมินว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทจะกลับสู่สภาวะปกติได้ภายในปีนี้ คงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะช่วงนี้สถานการณ์ยากเกินกว่าจะสามารถคาดเดาได้ เพราะสหรัฐอยู่ระหว่างจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังมีความพยายามจะออกนโยบาย เพื่อทำให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

สถานการณ์ต่างๆ จึงยังมีความไม่แน่นอนสูง

ฉะนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงให้เหลือ 1.5% หรือว่าต่ำกว่า จาก 1.75% ในปัจจุบัน ขณะที่สหรัฐมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5% เพื่อทำให้นักลงทุนสนใจที่จะนำเงินไปลงทุนในสหรัฐมากกว่า ทำให้มีโอกาสที่เงินจะไหลออกบางส่วน

เพราะต่อไปหากเกิดปัญหาขึ้นจะมีมาตรการใด หรือมีกระสุนเม็ดไหนออกมาเล่น และเมื่อบาทถูกขายออกไปมากขึ้น บาทมีโอกาสจะอ่อนค่าลง ยิ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยิ่งจะทำให้สวนกระแส

เชื่อว่า ธปท. คงต้องคิดหนัก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image