ส่องนโยบายทีมเศรษฐกิจ ‘บิ๊กตู่2’ พัวพัน15รัฐมนตรี4พรรคการเมือง มาตรการกระตุ้นต้องมี ประกันรายได้ต้องมา

เปิดหน้าตาทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อย ใน 8 กระทรวงด้านเศรษฐกิจ มีรัฐมนตรีทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยรวม 15 คน จาก 4 พรรคการเมือง คือพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา

แบ่งสรรปันส่วน พรรคพลังประชารัฐ คุมเบ็ดเสร็จ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พรรคประชาธิปัตย์ คุมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พรรคภูมิใจไทย คุมกระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อาจคาดเดาและประเมินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ไม่ยาก ว่าจากนี้จะเน้นด้านไหน

อุตตมžพร้อมอุ้มเศรษฐกิจ
นโยบายแรกที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยทันทีคงหนีไม่พ้นมาตรการกระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้หลายสำนักพยากรณ์ทั้งรัฐและเอกชนหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2562 ต่ำกว่า 3.5% บางแห่งมองต่ำหลุดกรอบ 3% ไปแล้ว จากปี 2561 เศรษฐกิจไทยสามารถโตได้ 4.1%

ก่อนเข้ากระทรวงอย่างเป็นทางการ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ระบุชัดว่า รัฐบาลชุดใหม่ต้องออกมาตรการมากระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจ โดยเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวน และประเทศไทยกำลังกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ดังนั้นมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเข้าไปดูแลเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไป

Advertisement

มาตรการที่จะออกมาต้องเห็นผลและตรงเป้า สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่และต้องไม่สร้างผลกระทบต่องบประมาณ โดยสิ่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ไปคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ฐานราก และเศรษฐกิจในท้องถิ่น ถ้าเศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็ง ทำให้มีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะดูแลตนเองไม่ให้รับผลกระทบจากภายนอกประเทศ เพราะขณะนี้ปัญหาของเศรษฐกิจโลกทำให้ส่งออกของไทยเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจมีปัญหา ดังนั้นเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ต้องใช้เศรษฐกิจในประเทศในการขับเคลื่อน

ซึ่งนายอุตตมย้ำอีกว่า แผนในการดูแลเศรษฐกิจมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งไทยกำลังพบเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องการค้า สังคม การสื่อสารที่เปลี่ยนไป ดังนั้นต้องร่วมมือกันทำงานระหว่งรัฐและเอกชน เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศไทย ยกระดับเศรษฐกิจไทย ให้เข้มแข็ง ให้ไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงŽ

ต่อติดแผนกระตุ้น-แจกคนจน
แม้ว่ารัฐมนตรีชุดใหม่ยังไม่เข้าทำงานอย่างเป็นทางการ แต่มีการสั่งการจากนายอุตตมให้ข้าราชการกระทรวงการคลังเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ โดยมาตรการเน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ดูแลคนจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการดูแลเอสเอ็มอี ในระยะแรกมีงบประมาณเตรียมไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท

Advertisement

มาตรการดำเนินการทันทีคือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้งบประมาณในการดำเนินการปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงบประมาณหาเงินมาเติมกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมให้ครบ 1 แสนล้านบาท

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แจกสวัสดิการพื้นฐาน ประกอบด้วย วงเงินซื้อของร้านธงฟ้าเดือนละ 200-300 บาท ค่ารถเมล์เดือนละ 500 บาท รถไฟเดือนละ 500 บาท รถ บขส.หรือรถไฟฟ้าเดือนละ 500 บาท ส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน ทั้งหมดใช้เงินประมาณเดือนละ 3-4 พันล้านบาท หรือประมาณปีละ 4 หมื่นล้านบาท

มีแนวโน้มที่รัฐบาลใหม่แจกเพิ่มเติม เพราะรัฐบาลชุด คสช.แจกสวัสดิการเป็นครั้งคราว เช่น แจกเงินในช่วงปีใหม่ แจกเงินค่าหาหมอให้กับคนชรา แจกค่าน้ำ ค่าไฟ แจกเบี้ยคนพิการ ให้เงินผู้ปกครองซื้อชุดนักเรียน เพิ่มเงินสำหรับซื้อของร้านธงฟ้า รวมถึงแจกเงินซื้อของร้านธงฟ้าเพิ่มเพื่อจูงใจให้มาเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ

เงินที่แจกเพิ่มเติมเป็นครั้งคราวนั้นได้ประโยชน์หลายเด้ง คือ ซื้อใจคนถือบัตรสวัสดิการทั้ง 14.5 ล้านราย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เงินเข้าไปในระบบ กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน

ส่วนมาตรการช่วยเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงการคลังจะให้ธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาเป็นเครื่องมือ เช่น ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำหาตลาด ส่งเสริมพัฒนาตนเอง เพื่อให้เอสเอ็มอีมีลมหายใจในการเดินหน้าต่อ

ฟื้นประกันรายได้เกษตร
นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้น ขณะนี้มีปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำแทบทุกตัว ดังนั้นงานแรกที่รัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ ต้องมาจัดการคือ การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งผลจากการที่พรรคประชาธิปัตย์คุมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดเดาไม่ยากว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ถูกหยิบยกมาใช้ทันที

นโยบายประกันรายได้เกษตรกรพรรคประชาธิปัตย์หาเสียงไว้ คือ ข้าวขาวไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท ข้าวหอมมะลิไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 15,000 บาท ยางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์ม ราคา 10 บาทต่อกิโลกรัม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกตัวทันทีว่า หนึ่งในเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลคือ ต้องบรรจุนโยบายเรื่อง การประกันรายได้เกษตรกร ในเรื่องของข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด เข้าไปเป็นนโยบายรัฐบาล ส่วนการทำงานในกระทรวงพาณิชย์นั้น มีเรื่องเรื่องเร่งด่วนที่ต้องผลักดัน คือ นโยบายประกันรายได้ เพราะเป็นเป้าหมายหลักที่พรรคจะต้องเข้าไปดูแล

มีข่าวแว่วมาว่า พรรคประชาธิปัตย์สั่งการมายังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมการค้าภายในให้เตรียมพร้อมการประกันราคาสินค้าเกษตรไว้แล้ว โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี

แบ่งเค้กกระทรวงเกษตรฯ
ในกระทรวงเกษตรฯ มีเรื่องต้องติดตามอีกเรื่อง ไม่บ่อยนักที่จะมีรัฐมนตรีนั่งประจำมากที่สุดถึง 4 คน จาก 4 พรรค แม้ขณะนี้การแบ่งงานคุมหน่วยงานยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่ประเมินกันจากนโยบายของพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะดูแลราคาสินค้าเกษตรผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากพรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.ให้เป็นโฉนดหรือที่ดินทองคำ นำไปค้ำประกันเงินกู้จากธนาคาร ดังนั้นคาดว่าจะกำกับดูแล สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ส่วน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากพรรคชาติไทยพัฒนา มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับข้าราชการในกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วน นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรคมีนโยบายชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมกัญชาเสรี ดังนั้นน่าจะดูแลกรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อสานต่อนโยบายกัญชา

งานใหญ่ดันเมกะโปรเจ็กต์
กระทรวงคมนาคมเป็นอีกหนึ่งกระทรวงต้องเกาะติด เพราะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต้องเร่งผลักดันตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในปี 2558-2565 โดยในปี 2562 มีโครงการเร่งด่วน 41 โครงการ รอเสนอ ครม. 21 โครงการ มูลค่ากว่า 1.39 ล้านล้านบาท และอีก 17 โครงการอยู่ในขั้นตอนประมูล มีมูลค่ารวมกว่า 3.86 แสนล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลก่อนทำเอาไว้ และพร้อมเดินหน้านโยบายของพรรคภูมิใจไทยตามที่ได้หาเสียงไว้ เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจแบ่งปัน (แชริ่ง อีโคโนมี) หรือโมเดลธุรกิจแบบแกร็บ แก้กฎหมายให้เศรษฐกิจแบ่งปันถูกกฎหมาย ลดอำนาจรัฐให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเอง พัฒนาระบบรางให้ครบและเชื่อมโยงกับระบบถนน พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เพื่อหารายได้จากผลประโยชน์อื่นในระบบรถไฟฟ้า เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบและมีการใช้บัตรใบเดียว

ทั้งนี้ มีโครงการขนาดใหญ่รอนายศักดิ์สยามให้มาผลักดันและตัดสินใจ เช่น รถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง คือ ไทย-จีน เฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ โครงการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์อีกหลายเส้นทาง เช่น มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี รอเสนอเข้า ครม. ส่วนสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน กำลังรอผลศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนจากภาครัฐ (พีพีพี)

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการแก้ปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังอยู่แผนฟื้นฟูของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยในส่วนของการบินไทยนั้น รอรัฐบาลใหม่สรุปในเรื่องจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำ

รวมถึงยังมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่กระทรวงคมนาคม ต้องผลักดันร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แม้ล่าสุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ผ่านความเห็นชอบจากณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เตรียมลงนามระหว่างรัฐและเอกชนในเดือนกรกฎาคมนี้

เหลืออีกหลายโครงการต้องเร่งผลักดันเพื่อให้อีอีซีเกิดให้เร็วที่สุด และการที่รัฐบาลชุดใหม่มีทีมเศรษฐกิจหลายคนหน้าตาเดิม ดังนั้น เรื่องอีอีซีน่าจะได้รับการผลักดันต่อเนื่อง

เรื่องร้อนพลังงานรอชี้ขาด
ส่วนกระทรวงพลังงานมีเรื่องร้อนที่รอ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เข้ามาตัดสินใจ ทั้งในเรื่องของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิฉัยให้ทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือรัฐต้องมีสัดส่วนไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% เพื่อความมั่นคง จากขณะนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้า 38% และในอนาคตมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 30% ในช่วงปลายแผน

คนในกระทรวงพลังงานมองว่า ในเรื่องโรงไฟฟ้านั้นไม่ถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยสาธารณูปโภคพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ หมายถึง ระบบเครือข่าย เช่น ถนน ทางด่วน รางรถไฟ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือและสื่อสารไวไฟ และสายส่งไฟฟ้า ทั้งนี้ กฟผ.เป็นเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศเพียงรายเดียว จึงถือว่าเป็นรัฐเป็นผู้ลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 51% กระทรวงพลังงานร่างหนังสือตอบกลับไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และรอให้นายสนธิรัตน์พิจารณาก่อน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานหลักผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ และบริษัท โททาล ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในแหล่งบงกช ในอ่าวไทยได้ยื่นหนังสือเตือน (โนติส) ถึงกระทรวงพลังงานขู่ฟ้องอนุญาโตตุลาการ หากไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องการวางหลักประกันการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนมีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาท โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม รับมอบหมายให้เร่งเจรจาในเรื่องสัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายให้จบโดยเร็ว

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ตามภารกิจที่กระทรวงพลังงานดูแล และดูว่าจะสานต่อแผนงานต่างๆ อย่างไร ซึ่งหลายเรื่องก็จะพูดคุยหารือกับรัฐมนตรีว่าการคนก่อน อาทิ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศระยะสั้นและระยะยาว แผนผลักดันการใช้พลังงานทดแทน และการประมูลแท่นเจาะปิโตรเลียม เป็นต้น

ดันส่งออก-ดึงท่องเที่ยว
ปัญหาเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการส่งออกและท่องเที่ยวของไทย โดยในส่วนของการส่งออกนั้นภาคเอกชนมองว่าปีนี้มีโอกาสติดลบ 1% แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมาย 3% ห่างกันหลายเท่าตัว

ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกมีปัญหาจากสงครามการค้า การผลักดันส่งออกให้ถึงเป้าหมาย 3% จึงไม่ง่ายนัก และในอดีตที่ผ่านมาเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ทำได้จริงน้อยมาก

ส่วนท่องเที่ยว ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับลดเป้ารายได้ท่องเที่ยวปี 2562 ลง 2 หมื่นล้านเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท ลดจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ที่ 3.4 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.21 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทย 1.17 ล้านล้านบาท จากการลดเป้าหมายดังกล่าวทำให้เป้าหมายการเติบโตเหลือ 9.5% จาก 11.5% ดังนั้นเป็นงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คนใหม่ต้องลุยทันที เพราะภาคท่องเที่ยวนั้นสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย สำคัญพอๆ กับการส่งออก

สำหรับกระทรวงดีอี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการดีอีคนใหม่ ฉายภาพการทำงานว่าจะขับเคลื่อนโครงการตามโรดแมปการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ เช่น เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน อีอีซีในส่วนดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ การกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ โครงการเป็นการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า เพื่อสร้างสังคมดิจิทัล

คาดว่าสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจน่าจะทยอยเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งมาพร้อมกับหลายฝ่ายประเมินอายุของรัฐบาลอาจอยู่ไม่นาน

ดังนั้นจึงเป็นความคาดหวังจากเอกชนและประชาชน อยากเห็นการทำงานทีมเศรษฐกิจออกมาโดยเร็วเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ตรงจุดและทันการณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image