‘ภัยแล้ง’… ภารกิจเร่งด่วน ก.เกษตรฯ ดึงหน่วยงานน้ำฝ่าวิกฤต

แม้ว่าช่วงนี้จะยังไม่มีการประกาศจังหวัดเสี่ยงภัยแล้ง แต่จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงทำให้หลายพื้นที่ของประเทศเริ่มได้รับผลกระทบแล้ว เพราะเมื่อพูดถึงคำว่าแล้งใช่ว่าภูมิภาคที่ได้รับความเสียหายจะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานเสมอไป จากการสำรวจของหลายหน่วยงานพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือเกษตรกรเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว บางพื้นที่มีทีท่าที่จะได้รับผลกระทบหนักเสียด้วย

⦁จับตาปริมาณน้ำ
สำหรับสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การรวม 1,560 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,692 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 892 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 3,373 ล้าน ลบ.ม., ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ 523 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำเก็บกัก 144 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ได้ 101 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเก็บกัก 47 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การ 44 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนแผนจัดสรรน้ำตลอดฤดูฝนปี 2562 ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 ตุลาคม 2562 ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาจะมีปริมาณเก็บกัก 4,400 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,716 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% คงเหลือจากแผน 684 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16% เพาะปลูกข้าวฤดูฝนไปแล้ว 6.21 ล้านไร่ จากแผน 7.65 ล้านไร่ คิดเป็น 81.14%

สถานการณ์น้ำในปัจจุบันพบว่า แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 34,796 ล้าน ลบ.ม. แหล่งน้ำขนาดกลาง 660 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 1,989 ล้าน ลบ.ม. และแหล่งน้ำขนาดเล็ก 142,234 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 2,003 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9,276 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34% ของความจุอ่างฯ ภาคกลาง 511 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 20% ของความจุอ่างฯ ภาคอีสาน 4,281 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 33% ของความจุอ่างฯ ภาคตะวันตก 18,293 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของความจุอ่างฯ ภาคตะวันออก 1,119 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 36% ของความจุอ่างฯ และภาคใต้ 5,328 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 58% ของความจุอ่างฯ

Advertisement

เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ในเดือนมิถุนายนมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 39,016 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 15,089 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 29% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 9,942 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 40% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,246 ล้าน ลบ.ม.

⦁รมต.เกษตรลุยแก้แล้ง
จากสถานการณ์ความกังวลถึงเรื่องภัยแล้งที่ส่อเค้าจะทวีความรุนแรงขึ้น รัฐมนตรีใหม่ที่มาประจำกระทรวงเกษตรฯทั้ง 4 คน จึงหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นเรื่องหลักที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน โดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ แต่การหยิบยกเรื่องภัยแล้งขึ้นมาเป็นนโยบายเร่งด่วน แสดงถึงความใส่ใจ เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดี การจ่ายเงินชดเชย หรือกฎระเบียบอะไรที่ทำให้เกิดความล่าช้า ถ้าสามารถแก้ไขได้ก็ให้แก้ไข

“จะเร่งมาตรการบริหารจัดการน้ำตะวันออกที่เป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะน้ำเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย การบริหารจัดการน้ำจะเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ จะทำให้อีอีซีขับเคลื่อนไปได้ จึงต้องฝากเรื่องนี้อย่าให้เกิดปัญหา”

ขณะที่ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ หลังจากเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ได้ร่วมกับรัฐมนตรีช่วยอีก 2 คน ลงพื้นที่ในจังหวัดตากและอุตรดิตถ์ เพื่อรับฟังสถานการณ์น้ำและร่วมกันกับทุกภาคส่วนหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากที่รับฟังรายงานพบว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั้งสองอยู่ในเกณฑ์น้อยซึ่งยังน่าเป็นห่วง

โดยน้ำในเขื่อนภูมิพลขณะนี้เหลือน้ำใช้การได้ 892 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 9.2% น้อยกว่าปีที่แล้ว 2,553 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 74% และน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 1,984 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 69% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 กรกฎาคม 2562 รวม 303 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับสถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนปี 2536, 2541 และ 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนตลอดทั้งปีเพียง 2,382 1,470 และ 1,891 ล้าน ลบ.ม.ตามลำดับ ส่วนปริมาณน้ำระบาย 23 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

อย่างไรก็ตามยังไม่ประกาศให้งดใช้น้ำแต่จะใช้ระบบชะลอการสูบน้ำคือสูบ 3 วัน หยุด 4 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาจะส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวของชาวนาที่ปลูกไปแล้วการจัดสรรน้ำครั้งนี้จึงต้องทำอย่างมีระบบ โดยบูรณาการทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง กระทรวง รวมถึงชาวบ้าน ต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจเพื่อลดความเสียหายในการเพาะปลูก ที่สำคัญต้องใช้ระบบหมุนเวียนเพื่อให้น้ำลงไปถึงเขื่อนเจ้าพระยาและกระจายน้ำไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้องขอความร่วมมือจากจังหวัดต้นทางคือกำแพงเพชรและนครสวรรค์ให้ชะลอการสูบน้ำลง

“เชื่อว่าปริมาณน้ำจะมีเพียงพอตลอดฤดูนี้ ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีระเบียบ สลับการใช้น้ำ ได้ชี้แจงให้เกษตรกรทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะหากไม่มีฝนก็อย่าเพิ่งทำนา ต้องชะลอไปก่อน ส่วนจะมีการแก้ไขอย่างไรนั้นจะนำผลการประชุมพิจารณาไปหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ (กนช.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป หากบูรณาการทุกฝ่ายช่วยกันเชื่อว่าสำเร็จแน่นอน” นายประภัตรระบุ

ด้าน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วง หากมุ่งแต่เรื่องชลประทานอย่างเดียวไม่ได้ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยเฉพาะการเติมฝน กรมฝนหลวงฯต้องบูรณาการร่วมกับกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเติมน้ำได้ โดยจะนำเรื่องนี้หารือกับนายกฯและรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง

⦁สทนช.ปรับแผนจัดสรรน้ำ
ฟาก นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงการคาดการณ์สถานการณ์น้ำว่า สทนช.ได้วิเคราะห์ชี้เป้าหมายพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำพร้อมแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเฝ้าระวังเตรียมวางแผนรับมือ ทบทวนปรับแผนการจัดสรรน้ำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงจำนวน 160 อำเภอ 21 จังหวัด

รวมถึงได้ทำการวิเคราะห์ โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 240 อำเภอ 36 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 105 อำเภอ 12 จังหวัด ภาคเหนือ 61 อำเภอ 11 จังหวัด ภาคใต้ 70 อำเภอ 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 อำเภอ 2 จังหวัด ภาคกลาง 1 อำเภอ 1 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 อำเภอ 1 จังหวัด ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นช่วงระยะต่อจากนี้ โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์

“สทนช.ได้ทบทวนคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สำหรับสถานการณ์เอลนิโญกำลังอ่อน พบว่า ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจริง 3,001 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการระบายน้ำ 7,758 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปริมาณน้ำไหลเข้า ส่งผลให้ปริมาณน้ำลดลงต่อเนื่อง จากการประเมินกรณีน้ำน้อย ปริมาณน้ำจะไหลเข้าอ่างระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2562 จำนวน 16,705 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจำนวน 43,484 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำจะเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม สำรองน้ำต้นฤดูฝน สามารถเพาะปลูกสำหรับพืชใช้น้ำน้อยและเกษตรต่อเนื่องเท่านั้น” นายสมเกียรติกล่าว

นอกจากนี้ การเพิ่มปริมาณน้ำอย่างต่อเนื่องจากการทำฝนหลวงของกรมการบินฝนหลวงและการเกษตร ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ฤดูแล้งที่ผ่านมาให้ดำเนินการต่อในฤดูฝนในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเน้นพื้นที่อ่างน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% เฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน และ กฟผ.ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% รวม 19 แห่ง จาก 36 แห่ง เช่น เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น ส่งน้ำให้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น หมายถึงไม่ได้ส่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งยังต้องไปเดิมพันวัดดวงอีกครั้ง หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงปลายมิถุนายน-กรกฎาคม มีทางเดียวคือฝนต้องตกเหนือเขื่อนเหล่านี้จึงจะมีน้ำต้นทุนพอส่งได้

⦁กรมชลฯรับมือฝนทิ้งช่วง
ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 18% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% ซึ่งกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรับมือ เพื่อบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ให้ภัยแล้งยาวนานไปถึงเดือนเมษายน 2563 แม้หลังจากนี้จะมีพายุเข้ามาอีก 1 ลูก ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ แต่คาดว่าฝนจะตกใต้เขื่อน ปริมาณน้ำอาจไม่มากพอที่จะเติมเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ได้ ทั้งนี้ จากนโยบายของรัฐบาลและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ ต้องมุ่งเน้นในเรื่องของน้ำเพื่อบริโภคเป็นสิ่งแรก ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตรในขณะนี้ต้องใช้น้ำฝนในการทำการเกษตร พื้นที่เพาะปลูกในชลประทานดำเนินการเพาะปลูกไปแล้ว 70% ของพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ 12 ลุ่มน้ำใต้เขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้มีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 1 ล้านไร่

นายทองเปลวกล่าวต่อว่า กรมไม่สามารถทำงานบรรเทาภัยแล้งได้ด้วยหน่วยงานเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยและฝ่ายความมั่นคง เพราะหากต้องกำหนดเวลาในการสูบน้ำ ต้องตกลงกติการ่วมกันในการบริหารน้ำในฝาย ที่เก็บกักและกระจายน้ำ แหล่งน้ำที่มีการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ต้องขอความร่วมมือจากสถานีสูบน้ำที่มีมากกว่า 500-600 สถานี ที่ชักน้ำจากระบบ เมื่อกำหนดเวลาให้สูบน้ำต้องสูบตามเวลา อย่าลอบสูบเกินเวลา หากมีการจัดสรรน้ำหรือส่งน้ำเป็นรอบเวรน้ำ น้ำจะไม่เพียงพอ และซ้ำรอยแล้งหนักปี 2558 แน่นอน

“เบื้องต้นพบพื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูกประมาณ 30% ต้องเอาข้อเท็จจริงมาหารือกัน เพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น และต้องมองยาวไปถึงแล้งหน้า ดังนั้น ตามที่นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง น้ำในเขื่อนน้อย หากให้เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 หรือ 4 ปีย้อนหลังปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังมีมากกว่า แต่นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะภาคอีสานยังน่าเป็นห่วง” นายทองเปลวกล่าว

⦁กรมฝนหลวงฯช่วยปชช.
นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ ระบุถึงภารกิจที่ได้รับหมอบหมายว่า กรมได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมให้มากที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ กองทัพ ช่วยเหลือด้านอากาศยาน และกำลังพลในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่การเกษตรอย่างเร่งด่วน

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวง โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของ จ.เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลำพูน ตาก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เลย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ สระแก้ว และจันทบุรี เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง อ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำห้วยท่าเดื่อ และอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน

ล่าสุดหน่วยปฏิบัติการ จ.ตาก วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.เมือง อ.บ้านตาก จ.ตาก อ.เมือง อ.บ้านด่านลานหอย อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย และ อ.ฮอด ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ทางด้านหน่วยปฏิบัติการ จ.พิษณุโลก วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.ดงเจริญ อ.บึงนาราง อ.วชิรบารมี อ.สามง่าม จ.พิจิตร อ.บึงสามพัน อ.หนองไผ่ อ.ชนแดน อ.วังโป่ง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ สำหรับหน่วยปฏิบัติการ จ.เชียงใหม่ ขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.เมือง อ.แม่ใจ อ.ดอกคำใต้ อ.ภูกามยาว อ.จุน อ.ปง จ.พะเยา อ.แม่สรวย อ.เวียงป่าเป้า อ.พาน อ.แม่ลาว อ.เมือง จ.เชียงราย อ.พร้าว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำดอยงู จ.เชียงราย กว๊านพะเยา จ.พะเยา

นอกจากนี้ ข้อมูลการสำรวจพื้นที่เกษตรกรรมจากกรมส่งเสริมการเกษตรถึงสถานการณ์การผลิตพืชสำคัญ 13 จังหวัด ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง ได้แก่ จ.สิงห์บุรี, พิษณุโลก, อ่างทอง, สุโขทัย, ตาก, นครสวรรค์, ชัยนาท, พระนครศรีอยุธยา, พิจิตร, อุดรธานี, อุทัยธานี, กำแพงเพชร และสุพรรณบุรี ซึ่งแบ่งเป็นชนิดพืช ดังนี้ ข้าวนาปี มีพื้นที่รวม 7.8 ล้านไร่ แบ่งเป็นในพื้นที่เขตชลประทาน 5.09 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.7 ล้านไร่, พืชไร่ มีพื้นที่รวม 5.3 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 7.3 แสนไร่ นอกเขตชลประทาน 4.6 ล้านไร่, พืชผัก มีพื้นที่รวม 4.6 หมื่นไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 2.2 หมื่นไร่ นอกเขตชลประทาน 2.3 หมื่นไร่ และไม้ผล-ไม้ยืนต้น มีพื้นที่รวม 1.5 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 3.9 แสนไร่ นอกเขตชลประทาน 1.1 ล้านไร่

ดังนั้น พื้นที่การเกษตรในพื้นที่อื่นที่อยู่นอกเหนือจาก 13 จังหวัดดังกล่าว จึงอยู่ระหว่างการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร หากมีการประกาศพื้นที่ภัยแล้งอย่างเป็นทางการ ทางกรมจะมีการลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย รวมถึงมูลค่าความเสียหายต่อไป

⦁ความหวังสกัดแล้ง
เวลานี้ประชาชนรวมถึงพี่น้องเกษตรกรต่างตั้งความหวังกับการทำงานของทีมรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพืชผลทางการเกษตร รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำจึงถูกตั้งความหวังเป็นพิเศษว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังคุกคามเข้ามาในประเทศได้หรือไม่

แต่การเริ่มปฏิบัติงานของทีมรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ ที่เดินหน้าล้อฟรี ลงพื้นที่แก้ปัญหาตั้งแต่ทำงานวันแรกก็ทำให้ประชาชนใจชื้นได้บ้าง แต่จะสำเร็จตามที่รัฐคาดการณ์ไว้หรือไม่นั้น ต้องติดตามกันต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image