ทวงสัญญาบัตรคนจนเฟส2 ลุ้นแถม “แจกคนท้อง-คนแก่” ถม1แสนล.ยกเครื่องสวัสดิการ

จบไปแล้วสำหรับการแถลงนโยบายของรัฐบาล นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่องที่รัฐบาลจะดําเนินการ มีเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือมักเรียกกันว่า “บัตรคนจน” รวมอยู่ด้วย

บัตรคนจนแทรกอยู่ในนโยบายการปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งได้ระบุรายละเอียดของนโยบายอันประกอบด้วย ปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเบี้ยยังชีพของประชาชน อาทิ ผู้สูงอายุและคนพิการที่มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และพิจารณาขยายความครอบคลุมไปยังกลุ่มมารดาตั้งครรภ์เด็กแรกเกิด และเด็กวัยเรียนที่ครอบครัว ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ

รวมถึงเร่งรัดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการบริการในแต่ละระบบ ลดภาระการเดินทางไปสถานพยาบาลของประชาชน และลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระบบการแพทย์ทางไกลและภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และได้รับการบริการอย่างมีคุณภาพ

จากนโยบายข้างต้น จึงเป็นที่แน่นอนว่าบัตรคนจนเป็นนโยบายแรกๆ ที่ถูกผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจากการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และคำสัมภาษณ์ของ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรค พปชร. พบว่าให้น้ำหนักและให้ความสำคัญกับบัตรคนจนเป็นอันดับต้นๆ

Advertisement

ทันทีที่อุตตมเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อุตตมสั่งการให้ข้าราชการกระทรวงการคลังเตรียมเรื่องบัตรคนจน เพื่อนำเสนอทันที หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา

ปรับเงื่อนไข”สแกนคนจน”

กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ปรับเงื่อนไขการลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ เพื่อให้บัตรอยู่ในมือคนที่จนจริงๆ เพราะจากการลงทะเบียนคนจนครั้งแรกในปี 2559 และเริ่มแจกบัตรในปี 2560 พบว่าผู้รับบัตรไปแล้ว 14.5 ล้านรายนั้น มีผู้ที่ไม่จนเล็ดลอดมารับบัตรหลายราย เช่น กรณีนายแบบใช้ของฟุ่มเฟือยราคาแพง โชว์ว่าเป็นหนึ่งในผู้ถือบัตร ต่อมาพบว่ามีเจ้าของโรงน้ำแข็ง ใส่ทองเส้นโต ออกรถป้ายแดง โชว์บัตรคนจน จากข้อมูลผู้ถือบัตรคนจน พบว่ามีคนจบ ดร.ได้รับบัตรไปหลายรายด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบของกระทรวงการคลังยังไม่สามารถยึดบัตรคืนจากผู้ถือที่มีปัญหาได้ จึงทำให้เกิดข้อครหาถึงกระบวนการในการลงทะเบียน และตรวจสอบที่ยังไม่ดีพอ ทำให้คนที่ไม่จนจริงเข้ามาถือบัตรได้

ดังนั้น เงื่อนไขเดิมคือ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 1 แสนบาท มีบ้านขนาดบ้านไม่เกิน 25 ตร.ว. และคอนโดขนาดไม่เกิน 35 ตร.ม. มีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเองไม่เกิน 1 ไร่ ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 10 ไร่ อาจต้องปรับใหม่ โดยให้นำรายได้ของครอบครัวเข้ามาเป็นหนึ่งคุณสมบัติด้วย เพราะผู้ที่ได้รับบัตรบางรายอาจอยู่บ้านหลังโต เช่น แม่บ้าน เด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มีข้อมูลการถือครองทรัพย์สิน และไม่มีรายได้ เนื่องจากอาศัยอยู่กับสามี หรืออยู่กับพ่อแม่ที่มีฐานะดี ก็ไม่สมควรได้รับบัตร

รวมถึงยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการในพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับหมู่บ้าน เพื่อมาช่วยตรวจสอบผู้รับบัตรในพื้นที่ว่าจนจริงหรือไม่ รวมถึงเข้ามาช่วยคัดกรองและเสนอรายชื่อผู้ที่ควรได้รับบัตร เพราะการแจกบัตรรอบก่อนพบว่ามีตกหล่นหลายราย

กระทรวงการคลังหวังว่าเกณฑ์ที่เข้มงวดจะทำให้ตัวเลขคนจนรอบใหม่ลดลงเหลือ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นการประเมินจากสถิติคนจนรายครอบครัวที่มีประมาณ 6-7 ล้านครัวเรือน ตรงนี้อาจสวนทางกับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนผู้รับบัตรให้มากกว่า 14.5 ล้านราย

ดังนั้น ต้องจับตาว่าการลงทะเบียนรอบใหม่ น่าจะเกิดขึ้นไม่เกินปีนี้เงื่อนไขใหม่เป็นอย่างไร และประเมินกันว่าสวัสดิการใหม่ๆ ตามนโยบายรัฐบาลชุดใหม่จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2563

เตรียม1แสนล.แจกสวัสดิการ 

ทันทีที่รัฐบาลใหม่เข้ามาพบปัญหาเงินแจกสวัสดิการเหลือไม่มาก โดยเงินแจกสวัสดิการมาจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ล่าสุดเหลือเงินในระดับกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จะได้เงินจัดสรรจากงบประมาณประจำปี 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี

แม้เงินจะเหลือน้อยแต่นายอุตตมยืนยันแล้วว่าการแจกสวัสดิการมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการไปยังสำนักงบประมาณให้หาเงินใส่เข้ากองทุนเพิ่มเติมให้ครบ 1 แสนล้านบาท เพื่อจะได้มีเงินเพียงพอแจกสวัสดิการเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณเตรียมจัดสรรงบใส่กองทุนในปีงบ 2563 ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท

ในแต่ละเดือนกองทุนต้องควักเงินจ่ายให้คนจนผ่านบัตรสวัสดิการประมาณ 3-4 พันล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายในส่วนของสวัสดิการพื้นฐาน คือ วงเงินซื้อของร้านธงฟ้าเดือนละ 200-300 บาท ค่ารถเมล์ ขสมก.หรือรถไฟฟ้าเดือนละ 500 บาท ค่ารถไฟเดือนละ 500 บาท ค่ารถ บขส.เดือนละ 500 บาท ส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน

ตรงนี้ยังไม่รวมสวัสดิการให้เป็นครั้งคราว เช่น แจกเงินขวัญถุงช่วงปีใหม่คนละ 500 บาท แจกเงินให้ผู้ปกครองใช้ซื้อชุดนักเรียน 500 บาทแจกเงินให้คนแก่เพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มเติมเงินค่าน้ำและค่าไฟ อีกทั้งจ่ายเงินเพิ่มแลกกับการเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพอีกเดือนละ 100-200 บาท

คาดว่าสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐบาลใหม่จะเพิ่มเติม ซึ่งปรับจากสวัสดิการครั้งคราว อาทิ ค่าไฟ 230 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน และค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งเดิมครบกำหนดในเดือนกันยายนนี้ให้กลายเป็นมาตรการถาวร เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐเคยพูดถึงไว้

อย่างไรก็ตาม คงต้องมาดูงบประมาณอีกครั้ง เพราะเงินใช้แจกสวัสดิการพื้นฐานปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท หากต้องเพิ่มค่าน้ำและค่าไฟ ต้องมาดูว่าจะเพียงพอหรือไม่

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินแจกสวัสดิการให้คนจน ทั้งสวัสดิการพื้นฐานและสวัสดิการชั่วคราวไปแล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท จากงบประมาณรับจัดสรรมาทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท

หนุนเพิ่ม”ช่วยคนท้อง-คนแก่”

นโยบายที่คาดว่าจะทำเพิ่มเติมในบัตรสวัสดิการอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว คือ นโยบายมารดาประชารัฐ ของพรรคพลังประชารัฐ

ที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะแจกเงินให้กับแม่ตั้งครรภ์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ เดือนละ 3 พันบาท เป็นเวลา 9 เดือน รวมสูงสุด 2.7 หมื่นบาทให้ค่าทำคลอด 1 หมื่นบาท หลังคลอดจ่ายค่าเลี้ยงดูเด็กเดือนละ 2 พันบาทจนถึงอายุ 6 ปี รวมเป็นเงิน 1.44 แสนบาท เมื่อรวมทั้งหมดเด็ก 1 คน รับเงินจากนโยบายมารดาประชารัฐ 1.81 แสนบาท

ถ้าดูตามนโยบายดังกล่าว หากจะจ่ายให้กับผู้ตั้งครรภ์ทุกรายคงใช้เงินมหาศาล ดังนั้นในระยะแรกเน้นในกลุ่มผู้ถือบัตรคนจนก่อน ซึ่งตามข้อมูลจ่ายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกรมบัญชีกลางให้กับแม่ที่มีฐานะยากจนเดือนละ 600 บาท มีผู้รับเงินอุดหนุนกว่า 2 แสนคน ดังนั้นประเมินว่ามีกลุ่มแม่ตั้งครรภ์เข้าร่วมนโยบายมารดาประชารัฐปีละเกือบ 1 แสนคน

ขณะนี้รายละเอียดในการจ่ายเงินนั้นอยู่ระหว่างการหารือของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และฝ่ายการเมือง เนื่องจากต้องดูว่าเงินจะมีเพียงพอหรือไม่หากทำตามนโยบายดังกล่าวให้ครบทุกคำพูดที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ และต้องกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินให้ชัดเจน เช่น เริ่มตั้งท้อง เริ่มคลอด หรืออยู่ระหว่างการตั้งท้อง เมื่อไหร่

นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ว่าจะปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน เท่ากันทุกช่วงอายุ จากขณะนี้รับเป็นขั้นบันได คือ อายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปีจะได้รับ 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาทต่อเดือน อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน

ถึงขณะนี้นโยบายปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรายังไม่มีการพูดถึงหลังพรรคพลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล แต่เป็นที่น่าจับตามองว่าอาจจะมีการใส่เงินให้กับคนชราในบัตรคนจนเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการดูแลคนชรา

นอกจากรับเบี้ยยังชีพจากรัฐบาลแล้ว ยังมีกองทุนผู้สูงอายุ ได้รับเงินจากภาษีบาป และเงินบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยสมัครใจ ทำให้คนชราที่ถือบัตรคนจนกว่า 4.6 ล้านคน รับเงินเพิ่มขึ้นอีกคนละ 100 บาท จากคนชรารับเบี้ยยังชีพทั้งหมด 9 ล้านคน

นักวิชาการคาใจตัวเลขคนจน

เมื่อถามความเห็นนักวิชาการถึงเรื่องบัตรคนจน นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อเสนอแนะว่า บัตรคนจนควรต้องแก้ไขในหลายเรื่อง เช่น มีกลุ่มคนบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึงบัตร เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ เงื่อนไขในการแจกบัตรกำหนดรายได้ 1 แสนบาทต่อปี ซึ่งมีผู้ถือบัตร 14.5 ล้านราย ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดรายได้คนจนไว้เพียง 3 หมื่นบาทต่อปี มีกลุ่มคนยากจน 4-5 ล้านราย ดังนั้น นิยามของคนจนระหว่างกระทรวงการคลังและ สศช.ถือว่าแตกต่างกันพอสมควร ทำให้จำนวนคนมากกว่ากัน เมื่อคนมากกว่ากันทำให้ต้องใช้งบประมาณดูแลมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ควรได้รับบัตร เช่น ลูกหลานของคนมีฐานะเป็นผลจากระบบตรวจสอบยังไม่ดีพอ รวมถึงพบปัญหาโกงกัน เช่น ร้านค้าที่ขายสินค้าแพงกว่าที่ควรจะเป็น ยึดบัตรจากคนจน มีการเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าในการรูดซื้อสินค้า

ดังนั้น หากกระทรวงการคลังจะปรับสวัสดิการควรปรับเงื่อนไข และแนวทางการให้บัตรคนจนใหม่ โดยมองว่าไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะการลงทะเบียนใหม่แต่ละครั้ง มีต้นทุน ต้องใช้งบเพื่อการลงทะเบียน นอกจากนี้ทำให้คนจนต้องเสียเงินค่าเดินทางเพื่อมาลงทะเบียน ซึ่งควรปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมแทนการลงทะเบียนใหม่ ถ้าใครไม่เข้าข่ายควรยกเลิกบัตร รวมถึงแจกบัตรเพิ่มให้กลุ่มคนที่ยังตกหล่น โดยให้ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยพิจารณาว่ามีใครในท้องถิ่นที่สมควรได้รับบัตรและยังไม่ได้ในรอบที่ผ่านมาบ้าง

แนะแจกเงินไม่จำกัดการใช้

นณริฏให้ความเห็นต่อว่า ในการให้สวัสดิการกำหนดเป็นวงเงินสำหรับซื้อของร้านธงฟ้า เงินสำหรับเดินทางรถโดยสาร รถไฟ หรือเงินส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้มนั้น เป็นการจำกัดการใช้เกินไป ก่อนหน้านี้การกำหนดให้ไปซื้อของเฉพาะร้านธงฟ้ามีต้นทุนในการเดินทาง เพราะร้านธงฟ้ายังมีไม่มาก

มองว่าการแจกเงินหรือใส่เงินเข้าไปในบัตร สามารถกดใช้หรือนำไปรูดซื้อของที่ใดก็ได้ น่าจะยืดหยุ่นมากกว่า และช่วยตอบโจทย์ชีวิตคนจนมากกว่า ซึ่งหากจะแจกเงินเป็นรายเดือนน่าจะดีกว่าการให้นำบัตรไปใช้ตามเงื่อนไขต่างๆ และการช่วยเหลือควรเน้นกลุ่มยากจน คือรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปีมากกว่าที่จะให้กลุ่มเกือบจน ซึ่งมีรายได้เกินกว่า 3 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาทต่อปี

การให้สวัสดิการรอบใหม่ ควรตรวจสอบผู้ถือบัตรทั้ง 14.5 ล้านคนใหม่ว่าพ้นยากจนไปแล้วกี่ราย เพราะช่วงแรกในการช่วยเหลือ รัฐบาลชุดก่อนเน้นการช่วยลดภาระค่าครองชีพ หลังจากนั้นมีมาตรการพัฒนาอาชีพ จึงควรประเมินว่าการพัฒนาอาชีพให้ผลดีแค่ไหนและพ้นความยากจนแล้วกี่คน รวมถึงประเมินผลการดำเนินการของบัตรสวัสดิการช่วงที่ผ่านมาว่าช่วยลดภาระประชาชนได้เพียงใด

สำหรับวงเงินที่จะใส่เข้าไปในบัตร ควรมีการวิจัยเพื่อดูถึงความต้องการที่แท้จริง เพราะเท่าที่ดูงบประมาณกว่า 1.2 แสนล้านบาท ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เท่ากับว่าคนจนผู้ถือบัตรได้รับคนละ 8 หมื่นบาท ถือว่าไม่น้อย หากทำต่อควรต้องสรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมา เพื่อดูว่าจะเดินหน้าอย่างไร

ส่วนความเห็นว่าบัตรคนจนดำเนินต่อหรือยกเลิก มองว่าควรทำต่อ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือกลุ่มคนจนที่ตรงจุดที่สุดเท่าที่เคยทำมา แต่ควรปรับวิธีการใหม่ เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ภาคประชาชนร้องขอสวัสดิการถ้วนหน้า

เมื่อถามความเห็นภาคประชาชน แสงศิริ ตรีมรรคา ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรแจกสวัสดิการเฉพาะคนจนผ่านบัตรสวัสดิการเท่านั้น หากจะให้สวัสดิการควรให้แบบถ้วนหน้า ทุกคนที่ควรได้ควรให้ทั้งหมด โดยดูจากเกณฑ์รายได้ ภาครัฐควรทบทวนนโยบายสวัสดิการทั้งหมดที่เคยให้มา ซึ่งจะพบว่าสวัสดิการของภาครัฐนั้นมีจำนวนมาก

รัฐควรจะมาจัดระบบสวัสดิการใหม่ เน้นกลุ่มที่ควรได้ เช่น การให้บำนาญในกลุ่มผู้สูงวัย ขณะนี้ได้รับ 500-600 บาทต่อเดือนนั้น ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ รวมถึงให้สวัสดิการด้านการศึกษา เพราะขณะนี้ยังไม่ฟรีจริง เรื่องประกันสุขภาพที่ยังไม่เท่าเทียมกันระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ

การให้สวัสดิการผ่านบัตรคนจนของรัฐบาลช่วงที่ผ่านมา พบว่า ระบบการตรวจสอบรายได้ เช่น ข้อกำหนดรายได้ต่อปี การถือครองที่ดิน นั้นยังไม่ค่อยสมเหตุสมผล มีกลุ่มคนที่ตกหล่นอีกมาก และคนที่ไม่ควรได้ก็ได้บัตร โดยยังไม่เห็นประโยชน์ที่ชัดเจนจากการให้สวัสดิการผ่านบัตรดังกล่าว

นอกจากนี้ การให้นำบัตรสวัสดิการไปใช้ได้เฉพาะบางร้าน ทำให้เห็นว่าภาครัฐยังไม่เชื่อมั่นประชาชน ถ้าหากต้องการช่วยเหลือประชาชนให้มีรายได้เพิ่ม ควรให้เป็นเงินจะดีกว่าการไปจำกัดว่าให้ใช้บัตรเพื่อซื้อของเท่านั้น

“การให้สวัสดิการบางเรื่องยังไม่ตอบโจทย์คนจน เช่น การฝึกอบรมอาชีพ เพื่อแลกกับเงินเพิ่มขึ้นในบัตร เท่าที่ไปคุยกับคนจน เขาไปสมัครฝึกอาชีพเพราะอยากได้เงินเพิ่ม แต่สุดท้ายไม่สามารถใช้การฝึกอบรมอาชีพมาต่อยอดการใช้ชีวิตได้ เพราะอบรมไปเพียงครั้งเดียว”

การแจกสวัสดิการผ่านบัตรคนจน เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้าต่อ นโยบายหาเสียงถือเป็นสัญญานักการเมือง ประชาชนรอคอยคำตอบว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่

อย่างไรก็ตาม หากจะนำนโยบายหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลมาดำเนินการทั้งหมด สำนักงบประมาณประเมินว่าจะใช้เงินประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ถือว่าสูงมาก คงไม่สามารถทำได้ทั้งหมดทุกนโยบาย

คงต้องติดตามว่าการเดินหน้าบัตรคนจนของรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด จะทำได้มากน้อยแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image