เศรษฐกิจไทยเปราะบาง เผชิญหลายปัจจัยลบ หวัง รบ.โชว์ฝีมือเร่งด่วน ไม่มีฮันนีมูนพีเรียด!!

ผ่านพ้นการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” นับจากนี้จึงต้องเหยียบคันเร่งการทำงานมิดเลยทีเดียว เพราะช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมากินเวลาทำงานไปมากแล้ว
เวลานี้สปอตไลต์ทุกดวงจึงจับจ้องไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทีมรัฐมนตรี ว่าจะลุยนโยบายอะไร อย่างไร เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

⦁ระเบิดท้าทาย รบ.
ล่าสุด ยังเกิดเหตุระเบิดป่วนเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายจุดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่ก็เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องลากผู้กระทำผิดมาลงโทษ ควบคุมสถานการณ์ และต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะความปลอดภัยคือตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการใช้จ่ายของประชาชน และท่องเที่ยว ที่เป็นความหวังว่าจะพอทดแทนส่งออกที่ชะลอตัว เติมเต็มเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนไปได้
เพราะสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.6% ขณะที่ส่งออกโต 2.2% โดยประเมินช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ดูจากสถานการณ์ล่าสุดมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขหลักทั้ง 2 ตัวจะปรับลดลงอีกช่วงปลายเดือนนี้ ตามหน่วยงานอื่นๆ ที่ปรับลดตัวเลขไปก่อนหน้านี้

⦁ประสานเสียงกดจีดีพี-ส่งออก
หนึ่งคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโต 3.3% ขณะที่ส่งออกอยู่ที่ 0%
อีกหนึ่งคือ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ปรับลดจีดีพีปีนี้ เติบโต 2.9-3.3% ขณะที่การส่งออกคาดติดลบ 1-1%

ทั้งหมดเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง สงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและจีนที่ดุเดือดตอบโต้กันไปมา ลามไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เริ่มใช้แนวทางเดียวกัน กอปรกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนภาคเอกชนออกมาเรียกร้อง ขอนัดพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือผลกระทบและมาตรการดูแลค่าเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกไทย

Advertisement

นอกจากนี้สาเหตุกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวยังยึดโยงกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น น้ำภาคเกษตรไม่พอใช้ กระทบต่อรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการลงทุนชะลอตัว ซึ่งปัญหาทั้งหมดไม่ได้รับการแก้ไขทันที เพราะรัฐบาลประสบปัญหาความล่าช้า กว่าจะจัดตั้ง “ประยุทธ์ 2” ได้ใช้เวลากว่า 100 วัน จึงฟอร์มรัฐบาลได้สำเร็จ เข้าทำงานได้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“ในภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวจากสงครามการค้า ขณะที่การจัดงบประมาณประจำปี 2563 ล่าช้าออกไป รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นโดยเรียงลำดับความสำคัญ และต้องคำนึงถึงการเติบโตในระยะยาว ทั้งด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจและโครงสร้างเศรษฐกิจ” เสียงเรียกร้องจาก กกร.

⦁ปัจจัยโลกรุมเร้า
ล่าสุด ความเคลื่อนไหวของโลกเริ่มกดดันไทยมากขึ้น เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% อาจกระตุ้นให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยธนาคารกรุงไทยประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 สิงหาคม คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ต่อไป

Advertisement

นอกจากนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 10% มูลค่า 3.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีผลวันที่ 1 กันยายน 2562 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปรับตัวลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ในปี 2562 ติดลบ 0.6% สูงสุดในรอบ 4 ปี โดยอาจติดลบ 1%-1.5%

จากผลกระทบดังกล่าวยังทำให้สุดสัปดาห์ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรุนแรงกว่า 20 จุด
นอกจากนี้จากการส่งออกที่ย่ำแย่ยังส่งผลโดยตรงต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมิถุนายน 2562 ติดลบถึง 5.54% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 29 เดือน ทำให้จีดีพีภาคอุตสาหกรรม 1.5-2.5% และเอ็มพีไอทั้งปี 1.5-2.5% อาจต้องทบทวน

ด้านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ก็ออกมายอมรับว่า ขณะนี้มีสัญญาณหนี้เสียจากปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐที่กระทบการส่งออก ครึ่งแรกของปีหนี้เสียอยู่ที่ 4.56 พันล้านบาท หรือ 4.26% ของสินเชื่อรวม จากสิ้นปีอยู่ที่ 3.78% คาดทั้งปีทรงตัว

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังแสดงความเห็นต่อกรณี (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 2.5% ว่า กังวลว่าจะเป็นสาเหตุทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้นกระทบต่อเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น โดยวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ส.อ.ท.เตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอให้ดูแลค่าเงิน โดย ส.อ.ท.พยายามสะท้อนปัญหาเพราะกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ จึงมองว่าไทยช้าไปแล้ว

⦁ค่าแรง400บ.กดส่งออกแสนล้าน
นอกจากนี้ในภาคผู้ผลิตเองก็เริ่มกังวลต่อแนวนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันของรัฐบาล โดย ส.อ.ท.เสนอให้รัฐใช้วิธีจ่ายเงินส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแทนลูกจ้าง 5% ของเงินเดือนเป็นการชั่วคราว 6-12 เดือน รวมรัฐจ่าย 7.75% เพราะปัจจุบันนายจ้างจะต้องจ่ายสมทบประกันสังคม 5% ลูกจ้าง 5% และรัฐจ่ายสมทบ 2.75% ของเงินเดือน

ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาพบว่าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันจะส่งผลกระทบต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าของผู้ส่งออกไทย และมูลค่าการส่งออกของไทย หากค่าจ้างเปลี่ยนแปลงไป 1% จะส่งผลให้การส่งออกลดลง 0.06% หรือถ้ามีการขึ้นราคาค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท เท่ากับมีการปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จะส่งผลกระทบให้การส่งออกลดลงไปประมาณ 1.8% หรือมีมูลค่า 142,961 ล้านบาท

⦁อีอีซีชะงักกระทบลงทุน
ด้านความคืบหน้านโยบายด้านการลงทุนของประเทศครั้งสำคัญอย่าง โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 ปี (2562-66) มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย พัฒนาเมืองใหม่ และพัฒนาด้านการท่องเที่ยว

โดย 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ วงเงินรวม 6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเดิมกำหนดได้ผู้ชนะการประมูลต้นปี 2562 และกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 แต่ปัจจุบันแม้ได้ผู้ชนะแล้ว แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา 2.โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 ปัจจุบันยังไม่ได้ผู้ชนะประมูล 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ 4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 กำหนดแล้วเสร็จปี 2567 ได้ผู้ชนะประมูลแล้วคาดจะลงนามได้เดือนกันยายนนี้ และ 5.ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 กำหนดเสร็จปี 2568 ปัจจุบันยังไม่ได้ผู้ชนะประมูล

ความล่าช้าของโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี สาเหตุหลักมาจากปัญหาเชิงเทคนิค ที่ต้องมีการเจรจาไปมา มีการฟ้องร้องเพื่อตีความคุณสมบัติ ถือเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกปัจจัยที่ทำให้ 5 โครงสร้างพื้นฐานอีอีซีล่าช้ามาจากปัญหาการเมือง การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ซึ่งประเด็นโครงสร้างพื้นฐานนี้หากต้วมเตี้ยมก็จะกระทบต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย เพราะนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ๆ ของโลก ต่างจับตาว่าไทยจะสามารถเดินหน้านโยบายตามที่ประกาศระหว่างการออกไปชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องแรงงานทักษะสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี 4.75 แสนตำแหน่ง เป็นอีกปัจจัยต่อเนื่องกับการลงทุน ภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการผลิตแรงงานเหล่านี้

สำหรับพื้นที่การลงทุน วันที่ 8 สิงหาคมนี้ ตามกรอบกฎหมายอีอีซีจะต้องมีการประกาศผังเมืองพื้นที่อีอีซี ถือเป็นอีกเรื่องที่นักลงทุนเฝ้าติดตาม เพราะระหว่างนี้กลุ่มต่อต้านก็ออกมาขย่มอย่างต่อเนื่อง

⦁บีโอไอยันลงทุนไทยยังไปได้สวย
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการลงทุน นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยืนยันว่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกของปี 2562 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 758 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 232,000 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นคำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีกว่า 118,000 ล้านบาท ส่วนคำขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่ากว่า 147,000 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ จีนและฮ่องกง โดยการที่เม็ดเงินลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทย เพราะปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนของไทยมีความแข็งแกร่งและได้เปรียบประเทศคู่แข่งในภูมิภาค

รองเลขาธิการบีโอไอ ยังย้ำว่า ปีนี้ตั้งเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 ของทั้งประเทศไว้ที่ 750,000 ล้านบาท โดยเป็นคำขอในพื้นที่อีอีซีไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาที่เหลือ บีโอไอจะทำงานเชิงรุกอย่างเต็มที่ให้ได้การลงทุนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งในระดับประเทศและในพื้นที่อีอีซี โดยขณะนี้รัฐบาลใหม่ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เต็มตัวแล้ว หลังจากนี้คงจะได้เดินหน้าผลักดันโครงการสำคัญๆ ให้มีความต่อเนื่องและสำเร็จตามกรอบเวลาที่วางแผนไว้ โดยเฉพาะโครงการอีอีซี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังจะสูงขึ้นด้วย

⦁รัฐมุ่งนโยบายลด-แจก
ขณะที่บรรยากาศการทำงานของรัฐบาลในช่วงเริ่มต้น พบว่ายังเน้นไปที่การลด แลก แจก แถม อาทิ หมวดพลังงาน ที่มีการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม สำหรับแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย และราคาเอ็นจีวี สำหรับรถโดยสารสาธารณะ โดยกระทรวงการคลัง อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่รวบรวมจากทุกพรรคไปหารือกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

⦁‘บิ๊กตู่’สั่งครม.เศรษฐกิจได้
จากความไม่เป็นใจในหลายด้าน นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกระดับต้องเร่งคลอดออกมา ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ก็คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ช่วงต้นปี 2563 และใช้กรอบงบประมาณปี 2562 ไปก่อน รัฐบาลเองรับรู้ถึงสถานการณ์ทำงานที่ทีมเศรษฐกิจประกอบด้วยหลายพรรค ทำให้รัฐบาลต้องเร่งจัดตั้ง ครม.เศรษฐกิจเพื่อผลักดันนโยบาย โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธาน แต่ก็ถูกต้านว่าไม่เหมาะสม
ประเด็นนี้ เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจที่เพิ่งจัดตั้งนั้น ถือว่าเหมาะสมแล้ว และ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ให้สัมภาษณ์แล้วว่ามีความรู้เข้าใจด้านเศรษฐกิจเพราะทำงานมาตลอด 5 ปี ทั้งนี้ในมุมของ ส.อ.ท.มองว่าเนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นการรวมตัวของพรรคร่วมรวม 19 พรรคการเมือง จึงมีความแปลกตา ต้องยอมรับข้อนี้ทำให้สิ่งที่หลายฝ่ายรวมทั้งเอกชนเป็นกังวล เป็นห่วงอย่างมาก คือ เอกภาพในการทำงาน โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่ผสมถึง 4 พรรคการเมือง คือ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงเป็นบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดที่สามารถสั่งการพรรคร่วมให้การดำเนินงานของรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกัน

“หากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งดังกล่าวเท่ากับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ควบทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเท่ากับนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ควบทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การทำงานอาจเกิดปัญหา สั่งการยาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของแต่ละพรรคก็ต้องรายงานพรรคตัวเองเป็นหลัก อาจเกิดปัญหาเรื่องกระบวนการติดตามให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงเหมาะสมที่สุดที่นั่งเป็นหัวหน้าทีม เป็นประธานการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ที่จำเป็นต้องเร่งประชุมเพื่อผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ” เกรียงไกรกล่าว

⦁แนะเดินหน้า3เรื่องด่วน
รองประธาน ส.อ.ท.ยังมองว่า ทั้งนี้สิ่งที่ทีมเศรษฐกิจควรเร่งดำเนินการแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก คือ ปัญหาด้านกำลังซื้อในประเทศที่ซบเซาโดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนฐานรากในต่างจังหวัด ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ อาจทำในรูปของการดูแลราคาสินค้าเกษตร แต่รัฐบาลเองต้องทำให้นโยบายเกิดเร็วควบคู่กับการคุมค่าใช้จ่ายรัฐที่เหมาะสม ต่อมาคือการแก้ปัญหาภัยแล้ง ทั้งระยะสั้น กลางและยาว โดยระยะสั้นต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดน้ำแม้จะเดินหน้าปลูกพืชไปแล้ว ไม่เช่นนั้นจะยิ่งซ้ำเติมปัญหารายได้ กำลังซื้อของประชาชน ส่วนระยะกลางและยาว รัฐบาลต้องวางแผนแก้ปัญหา เพราะเป็นเรื่องทราบดีอยู่แล้วว่าแต่ละปีจะเกิดปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม เรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ปัญหาด้านความเชื่อมั่นก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ เพราะกระทบต่อการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะการผลักดันให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประสบความสำเร็จโดยเร็ว ในด้านความเชื่อมั่นยังรวมถึงการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นหลายจุดในช่วง 2 วันที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องความปรองดองของคนในชาติ

บรรยากาศการทำงานหลังจากนี้ถือเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของรัฐบาลว่าจะผลิตเนื้องาน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจให้ถูกใจชาวบ้าน และสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ สมกับที่หลายคนเฝ้ารอได้หรือไม่…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image