หุ้นไทยกระอักเทรดวอร์ ตั้งหลักรับอานิสงส์กระตุ้น3แสนล.

อีก 4 เดือนจะพ้นปี 2562 แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าปีนี้เป็นปีที่แสนสาหัสมากสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่มีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเข้ามากระทบอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนมาก เกิดภาพลบสลับบวกอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ช่วงต้นปีดูทรงแล้วตลาดหุ้นจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีก็ตาม

หุ้นไทยผันผวน

โดยในช่วงต้นปีได้มีนักวิเคราะห์ออกมาประเมินว่า ดัชนีหุ้นไทยในปี 2562 จะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับ 1,800-1,900 จุด แม้ว่าในระยะสั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยอาจผันผวนและเคลื่อนไหวตามกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) และปัจจัยภายนอกประเทศอยู่บ้าง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค ตลาดหุ้นไทยยังคงมีเม็ดเงินเข้าลงทุนต่อเนื่อง ช่วงแรกเกิดภาพการปรับขึ้นของดัชนีเคลื่อนไหวได้ในระดับ 1,700 กว่าจุด

แต่ปรับขึ้นไม่ทันไรก็ถูกสกัดด้วยปัจจัยภายนอกที่ร้อนแรง คือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน (เทรดวอร์) รวมถึงปัจจัยในประเทศอย่างการเมืองที่มีผลกระทบเข้ามารบกวนเป็นระยะๆ ต่อมาเริ่มเห็นสัญญาณการไหลกลับเข้ามาของเม็ดเงินต่างชาติ จนหนุนทำให้ดัชนีปรับขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้อีกมุมหนึ่งก็เกิดภาวะเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อการส่งออก จนผู้ส่งออกร้องแรกแหกกระเชอ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องตัดสินใจออกมาตรการสกัดเงินทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาทำกำไรในตลาดทุนไทย ทำให้เงินเริ่มไหลออก

Advertisement

ลุ้นครึ่งปีหลังสัญญาณดี

ขณะที่ทิศทางตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังที่เหลือนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างออกมาประเมินทิศทางตลาดหุ้น ว่ามีทิศทางเป็นบวก เพราะได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจเคาะวงเงินอัดฉีดระยะสั้นแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท และจะเข้า ครม. วันที่ 20 สิงหาคมนี้ รวมถึงความคาดหวังว่าการเจรจาการค้าสหรัฐและจีน จะออกมาในเชิงบวกได้

ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุนและกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ในลักษณะแกว่งตัวขึ้น และมีโอกาสทดสอบเป้าหมายสำคัญที่ 1,800 จุด และหากผ่านไปได้ อาจจะมีโอกาสไปสู่ 1,850 จุด โดยปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนตลาดหุ้นไทยมาจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญของโลกทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่นโยบายการคลังของจีนที่คาดว่าจะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน และแนวโน้มสงครามการค้าที่มีแนวโน้มออกมาในเชิงบวก

Advertisement

ขณะเดียวกันจากสถิติย้อนหลังพบว่า ตลาดหุ้นเอเชียจะตอบรับในเชิงบวกเมื่อเฟดเตรียมจะลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ 4 ครั้งล่าสุดเมื่อเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยติดต่อกัน 2 ครั้ง จะปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 13-22% ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ดัชนีขึ้นไปทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2563 โดยมองว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือจะฟื้นตัวได้ เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ของปีไปแล้ว โดยเฉพาะภาคการส่งออก

ส.ค.ปัจจัยกระทบเพียบ

ล่าสุดเดือนสิงหาคม พบว่ามีปัจจัยต่างประเทศเข้ามากระทบเป็นหลักและเป็นแรงกระทบที่หนักหนามาก ตั้งแต่สงครามการค้า เรื่อยมาจนถึงการออกจากสหภาพยุโปรของสหภาพอังกฤษ (เบร็กซิท) ภาพความไม่ชัดเจนของสหรัฐและอิหร่านในภาคการผลิตน้ำมัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมประท้วงในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ต้องติดตามว่าจะเกิดเหตุบานปลายจนต้องมีการใช้อาวุธหนักเข้าควบคุมสถานการณ์หรือไม่ หากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบกับบรรยากาศโลกแน่นอน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดปรับตัวลงในช่วงเดือนสิงหาคม เป็นความกังวลของนักลงทุนที่ต้องการรอดูความชัดเจนของประเด็นสงครามการค้าก่อน จนกระทั่งเกิดภาวะดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็ทำให้นักลงทุนผวาขายเทสินทรัพย์เสี่ยงทิ้ง แล้วนำเงินเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อให้สามารถล็อกอัตราผลตอบแทนในปัจจุบันไว้ให้ได้ ถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนในระยะยาวต่ำลงก็ตาม

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ มองว่า ตลาดกังวลมากเกินไปกับภาวะดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว แม้ว่าภาวะดังกล่าวจะถือเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ในอดีตสามารถใช้คาดการณ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยล่วงหน้าได้ แต่ปัจจุบันประสิทธิภาพดังกล่าวอาจลดลง เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจชะลอลงทั่วโลกในรอบนี้เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงภาคเศรษฐกิจที่มีปัญหาในปัจจุบันเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความสำคัญลดน้อยลง เมื่อเทียบกับภาคบริการที่มีความสำคัญมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวเกิดจากผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ที่เข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงเป็นผลจากการที่กองทุนต่างๆ เข้าลงทุนในพันธบัตรเพื่อประกันความเสี่ยง หากท้ายที่สุดภาวะดังกล่าวเป็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยจริง จากสถิติจะมีเวลาประมาณ 12-24 เดือน ก่อนเศรษฐกิจจะถดถอย ดังนั้น นักลงทุนจึงพอมีเวลาปรับสัดส่วนการลงทุนได้

ในส่วนของประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สหรัฐได้ทบทวนการเก็บภาษีซึ่งสะท้อนว่าสหรัฐเองก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเช่นกัน ดังนั้นการใช้มาตรการภาษีในการทำสงครามการค้าของสหรัฐเริ่มมีข้อจำกัด โดยสหรัฐอาจหันไปใช้เครื่องมือด้านอื่น เช่น ค่าเงินหรือเทคโนโลยี

บล.ไทยพาณิชย์ยังชี้ว่า เศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และเติบโตต่ำ ดังนั้นควรลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงที่มีส่วนผสมของทั้งตราสารหนี้และหุ้น แต่ให้เลือกสินทรัพย์ที่มีคุณภาพและมีผลตอบแทนมั่นคงในระยะยาว อาทิ หุ้นกู้เอกชนที่มีเครดิตดี หุ้นที่มีลักษณะปลอดภัย หุ้นปันผล รวมถึงกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและรีท นอกจากนี้ยังแนะนำกระจายความเสี่ยงในทองคำแต่ควรรอราคาต่ำกว่า 1,500 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อเข้าซื้อ

ด้านฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส มองว่าหุ้นไทยในช่วงที่เหลือนี้ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อไปทดสอบเป้าหมายสำคัญของปีที่ 1,760 จุด ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากเม็ดเงินต่างชาติที่ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่ชัดเจน และอาจจะส่งผลให้ตลาดเผชิญแรงขายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีได้ โดยยังต้องระมัดระวังแรงเทขายในช่วงสั้นๆ

นอกจากนี้ต้องติดตามสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นปัจจัยที่ยังมีผลต่อการลงทุนในครึ่งปีหลังอย่างมาก ซึ่งอาจจะมีสัญญาณเชิงลบขึ้นมาอีกครั้งในช่วงปลายปี ทำให้ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และกดดันให้หุ้นกลุ่มพลังงานของไทยยังเผชิญกับความผันผวน

เทรดวอร์กระทบทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้ภาพตลาดอยู่ในข้างแย่สุดสุด คือ ประเด็นเทรดวอร์ระหว่างสหรัฐและจีนเกิดความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมไม่มีการเจรจากันเกิดขึ้น และสถานการณ์ความไม่ชัดเจนระหว่างสหรัฐและอิหร่าน รวมถึงกรณีเบร็กซิท โดยเฉพาะสงครามการค้ากำลังกลายสภาพเป็นสงครามการเงินด้วย หากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แน่นอนว่าสกุลเงินเยนและยูโรก็คงยอมไม่ได้ เชื่อว่าจะเกิดนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อดึงให้ค่าเงินของตัวเองไม่อ่อนมากกว่าต่างประเทศมากนัก

โดยเทรดวอร์ระหว่าง 2 ยักษ์นั้น เริ่มแรกสหรัฐตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 25% มูลค่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนจีนก็ตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่ม 10% มูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเก็บเพิ่มอีก 25% มูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จนกระทั่งสหรัฐออกมาประกาศว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่ม 10% มูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เลื่อนจากเดิม 1 กันยายนนี้เป็น 15 ธันวาคมนี้ ในบางหมวดสินค้า หมายความว่ามีสินค้าในบางรายการที่จะเริ่มเก็บตามกำหนดเดิม

ฉุดจีดีพีต่ำกว่า3%

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกันก้อนแรก ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของหลายประเทศลดต่ำลง เป็นผลกระทบที่สะท้อนอย่างชัดมาก หากภาพปัจจัยดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐหากมีการเก็บภาษีจากจีนเพิ่มขึ้น 25% จะทำให้โลกเกิดความวุ่นวายสูงมาก และมีอาการแย่ถึงขีดสุด หนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทยคาดว่าจีดีพีรวมของปี 2562 อาจจะโตต่ำกว่า 3% และการส่งออกจะโตติดลบ 1.5-2.5% รวมถึงคาดว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นเต็มๆ ต่อไทยในปี 2563

จากการประเมินของหลายสำนัก คาดการณ์จีดีพีไทยอยู่ที่ 3% ไตรมาสแรกโตเพียง 2.8% และไตรมาส 2 คาดว่าจะออกมาไม่ดี เพราะการใช้จ่ายในประเทศค่อนข้างนิ่งเพราะรอดูความชัดเจนของการเมืองไทยรวมถึงคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาคการส่งออกจะไม่โต การอุปโภคบริโภคไม่มีทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ และล่าสุดกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องติดตามว่าจะดึงจีดีพีให้โตเกิน 3% ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการตั้งกำแพงภาษีรอบนี้ จีนค่อนข้างมีความแข็งขืนมาก เพราะคงจะยอมไม่ได้แล้ว เมื่อจีนเริ่มแสดงความหัวแข็งออกมา ทำให้สหรัฐเป็นฝ่ายการยอมอ่อนข้อลงให้ จะเห็นได้จากการที่สหรัฐได้ประกาศว่าจะนำหัวเว่ยขึ้นบัญชีดำ จีนออกมาโต้ด้วยการประกาศว่าจะไม่มีการส่งแร่ที่ใช้ในภาคการผลิตที่สำคัญให้ สหรัฐก็ออกมาประกาศเลื่อนการนำหัวเว่ยเข้าบัญชีดำ

ต่อมาเมื่อสหรัฐออกมาประกาศว่าจะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในเดือนกันยายนนี้ ทำให้จีนออกมาตอบโต้สหรัฐด้วยการลดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงต่ำกว่า 7 หยวนต่อเหรียญสหรัฐในรอบ 11 ปี สหรัฐจึงเลื่อนเก็บเป็นเดือนธันวาคม สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐเองก็เริ่มกังวลว่าความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นกับประชาชนในสหรัฐเอง ผลกระทบที่เกิดขึ้นในสงครามครั้งนี้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย

จับตานโยบายการเงินผ่อนคลาย

ช่วงที่เหลือของปีนี้ประเด็นสงครามการค้า หากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง สกุลเงินหลักอื่นอย่าง เยน ยูโร ก็คงต้องพยายามทำให้ค่าเงินอยู่ในระดับเดียวกัน ด้วยการใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นคือ การพิมพ์พันธบัตรมากขึ้น เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วก็ไม่มีทางที่พันธบัตรเหล่านั้นจะสามารถหมุนเวียนอยู่ในประเทศได้ พออยู่ในประเทศไม่ได้ก็ต้องไหลออกมาในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจทั่วโลก คาดว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลจะทำให้เกิดภาพรวมดีขึ้นได้ รวมถึงไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยนี้ด้วย

โดยอานิสงส์ดังกล่าว คือ เงินที่อยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร เมื่อเกิดภาวะอัตราผลตอบแทนลดลง จนเกือบติดลบในหลายประเทศ ซึ่งผิดธรรมชาติของเงิน จะทำให้เกิดการย้ายเงินออกมาในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้น ดังนั้นจับตาดูตลาดพันธบัตรและทองคำ ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นทันที เป้าหมายดัชนีมีการคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,780 จุด น้อยกว่าปี 2561 ดัชนีทำจุดที่ดีที่สุดอยู่ในระดับ 1,870 จุด ถือเป็นการฟื้นตัวในลักษณะพักฐาน เนื่องจากภาพรวมตั้งแต่ต้นปีเป็นการปรับฐานขึ้นจากปี 2561 และดัชนีเคลื่อนไหวผันผวนสูงมาก

สู้เทรดวอร์ต้องกระตุ้นในประเทศ

การตั้งกำแพงภาษีระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ของโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการหันกลับมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศแทน เพราะปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้มีเยอะ ทั้งสงครามการค้า การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่ยังมีความอ่อนไหวอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้หากรัฐบาลสามารถหันมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศใด้ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ ท่ามกลางความกังวลสูงมากในปี 2563 แต่ขณะนี้ประเทศไทยมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่พอประกาศใช้ออกมาก็ช่วยดึงให้ตลาดหุ้นปิดบวกได้ ต้องติดตามว่ามาตรการจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนตัดสินใจออกมาขยับตัว ตัดสินใจลงทุนใหม่ หรือขยายลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในประเทศเพิ่มมากขึ้น และช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวฟื้นขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image