กะเทาะมาตรการกระตุ้นศก.เฟส2 ถึงคิวบีโอไอ…แสดงฝีมือชิงฐานลงทุน

ภายหลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดรายงานประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ขยายตัว 2.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือ 4 ปีครึ่ง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 และขยายตัว 0.6% เทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8% ซึ่งจีดีพีไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของปีนี้ ทำให้ช่วงครึ่งปีแรก 2562 จีดีพีขยายตัว 2.6%

จีดีพีปี?62คาดเหลือ3%

เมื่อตัวเลขถดถอยเช่นนี้ สศช. จึงปรับประมาณการจีดีพีใหม่คาดขยายตัว 3% หรือกรอบประมาณการ 2.7-3.0% จากเดิมคาดขยายตัว 3.6% หรือกรอบประมาณการ 3.3-3.8% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องปรับลดประมาณการ คือ การส่งออก ไตรมาส 2 ติดลบถึง 4.2% ติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ 4% ทำให้ครึ่งปีแรกติดลบ 4.1% จึงปรับประมาณการทั้งปีส่งออกติดลบ 1.2% จากเดิมคาดมูลค่าการส่งออกคาดเติบโตได้ 2.2%

โดยคาดหวังช่วงครึ่งปีหลังจะมีการผลักดันการส่งออกขยายตัวได้ 3% จากขยายตลาดและสินค้าเพิ่มเติม รวมทั้งผลจากการย้ายฐานการผลิตจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) และคาดมูลค่าท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.04 ล้านล้านบาท จากเดิม 2.21 ล้านล้านบาท

Advertisement

จี้บีโอไอกระตุ้นลงทุน

ในรายงานพบว่าอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวเกณฑ์ดีจากการบริโภคเอกชนขยายตัว 4.2% ส่วนการลงทุนเอกชนกลับปรับลดลงจาก 4.5% มาอยู่ที่ 3.7% เพราะการส่งออกที่ลดลงทำให้การใช้กำลังการผลิตลดลงจึงไม่มีการลงทุนเพิ่ม แต่คาดหวังการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเพิ่มขึ้น จากการย้ายฐานการลงทุนของบริษัทเอกชนหลายบริษัทที่มีความสนใจย้ายฐานการลงทุนจากผลกระทบเทรดวอร์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อาจต้องมีการออกแรงและสร้างแรงดึดดูดให้เข้ามาลงทุนในไทย

ขณะที่การบริโภคภาครัฐคาดขยายตัว 2.2% แต่การลงทุนภาครัฐลดจาก 4.5% อยู่ที่ 4% เพราะการเบิกจ่ายยังล่าช้า ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ

Advertisement

ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวแต่ยังขยายตัวได้ คาดจำนวนต่างชาติมาไทยเดิม 40.5 ล้านคน โต 5.8% มาอยู่ที่ 39.8 ล้านคน โต 4% จากการชะลอตัวนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป

ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 แข็งค่าช่วง 30.70-31.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เดิมมองไว้ 31.10-32.10 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีคาดอยู่ช่วง 59.0-69.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เดิมอยู่ที่ 62.0-72.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ชงมาตรการเข้าครม.เศรษฐกิจ

สภาพัฒน์ยังประเมินว่าโดยตัวเลขจีดีพีทั้งปี รวมผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 3.1 แสนล้านบาท ทำให้ไตรมาสที่ 3 และ 4 เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ และเป็นเพียงมาตรการกระตุ้นส่วนแรกๆ ที่รัฐจะนำออกมาใช้

สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ระบุว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการกระตุ้นด้านอื่น โดยเฉพาะการลงทุน เข้า ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ 30 สิงหาคมนี้

พร้อมประกาศแนวทางการบริหารเศรษฐกิจปี 2562-2563 ใน 7 ด้าน คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและรายได้สุทธิของเกษตร การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและเม็ดเงินภาครัฐ การขับเคลื่อนการส่งออก การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว และการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน และล็อตแรก 3.1 แสนล้านบาท ยังไม่แตะเรื่องการลงทุนที่น่าจะเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่อในเฟส 2

บีโอไอเดินหน้าล็อกเป้าลงทุน

จึงเป็นที่มาในการเยือนของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อม กอบศักดิ์ เข้ามอบนโยบายต่อสำนักงานบีโอไอ และมอบโจทย์ให้บีโอไอไปเร่งดำเนินการ ว่าจะเร่งดึงการลงทุนจากประเทศที่ต้องการย้ายฐานจากจีนที่กำลังหันมาประเทศกลุ่มอาเซียนนั้น ต้องเลือกไทยเป็นอันดับแรก บีโอไอรับลูกตั้งทีมเฉพาะกิจว่าด้วยเรื่องการดึงนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตทันที พร้อมเร่งทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษเพื่อเจาะจงนักลงทุนกลุ่มนี้โดยตรง ผ่านกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยให้บีโอไอเป็นแกนเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหนุนการลงทุน ร่วมออกมาตรการต่างๆ ให้ทันประชุม ครม.เศรษฐกิจ 30 สิงหาคมนี้

โดยเบื้องต้นบีโอไอระบุว่าเตรียมแพคเกจการลงทุนไว้แล้ว เป้าหมายดึงบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการลงทุนจากจีนมาไทยแล้ว 100 บริษัท มีทั้งบริษัทจีนและบริษัทจากประเทศต่างๆ และเตรียมมาตรการไว้ 3 ส่วน ในนั้นคือ แพคเกจเฉพาะเพื่อดึงนักลงทุนที่หนีเทรดวอร์เสริมกับแพคเกจหลักที่ดำเนินอยู่ อาทิ แพคเกจปีแห่งการลงทุน ซึ่งจะสิ้นมาตรการภายในสิ้นปีนี้ ส่วนที่เหลือรอลุ้นที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ

ตามข้อมูลบีโอไอเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2562 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว 2.33 ล้านบาท รวม 758 โครงการ จำนวนนี้เป็นการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) 1.47 แสนล้านบาท ส่วนนี้เป้าหมายกระตุ้นให้ถึง 7.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ในภาพการกระตุ้นการลงทุน เตรียมจัดคณะออกไปชักจูงการลงทุนทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น และรัสเซียที่ลงทุนไทยเช่นกัน นอกจากนี้วันที่ 2 กันยายน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้และคณะนักลงทุนจะเยือนไทย รวม 500 คน เพราะเกาหลีกำลังผลักดันให้ออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเกาหลีและหลายประเทศต้องการให้ไทยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนเกาหลี ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างหาพื้นที่ทั้งนักลงทุนเกาหลีและประเทศที่ต้องการอยู่ในนิคมฯที่เป็นคนชาติเดียวกัน

เปิดชื่อร้อยบริษัทหนีเทรดวอร์

สำหรับ 100 บริษัทที่บีโอไอเตรียมเคาะประตู จากข้อมูล สศช. ทำรายงานสรุปรายชื่อบริษัทที่มีแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีน 48 บริษัท ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตเข้ามาประเทศไทย 10 ราย ได้แก่ Delta Electronics จากไต้หวัน ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะเข้ามาตั้งโรงงานที่ จ.สมุทรปราการ, Merry lectronics จากไต้หวัน ผลิตหูฟัง จะเข้ามาที่ จ.ชลบุรี

นอกจากนี้ Besser จากจีน ผลิตภัณฑ์แอลซีดี จะเข้ามาที่ จ.ฉะเชิงเทรา, Sharp จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, Ricoh จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้สำนักงาน, Xilinmen Furniture จากจีน ผลิตและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งทั้ง 3 บริษัทยังไม่ระบุที่ตั้ง, BFGoodrich จากสหรัฐ ผลิตยางรถยนต์ จะเข้ามาที่ จ.ชลบุรี

รวมทั้ง Sony จากญี่ปุ่น ผลิตสมาร์ทโฟน Harley Davidson จากสหรัฐ ผลิตรถจักรยานยนต์ 2 บริษัทนั้นยังไม่ระบุที่ตั้ง ส่วน Western Digital สหรัฐ ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เลือกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และ จ.ปราจีนบุรี

นอกจากนี้ มีบริษัทที่มีแผนเข้ามาตั้งในไทยและประเทศอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา 4 บริษัท ได้แก่ Kyocera จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์สำนักงาน อยู่ระหว่างการเลือกระหว่างไทยกับเวียดนาม, HP จากสหรัฐ อยู่ระหว่างการเลือกไทยกับไต้หวัน, Casio จากญี่ปุ่นกำลังเลือกระหว่างไทยกับญี่ปุ่น, Microsoft จากสหรัฐ อยู่ระหว่างการเลือกไทยกับอินโดนีเซีย

ส่วนบริษัทที่มีแผนไปในประเทศอื่นๆ แบ่งเป็นย้ายไปประเทศเวียดนาม 9 บริษัท และอยู่ระหว่างการเลือกลงทุนในเวียดนามและประเทศอื่น 4 บริษัท เลือกที่จะไปลงทุนไต้หวัน 4 บริษัท และอยู่ระหว่างการเลือกไปลงทุนไต้หวันและประเทศอื่น 2 บริษัท เลือกไปลงทุนที่ญี่ปุ่น 2 บริษัท อยู่ระหว่างการเลือกระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศอื่น 1 บริษัท เลือกไปลงทุนอินโดนีเซีย 1 บริษัท อยู่ระหว่างการเลือกลงทุนในอินโดนีเซียและประเทศอื่น 1 บริษัท เลือกลงทุนในเกาหลีใต้ 1 บริษัท และยังไม่ได้เลือกประเทศที่จะไปลงทุนอีก 13 บริษัท

ถูกตั้งคำถาม’มุ่งเอาใจต่างชาติ’

ภายหลังรัฐบาลแย้มเรื่องการกระตุ้นการลงทุนในประเทศผ่านการเตรียมจัดทำแพคเกจดึงการลงทุนบริษัทที่หนีเทรดวอร์ ก็มีเสียงจากผู้บริหารในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาระบุว่า รู้สึกผิดหวังกับมาตรการที่เตรียมเสนอ ครม.เศรษฐกิจ มุ่งดึงบริษัทต่างชาติเข้าไทย ไม่ได้ใส่ใจผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะวันนี้มีเอสเอ็มอีกี่รายที่ทราบว่าบีโอไอมีมาตรการส่งเสริม

“วิธีการทำงานของบีโอไอมุ่งแต่บริษัทใหญ่ เพราะสามารถสร้างตัวเลขคำขอได้มูลค่าสูง ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ยกตัวอย่างการเจรจาเวลาต้องการขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ เทียบกันระหว่างบริษัทใหญ่จะส่งลูกน้อง เจ้าของไม่มาเอง การเจรจาจะง่าย แต่ถ้าเป็นระดับเอสเอ็มอี เจ้าของหรือเถ้าแก่จะมาเอง จะมีความละเอียด มีการเจรจาต่อรองสิทธิประโยชน์ค่อนข้างมาก และตัวเลขการลงทุนน้อย ที่เป็นสาเหตุให้บีโอไอมุ่งคำขอแต่กิจการใหญ่ ถ้ายอดคำขอของเอสเอ็มอีมากจริง บีโอไอก็ควรเปิดตัวเลขทั้งจำนวน และมูลค่าออกมา”

บีโอไอยันดูแลนักลงทุนไทยทุกกลุ่ม

ต่อเนื่องนี้ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ ชี้แจงว่า มาตรการที่จะออกมานั้นครอบคลุมทั้งการรองรับการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศ และการลงทุนในโครงการทั่วไปทั้งของไทยและต่างชาติ เพราะบีโอไอมองเห็นความสำคัญและต้องการกระตุ้นการลงทุนของผู้ประกอบการไทยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการลงทุนที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ

รองเลขาธิการบีโอไอยังอธิบายแพคเกจของบีโอไอที่เตรียมเสนอ ครม.เศรษฐกิจ ว่า บีโอไอจะเสนอให้ ครม.เศรษฐกิจพิจารณาภาพรวมมาตรการทั้งหมด หากเห็นชอบ ก็จะนำเข้า ครม.ใหญ่ให้เห็นภาพทั้งหมดเหมือนกัน โดยมติ ครม.จะแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.มาตรการใดที่เป็นอำนาจของบีโอไอก็จะมีมติให้สำนักงานบีโอไอนำไปเสนอให้บอร์ดบีโอไอพิจารณาอนุมัติ 2.มาตรการใดเป็นอำนาจของหน่วยงานอื่น ก็จะมีมติให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยในภาพรวมก่อนเสนอ ครม.เศรษฐกิจบีโอไอจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนไม่ได้มีแค่สิทธิประโยชน์ของบีโอไอเท่านั้น ข้อเสนอครั้งนี้จะมองภาพแบบบูรณาการเครื่องมือต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาค อย่างข้อเสนอบางเรื่องที่เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เตรียมพร้อมปัจจัยรองรับการลงทุน รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของภาคธุรกิจ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี ควรจะดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาวด้วย

“แพคเกจใหม่จะมีข้อเสนอหลายเรื่อง บางเรื่องที่ต้องการกระตุ้นให้ลงทุนเร็วก็จะกำหนดกรอบเวลาที่สั้นภายใน 1-2 ปี แต่ไม่น่าจะเป็นสิ้นปีนี้ เพราะกว่าจะผ่านบอร์ดบีโอไอ และออกประกาศ จะเหลือเวลาเพียง 3 เดือนเศษ อาจสั้นเกินไปที่จะให้นักลงทุนวางแผนและตัดสินใจลงทุน”

ยอดขอบีโอไอเกิดลงทุนจริงสูง

รองเลขาธิการบีโอไอยังระบุถึงตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ว่า ตั้งแต่เริ่มใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีคำขอเข้ามาแล้วรวมจำนวน 6,365 โครงการ เงินลงทุนรวม 2.46 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) กว่าครึ่งหนึ่ง คือจำนวน 3,786 โครงการ ลงทุนรวม 1.33 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการจากญี่ปุ่น จีนและฮ่องกง สหรัฐ กลุ่มอาเซียน และกลุ่มยุโรป ในแง่อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

แต่หากเทียบรายปีช่วง 4 ปีใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ พบว่าปี 2558 มีคำขอ 1,001 โครงการ มูลค่า 2.07 แสนล้านบาท เอฟดีไอ 537 โครงการ มูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท, ปี2559 มีคำขอ 1,497 โครงการ มูลค่า 5.28 แสนล้านบาท เอฟดีไอ 900 โครงการ มูลค่า 2.53 แสนล้านบาท, ปี 2560 มีคำขอ 1,557 โครงการ มูลค่า 6.13 แสนล้านบาท เอฟดีไอ 888 โครงการ มูลค่า 2.88 แสนล้านบาท

ขณะที่ปี 2561 มีคำขอ 1,552 โครงการ มูลค่า 8.80 แสนล้านบาท เอฟดีไอ 993 โครงการ มูลค่า 5.47 แสนล้านบาท และปี 2562 (มกราคม-มิถุนายน) มีคำขอ 758 โครงการ มูลค่า 2.32 แสนล้านบาท เอฟดีไอ 468 โครงการ มูลค่า 1.47 แสนล้านบาท

จากการติดตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริม พบว่าโครงการส่วนใหญ่ได้มีการทยอยลงทุนจริงใน 1-3 ปี นับตั้งแต่ออกบัตรส่งเสริม จากข้อมูลล่าสุด คำขอที่ยื่นในช่วงปี 2558-2560 (ไม่นับรวมปี 2561-62 ซึ่งเพิ่งอนุมัติไม่นาน) มี 4,055 โครงการ ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม 3,955 โครงการ และได้มาดำเนินการขอออกบัตรส่งเสริมแล้ว 3,519 โครงการ

ในจำนวนนี้ ได้มีการเริ่มลงทุนตามโครงการแล้ว 3,210 โครงการ หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 91% ของจำนวนโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมทั้งหมด จะเห็นว่าโครงการที่ บีโอไอ ส่งเสริมไป มีการลงทุนจริงเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

เทียบเท่ามาตรการปีแห่งการลงทุน

ตัวอย่างมาตรการที่บีโอไอใช้ในการเทียบเคียงกับมาตรการที่กำลังเดินหน้าจัดทำอยู่ อาทิ มาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในปีแห่งการลงทุน กำหนดสิ้นอายุมาตรการ 30 ธันวาคม 2562

หากยื่นลงทุนภายในปีนี้จะได้รับสิทธิและประโยชน์การลดหย่อน ภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่กำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สิ้นสุดลง เงื่อนไข ต้องเป็นกิจการในกลุ่ม A1 A2 และ A3 ยกเว้นกิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ และกิจการขนส่งทางเรือ เป็นต้น

และต้องเป็นโครงการที่ได้รับสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ต้องมีเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งยื่นขอเปิดดำเนินการภายในกำหนดเวลาครบเปิดดำเนินการ

หวังแพคเกจใหม่ดูดลงทุนสำเร็จ

ด้วยข้อมูลจากสภาพัฒน์ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวมากขึ้น ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูงและมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งเทรดวอร์ระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจขยายขอบเขตและรุนแรงมากขึ้น การถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ป่น-เกาหลีใต้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศสำคัญที่อาจนำไปสู่การแข่งขันลดค่าเงินที่จะสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินโลก และยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้งที่จะกระทบต่อการเพาะปลูกและผลผลิตภาคการเกษตร

ปัจจัยและแผนดำเนินการที่จะเกิดขึ้น สะท้อนว่าเมื่อพึ่งภาคการท่องเที่ยวก็ไม่ง่าย ส่งออกก็ไม่ดี ก็ต้องหวังพึ่งเครื่องยนต์อีกชิ้น คือดึงเงินนอกลงทุนไทย

ดังนั้น ความหวังจึงอยู่ที่แพคเกจลงทุนใหม่ที่จะประกาศใช้ จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามเป้าหมาย 3% เพียงพอจริงหรือ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image